วีระ ยื่น ป.ป.ช.จี้อุทธรณ์ 7 ตุลาฯ ย้ำ พธม.ชุมนุมสงบ-จนท.ปราบผิดกฎหมาย

วีระ สมความคิด ยื่น ป.ป.ช.จี้อุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ ชี้คำพิพากษายกฟ้องคลาดเคลื่อนข้อเท็จจริงหลายประการ ย้ำ พธม.ชุมนุมโดยสงบ รักษาประโยชน์ชาติ แต่เจ้าหน้าที่สลายชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก 'สุริยะใส' ปัดฟื้นพันธมิตรฯ
 
       

ที่มาภาพ Banrasdr Photo

7 ส.ค. 2560  รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (7 ส.ค.60) เมื่อเวลา 11.30 น. วีระ สมความคิด ในฐานะตัวแทนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและได้รับบาดเจ็บ ได้เดินทางไปผู้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 พร้อมแนบรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว โดยมี ธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ รองเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช.มารับหนังสือ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ภายหลังยื่นหนังสือแล้ว ขณะที่ วีระ กำลังจะเดินทางกลับ ทหารที่มาดักรอ เข้าขอเชิญตัวไปพบกับผู้บังคับบัญชา แต่วีระ ปฎิเสธโดยกล่าวว่าตนมีภารกิจที่ต่างจังหวัด หากทหารต้องการจะพูดคุย ขอให้ติดต่อมาภายหลัง ซึ่งทางทหารได้ตอบตกลงและบอก วีระ ว่าจะติดต่อกลับไป

ขณะที่ สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ตนเห็นว่า คสช.กำลังเข้าใจผิด มองการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริง ทั้งที่การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเรื่องของแนวทางการต่อสู้คดีสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 เท่านั้น ไม่ได้มีนัยทางการเมืองอื่น ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากคดีพันธมิตรเกี่ยวของกับหลายฝ่าย เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากและมีเหยื่อของของความรุนแรงในเหตุการณ์ครั้งนั้นหลายราย จึงมีความจำเป็นต้องปรึกษาหารือกัน ว่าจะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายและเป็นบรรทัดฐานต่อสังคมทั้งหมด และจุดยืนของอดีตแกนนำพันธมิตรและแนวร่วมทุกคนเคารพในกระบวนการยุติธรรมไม่เคยหลบหนี เราเข้าสู้กระบวนการยุติธรรมทุกคดีทุกศาล และที่ผ่านมาก็น้อมรับทุกคำพิพากษา แม้เราจะเห็นต่างในบางประเด็นก็ตาม ที่สำคัญเรายังเชื่อมันในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ 

สุริยะใส กล่าวว่า ส่วนในคำพิพากษาของศาลคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 นั้น เราก็หวังใช้สิทธิอุทธรณ์ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พรุ่งนี้จึงมอบหมายให้ตัวแทนและคนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมไปเรียกร้องที่ป.ป.ช.ให้อุทธรณ์คดี อย่าตัดสิทธิของประชาชนที่จะแสวงหาความยุติธรรมเพื่อให้ได้ข้อยุติถึงที่สุด

"เราหวังว่า ป.ป.ช. จะไม่ตัดโอกาสของประชาชนในส่วนนี้ทิ้งไป หาก ป.ป.ช.ไม่อุทธรณ์ ผมยังนึกไม่ออกว่าจะอธิบายกับประชาชนได้อย่างไร อย่าลืมว่าในขณะนี้ป.ป.ช.ก็ถูกสังคมและสื่อมวลชนตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากลพอสมควรในการดำเนินการเรื่อง ที่จำเลยบางคนเกี่ยวโยงกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล จึงหวังว่า ป.ป.ช.จะพิสูจน์ตัวเองและสร้างความไว้วางใจความเชื่อมั่นจากสังคม" สุริยะใส กล่าว

สำหรับรายละเอียดของหนังสือที่วีระยื่นต่อ ป.ป.ช. มีดังนี้

๗ สิงหาคม ๒๕๖๐

เรื่อง ขอให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
เรียน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
อ้างถึง สําเนาเอกสารข่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง วันพุธที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐
สิ่งที่ส่งมาด้วย 
๑. สําเนาหนังสือคํากล่าวหาร้องเรียน เรื่อง ขอให้ไต่สวนและดําเนินคดีทั้งทางวินัยและทางอาญากับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวก ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๒๘๙(๔) ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๑ ของนายวีระ สมความคิด
๒. สําเนาคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๐/๒๕๕๑ เรื่องพิจารณาที่ ๔๕/๒๕๕๑ ระหว่าง อัยการสูงสุด ผู้ร้อง พรรคพลังประชาชน ผู้ถูกร้อง
๓. สําเนาคําพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดําที่ ๑๕๖๙/๒๕๕๒ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๖๒/๒๕๕๕ ระหว่าง นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ ที่ ๑ กับพวก ผู้ฟ้องคดี สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ที่ ๑ กับพวก ผู้ถูกฟ้องคดี
๔. สําเนาภาพถ่ายจากเว็บไซต์ กรณีเจ้าหน้าที่ตํารวจสลายการชุมนุม
๕. สําเนารายการผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานการตรจสอบที่ ๕๑๙/๒๕๕๑ เรื่อง สิทธิในชีวิตและร่างกาย กรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑
๖. สําเนารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องผลการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตํารวจใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
       
ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ ๑ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ ๒ พลตํารวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ ๓ พลตํารวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ที่ ๔ จําเลย กรณีร่วมกันสลายการชุมนุมและไม่ดําเนินการระงับยับยั้งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๘๓ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เป็นคดีหมายเลขดําที่ อม. ๒/๒๕๕๘ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองได้มีคําพิพากษายกฟ้องรายละเอียดปรากฏตามที่อ้างถึง

ข้าพเจ้า นายวีระ สมความคิด ในฐานะผู้ยื่นหนังสือกล่าวหาร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. และในฐานะคณะทํางานเพื่อติดตามการดําเนินคดีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม ได้ทราบข่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองที่ศาลได้มีคําพิพากษายกฟ้องจําเลยทั้งสี่แล้ว เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ รายละเอียด ปรากฏตามที่อ้างถึง ข้าพเจ้ารวมถึงผู้ได้ผลกระทบจากการสลายการชุมนุมและพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ยังมิอาจเห็นพ้องด้วยกับคําพิพากษาดังกล่าวและเห็นว่ายังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งการตีความ ข้อกฎหมายอยู่หลายประการ สมควรที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะยื่นอุทธรณ์ คําพิพากษาต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดังจะได้เสนอเหตุผลเพื่อประกอบการพิจารณา ดังต่อไปนี้้

๑.การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญที่มาจากเสียงส่วนใหญ่จากการลงประชามติของประชาชนในประเทศ รักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ดังตัวอย่างเนื ้อหาของการชุมนุมได้แก่ การคัดค้านมิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดให้กับกลุ่มของตนเองและพวกพ้องทั้งคดีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติประกอ[รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และกฎหมายเลือกตั้ง คัดค้านการใช้อํานาจฝ่ายบริหารโยกย้ายข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมเพื่อตัดตอนความผิดของพรรคพวกของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเพื่อมิให้มีการพิจารณาในชั ้นศาล คัดค้านการทุจริตเลือกตั้งอันเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คัดค้านการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง และรักษาไว้ในการปกป้องอธิปไตยพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่รัฐบาลในขณะนั ้นมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อนําแผนที่กําหนดให้พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชาฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ต่อต้านการกระทําของทนายของ พ.ต.ต.ทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามนําเงิน ๒ ล้านบาทไปให้เจ้าหน้าที่ศาล คัดค้านและเปิดโปงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือสนับสนุนรัฐบาล มีพฤติการณ์ดูหมิ่นและละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ซึ่งเนื ้อหาในการคัดค้านดังกล่าวข้างต้น ได้พิสูจน์มาแล้วปรากฏในคําพิพากษาของศาลในหลายกรณี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลในขณะนั ้นอยู่ภายใต้การนําของพรรคพลังประชาชน ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ ให้ยุบพรรคพลังประชาชนและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว ซึ่งรวมถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคในขณะนั้นด้วย อันสืบเนื่องมาจากนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กระทําความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งมีผลทําให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยถึงความร้ายแรงดังกล่าวเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า “เป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ กรณีจึงสมควรที่จะต้องยุบพรรคพลังประชาชน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานพฤติกรรมทางการเมืองที่ดีงาม เพื่อให้เกิดผลในทางยับยั้งป้องปรามมิให้เกิดการกระทําผิดซํ้าขึ้นอีก” ย่อมแสดงให้เห็นว่าการคัดค้านต่อต้านรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในขณะนั ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นไปเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ รักษาประชาธิปไตยของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน

ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคําพิพากษาเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ดังนั้นในเหตุการณ์หลังวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จนถึงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยย่อมเล็งเห็นและคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่า เมื่อกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนคนหนึ่งทุจริตการเลือกตั้งแล้ว พรรคพลังประชาชนย่อมถูกยุบพรรค และรวมถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และส่งผลทําให้พ้นจากตําแหน่งกรรมการบริหารพรรคและตําแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย และเนื่องจากการทุจริตเลือกตั้งนั้นเป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ การชุมนุมคัดค้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ จึงย่อมเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติและประชาชน หากนิ่งเฉยหรือไม่ทําการคัดค้านก็ไม่อาจเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาตัดสินอีกนานเท่าใด และช่วงเวลาระหว่างนั้นย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อประเทศเพียงใด เพราะนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองที่มีกรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ และได้พิสูจน์ในเวลาต่อมาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค อันเป็นผลทําให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ อันเป็นการพิสูจน์ว่าการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และรักษาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ รายละเอียดปรากฏตามสําเนาคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ส่งมาด้วย ๒.

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดังกล่าวข้างต้นยังสอดคล้องกับคําพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๖๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ ระหว่างผู้ฟ้องคดีนายชิงชัย อุดมเจริญกิจกับพวก กับ ผู้ถูกฟ้องคดี สํานักงานตํารวจแห่งชาติและสํานักนายกรัฐมนตรีนั ้น ศาลปกครองกลางได้มีคําพิพากษาความตอนหนึ่งว่า “เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะเข้าแถลงนโยบายก่อนรับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีที่รัฐสภาและมีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในฐานะประชาชนเจ้าของอํานาจอธิปไตยโดยแท้ที่มอบผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ปฏิบัติหน้าที่แทน หากไม่เห็นด้วยกับการที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาบริหารประเทศโดยสืบทอดอํานาจต่อจากรัฐบาลพันตํารวจโททักษิณ ชินวัตรซึ่งต้องหาว่าทุจริต ย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับผู้นําฝ่ายบริหารตามวิถีทางประชาธิปไตย” รายละเอียดปรากฏตามสําเนาคําพิพากษาศาลปกครองกลาง สิ่งที่ส่งมาด้วย ๓.

๒. การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งบังคับใช้ในขณะนั้นมิได้เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามคําวินิจฉัยของศาลคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง เนื่องจากพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมอยู่โดยสงบ ปราศจากอาวุธ โดยมีรถเวทีปราศรัยที่หน้ารัฐสภา และมีผู้ร่วมชุมนุมเต็มพื้นที่โดยรอบบริเวณถนนอู่ทองในและถนนราชวิถี ตลอดแนวหน้ารัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเวลา ๑๗.๐๐ น.ของวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ และมีการชุมนุมปราศรัยตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ โดยมิได้ปรากฏเหตุความไม่สงบเรียบร้อยหรือก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด มิได้มีการกระทําใดอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และความวุ่นวายเกิดขึ้นจากการกระทําของจําเลยทั้งสี่ ที่ได้มีการประชุมตระเตรียมการที่จะใช้กําลังต่อประชาชนผู้ชุมนุม โดยเริ่มตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อคืนวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ เวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น. และมอบหมายให้ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จําเลยที่ ๒ มาร่วมวางแผนปฏิบัติการกับ จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้ระดมกําลังเจ้าหน้าที่ตํารวจจากทั่วประเทศ รวมถึงตํารวจตระเวนชายแดน จํานวนถึง ๒,๕๐๐ นายพร้อมอาวุธ นํามาสู่การปฏิบัติการใช้กําลังกับผู้ชุมนุมด้วยอาวุธปืน ระเบิด และแก๊สน้ำตา นานาชนิดถล่มใส่ผู้ชุมนุม โดยเริ่มตั้งแต่เช้ามืด ๐๖.๑๕ น.ของวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ และยิงถล่มใส่ประชาชนเรื่อยมารวม ๔ ช่วงเวลา จนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. จนมีผู้บาดเจ็บถึง ๔๗๑ คน เสียชีวิต ๒ คน เหตุแห่งความวุ่นวายและความไม่สงบ เกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ภายใต้การบังคับบัญชา สั่งการของจําเลยทั้งสี่ และเป็นการจงใจใช้ความรุนแรงกับประชาชน จากเจ้าหน้าที่ตํารวจแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยประชาชนมิได้เป็นฝ่ายก่อความวุ่นวายขึ้นมาก่อน หรือต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

๓. การสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เจ้าพนักงานตํารวจมิได้ปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานของสากล มิได้ปฎิบัติตามแผนกรกฎ/๔๘ ทั้งยังไม่ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักซึ่งตามคําวินิจฉัยของศาลคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง โดยวิธีการที่ถูกต้องนั ้น ต้องเริ่มจากการเจรจาต่อรอง หากไม่สามารถเจรจาต่อรองได้จึงจะใช้มาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนักโดยใช้โล่กําบังผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม หากไม่ได้ผลจึงจะใช้มาตรการฉีดน้ำจากรถดับเพลิงซึ่งมีความแรงพอที่จะผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกจากเป้าหมายที่ประสงค์จะเปิดทางได้ หากใช้น้ำฉีดไม่ได้ผลจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา ทั้งสามขั้นตอนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จําต้องประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบก่อน แต่กลุ่มผู้ชุมนุม กลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มเจ้าหน้าที่พยาบาลและทีมแพทย์สนามยืนยันว่าไม่ได้ยินเสียงประกาศแจ้งเตือนแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตํารวจได้ใช้มาตรการในการควบคุมผู้ชุมนุมจากเบาไปหาหนักตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับอาวุธที่นํามาใช้ล้วนแต่เป็นอาวุธอันตรายโดยสภาพและนํามาใช้สลายกลุ่มผู้ชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลดังที่นาวาเอก พงษ์ศักดิ์ เกื้ออรุณ ผู้อํานวยการกองวิทยาการกรมสรรพาวุธทหารอากาศ ยืนยันว่า หลักการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดขว้างควรขว้างให้ตกห่างฝูงชนมากกว่า ๓ เมตร ในทิศทางเหนือลม ส่วนการยิงระเบิดแก๊สน้ำตา ควรใช้มุมยิง ๒๕-๔๕ องศา โดยยิงห่างฝูงชน ๖๐-๙๐ เมตร ทั้งสองวิธีไม่ควรขว้างหรือยิงเล็งไปยังบุคคลใดโดยตรง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตํารวจมีการนําอาวุธและวัตถุระเบิดมาใช้ในการสลายการชุมนุมเป็นจํานวนมากมิได้ปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก มิได้ปฏิบัติตามแผนกรกฎ/๔๘ แต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงได้เกิดขึ้นตลอดเวลาตั้งแต่เช้าจดคํ่า แม้ว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว หรือแม้แต่สมาชิกรัฐสภาได้เดินทางออกจากรัฐสภาแล้ว รายละเอียดปรากฏตามสําเนาคําพิพากษาศาลปกครองกลาง สิ่งที่ส่งมาด้วย ๓. ทั้งแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ตํารวจนํามาใช้มีเป็นจํานวนมาก ส่วนใหญ่เป็นระเบิดแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากประเทศจีน จากผลการทดสอบของผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่าจากการแตกกระจายทําให้เกิดหลุมบนพื้นสนาม และพบสาร RDX ซึ่งมีอันตรายร้ายแรง และเป็นระเบิดแก๊สน้ำตาที่หมดอายุแล้ว นอกจากนี้้ การขว้างและยิงระเบิดแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตํารวจก็เลือกใช้วิธีขว้างและยิงขนานไปกับพื้น รายละเอียดปรากฏตามสําเนาภาพถ่ายจากเว็บไซต์ สิ่งที่ส่งมาด้วย ๔. ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มองเห็นเจตนาได้อย่างชัดเจนว่าประสงค์ต่อผลให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต

การสลายการชุมนุมมีความรุนแรง มีประชาชนเสียชีวิตสองราย และได้รับบาดเจ็บจํานวนมาก โดยประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมจํานวนมากไม่ได้รับทราบการแจ้งเตือนและมาตรการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคําสั่งไต่สวนฉุกเฉิน มีคําสั่งกําหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองและมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติดําเนินการเท่าที่จําเป็น โดยคํานึงถึงความเหมาะสม และมีลําดับขั้นตอน ให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติบังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคําสั่งศาล และให้นายกรัฐมนตรีใช้อํานาจหน้าที่ดําเนินการให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติปฏิบัติตามมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ตามคําสั่งศาล จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น

๔. ในคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้พิจารณาคดีสั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม๒๕๕๑ ซึ่งที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดนักการเมืองและนายตํารวจที่เกี่ยวข้อง ตามข้อกล่าวหาประกอบด้วย

๔.๑ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

๔.๒ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินลําดับถัดมาจากนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ให้เป็นผู้มีอํานาจสั่งการสํานักงานตํารวจแห่งชาติในภารกิจดําเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุม จึงมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

๔.๓ พลตํารวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้ทําตามคําสั่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้กระทํา โดยมิได้ยับยั้งการกระทําที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ตามวิสัยของข้าราชการตํารวจที่มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ จนเกิดความเสียหายดังกล่าว การกระทําหรือละเว้นการกระทําของพลตํารวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทําใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๗๙(๕), (๖) และมีมูลความผิดทางอาญาฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

๔.๔ พลตํารวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตํารวจนครบาล มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทําร้ายประชาชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ กระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทําหรือละเว้นการกระทําใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๗๙ (๓), (๕), (๖) และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ดําเนินการฟ้องร้องบุคคลทั้งสี่เป็นจําเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๘๓ เป็นคดีหมายเลขดําที่ อม.๒/๒๕๕๘ แม้ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ศาลจะมีคําพิพากษายกฟ้องก็ตาม ท่านในฐานะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดปัจจุบัน ซึ่งมี พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานฯ ย่อมต้องยึดถือข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามแนวมติเดิมที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ลงมติไว้แล้ว เนื่องจากเป็นมติจากการพิจารณาขององค์กรเดียวกัน เพื่อดําเนินคดีกับบุคคลทั้งสี่ตามกระบวนการของกฎหมายในการอุทธรณ์คําพิพากษา จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

๕. คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองดังกล่าว มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงหลายประการและคลาดเคลื่อนกับคําพิพากษาศาลปกครองกลาง มติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รายการผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่ได้มีคําวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวแล้วว่า การชุมนุมของประชาชนเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มิได้ทําไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง ในขณะที่การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจไม่ได้ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากล เจ้าหน้าที่ตํารวจมีการนําอาวุธและวัตถุระเบิดมาใช้ในการสลายการชุมนุมเป็นจํานวนมาก มิได้ปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก มิได้ปฏิบัติตามแผนกรกฎ/๔๘ แต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงได้เกิดขึ้นตลอดเวลาตั้งแต่เช้าจดคํ่า แม้ว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว หรือแม้แต่สมาชิกรัฐสภาได้เดินทางออกจากรัฐสภาแล้ว ซึ่งขัดแย้งต่อข้อกล่าวอ้างว่าต้องสลายการชุมนุมด้วยวิธีการดังกล่าวเพราะผู้ชุมนุมขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้ง ๔ องค์กรดังกล่าวได้ชี้ว่าจําเลยมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจกระทําละเมิดต่อผู้ชุมนุม

ซึ่งศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่าการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจเป็นการกระทําโดยจงใจกระทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อันเป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ชุมนุม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ จากรายการผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจต้องรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการละเมิดต่อกฎหมายที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ และ/หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๒๙๕, ๒๙๗, ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๓ และจากรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กําหนดไว้ในแผนกรกฎ/๔๘ หรือหลักการควบคุมฝูงชนอย่างเป็นขั้นตอนจากเบาไปหาหนักเพื่อควบคุมสถานการณ์และยุติความรุนแรง และจงใจเลือกใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดที่มีสารประกอบวัตถุระเบิด ซึ่งรู้หรือควรจะได้รู้อยู่ว่าสามารถทําให้เกิดอันตรายแก่อนามัยร่างกาย และชีวิต แก่บุคคลทั่วไปได้ และมีวิธีการยิงและขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาที่ผิดไปจากมาตรฐานการใช้เพื่อสลายการชุมนุม แต่มีการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาในลักษณะที่คล้ายกับการปราบผู้ก่อความไม่สงบ การก่อการร้ายหรือการปราบจลาจลมากกว่า รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๓. ถึง ๖.

๖. ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองต้องยึดถือและปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ซึ่งตามมาตรา ๕ บัญญัติให้ศาลรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาคดี เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยและสรุปข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วว่า การชุมนุมของประชาชน เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เมื่อมิได้ปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟัง ศาลฎีกาจะวินิจฉัยโดยมิได้ยึดถือสํานวน ป .ป.ช.เป็นหลักย่อมไม่มีอํานาจพิจารณาเช่นนั้นได้ คําวินิจฉัยส่วนนี้้ของศาลฎีกาย่อมขัดต่อกฎหมาย และฝ่าฝืนต่อข้อเท็จจริงที่มิอาจนํามารับฟังได้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงควรยื่นอุทธรณ์คําพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

๗. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๙๕ วรรคสี่ บัญญัติสิทธิในการอุทธรณ์คําพิพากษาของศาล ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ได้ซึ่งเป็นสิทธิในการอุทธรณ์คําพิพากษาที่บัญญัติขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่มิต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่ทําให้ข้อเท็จจริงในคดีเปลี่ยนแปลงไปในสาระสําคัญ ซึ่งมีความแตกต่างจากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่อตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้ใช้สิทธิทางศาลในการอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองได้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ใช้สิทธิดังกล่าว จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโปรดยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อให้มีคําพิพากษากลับคําพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโปรดดําเนินการยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อ คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน คงไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาล เพื่อ ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสลายการชุมนุมที่มีประชาชนบาดเจ็บและล้มตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อไปในอนาคต
       
       จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดําเนินการต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
(นายวีระ สมความคิด) 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท