Skip to main content
sharethis

หญิงผู้เติบโตมาในแถบอีสานใต้และเดินทางไปทำไวน์ที่ฝรั่งเศสจนได้รางวัลเกียรติยศ เธอให้สัมภาษณ์ต่อสื่อฮ่องกงถึงปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมไวน์ไทยไม่โต ทั้งจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม การแบ่งชนชั้น รวมทั้งการออกกฎควบคุมจากภาครัฐที่ "แปรปรวนพอๆ กับสภาพอากาศ" นอกจากนี้ต้องทุนหนาเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ

ที่มาของภาพประกอบ: Megan Mallen/Wikipedia

1 ส.ค. 2560 ขณะที่ในประเทศเราเพิ่งมีการพูดถึงการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สื่อฮ่องกงเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์นำเสนอเรื่องของเหมียว สาคร-เซคี หญิงที่เคยทำงานเกี่ยวกับไวน์ในไทย ที่ต่อมากลายเป็นผู้ผลิตไวน์ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับชาติจากประธานาธิบดีของฝรั่งเศส รวมถึงสิ่งที่เธอมองว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้อุตสาหกรรมไวน์ในไทยไม่โต

เซคี เป็นหญิงที่มีพื้นเพครอบครัวชาวนาแถบอีสานใต้ใกล้กับชายแดน ลาว-กัมพูชา เธอเติบโตมาท่ามกลางเทือกเขาพนมดงรักก่อนที่จะได้ไปเรียนต่อด้านเกษตรศาสตร์และทำงานเป็นนักปฐพีวิทยาผู้ดูแลด้านดินในกรุงเทพฯ ต่อมาเธอแต่งงานกับคนที่ทำงานองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนซึ่งเป็นองค์กรจากฝรั่งเศสแล้วย้ายไปทำงานเกี่ยวกับไวน์ที่ฝรั่งเศสในช่วงยุคทศวรรษ 90s

เซคีบอกว่าเธอมีประสบการณ์น้อยมากในเรื่องไวน์ก่อนไปที่ฝรั่งเศส แต่ด้วยความรู้เรื่องการเกษตรทำให้เธอพยายามเรียนภาษาฝรั่งเศสเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการผลิตไวน์จากที่นั่น หลังจากนั้นเธอก็กลับมาทำงานกับบริษัทผลิตไวน์ในไทยช่วงปี พ.ศ. 2545-2549 กับบริษัทใหญ่ๆ แต่กระนั้นหลังจากปี พ.ศ. 2549 เธอก็กลับไปฝรั่งเศสอีก

ในการให้สัมภาษณ์ต่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ เซคี กล่าวว่าขณะที่ประเทศไทยให้โอกาสเธอสอนคนอื่นทำไวน์ได้ แต่ในแง่ของการทำงานเองเธอกลับรู้สึกว่าประเทศไม่เอื้อให้เธอสามารถทำไวน์ได้เต็มที่ เธอวิจารณ์ว่าการออกกฎควบคุมจากภาครัฐมีความแปรปรวนพอๆ กับสภาพอากาศ และต้องเป็นคนที่ทุนหนาเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จได้

ถ้าผ่านพ้นเรื่องพวกนี้มาได้เซคีแนะนำว่าไทยเหมาะสมกับองุ่นที่ใช้ทำไวน์พันธุ์ชีราซ โคลอมบาร์ด และเชนินบลังค์ เพราะองุ่นเหล่านี้จะทนทานต่อสภาพอากาศร้อน แต่อุปสรรคก็ไม่ใช่แค่เรื่องสภาพอากาศหรือกฎควบคุมจากรัฐเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ปิดกั้นความก้าวหน้าคือระบบในไทยเองที่เซคีมองว่าเป็นระบบอำนาจที่ "มีการแบ่งลำดับขั้นสูงต่ำอยู่มาก" ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจเองเพราะระบบแบบนี้จะให้ความสำคัญว่า "เจ้านายต้องการอะไร" มากกว่าจะสนใจความรู้ของผู้ปฏิบัติงาน

ตรงกันข้ามเซคีรู้สึกว่าเจ้านายของเธอที่ฝรั่งเศสยอมรับความสามารถและให้ความสำคัญกับเธอมากกว่า ทำให้เป็นสิ่งที่ดึงดูดสำหรับเซคีนอกเหนือจากความชื่นชอบในธรรมชาติของเทือกเขาพีเรนีสแล้ว

"โชคชะตาอาจจะนำพาฉันมาที่นี่ แต่เป็นความรู้สึกดีที่ทำให้ฉันอยากอยู่ต่อไป" เซคีกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์

 

เรียบเรียงจาก

What’s holding Thailand’s wine back? Winemaker honoured in France talks Thai terroir and the pull of the Pyrenees, South China Morning Post, 01-08-2017

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net