Skip to main content
sharethis

ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว 7 คน พร้อมทั้ง เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ... เป็นกฎหมาย หวังให้ระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินของประเทศมีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

10 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเรื่องด่วน ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับ การเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2560 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 5 เม.ย. 2560 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 25/2560 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2560 ลงวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมได้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมาด้วยแล้ว

โดยภายหลังจากการประชุมลับเพื่อพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้รับจากการตรวจสอบและการลงคะแนนลับ ผลการลงคะแนนปรากฏว่า บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 7 คน ประกอบด้วย 1. ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ (ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน) 2. พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ (ด้านกฎหมาย) 3. ศาสตราจารย์อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป (ด้านกฎหมาย) 4. จินดา มหัทธนวัฒน์ (ด้านบัญชี) 5. พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ (ด้านการตรวจสอบภายใน) 6. วีระยุทธ ปั้นน่วม (ด้านการเงินการคลัง) และ 7. สรรเสริญ พลเจียก (ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน) ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

วันเดียวกัน สนช. มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระบบการชำระเงิน พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 187 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 191 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ.

วรพล โสคติยานุรักษ์ ประธาน กมธ.กล่าวว่า ภายหลัง กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นบางมาตรา อาทิกำหนดคำนิยาม “เงินอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ประกอบธุรกิจออกให้แก่ผู้ใช้บริการซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยมีการชำระเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจไว้ล่วงหน้า เพื่อนำไปใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือค่าอื่นใดแทนการชำระด้วยเงินสด และมีการบันทึกมูลค่าหรือจำนวนเงินที่ชำระไว้ล่วงหน้า พร้อมทั้งกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ได้รับอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจระบบการชำระเงินภายใต้การกำกับแต่งตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับการปลอมและแปลง ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้อนทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอกหรือรับของโจร ไม่ว่าจะมีการรอการลงโทษหรือไม่ก็ตาม หรือเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการ หรือผู้ซึ่งมีอำนาจจัดการของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของสถาบันการเงินเป็นบทบาทสำคัญประการหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกอบกับได้มีการกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแลหรือรับผิดชอบระบบการชำระเงินตามกฎหมายอื่นอีกดัวย เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูและระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินอย่างเป็นระบบมีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล และมีการกำหนดเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผลทางกฎหมายที่สำคัญของการชำระเงิน ตลอดจนการให้ความคุ้มครองไม่ใช้การชำระเงินมีการยกเลิก เพิกถอน ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ทำให้ระบบการชำระเงินของประเทศเกิดความเสถียรภาพและความมั่นคงและดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net