Skip to main content
sharethis

รายได้ 4 กระเป๋า รายรับจากส่วนอื่นเปิดหมดยกเว้นรายได้ส่วนพระองค์ที่มาจากการลงทุนและมรดก จ่ายภาษีเงินได้มาตั้งแต่ปี 2536 มีกลไก สถาบันบริหารรายได้ส่วนอื่น แต่ควีนเข้าบริหารเองตามราชอัธยาศัยมิได้ เปิดเผยงบเดินทาง รายการของขวัญที่คนมอบให้ของพระราชวงศ์ปีต่อปี

ประชาไทพาผู้อ่านเปรียบเทียบการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาแนวทางอันหลากหลายและไม่ตายตัวในการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขและบริบทแตกต่างกันออกไป

ตอนที่ 3 ขอนำเสนอตัวแบบของสหราชอาณาจักร จากหน้าประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าถึงความเกรียงไกรของประมุขมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมจนถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนที่ตะวันไม่ตกดิน ต่อคำถามที่ว่าใครเป็น ข้อมูลส่วนใหญ่มีให้ดูอย่างเปิดเผยและละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักพระราชวัง

อ่าน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ศึกษา #1 ราชวงศ์สเปนซึ่งได้รับงบประมาณน้อยที่สุดในยุโรป

อ่าน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ศึกษา #2 ญี่ปุ่นและจักรพรรดิผู้ไม่มีทรัพย์สิน

เมื่อปี 2558 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรมีมูลค่าสินทรัพย์ที่ประเมินจากการลงทุน อสังหาริมทรัพย์และชิ้นงานศิลปะต่างๆ ราว 22,800 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท ณ ขณะนั้น มูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวเทียบได้กับนักธุรกิจดังอย่างไมเคิล บลูมเบิร์กและมาร์ค ซักเกอร์เบิร์กได้เลย

Elizabeth II in Berlin 2015.JPG

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2558 (ที่มา:wikipedia)

การคาดการงบประมาณดังกล่าวมีความซับซ้อนเพราะทรัพย์สินส่วนพระองค์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเผย แต่ความมั่งคั่งของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธและสถาบันพระมหากษัตริย์มีกลไกการบริหารที่เปิดเผยและชัดเจน โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีที่มาของรายได้จาก 4 ช่องทางดังต่อไปนี้

1. รายได้ส่วนพระองค์

รายได้ส่วนนี้มาจากการลงทุนส่วนพระองค์และมรดก ซึ่งรวมไปถึงปราสาลบัลโมรัลและบ้านพร้อมที่ดินย่านซานดริงแฮม ในปี 2557 นิตยสารเดอะซันเดย์ไทม์ รายงานว่า พระราชินีนาถ ทรงมีพระราชทรัพย์ถึง 330 ล้านปอนด์ ความมั่งคั่งดังกล่าวถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 285 ของโลก แต่ตัวเลขก็มาจากการคาดคะเน เนื่องจากไม่มีข้อบังคับให้พระองค์ต้องเปิดเผยราชทรัพย์ส่วนพระองค์ อย่างไรก็ดี ควีนเอลิซาเบธจ่ายภาษีเงินได้มาตั้งแต่ปี 2536 แต่ไม่มีการเปิดเผยว่ามีมูลค่ามากน้อยเพียงใด

2. ดัชชีออฟแลงคาสเตอร์

เป็นที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ขนาดราว 112,500 ไร่ หรือราว 180 ตร.กม. กระจายอยู่ตามอังกฤษและเวลส์ พื้นที่ถูกใช้สอยเพื่อสร้างรายได้ให้กับพระราชินีนาถ ที่มีตำแหน่งเป็นดยุคแห่งแลงคาสเตอร์ (แม้จะเป็นเพศหญิงก็ใช้คำนำหน้าเป็นดยุค) ดัชชีได้รับการบริหารจัดการโดยสมุหนายกแห่งดัชชีและเลขาธิการประจำสภาดัชชี โดยผู้บริหารหน้าที่ประจำวันได้แก่เลขาธิการสภา ทำหน้าที่เป็นประธานบริหาร ประธานสภาดัชชี และหัวหน้าฝ่ายการเงิน สมุหนายกและเลขาธิการสภาถูกแต่งตั้งให้บริหารจัดการดัชชีแทนพระราชินีนาถ แม้พระราชินีนาถเป็นผู้รับรายได้แต่ไม่สามารถบริหารจัดการด้วยตัวพระองค์เอง รายได้จากดัชชีจะใช้ในการบำรุงและซ่อมแซมสินทรัพย์ต่างๆ และใช้เป็นงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนพระองค์และในส่วนที่เป็นทางการ โดยนิตยสาร ไทม์ รายงานว่าจากดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์เมื่อปี 2556 ทำกำไรได้ราว 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ บัญชีประจำปีของดัชชีจะถูกส่งให้กับรัฐสภา ดัชชีไม่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและไม่ใช้เงินภาษีในการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์แล้ว ยังมีดัชชีแห่งคอร์นวอล (Duchy of Cornwall) เป็นแหล่งรายได้ของเจ้าชายแห่งเวลส์หรือที่รู้จักกันในพระนามเจ้าฟ้าชายชาร์ล แต่ดัชชีแห่งคอร์นวอลและดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์ถือเป็นคนละส่วนกันอย่างสิ้นเชิง

3. งบประจำปีจากรัฐสภาในแบบเงินปีสำหรับพระประมุข (Sovereign Grant)

เมื่อปี 2503 กษัตริย์จอร์จที่ 3 ได้มอบอำนาจในการจัดการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันจัดการอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน รวมถึงปราสาทวินด์เซอร์ พื้นที่เขตถนนรีเจนต์ในกรุงลอนดอนและพระราชวังบัคกิงแฮมให้กับรัฐสภา ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงการคลัง โดยสถาบันพระมหากษัตริย์จะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ที่ได้มาจากสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยรายได้ดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นเงินทุนในการบำรุง ซ่อมแซมพระราชวังบัคกิงแฮม ใช้จ่ายเป็นค่าเดินทางของสมเด็จพระราชินีและสมาชิกในราชวงศ์ ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ค่างานเลี้ยงในสวนและค่าพิธีพระราชทานยศตำแหน่ง งบประมาณดังกล่าวมีปริมาณร้อยละ 15 จากกำไรเมื่อสองปีที่แล้วของสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยผลกำไรจะส่งเข้ารัฐสภาก่อนแล้วจึงจัดสรรเงินขึ้นทูลเกล้าฯ ในปี 2558 เงินปีสำหรับพระประมุขมีจำนวน 37.9 ล้านปอนด์ และในปีงบประมาณ 2559-2560 เงินปีเพิ่มขึ้นเป็น 42.8 ล้านปอนด์จากผลกำไรที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2557-2558 ทั้งนี้ รายจ่ายในราชสำนักในปี 2559-2560 อยู่ที่ 41.9 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2558-2559 มา 2.1 ล้านปอนด์เนื่องจากมีค่าซ่อมแซมและบำรุงทรัพย์สินต่างๆ โดยเงินที่เหลือจะแปรสภาพเป็นเงินสำรองเงินปีสำหรับพระประมุข (Sovereign Grant Reserve) ที่ถ่ายโอนมาจากเงินสำรองจากระบบ Civil List ที่เปลี่ยนมา เว็บไซต์สำนักพระราชวังสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่คำพูดของเซอร์ อลัน รีด หัวหน้าพระคลัง (Privy Purse) ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อถัวเฉลี่ยกับประชากรสหราชอาณาจักรแล้วจะตกเป็นเงินเพียงคนละ 65 เพนนี (ราว 28 บาท) เท่านั้น “เมื่อนำราคาดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับราชกรณียกิจและการเป็นตัวแทนของประเทศของสมเด็จพระราชินีก็ถือว่าคุ้มค่ามาก”

ระบบเงินปีสำหรับพระประมุขถูกนำมาใช้ในปี 2555 เพื่อแทนที่ระบบเดิมที่มีชื่อว่า Civil list และระบบ Grants-in-Aid ส่วนแรกเป็นงบที่ใช้ในการดำเนินงานของสำนักทรัพย์สินฯ และส่วนหลังเป็นงบเพื่อการเดินทาง การติดต่อสื่อสารและบำรุง ซ่อมแซมพระราชวังในอังกฤษและเวลส์ โดยปรับปรุงโครงสร้างการดูแลเงิน จากเดิมหน้าที่รับผิดชอบเงินปีอยู่ที่กระทรวงการคลัง กรมวัฒนธรรม สื่อ และกีฬา และกรมการขนส่ง แต่ระบบใหม่ได้ยกหน้าที่รับผิดชอบให้กับกระทรวงการคลังเพื่อทำหน้าที่บริหารและตรวจสอบการใช้เงินว่าเป็นไปตามกรอบการตกลงระหว่างกระทรวงการคลังกับสำนักงานทรัพย์สินฯ หรือไม่

4. เงินจากงานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ (Royal Collection)

เป็นรายได้จากการจัดแสดงงานสะสมศิลปะของราชวงศ์ทั้งจัดแสดงเองและให้พิพิธภัณฑ์ยืมไปจัดแสดง หน่วยงานชื่อว่า Royal Collection Trust มีสถานะเป็นองค์กรการกุศลจดทะเบียน มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเรื่องการบริหารและค่าใช้จ่าย หน่วยงานใช้เงินรายได้จากการจัดแสดงงานสะสมเป็นงบประมาณและไม่ได้รับเงินงบประมาณจากรัฐบาลหรือเงินรายได้จากลอตเตอรีเลย เว็บไซต์ของ Royal Collection Trust เปิดเผยผลประกอบการในปีงบประมาณ 2559-2560 ว่าได้กำไรทั้งสิ้นกว่า 6 ล้านปอนด์หรือราว 258 ล้านบาท

Scent bottle

ขวดเครื่องหอม (Scent Bottle) อายุเก่าแก่กว่า 2000 ปี จากนครหลวงโบราณธีบีส อียิปต์ หนึ่งในงานสะสมของราชวงศ์ (ที่มา: Royal Collection Trust/Collection)

ในส่วนของค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเดินทางของพระราชวงศ์และประเภทของที่ระลึกที่ได้รับจากแขกบ้านแขกเมือง จากบุคคลทั่วไปหรือเมื่อไปเยือนประเทศต่างๆ ในแต่ละปีได้เปิดเผยเอาไว้ในเว็บไซต์สำนักพระราชวังเช่นกัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางตลอดปีของพระราชวงศ์อยู่ที่ 2,695,951 ปอนด์หรือราว 116 ล้านบาท

ภาพตัวอย่างการแสดงค่าเดินทางของพระราชวงศ์ (ที่มา: royal.uk

ภาพตัวอย่างรายนามของที่ระลึกที่เจ้าชายแฮร์รีได้รับในปี 2559-2560 (ที่มา: royal.uk

แปลและเรียบเรียงจาก

Report of the Royal Trustees on the Sovereign Grant Review 2016, royal.uk, Retrieved on August 15, 2017

FAQs, Duchy of Lancaster, Retreived on August 15, 2017

Sovereign Grant Summary, royal.uk, Retrieved on August 15, 2017

Annual Report 2016-2017, Royal Collection Trust, Retrieved on August 15, 2017

The Sovereign Grant and Sovereign Grant Reserve, royal.uk, Retreived on August 15, 2017

Royal Travel Appendix, royal.uk, Retrieved on August 15, 2017

The Queen's finances explained: All you need to know before the Privy Purse is opened, Mirror, June 24, 2014

This is How the Queen of England Gets Paid, Time, June 1, 2015

British monarchy richer than ever as queen's reign reaches record, Reuters, September 8, 2015

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net