เคาะหลักการ 'สรรหา ส.ว.' เลือกไขว้ตั้งแต่ระดับอำเภอ-ประเทศ

กรธ. เคาะหลักการ 'การได้มาซึ่ง ส.ว.' ชี้เพื่อป้องกันการทุจริต เริ่มจาก 20 กลุ่มสังคมเลือกกันเอง ก่อนเลือกไขว้ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ พร้อมกำหนดโทษกรณีการทุจริตสูงสุดคือ จำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท เพิ่มโทษผู้สมัคร ส.ส.ไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ถูดตัดสิทธิ 2 ปี 'นิพิฏฐ์' เชื่อ คสช.ตั้ง 250 ส.ว. เพื่อค้ำอำนาจ
 
5 ส.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่ในมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม วันนี้ (5 ส.ค.) ซึ่งเป็นวันที่ 3 ที่จังหวัดระยอง เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปเรียบร้อย เมื่อเย็นวานนี้ (4 ส.ค.)
 
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรธ.ได้ข้อสรุปในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แล้ว โดยให้มาจากการเปิดรับสมัครบุคคลตามกลุ่มต่าง ๆ 20 กลุ่มสังคม เริ่มจากระดับอำเภอ โดยให้กลุ่มสังคม 20 กลุ่ม เลือกกันเองก่อน ซึ่งผู้สมัคร 1 คน มีสิทธิ์เลือกได้ 2 หมายเลข สามารถเลือกตัวเองได้และเลือกคนอื่นได้อีก 1 คน 
 
นายนรชิต กล่าวว่าจากนั้นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 ของแต่ละกลุ่ม ไปเลือกไขว้ โดยเลือกคนในกลุ่มอื่นให้เหลือกลุ่มละ 3 คน เพื่อให้ได้คนที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-3 ของแต่ละกลุ่มเป็นตัวแทนระดับอำเภอ เพื่อส่งไปในระดับจังหวัด โดยในระดับจังหวัด จะดำเนินการเลือกไขว้อีกรอบหนึ่ง ให้เหลือกลุ่มละ 1 คน เพื่อส่งไประดับประเทศ จากนั้นระดับประเทศจะดำเนินการเลือกไขว้ให้เหลือกลุ่มละ 10 คน จะได้จำนวนทั้งหมด 200 คน 
 
“เพื่อป้องกันการฮั้ว หรือทุจริตกันเอง ได้วางหลักการเบื้องต้นว่า ในวิธีการเลือกไขว้ ให้นำวิธีการจับสลาก มาใช้ในการแบ่งสายเลือกไขว้ และกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการฮั้วหรือซื้อเสียงเกิดขึ้น ก็ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าไปตรวจสอบได้ โดยทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงหลักการเบื้องต้นที่ กรธ.ยังต้องส่งให้คณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างรูปแบบถาวร ก่อนส่งกลับมายัง กรธ.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง” นายนรชิต กล่าว
 
นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนบทลงโทษ มีวิธีการเดียวกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ปี 2550 แต่เพิ่มบทลงโทษใหม่ที่สำคัญ อาทิ การกระทำหรือสนับสนุนให้คนเข้ารับหรือไม่เข้ารับสมัคร หรือมีประโยชน์ต่างตอบแทน ห้ามกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึง ท้องถิ่นช่วยเหลือผู้สมัครให้ได้เป็น ส.ว. และกรณีการจูงใจหรือใช้อิทธิพลให้มีการเลือก ซื้อเสียง สัญญาว่าจะให้ หรือข่มขู่ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี
 
เพิ่มโทษผู้สมัคร ส.ส.ไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ถูดตัดสิทธิ 2 ปี
 
นอกจากนี้ สำนักข่าวไทย ยังรายงานว่าที่ประชุม กรธ. ยังได้ข้อสรุปเบื้องต้นของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยในประเด็นที่น่าสนใจ  คือ การเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น โดยมีการเพิ่มเติมตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ ส.ว. รวมถึง ตำแน่งทางการเมืองและองค์การอิสระด้วย นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย 
 
นายนรชิต กล่าวว่า  ส่วนการยื่นหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครจะต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี และเสียค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 10,000 บาท แต่จะได้คืนจำนวน 5,000 บาท หากผู้สมัครนั้นๆ ได้รับคะแนนมากกว่า 5% ขึ้นไปของจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงในแต่ละเขต  
 
“นอกจากนี้  กรธ. กำหนดให้แต่ละเขตเลือกตั้ง เป็นผู้ดำเนินการจัดลำดับหมายเลขผู้สมัครโดยที่ผู้สมัครจากพรรคการเมืองเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องได้หมายเลขเดียวกัน เช่น กรณีที่ผู้สมัครมาถึงก่อนเวลาพร้อมกัน ให้ใช้วิธีจับสลาก เพื่อให้ผู้สมัครคนดังกล่าวได้แสดงความสามารถ โดยไม่ต้องอิงกับกระแสพรรคการเมือง ซึ่ง กรธ.เชื่อว่าจะสามารถป้องกันการซื้อเสียงได้ระดับหนึ่ง” นายนรชิต กล่าว
 
นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนการนับคะแนน กรธ.เห็นว่า ควรให้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งทันที  หลังหมดเวลาหย่อนบัตร เพื่อให้ทราบผลเร็วขึ้น  อีกทั้งประชาชนสามารถสังเกตการณ์นับคะแนนได้ที่หน่วยได้ ไม่ต้องรอเวลาการขนย้ายหีบบัตรไปรวมที่เขต พร้อมกันนี้ กรธ.ยังปรับเวลาการหย่อนบัตรอีก 1 ชั่วโมง คือ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. 
 
นายนรชิต กล่าวว่า นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 20 (3)  ที่ให้ยกเว้นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งแรกนั้น กรธ.ได้ตัดออกไป เพื่อให้ กกต.ดำเนินการหารือการแบ่งเขตกับพรรคการเมืองได้  พร้อมปรับเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วย จากเดิม  800 คน เพิ่มเป็น 1,000 คน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งตายตัว เพื่อความสะดวกของประชาชน ส่วนการปิดบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ปิดที่หน้าหน่วย โดยไม่เปิดเผยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน  
 
นายนรชิต กล่าวว่า สำหรับการหาเสียงผ่านออนไลน์ ผู้สมัครจะต้องแจ้งให้ กกต.ทราบก่อน และห้ามใช้ช่องทางนี้หาเสียงเพิ่มเติมในช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนลงคะแนนเสียง  เว้นแต่เป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้ว    ในส่วนของการทำโพลสำรวจ กรธ.เห็นว่าไม่ควรมี แต่ยังไม่ได้กำหนดเป็นข้อห้าม โดยให้ กกต.ไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เช่นเดียวกับการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ กรธ.ไม่ขัดข้อง แต่มีเงื่อนไขว่า การนำเครื่องดังกล่าวมาใช้จะสามารถขจัดทุจริตได้ดีกว่าการใช้บัตรเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายจะต้องไม่แพงกว่าเดิม รวมทั้ง ต้องมีหลักรับประกันว่า การลงคะแนนจะต้องเป็นความลับ
 
'นิพิฏฐ์' เชื่อ คสช.ตั้ง 250 ส.ว. เพื่อค้ำอำนาจ
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่านายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กรธ.แบ่งกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามสาขาอาชีพต่างๆ เป็น 20 กลุ่มว่าต้องติดตามดูในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะเท่าที่ทราบก็เป็นการแบ่งตามที่รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดไว้ จึงไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ที่น่าติดตามคือ เขาจะกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.ทั้ง 20 กลุ่มนี้อย่างไร จะมีวิธีการคัดเลือก หรือสรรหากันอย่างไร และแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพจะมีสัดส่วนของ ส.ว.เท่าเทียมกัน หรือจะกำหนดให้ความสำคัญกับกลุ่มสาขาอาชีพไหนมาก อาชีพไหนน้อย ต่างกันอย่างไร เช่น กลุ่มชาวนา จะได้จำนวนเท่ากับกลุ่มนักธุรกิจหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า คสช.คงจะมีคนในใจอยู่แล้วว่าจะหยิบใครมาตั้งให้เป็นส.ว. พูดประสาชาวบ้านเข้าใจง่ายคือ คสช.จะเลือกใคร 200 คนมาเป็น ส.ว. แล้วกำหนดให้กระจายตามกลุ่มที่กำหนดให้ จากนั้นก็เลือกมาอีก 50 คนเพื่อแซมเพิ่มไม่ให้น่าเกลียด โดยสรุปคือ ส.ว. จะถูกล็อกโดยผู้มีอำนาจไว้แล้วทั้งสิ้น
 
"ที่ผมกังวลคือ น่าเห็นใจประเทศชาติ เพราะ ส.ว.250 คนที่จะถูกแต่งตั้งขึ้นนี้จะเป็นคนค้ำอำนาจของ คสช.ต่อไป ทั้งที่น่าคิดให้ได้ว่า ประเทศในระบอบประชาธิปไตยจะปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ปกครองด้วยรัฐบาล เพราะรัฐบาลที่ดี ที่มีธรรมาภิบาลจะเป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสิ้น ที่บอกว่าเป็นห่วง หรือวิตกกังวลคือ ในอนาคตหากจะมีการแก้ไขกฎหมายที่พบว่ามีข้อบกพร่อง หรือการเสนอออกกฎหมายอาจจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ความต้องการของประชาชน ที่สุดก็จะเกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีก ส่วนรัฐบาลในอนาคตนั้น เรายังไม่รู้ว่าจะได้ใครมาเป็นรัฐบาล อาจจะเป็นคนในรัฐบาลนี้เป็นต่อ หรือรัฐบาลใหม่ก็ได้ แต่ขอให้หลักคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นใครที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคต ขอให้คิดถึงรัฐชาติและคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนดีกว่าที่จะออกกฎหมายมาเพื่อรองรับอำนาจต่าง ๆ" นายนิพิฏฐ์ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท