Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ถ้าเรามองดูรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เราก็จะเห็นว่าภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆในรัชสมัยเป็นเรื่องของการสร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพสกนิกร รวมทั้งลดความแตกต่างระหว่างชนชั้นให้ลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาส หรือการประกาศยกเลิกการหมอบคลานกราบไหว้ที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้

สำหรับประกาศยกเลิกการหมอบคลานกราบไหว้ซึ่งเป็นการขจัดเอาวิธีการแสดงออกถึงความต่างกันของชนชั้นออกไปจากสังคมไทยนั้น ถ้าเรามองในแง่มุมหนึ่งก็เท่ากับเป็นการดึงชนระดับล่างให้มีสถานะสูงขึ้น แต่ถ้าเราจะมองในอีกแง่มุมหนึ่งก็เหมือนเป็นการดึงพระองค์ให้ต่ำลงมา ซึ่งพระองค์ก็ไม่ได้ทรงไม่พอพระทัยกับเรื่องนี้แต่อย่างใด กลับทรงคิดถึงความก้าวหน้าของประเทศและเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพสกนิกรเป็นหลักตามที่ประกาศไว้ในส่วนนำของพระราชกิจจานุเบกษาเปลี่ยนธรรมเนียมการหมอบคลานกราบ ต้องถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง

และพระองค์เองก็ไม่ได้ทรงประกาศให้ใช้แต่เพียงในกิจการภายนอกเท่านั้น กิจการเข้าเฝ้าภายในพระราชวังเองก็ทรงประกาศให้ใช้โดยทั่วกัน และทรงมีความตั้งมั่นในการเปลี่ยนแปลงนี้ถึงขนาดที่มีบันทึกไว้ว่าเมื่อพระธิดาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพหมอบกราบขัดพระราชบัญชานั้นพระองค์ก็ทรงกริ้วและทรงถึงกับดึงพระเมาลีของพระธิดาเพื่อให้ยืนขึ้น

ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระประสงค์ของพระองค์นั้นคือทรงไม่พึงให้มีการหมอบกราบเกิดขึ้นเลยกระทั่งกับตัวพระองค์เอง แม้ว่าผู้ที่ทำการหมอบกราบจะเป็นพระญาติใกล้ชิดดังเช่นพระธิดาก็ตาม

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วพิธีถวายบังคมที่ทำในจุฬาฯนั้นควรจะถือว่าเป็นอย่างไร?

อันดับแรกต้องกล่าวก่อนว่าพระราชกิจจานุเบกษาในสมัยนั้นไม่ได้ปรากฎชัดเจนว่าจะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในสมัยนี้หรือไม่ และจริงๆถึงจะมีผลบังคับใช้ก็ไม่ได้มีการระบุบทลงโทษใดๆไว้ ดังนั้นหากจุฬาฯจะเลือกทำพิธีถวายบังคมโดยการให้นิสิตหมอบกราบก็ย่อมไม่ผิดกฎหมาย และต่อให้ผิดก็ไม่ได้มีบทบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงหรือมีบทลงโทษเมื่อไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

แต่ผมไม่ได้กำลังพูดถึงกฎหมาย ผมกำลังพูดถึงการที่คนในจุฬาฯเอาสิ่งที่พระองค์สั่งห้ามไว้ไม่ให้กระทำกับตัวพระองค์เองไปทำกับพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ แล้วก็อ้างว่าเป็นการแสดงความรำลึกและจงรักภักดี

หากสมมติเป็นตัวผมเคยสั่งห้ามลูกหลานเอาไว้ว่าไม่ให้กราบ แล้วเมื่อผมจากไปนั้นลูกหลานก็มากราบรูปของผม คงเป็นเรื่องยากที่ผมจะรู้สึกดีใจ และผมคงจะรู้สึกว่าลูกหลานให้ความสำคัญกับความตั้งใจของผมน้อยกว่าสิ่งอื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นการคิดเอาเองของลูกหลานว่าผมต้องการอย่างไร อาจเป็นเพราะความต้องการให้เกิดภาพที่งดงามเป็นที่พอใจของผู้พบเห็น(แต่ไม่ได้เป็นที่พอใจของตัวผม) หรืออาจเป็นสิ่งอื่นก็สุดแล้วแต่

บางคนอาจจะบอกว่าพระองค์ไม่ได้ทรงสั่งห้ามการกราบไหว้รูปบูชา ทรงกล่าวไว้เพียงแค่การเข้าเฝ้าพระองค์ในขณะที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่เท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง ตัวพระราชกิจจานุเบกษาไม่ได้กล่าวครอบคลุมถึงการทำความเคารพบูรพกษัตริย์ผู้ล่วงลับว่าห้ามหมอบคลานกราบไหว้

แต่นักกฎหมายต้องรู้จักเคารพเจตจำนงค์ที่แฝงไว้ในตัวหนังสือที่เขียนกฎหมายฉันใด เราทุกคนก็ควรต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะเคารพเจตจำนงค์ที่แฝงไว้ในพระราชกิจจานุเบกษาฉันนั้น ตัวหนังสือนั้นก็สื่อความได้จำกัด พระราชกิจจานุเบกษาก็ไม่สามารถเขียนครอบคลุมทุกสถานการณ์ที่เป็นไปได้ แต่เจตจำนงค์ของพระองค์ที่ส่งผ่านบทนำของพระราชกิจจานุเบกษาและบันทึกพระราชประวัตินั้นมีความชัดเจน พระองค์ไม่ได้ประสงค์ให้มีการหมอบคลานกราบไหว้ตัวพระองค์เอง และเมื่อพระประสงค์เห็นเด่นชัดว่าทรงมีความตั้งมั่นถึงขนาดนี้แล้ว เหตุใดเราจึงควรจะคิดทึกทักเอาเองว่าจู่ๆพระองค์จะทรงเปลี่ยนพระหทัยมาพึงพอพระทัยกับการที่ชนรุ่นหลังหมอบคลานกราบไหว้พระองค์?

หากผู้ใดทำการหมอบคลานกราบไหว้โดยอ้างเพียงว่าตัวหนังสือไม่ได้สั่งห้ามเอาไว้ ย่อมเป็นการมองสิ่งต่างๆอย่างเพียงผิวเผินและยังเป็นการยึดเอาตัวหนังสือเป็นสำคัญกว่าพระประสงค์ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ไม่ต่างอะไรกับพฤติกรรมในลักษณะ "ห้ามเดินลัดสนาม ถ้าอย่างนั้นวิ่งลัดสนามได้" ซึ่งอ้างตัวหนังสือที่เขียนแต่ละเลยความตั้งใจที่แฝงอยู่

จริงๆผมเองก็ไม่ได้เรียนและไม่ได้ทำงานที่จุฬาฯ พิธีถวายบังคมอะไรนี่ก็ไม่ได้ไปมีส่วนร่วมกับเค้าหรอก แต่ก็แค่รู้สึกว่าเรื่องนี้มันมีความสำคัญมากพอที่จะยกมาพูดถึงเพราะจริงๆมันเป็นตัวอย่างของปัญหาใหญ่เอาเรื่องปัญหาหนึ่งในวงการแพทย์ไทย และเป็นปัญหาที่เสียดแทงใจผมทุกครั้งที่ได้พบเห็น นั่นคือการที่ลูกหลานหรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังคิดกันเอาเองว่าอะไรดีอะไรไม่ดีสำหรับผู้ที่ไม่สามารถตัดสินใจได้เองแล้ว โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเจตจำนงที่คนผู้นั้นเคยได้แสดงเอาไว้

บุคลากรทางการแพทย์หลายคนคงเคยเจอกรณีที่ผู้ป่วยได้แสดงความประสงค์บางอย่างเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว แต่เมื่อผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่มีสติหรือสับสนจนไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ก็จะมีญาติบางคนที่ต้องการทำอย่างที่ตัวเองเห็นสมควร แม้จะชัดเจนว่าสิ่งนั้นจะขัดกับความต้องการของผู้ป่วย

ที่น่าเจ็บใจก็คือบางครั้งนั้นผู้ที่ตัดสินใจแทนก็ไม่ได้ทำสิ่งต่างๆเพราะเห็นว่าดีและสมควร แต่กลับทำไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูดีในสายตาผู้อื่น ซึ่งดูไปก็ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายคลึงกับการที่มีคำพูดซ้ำๆเกี่ยวพิธีถวายบังคมว่าจะ "ให้ภาพที่สวยงาม" "เป็นสิ่งที่งดงามในสายตาผู้พบเห็น" แต่กลับไม่เคยมีการตั้งคำถามว่านี่คือสิ่งดีที่พระองค์จะทรงพอพระทัยหรือไม่

ภาพของสองสถานการณ์ที่โดยผิวเผินดูจะแตกต่างแต่ก็เหมือนกันในแก่นนี้สอดทับกันในสายตาของผม ญาติที่คิดเอาเองว่าอะไรดีกับผู้ป่วย ญาติที่เลือกสิ่งที่ทำให้ตัวเองดูดีในสายตาผู้อื่น แล้วละเลยความจำนงค์ที่ผู้ป่วยเคยแสดงไว้ กับจุฬาฯที่คิดเอาเองว่าอะไรดีสำหรับล้นเกล้า ร.5 จุฬาฯที่เลือกสิ่งที่ทำให้ตัวเองดูดีในสายตาผู้อื่น แล้วละเลยพระประสงค์ที่ล้นเกล้า ร.5 ได้ทรงให้ไว้

ทำให้รู้สึกทนไม่ไหวจนต้องเขียนเรื่องนี้ออกมา
 

 



เกี่ยวกับผู้เขียน: อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์ เป็นแพทย์ประจำภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net