Skip to main content
sharethis

รูปปั้นของอดีตนายพลผู้เคยสนับสนุนการใช้ทาสและการเหยียดผิวกลายมาเป็นประเด็นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนเพิ่งมาถึงจุดปะทุเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว รายงานนี้เล่าถึงที่มาตั้งแต่การที่ประชาชนวัยมัธยมฯ เรียกร้องต่อสภาเมืองให้ถอดถอนรูปปั้นนี้ ไปจนถึงความอ่อนไหวของคนบางกลุ่มที่ห่อหุ้มสิ่งบ่งชี้ประวัติศาสตร์ที่น่าอับอายนี้

15 ส.ค. 2560 ชาร์ลล็อตสวิลล์เป็นเมืองการศึกษาที่เงียบสงบแห่งหนึ่งในรัฐเวอร์จิเนีย แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็กลายเป็นเมืองที่กลุ่มขวาจัดและชาตินิยมสุดโต่งผิวขาวพากันแห่คบเพลิงออกมาประท้วงต่อต้านการถอนอนุสาวรีย์อดีตนายพล เกิดเป็นเหตุรุนแรงจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

อนุสาวรีย์อดีตนายพลโรเบิร์ต อี ลี เป็นหนึ่งที่สัญลักษณ์ของสิ่งที่ตกค้างจากยุคสมัยสมาพันธรัฐที่มีการใช้ทาสคนผิวดำ นิวยอร์กไทม์ระบุว่ารูปปั้นนี้มีลักษณะแสดงให้เห็นถึงความเป็นนายพลใหญ่ ที่ดูใหญ่เกินสิ่งทั่วไปในชีวิตประจำวัน นั่งควบอยู่บนม้าสีเขียว เหมือนกับตัวเขาซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน

รูปปั้นตัวนี้สร้างโดยประติมากรชาวนิวยอร์ก เฮนรี เมอร์วิน ชราดี และมีชาวอิตาเลียนที่ชื่อ ลีโอ เลนเทลลี มาสร้างต่อหลังจากที่ชราดีเสียชีวิตไปก่อน รูปปั้นนี้สร้างเสร็จในปี 2467 และอยู่ในเมืองชาร์ลล็อตสวิลล์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่จ้างวานให้ชราดีสร้างอนุสาวรีย์นี้คือ พอล กูดโล แมคอินไทร์ เศรษฐีนักบริจาคที่เกิดในชาร์ล็อตต์สวิลล์

จนกระทั่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้อาศัยในเมืองบางส่วน และเจ้าหน้าที่ทางการของเมืองนี้ร่วมกับองค์กรอย่าง "สมาคมเพื่อการส่งเสริมความก้าวหน้าของคนผิวสี" (NAACP) เรียกร้องให้ถอนอนุสาวรีย์ของลีออก อย่างไรก็ตามเคยมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายหนึ่งเคยเรียกร้องแบบเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว และได้พบว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้มีเรื่องที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวรายล้อมมันอยู่มากกว่าที่คิด

คริสติน ซาโกส นักเขียนและอดีตสมาชิกสภาเมืองชาร์ล็อตตส์วิลล์เล่าว่าครั้งหนึ่งเธอเคยขึ้นพูดในเวทีงานเทศกาลหนังสือเวอร์จิเนียถามว่าเมืองพวกเขาควรจะยุบอนุสาวรีย์ฝ่ายสมาพันธรัฐนี้หรือไม่ แต่เธอก็ถูกโต้ตอบโดยคำขู่ผ่านอีเมลและทางโทรศัพท์ เธอบอกว่าราวกับเธอ "เอาไม้แหย่ลงไปในดินแล้วมีฟองเน่าเปื่อยแตกขึ้นมา" ในช่วงนั้นยังมีเหตุการณ์สำคัญในสหรัฐฯ อย่างการประท้วงต่อต้านการใช้กำลังของตำรวจอย่างไม่สมเหตุสมผลต่อคนดำหลายกรณีที่จุดให้เกิดขบวนการเรียกร้องที่เรียกว่า Black Lives Matter ด้วย

มาถึงในปี 2558 ก็เริ่มมีข้อถกเถียงเรื่องการปลดธงสมาพันธรัฐและอนุสาวรีย์สมาพันธรัฐตามที่ต่างๆ ในสหรัฐฯ เนื่องจากมองว่าวัตถุเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดคนขาวอยู่เหนือเชื้อชาติอื่น แต่ฝ่ายต่อต้านการรื้อถอนสัญลักษณ์เหล่านี้ก็อ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งพยายามลบประวัติศาสตร์ ในปีเดียวกันหลังจากนั้นก็มีคนไปพ่นสเปรย์ที่ฐานของอนุสาวรีย์ลีเป็นคำว่า "Black Lives Matter" ก่อนที่จะถูกลบออกเหลือไปแค่รอยจางๆ

ในปี 2559 เวส เบลลามี รองนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเมืองชาร์ล็อตต์วิลล์อีกคนหนึ่งก็กลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการพยายามถอนรูปปั้นลีออกโดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือเรื่องนี้ เขากล่าวในการแถลงขาวเรื่องนี้ที่หน้าอนุสาวรีย์ว่า "เมื่อผมเห็นคนจำนวนมากรู้สึกอย่างแรงกล้าที่จะทำให้อะไรบางอย่างถูกต้อง กับสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าควรจะทำให้มันถูกต้องเมื่อนานมาแล้ว ผมก็รู้สึกมีแรงจูงใจที่จะทำ" ฝูงชนบางส่วนปรบมือให้เขา ขณะที่บางส่วนก็ตะโกนด่าเขาบอกว่าเบลลามี "สร้างความแตกแยก"

ในเดือนเดียวกันนั้นก็มีนักเรียนไฮสคูลชื่อ ซิยาห์นา ไบรอันต์ ยื่นเรื่องขอสภาเมืองนำอนุสาวรีย์ลีออก ไบรอันต์บอกว่าเธอและเพื่อนรู้สึกไม่สบายใจที่มีอนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ และมันก็เป็นอนุสาวรีย์ที่ล่วงละเมิดสิทธิ์มาก เธอรวบรวมรายชื่อไปยื่นได้หลายร้อยรายชื่อ

ในการประชุมสภาเมืองประเด็นนี้ก็มีการเสนอให้ย้ายอนุสาวรีย์ลี หรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงพื้นที่ตรงนั้นให้มีการเพิ่มข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ลงไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มคนที่ต้องการให้คงอนุสาวรีย์ไว้บางกลุ่มเช่นกลุ่ม Friends of C’Ville Monuments เปิดเผยว่ามีการพัฒนาได้ด้วยการเพิ่มข้อมูลเพิ่มเติมและคำอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับอนุสาวรีย์นี้เพื่อที่ว่ามันจะสอนอะไรเราได้

อย่างไรก็ตามสภาเมืองลงมติเมื่อเดือน ก.พ. ว่าจะถอนรูปปั้นนี้ออกในที่สุด แต่ก็มีการฟ้องร้องจากฝ่ายต้านการรื้อถอนที่บอกว่าสภาเมืองไม่มีอำนาจในการจัดการเรื่องนี้ตามกฎหมายของรัฐเวอร์จิเนีย 

คดีที่ว่านี้ยังอยู่ในชั้นศาลอยู่ และอนุสาวรีย์ก็ยังไม่ถูกรื้อถอนไปไหน แต่คนที่จุดประเด็นให้ฝ่ายขวาจัดออกมาชุมนุมคือนักชาตินิยมคนขาวอย่างริชาร์ด สเปนเซอร์ ที่ออกมาชุมนุมถือคบเพลิงในเดือน พ.ค. ในช่วงเดือน ก.ค. ก็มีการเดินขบวนประท้วงการรื้อถอนรูปปั้นโดยกลุ่มคูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) ที่เป็นกลุ่มเหยียดผิวระดับที่ถูกจัดให้เป็นกลุ่มสร้างความเกลียดชัง (hate group) เคยปรากฏตัวแสดงความโหดเหี้ยมต่อคนผิวสีมาก่อนในอดีต

และล่าสุดในเดือนนี้ก็มีการประท้วงกลุ่มที่นำโดยเจสัน เคสส์เลอร์ ผู้ที่มาใหม่ในกลุ่มชาตินิยมคนผิวขาวและเป็นที่รู้จักในเมืองชาร์ล็อตต์สวิลล์ เขาประท้วงทั้งเรื่องการถอนรูปปั้นและเรื่องการที่เมืองนี้เป็นแหล่งรองรับผู้อพยพ เขาดำเนินการปลุกปั่นผู้คนทางอินเทอร์เน็ตให้ต่อต้านเบลลามีมาเป็นเวลานานโดยอ้างว่าเบลลามีเป็นพวกต่อต้านคนขาว หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขารวมกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งประท้วงคือการเปลี่ยนเชื่อสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์จากลีปาร์คเป็นอีแมนซิเปชันปาร์คที่มีความหมายว่า "การปลดแอก"

แต่การชุมนุมที่นำโดยเคสเลอร์ในนาม "ฝ่ายขวาจงรวมตัวกัน" (Unite the Right) ก็กลายเป็นเหตุรุนแรงในที่สุดโดยที่นิวยอร์กไทม์ระบุว่าเป็น "การต่อสู้ที่มีการเสียเลือดเนื้อมากที่สุด" ในเรื่องการถอดรูปปั้น กระนั้นก็ตามผู้นำฝ่ายขวาอีกคนหน่งอย่างสเปนเซอร์ก็ให้สัญญาว่าพวกเขาจะกลับมาอีก

 

เรียบเรียงจาก

The Statue at the Center of Charlottesville’s Storm, New York Times, 13-08-2017

https://www.nytimes.com/2017/08/13/us/charlottesville-rally-protest-statue.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_Edward_Lee_Sculpture

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net