Skip to main content
sharethis

ขณะที่คณะรัฐมนตรีของมุนแจอิน ผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้จะเต็มไปด้วยผู้ที่เตรียมพร้อมรับมือปัญหาความมั่นคงเกาหลีเหนือหรือเคยทำงานทางการทูตเพื่อเจรจากับเกาหลีเหนือมาก่อน แต่การเตรียมการและท่าทีของมุนแจอินจะทำให้เกาหลีเหนือที่เพิ่งทดลองขีปนาวุธอีกลูกเมื่อไม่นานนี้ยอมขึ้นโต๊ะเจรจาด้วยหรือดื้อดึงต่อไป

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 หลังจากที่เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ลูกที่สองช่วงคืนวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมาไปตกที่น่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่นห่างจากจังหวัดฮอกไกโดเป็นระยะทาง 160 กม. ก็ชวนให้จับตามองประเด็นความมั่นคงคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้งโดยเฉพาะเรื่องที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ที่เพิ่งได้รัฐบาลใหม่จะจัดการปัญหาเกาหลีเหนืออย่างไร

มีบทความของ ไลฟ์-อิริค อีสลีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาและนักวิจัยการต่างประเทศในสถาบันวิจัยนโยบายกรุงโซล อธิบายถึงเรื่องท่าทีของทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ที่ถึงแม้จะมีข่าวออกมาว่าพวกเขาจะไม่ลงรอยกันในวิธีการจัดการกับเกาหลีเหนือเนื่องจากสหรัฐฯ ยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ดูมีท่าที "สายเหยี่ยว" ที่ดูแสดงกำลังทางการทหารมากกว่าขณะที่มุนแจอินผู้นำจากการเลือกตั้งคนล่าสุดของเกาหลีใต้ดูจะเน้นการพยายามตกลงหารือกับเกาหลีเหนือ แต่หลังจากที่มุนแจอินเข้าพบปะกับทรัมป์ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาแล้ว ทั้งสองประเทศนี้ยังมีความสัมพันธ์เชิงพันธมิตรกันและมุ่งปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือทั้งคู่ โดยที่จะมีการคว่ำบาตรหนักขึ้นต่อกรณีการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

มุนแจอินยังยอมรับเรื่องการติดตั้งระบบยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง (THAAD) โดยสหรัฐฯ ยอมให้ทรัมปฺ์กดดันด้านการค้า อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ก็สนับสนุนให้มุนแจอินเริ่มเปิดการเจรจากับเกาหลีเหนืออีกครั้ง จากที่รัฐบาลก่อนหน้านี้นำโดยปาร์กกึนฮเยปฏิเสธการปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือนับตั้งแต่การทดลองนิวเคลียร์ในเดือน ม.ค. 2559

แต่ถึงแม้ว่ามุนแจอินจะตอบรับคำขอขององค์กรเอ็นจีโอมากกว่า 50 องค์กรและเสนอว่าจะมีการดำเนินโครงการด้านสุขภาวะ การกีฬา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการรำลึกประวัติศาสตร์ร่วมกันกับเกาหลีเหนือ แต่ทางการเกาหลีเหนือก็ตอบกลับอย่างไม่เป็นมิตรโดยเรียกร้องให้มีการยกเลิกคว่ำบาตรและคืนผู้ที่แปรพักตร์สู่เกาหลีเหนือ

นอกจากนี้อีสลีย์ยังระบุอีกว่าท่าทีของเกาหลีเหนือในยุคของคิมจองอึนดูจะเป็นไปในทางการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า ทำให้มุนแจอินเคยแถลงว่าจะประณามเกาหลีเหนือมากขึ้นในเรื่องการทดลองอาวุธ จุดนี้ทำให้มีคนมองว่ามุนแจอินอาจจะเลิกยุ่งเรื่องเกาหลีเหนือแล้วหันมาเน้นเรื่องภายในประเทศ แต่เมื่อพิจารณาจากการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและประสบการณ์ทำงานของมุนแจอินแล้วอีสฃีย์มองว่าเขาคงมีความยึดมั่นทีจะแก้ปัญหาเกาหลีเหนือให้ได้

"การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของมุนแจอินแสดงให้เห็นอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเขาต้องการให้เน้นใช้วิธีเข้าหาเพื่อทำสัญญาผูกมัดมากกว่าจะทำการคว่ำบาตร ใช้วิธีทางการทูตมากกว่าการทหาร และทำงานร่วมกับสหประชาชาติ" อีสลีย์ระบุในบทความ

แต่อีสลีย์ก็ประเมินแบบมองโลกในแง่ร้ายว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่เกาหลีเหนือจะยอมรับข้อเสนอมากมายที่เกาหลีใต้ยื่นให้แลกกับการเจรจา เว้นแต่เกาหลีใต้จะยกเลิกการคว่ำบาตร 5-24 (การคว่ำบาตรหลังจากที่เกาหลีเหนือยิงเรือโชนันของเกาหลีใต้ในปี 2553) เปิดให้มีการทัวร์ภูเขากุมกังในเกาหลีเหนือ หรือเปิดนิคมอุตสาหกรรมแคซองอีกครั้ง หรือจนกว่าเกาหลีเหนือรู้สึกว่าตัวเองมีอาวุธนิวเคลียร์ที่น่าพอใจแล้ว

นอกจากนี้เกาหลีเหนือเองก็เคยมีประวัติโกงไม่ทำตามข้อตกลง ยังคงทำลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธต่อไป พยายามทำให้เกาหลีใต้และสหรัฐฯ แตกคอกัน อีสลีย์จึงมองว่าการพยายามกระชับมิตรสองเกาหลีเป็นเรื่องที่ดีแต่รัฐบาลมุนแจอินก็ทำถูกในแง่ที่ไม่ยอมแลกมันด้วยการขัดมติของสหประชาชาติหรือส่งผลกระทบต่อการประสานงานกับพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ

 

เรียบเรียงจาก

Moon assembles dream team, but North Korea unwilling to play, East Asia Forum, 

http://www.eastasiaforum.org/2017/07/30/moon-assembles-dream-team-but-north-korea-unwilling-to-play/

US assesses N.Korean missile was ICBM, NHK, 29-07-2017

https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20170729_08/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net