ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ศึกษา #1 ราชวงศ์สเปนซึ่งได้รับงบประมาณน้อยที่สุดในยุโรป

เล่าเรื่องการบริหารทรัพย์สินของราชวงศ์สเปนซึ่งกษัตริย์พระองค์ก่อนเคยมีพระราชดำรัสไม่ยอมรับการก่อรัฐประหาร รับงบรายปีจากรัฐ ทรัพย์สิน ที่ดิน ผืนป่ายกให้รัฐดูแล  พิษวิกฤติเศรษฐกิจ แรงกดดันสังคมทำราชสำนักเปิดเผยบัญชีรายรับ-จ่าย โปร่งใสจนเปิดรายได้สมาชิกพระราชวงศ์

ประชาไทพาผู้อ่านเปรียบเทียบการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างกรณีของสเปน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาแนวทางอันหลากหลายและไม่ตายตัวในการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขและบริบทแตกต่างกันออกไป โดยตอนแรกจะนำเสนอกรณีบริหารจัดการของราชวงศ์สเปน โดยข้อมูลส่วนใหญ่มีให้ดูอย่างเปิดเผยและละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักพระราชวังของแต่ละประเทศ

ราชอาณาจักรสเปน: กษัตริย์งบน้อยที่สุดในยุโรป เปิดข้อมูลโปร่งใส ร่วมรัดเข็มขัดไปพร้อมกับราษฎร ออกรับผิดชอบทั้งขึ้นศาล แถลงขอโทษเมื่อมีข่าวฉาว

เมื่อปี 2557 สำนักข่าว เดอะ โลคอล รายงาน ว่า รัฐบาลสเปนได้ประกาศงบประมาณที่จัดสรรให้พระราชวงศ์ประจำปี 2558 มีจำนวนราว 7 ล้าน 8 แสนยูโร ทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ประมุขแห่งสเปนพระองค์ใหม่ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส กษัตริย์พระองค์ก่อนเป็นกษัตริย์ที่ "ราคาถูก" ที่สุดในยุโรป (Europe's cheapest) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

Felipe de Borbón en Ecuador.jpg

สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน (ที่มา:วิกิีพีเดีย)

ตามรัฐธรรมนูญสเปน มาตรา 65 ระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับงบประมาณแผ่นดินที่อนุมัติโดยรัฐสภา และนำงบดังกล่าวมาจัดสรรได้อย่างอิสระภายใต้วัตถุประสงค์แห่งการดูและรักษาและบริหารจัดการในพระราชวัง สำนักพระราชวังสเปนระบุว่า วัตถุประสงค์ของการได้มาซึ่งงบประมาณ เป็นไปเพื่อที่จะให้ประมุขแห่งรัฐปฎิบัติหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญได้อย่างเป็นเอกเทศ มีประสิทธิภาพและสมพระเกียรติ โดยงบประมาณดังกล่าวนำมาใช้เป็นเงินรายได้แก่พระราชวงศ์ ค่าจ้าง ค่าเดินทางแก่บุคลากรและข้าราชการในสังกัด รวมถึงเป็นเงินจับจ่ายใช้สอยต่างๆ

2016 Exercise

แผนภูมิรายจ่ายเป็นสัดส่วนจากงบประมาณที่ได้รับของราชวงศ์ในปี 2559 (จากบนลงล่าง: รายจ่ายบุคลากรร้อยละ 49.30 ค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าและบริการร้อยละ 37.67 รายได้สมาชิกพระราชวงศ์ เงินลงทุน ร้อยละ 2.51 และเงินทุนสำรองจ่ายร้อยละ 2 ที่มา: Casa de S.M. El Rey)

2016 Exercise

เงินรายได้สมาชิกพระราชวงศ์ในปี 2559 ได้รับการเปิดเผยในเว็บไซต์สำนักพระราชวัง (จากบนลงล่าง ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ 236,544 ยูโร พระราชินี 130,092 ยูโร อดีตกษัตริย์ ฆวน คาร์ลอส 189,228 ยูโรและอดีตพระราชินี ดอนยา โซเฟีย 106,452 ยูโร ที่มา: Casa de S.M. El Rey)

แม้ตามกฎหมายจะระบุให้การจัดสรรงบประมาณอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของประมุข แต่ในทางปฏิบัติ ประมุขก็มีกลไกในการช่วยเหลือในเชิงการบริหารจัดการ ในเว็บไซต์ของสำนักพระราชวังของสเปนระบุว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการงานด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ร่างงบประมาณและรับรองบัญชีงบประมาณรายปีคือสำนักพระราชวัง โดยเลขาธิการสำนักพระราชวัง (Head of the Household) จะรับผิดชอบหน้าที่ดังกล่าว

ในประเด็นการเสียภาษี รัฐธรรมนูญสเปนไม่ได้ยกเว้นการเสียภาษีให้กับประมุขและสมาชิกของราชวงศ์ กระนั้น ในปี 2557 องค์หญิงคริสตินาถูกฟ้องฐานเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดให้ อินยากี อูรดานการิน สามีที่เป็นอดีตนักกีฬาแฮนด์บอลในกีฬาโอลิมปิกกระทำการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ปัจจุบันพระองค์พ้นผิดฐานเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ในขณะที่สามีต้องโทษจำคุก 6 ปี 3 เดือน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศที่สมาชิกราชวงศ์ถูกดำเนินคดีอาญา

นอกจากนั้น ราชสำนักยังเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำปีของสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาเนื่องจากแรงกดดันจากสังคมที่มาจากวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำที่ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็ร่วมในมาตรการนี้ด้วย สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ รายงานว่า กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส กษัตริย์พระองค์ก่อนมีรายได้ปีละประมาณ 3 แสน 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ และเจ้าชายเฟลิเปซึ่งเป็นรัชทายาท ณ ขณะนั้นมีรายได้น้อยกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง โดยงบประมาณที่เปิดเผยตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมาจนปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง โดยปี 2554 มีงบประมาณอยู่ที่ราว 8 ล้าน 4 แสนยูโร จากนั้นค่อยๆ ลดลงมาจนปีงบประมาณ 2560 เหลือราว 7 ล้าน 8 แสนยูโร

Annual Budgets

งบประมาณรายปีที่รัฐจัดสรรให้ราชวงศ์ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน 

นอกจากงบประมาณรายปีที่ได้แล้ว ราชวงศ์ของสเปนก็มีทรัพย์สินอื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อาคาร พระราชวัง สวนหรือราชวัตถุทางศิลปะเช่นงานจิตรกรรม งานปั้น อาวุธยุทธภัณฑ์โบราณ แต่ทรัพย์สินดังกล่าวถูกยกให้เป็นของรัฐในลักษณะที่ทางราชวงศ์จะยังใช้ประโยชน์ได้ ในขณะเดียวกันรัฐก็สามารถนำทรัพย์สินมาใช้ได้ในหลายโอกาส เช่นราชพิธีสำคัญ และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ด้วยฐานที่เป็นวัตถุทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของชาติและยุโรป ทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกบริหารจัดการโดยองค์กรมรดกแห่งชาติ (Patrimonio Nacional) ปัจจุบันองค์กรดูแลพระราชวัง 8 แห่ง พระที่นั่งอีก 5 แห่ง และโบสถ์หลวงอีก 10 แห่ง ซึ่งทั้งหมดเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ วัตถุทางประวัติศาสตร์และศิลปะอีกมากกว่า 154,000 ชิ้น นอกจากนั้นยังมีป่าอีก 20,500 เฮกตาร์หรือราว 205 ตร.กม. สวนประวัติศาสตร์ 589 เฮกตาร์หรือราว 5.89 ตร.กม. และสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว รวมทั้งยังดูแลทรัพย์สินที่ยกให้พระราชวงศ์ใช้ และทรัพย์สินที่ราชวงศ์พระราชทานให้รัฐใช้ นอกจากนั้น องค์กรมรดกแห่งชาติยังเปิดพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนเข้าชมได้ โดยมียอดผู้เข้าชมเฉลี่ยถึงปีละ 3 ล้านคน

พระราชวังกรุงมาดริด (ที่มา: esmadrid.com)

สำนักข่าว บีบีซี ของอังกฤษ รายงานว่า อดีตกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ได้รับเลือกจากจอมพลฟรานซิสโก ฟรังโก ผู้นำเผด็จการทหารของสเปน ให้ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี 2518 และถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดระบอบเผด็จการนิยมเช่นว่านั้นต่อจากฟรังโก แต่พระองค์มีความพยายามที่จะสถาปนาการปกครองระบอบรัฐสภาแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จนกระทั่งปี 2523 หลังฟรังโกเสียชีวิต สเปนเผชิญกับวิกฤติความมั่นคงและเศรษฐกิจจนนายกรัฐมนตรี อดอลโฟ ซัวเรซ ประกาศลาออก หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น พันโทอันโตนิโอ เตเฆโร โมลินา พยายามก่อรัฐประหารด้วยการบุกเข้ายึดสภาผู้แทนราษฎรหรือที่เรียกว่า คอร์เตส พร้อมจับ ส.ส. ในสภาเป็นตัวประกัน

ท่ามกลางสภาวะวิกฤติที่ประเดประดังใส่ระบอบประชาธิปไตยที่กำลังตั้งไข่ กษัตริย์ฆวน คาร์ลอสมีพระบัญชาให้หน่วยงานราชการทำหน้าที่แทนรัฐสภา และเมื่อเวลา 01.15 น. ของวันที่ 24 ก.พ. ปีเดียวกัน กษัตริย์ฆวน คาร์ลอสปรากฏพระองค์ในชุดทหารทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ และมีพระราชดำรัสว่าพระองค์จะไม่ยอมทนกับการก่อรัฐประหาร ซึ่งขณะนั้นกลุ่มผู้ก่อการก็ได้ยอมแพ้ไปแล้วเนื่องจากขาดเสียงสนับสนุนจากประชาชนและภายในหมู่ทหารด้วยกันเอง

Embed from Getty Images

ซ้ายไปขวา: นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก เจ้าชายฆวน คาร์ลอส (ที่มา: Gettyimage/Hulton Royal Collection)

กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ประกาศสละราชบัลลังก์ให้เจ้าชายเฟลิเปในปี 2557 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดข่าวอื้อฉาวกรณีที่พระองค์เสด็จประพาสล่าช้างที่ป่าบอตสวานาในปี 2555 ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในสเปนและสหภาพยุโรป ทำให้ชาวสเปนไม่พอใจที่ผู้เป็นประมุขไม่อยู่เคียงข้างกันภายใต้สภาวะวิกฤติเช่นนั้น ซึ่งพระองค์ก็ได้ออกมาแถลงขอโทษประชาชนในภายหลัง

แปลและเรียบเรียงจาก

Spain's monarchs reveal finances for first time, CNN, December 29, 2011

Spain's King Juan Carlos under fire over elephant hunting trip, The Guardian, April 15, 2012

Profile: Spain's Juan Carlos, BBC, June 19, 2014

TRANSPARENCIA, Casa de S.M. El Rey, Retrieved on August 11, 2017

The Spanish Constitution, boe.es, Retrieved on August 11, 2017

Spain's Princess Cristina cleared of tax fraud, as husband gets six years on corruption charges, The Telegraph, February 17, 2017

Royal Sites, Casa de S.M. El Rey, Retrived on August 11, 2017

The Institution, Patrimonio Nacional, Retrived on August 11, 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท