มองเลือกตั้งเคนยา 2560 เมื่อความเป็นเผ่าเดียวกันกลายเป็นปัจจัยสำคัญ

มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเลือกตั้งในเคนยา ที่ผู้คนมักจะยึดติดกับเรื่องที่ว่าผู้สมัครมาจากเชื้อชาติชนเผ่าเดียวกันของตนหรือไม่ อย่างไรก็ตามเสียงสะท้อนจากประชาชนที่สื่ออัลจาซีราเข้าไปสัมภาษณ์ก็เผยให้เห็นว่าสาเหตุใดที่ผู้คนในเคนยาถึงคิดเช่นนี้

อูฮูลู เคนยัตตา และไรลา โอดินกา 2 ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเคนยา ที่มาภาพจาก: wikimedia.org 1 ,2

8 ส.ค. 2560 เคนยามีกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 ส.ค. 2560 ซึ่งชาวเคนยาจะได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ส.ส. รวมถึง ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเคนยามีสองพรรคใหญ่คือ จูบิลีนำโดย อูฮูลู เคนยัตตา ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และ ไรลา โอดินกา จากพรรคโอดีเอ็ม

อย่างไรก็ตามรายงานโดยนักข่าวอัลจาซีรา ฮัมวา โมฮัมเหม็ด ก็นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเมืองในเคนยาว่ายังมีลักษณะการเลือกผู้แทนแบบยึดติดเรื่องเชื้อชาติของผู้ลงแข่งขันมากกว่าจะฟังนโยบาย 

โมฮัมเหม็ดได้สัมภาษณ์คนขายอาหารที่ชื่อแอนน์ วันจิรู คาเมาจากเผ่าคิคูยูซึ่งเป็นเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในเคนยา คาเมาบอกว่าเธอไม่สนใจจะฟังการหาเสียงเลือกตั้งใดๆ เพราะเธอมีธงในใจอยู่แล้วว่าจะเลือกเคนยัตตาผู้เป็นเผ่าคิคูยูเหมือนกัน

ในประเทศแอฟริกาตะวันออกเชื้อชาติเป็นปัจจัยสำคัญในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เคนยามีการแบ่งเผ่ามากกว่า 40 เผ่า มีเผ่าใหญ่ๆ 5 เผ่าคือ คิคูยู, ลูห์ยา, คาเรนจิน, ลู และกัมบา รวมเป็นประชากรร้อยละ 70 ของประเทศ ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ โอดินกามาจากเผ่าลูซึ่งเป็นชนเผ่าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเคนยามีผู้ร่วมหาเสียง (running mates) จากเผ่าลูห์ยาและกัมบา ส่วนผู้ร่วมหาเสียงของเคนยัตตาเป็นผู้ที่มาจากเผ่าที่ใหญ่เป็นอันดับสามของเคนยา

โมฮัมเหม็ดระบุว่าจากการสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเมืองหลวงไนโรบีเกือบทั้งหมดบอกว่าพวกเขาจะเลือกคนที่มาจากเผ่าตัวเองเพื่อกลัวว่าคนจากเผ่าอื่นจะได้ตำแหน่งและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจผู้สมัครจากเชื้อชาติอื่น นอกจากจะวางเป้าหมายลงคะแนนให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว คนที่มาจากเผ่าอื่นก็มุ่งลงคะแนนให้กับผู้ร่วมหาเสียงที่มาจากเผ่าของตนเอง เช่น โดโรธี มาคุนกู คนขายผลไม้และน้ำผลไม้บอกว่าเธอจะลงคะแนนให้โอดินกาเพราะผู้ร่วมหาเสียงของโอดินกาคือ มูซาเลีย มูดาวาดี หัวหน้าเผ่าลูห์ยา เผ่าเดียวกันเธอ

หนึ่งในคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างชื่อเดวิด มาวิรา นเยรู แสดงความคิดเห็นว่าเรื่องนี้ "ไม่ใช่การแบ่งแยกเผ่า" แต่เป็น "แค่การนิยมคนของตัวเอง" 

อย่างไรก็ตามในขณะที่เชื้อชาติชนเผ่าส่งผลอย่างมากแต่ระบบการเลือกตั้งของเคนยาก็ทำให้มีความลื่นไหลทางการเมืองได้ ระบบการเลือกตั้งของเคนยาเป็นระบบการเลือกตั้งสองรอบ (two-round system) ที่มีการดัดแปลง โดยระบุให้ผู้ที่จะชนะในรอบแรกได้ต้องได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าร้อยละ 50 จากทั้งหมด และร้อยละ 25 จากอย่างน้อย 24 เขตปกครอง โดยที่ไม่มีเผ่าใดเลยในเคนยาที่มีประชากรมากกว่าร้อยละ 50 และแม้ว่าจะมีการรวมตัวแทนเผ่าต่างๆ ในพรรคแนวร่วม แต่พรรคแนวร่วมตามเผ่าในการเมืองเคนยาก็มีการย้ายข้างได้ง่ายมากถ้าหากพวกเขาได้ข้อเสนอที่ดีกว่า

ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของเคนยาตัวแทนแต่ละกลุ่มก็เคยย้ายข้างพรรคแนวร่วมกันไปมา ในการเลือกตั้งครั้งหนึ่งเมื่อปี 2550 เคยมีการคัดค้านผลการเลือกตั้งจากแนวร่วมฝ่ายค้านจนส่งผลให้เกิดความรุนแรงมีผู้คนเสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน และมีผู้คนพลัดถิ่นมากกว่า 500,000 คน ความรุนแรงในครั้งนั้นหยุดลงเมื่อ มไว คิบากิ ผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้นยอมตั้งรัฐบาลร่วมกับโอดินกาผู้เป็นหนึ่งในแนวร่วมฝ่ายค้านในสมัยนั้น

โจชัวร์ ดองโก โอโนโน ผู้ที่เคยเป็นผู้ร่วมหาเสียงในการเลือกตั้งปี 2555 กล่าวว่าการเมืองของเคนยาก็ไม่ต่างจากที่อื่น เช่นในตะวันตกคนจำนวนมากก็ตัดสินใจจากการที่ตัวเองเป็นชนชั้นแรงงานหรือเป็นคนรวย เป็นผู้มีแนวคิการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมหรือแนวคิดอื่นๆ แต่ในเคนยาเปลี่ยนจากปัจจัยเหล่านี้มาเป็นเรื่องชนเผ่าเท่านัน

อย่างไรก็ตามโอโนโนมองในแง่ดีกว่าในอีก 10-30 ปีข้างหน้าชาวเคนยาอาจจะก้าวข้ามเรื่องเชื้อชาติชนเผ่าได้แล้วหันไปเลือกผู้แทนด้วยนโยบายแทน เช่นเลือกเพราะผู้แทนมีการให้สวัสดิการสุขภาพที่ดีขึ้น

แต่ในปัจจุบันคนทั่วไปอย่างคาเมาก็ยังคงมองผู้สมัครทุกคนเหมือนๆ กันไปหมดคือมุ่งหาผลประโยชน์ของตัวเองทำให้พวกเขาไม่คิดว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปไม่ว่าใครจะชนะก็ตาม "พวกเขาเหมือนกันไปหมด พวกเขาเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง มีความแตกต่างอย่างเดียวคือพวกเขาอยู่เผ่าอะไร" คาเมากล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Kenyan elections: The ethnicity factor, Aljazeera, 07-08-2017

http://www.aljazeera.com/indepth/features/2017/08/kenyan-elections-ethnicity-factor-170806081143385.html

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Kenyan_general_election,_2017

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท