เปิดปากคำนิสิตรายล้อมดราม่าจุฬาฯ ชี้ กระบวนการจัดงานมีปัญหาจริง ขาดประชาสัมพันธ์

ความเห็นแตกต่างเรื่องฝนหนัก-เบา แต่แผนฝนตกมีปัญหา เสื้อกันฝนไม่พอ แจกช้าและเร่งรีบจนเหมือนโยนอาหารให้ปลากิน แก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังมีปัญหาแต่ชื่นชมความตั้งใจ รวบรัดพิธีการ แก้ปัญหาได้ พิธีการไม่ต่างจากปีที่แล้วนัก มีให้ยืนคำนับแต่ยังถวายบังคม แบ่งโซนความเชื่อแตกต่างแต่ประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจน คนในโซนย้อมผมโดนโยกย้ายไปมา

บรรยากาศในพิธีถวายสัตย์ที่ท้องฟ้าเริ่มมีเมฆครึ้ม

ท่ามกลางสายฝนที่โรยเม็ดลงมา นิสิตชั้นปีที่ 1 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยืนตรงอยู่กลางสนามหญ้าใจกลางมหาวิทยาลัย ยกมือขึ้นถวายบังคมเหนือหัว น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเก่าแก่ พิธีการนี้เป็นพิธีการประจำปี จัดขึ้นเพื่อให้นิสิตใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ และมีความเชื่อกันว่านิสิตที่เข้าร่วมพิธีการนี้จะเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเต็มตัว

แต่ระหว่างพิธีมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย นอกจากอุปสรรคจากฟ้าฝน ก็ยังมีประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในโลกออนไลน์เป็นเวลา 2-3 วันแล้ว เมื่อเกิดภาพความขัดแย้งระหว่างฝั่งสภานิสิตจุฬาฯ นำโดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และอาจารย์ เกิดเป็นเหตุการณ์ที่ดูรุนแรง ทั้งการ ‘ล็อกคอ’ และการใช้คำผรุสวาท

ภาพและโพสท์ของเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ หลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน (ที่มา: facebook/ Netiwit Chotiphatphaisal)

วิดีโอเหตุการณ์หลังเหตุการณ์อาจารย์ล็อกคอนิสิต (ที่มา:facebook/ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)

ผู้สื่อข่าวได้ใช้โอกาสนี้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของนิสิตที่เข้าร่วมงานต่อภาพรวมของงานในช่วงพิธีการ ทั้งรุ่นพี่และนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่เข้าร่วมในพิธีที่ถือเป็นเหตุการณ์แวดล้อมประเด็นดราม่าที่เป็นที่ถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียถึงปัญหาที่มีภายในงานและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฟ้าฝนและวิธีปฏิบัติงานของนิสิตผู้ปฏิบัติงานหรือสต๊าฟ

เริ่มที่ประธานฝ่ายนิสิตสัมพันธ์จากคณะหนึ่ง เขากล่าวชื่นชมการทำงานของฝ่ายจัดงานในฐานะที่ตนเข้าร่วมประชุมงานด้วยกันว่า ฝ่ายจัดงานตั้งใจทำงานดี และทำงานได้เป็นระบบ แต่จากข้อคิดเห็นด้านลบมากมายจากงานถวายสัตย์ฯ เมื่อปีที่แล้วซึ่งควรเกิดการเปลี่ยนแปลงงานไปในทางที่ดีขึ้นได้บ้าง ตนกลับไม่เห็นว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก นอกเสียจากการให้ยืนแทนการหมอบกราบ

กำหนดการพิธีถวายสัตย์และปฎิญาณตน (ที่มา:facebook/Worrawee Thamputthipong)

“คือเขาบอกว่าให้เป็นทางเลือก ใครอยากนั่งก็นั่ง ใครอยากยืนเขาก็จะจัดสถานที่เฉพาะให้ตามความเชื่อส่วนบุคคล แต่เราคิดว่าเขาดูไม่ได้จริงจัง ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ออกไปเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี”

นอกจากนี้ นิสิตสัมพันธ์คนนี้ยังมองว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของงานถวายสัตย์ฯ ประจำปีนี้คือแผนป้องกันฝนตกที่ทำให้เกิดความโกลาหล และเป็นฉากของภาพเหตุการณ์อาจารย์ล็อกคอนิสิตที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้

“แผนป้องกันฝนตกแย่มาก คือเขามีการเตรียมการอยู่แล้ว มีเต็นท์ให้ทั้งกันร้อนและกันฝน มีแผนจะให้ไปหลบที่ตึกโดยรอบ คณะทั้งสถาปัตย์ วิทยาศาสตร์ หรือหอศิลปะ ที่สำคัญคือมีเสื้อกันฝนเตรียมไว้แล้ว แต่กลับแจกให้น้องตอนที่ฝนตกมาแล้ว ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าฝนมันตั้งเค้ามานานแล้วทำไมไม่แจกตั้งแต่ฝนยังไม่ตก”

แผนฝนตก (ที่มา:facebook/Suphalak Bumroongkit)

ด้านนิสิตผู้ปฏิบัติงานชั้นปีที่ 2 ของคณะหนึ่งอย่างมิกซ์ (นามสมมติ) กล่าวถึงความแตกต่างและความพร้อมของการจัดงานในปีนี้และปีที่แล้วซึ่งตนเข้าร่วมว่า เห็นได้ชัดว่าฝ่ายจัดการสถานที่ของปีที่แล้วได้จัดเตรียมเสื้อกันฝนเอาไว้ให้นิสิตที่เข้าร่วมงานตั้งแต่ก่อนเข้าทำพิธีที่ลานพระบรมรูปสองรัชกาลแล้ว แต่ยังดีที่ไม่มีฝน และแดดออกจัด นิสิตที่เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ฯ ส่วนใหญ่จึงนำมาทำเป็นแผ่นรองนั่งแทน

“แต่ปีนี้ ทางฝ่ายจัดงานไม่ได้เตรียมเสื้อกันฝนไว้ก่อน ถึงจะเห็นว่ามีโอกาสที่ฝนจะตกสูงมากในตอนนั้น ฝ่ายจัดงานจึงต้องวิ่งแจกเสื้อกันฝนให้นิสิตที่เข้าร่วมงานด้วยความโกลาหลเมื่อฝนเริ่มลงเม็ด แล้วก็ท่ามกลางความโกลาหลตอนแจกเสื้อกันฝน ก็เห็นภาพว่าฝ่ายจัดงานต้องรีบๆ โยนเสื้อกันฝนเหมือนสาดอาหารให้ปลากินที่วัด”

video-1501843769

มิกซ์ยังได้กล่าวอีกว่า ฝนที่ตกลงมาไม่ใช่ฝนปรอยๆ อย่างที่หลายฝ่ายกล่าวอ้าง แต่เป็นฝนที่อาจทำให้น้องป่วยได้ “ตอนนั้นผมมองเข้ามาในลานพระบรมรูปฯ จากข้างนอก ฝนเริ่มตกปรอยๆ ตั้งแต่พิธีกรพูดกำหนดการคร่าวๆ กำหนดการเดิมคือต้องซ้อมก่อนพิธีจริงก่อนสองหรือสามครั้ง ตอนที่เขาเริ่มรอบ ‘ซ้อม’ รอบแรก ฝนก็เริ่มเทลงมาแล้ว พิธีกรจึงประกาศให้นิสิตหลบฝน ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ทันแล้ว นิสิตที่ไม่ได้รับแจกเสื้อกันฝนบางส่วนก็ต้องตากฝนกันตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งไม่ใช่แค่ตกปรอยๆ หรือแค่ตกหนักหลังจบพิธีอย่างที่มีคนพูด”

ในทางกลับกัน นิสิตชั้นปีที่ 1 อย่างบีม (นามสมมติ) ที่เป็นผู้เข้าร่วมพิธีการและต้องนั่งอยู่กลางสนามจริงๆ กลับมองว่าฝนไม่ได้ตกหนักขนาดนั้น และเสื้อกันฝนก็ถือเป็นวิธีการจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดี แต่เธอก็มองเหมือนกับทั้งสองคนข้างต้นว่าการแจกเสื้อกันฝนช้าเกินไป “ฝนมันตั้งเค้ามาตั้งนานแล้ว ควรแจกตั้งแต่แรก มันอาจจะยังไม่ได้เริ่มพิธี มันดูวุ่นวายมาก เข้าใจว่าต้องรีบแจก แจกแบบโยนๆ แล้วเด็กก็ไม่ได้เสื้อกันฝนครบทุกคน บางคนก็ได้เป็นถุงที่ใส่เสื้อกันฝน มันคลุมได้ครึ่งตัวก็จริง แต่มันไม่มีช่องสำหรับให้หัวลอดออกมาได้”

เช่นเดียวกับกัณต์พงษ์ วีระพงศ์พร นิสิตชั้นปีที่ 1 ก็คิดว่าแผนป้องกันฝนตกโดยการแจกเสื้อกันฝนเป็นแผนที่เหมาะสมแล้ว แต่ก็ยังกระทำได้ล่าช้าเกินไป “คือมันเห็นทีท่าว่าจะตกอยู่แล้ว ควรแจกตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ในหอประชุมหรือไม่ก็ก่อนจะเดินเข้าไปในสนาม”

ความคิดเห็นต่อประเด็นฝนตกของนิสิตไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ยังมีนิสิตบางส่วนที่คิดว่าความรุนแรงของฝนไม่ได้มากขนาดที่ต้องใส่เสื้อกันฝนด้วยช้ำ เช่นความคิดเห็นของโลม (นามสมมติ) “เรื่องฝนตกผมมองว่าไม่ใช่ปัญหา ผมเต็มใจเข้าร่วมพิธีครับ ตอนแรกมันตกนิดเดียวมันทนได้ เพราะทุกคนอยากมาถวายสัตย์ ทุกฝ่ายก็พยายามแก้ปัญหาแล้ว เอาเสื้อกันฝนมาให้ พิธีการก็รีบเร่งและตัดรวบรัดดี”

นอกจากนี้ การที่นิสิตจะเข้าร่วมพิธีการนี้ได้มิใช่จะเป็นผู้ที่ผ่านการสอบเข้ามาแล้วเท่านั้น แต่ยังมีกฎระเบียบอื่นๆ ก่อนเข้าพิธี ซึ่งผู้ที่ไม่ทำตามจะถูกคัดกรองและไม่ได้เข้าไปร่วมยืนแปรอักษรอยู่กลางสนาม เช่น เรื่องสีผมที่ต้องเป็นสีธรรมชาติ ไม่ผ่านการทำสีที่อาจไม่สุภาพ

ภูมิ (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในนิสิตที่ไม่ผ่านการคัดกรองเพราะย้อมสีผม เขาไม่ได้เข้าไปร่วมพิธีกับเพื่อนตรงกลางสนามแต่ต้องไปยืนร่วมพิธีอยู่ข้างหลังแทน กระนั้นเขาก็ยังรู้สึกว่าการจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของฝั่งจัดงานยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

“ผมอยู่ตรงข้างหลังที่ย้อมผมแล้วโดนแยก ทุกอย่างงงมากๆ ตอนแรกให้ไปนั่งหลังสุด แบบแยกออกไปเลย พอสักพักฝนตก เขาก็แจกเสื้อกันฝนให้คนอื่นๆ แล้วเขาก็ให้พวกผมลุกไปหลบในเต็นท์ นึกว่ารอดแล้ว แต่พอหลบไปได้ครู่เดียวเขาก็มาบอกให้กลับไปที่เดิม ไม่มีเสื้อกันฝนให้ บอกว่าให้อดทนหน่อยนะน้อง ตากฝนไม่นานหรอก เสื้อกันฝนหมด ก็ต้องไปยืนตากฝน เปียกเลย แต่สุดท้ายเขาก็ให้ถอยไปหลบใต้ต้นไม้ แล้วก็ปล่อยกลับแบบงงๆ งงไปหมด”

ทั้งนี้ ในประเด็นความขัดแย้งของสภานิสิตฯ และอาจารย์ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์นั้น ทางกิจการนิสิตได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า เนติวิทย์ได้กระทำผิดข้อตกลงที่ให้ไว้ตอนแรก และ รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต ได้ออกมาขอโทษในประเด็นดังกล่าว “ผมต้องขอโทษนิสิตคนนั้นแทนอาจารย์ด้วยที่อาจจะทำอะไรเกินไป ทางจุฬาฯพยายามเปิดพื้นที่ให้กับทุกคน แต่ผมว่ามันต้องให้ความยุติธรรมและให้การเคารพข้อตกลงซึ่งมีต่อกันและกัน สำคัญที่สุดคือต้องจริงใจต่อกันด้วย” (อ่านข้อชี้แจงจากจุฬาฯ )

ในช่วงเวลาห่างกันไม่นาน เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล หรือแฟรงค์ ประธานสภานิสิตจุฬาฯ และศุกลักษณ์ บำรุงกิจ หรือเสก รองประธานสภานิสิตจุฬาฯ ซึ่งรายหลังเป็นคนถูกล็อกคอในคลิปได้โพสท์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะทาง รศ.บัญชา ไม่ได้ทำตามที่ตกลงกันกับไว้ในเรื่องการมีพื้นที่ให้คนที่ไม่ต้องการถวายบังคม พื้นที่ให้คนย้อมผม ใส่เครื่องประดับเข้าร่วมงานได้ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องหลักการและเหตุผล และกระบวนการดำเนินการกิจกรรมดังกล่าว

นอกเหนือจากประเด็นที่ถกเถียงกันในด้านสิทธิ เสรีภาพของการเข้าร่วมพิธี แนวคิดของการจัดพิธีการสักการะ การพูดคุยกันของนิสิตและอาจารย์ในระดับบริหาร และเหตุการณ์การใช้กำลังของอาจารย์ต่อนิสิตแล้ว อยากให้สังคมไม่ลืมประเด็นกระบวนการการจัดงานและสวัสดิภาพของนิสิตที่ร่วมกิจกรรมที่กระจัดกระจายอยู่รายล้อมประเด็นดราม่า อันเป็นผลพวงจากวิธีปฏิบัติงานที่ดำเนินการโดยนิสิตด้วยกันเอง

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มชื่อผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560 เวลา 16.06 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท