ทุกข์ของ 'แรงงานแบ็คแพ็คเกอร์’ ในภาคการเกษตรออสเตรเลีย

ภาคการเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วนอกจากจะใช้แรงงานต่างชาติจากประเทศด้อยพัฒนากว่าที่ค่าแรงต่ำ ปัจจุบันยังมีโครงการ ‘Working Holiday’ จ้าง ‘แบ็คแพ็คเกอร์’ ที่หวังเที่ยวต่างถิ่นและทำงานไปด้วย แต่ก็ยังพบปัญหาสภาพการจ้างย่ำแย่ การล่วงละเมิดทางเพศ 

แรงงานหนุ่มสาว ‘แบ็คแพ็คเกอร์’ ทั่วโลก หวังได้ประสบการณ์การทำงานและท่องเที่ยวในออสเตรเลีย แต่กระนั้นยังพบปัญหามากมายในการจ้างงานระบบนี้ | ที่มาภาพประกอบ: youtube.com/insntycomsnatrly

เมื่อกลางเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าว ABC ออสเตรเลีย ได้เผยแพร่รายงานพิเศษนำเสนอเรื่องแม่ของเหยื่อสาวชาวอังกฤษวัย 20 ปี ที่ถูกฆาตกรรมในรัฐควีนแลนด์, ออสเตรเลีย เมื่อเดือน ส.ค. 2559 โดยเหยื่อรายนี้ได้เข้าไปทำงานและเที่ยวตาม ‘โครงการทำงานในฟาร์ม 88 วัน' โดยใช้วีซ่าประเภท 417 ที่ทางการออสเตรเลียออกให้กับเยาวชนจาก 19 ประเทศ

หลังจากที่ลูกสาวถูกฆาตกรรมในโฮสเทลที่พัก โรซี่ อะลิฟฟ์ ครูสอนภาษาอังกฤษจากเดอร์บีเชียร์ (Derbyshire) เมืองทางตอนกลางของอังกฤษ ตัดสินใจเดินทางไปยังออสเตรเลียเพื่อรวบรวมข้อมูล 'ด้านมืดของอุตสาหกรรมภาคการเกษตรในออสเตรเลีย' พบว่าแม้ว่าแบ็คแพ็คเกอร์หลายคนมีจะประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับโครงการทำงานในฟาร์ม 88 วัน แต่ก็มีอีกหลายคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องถูกเอาเปรียบด้านตัวเงิน การล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มเหงจิตใจ

ตัวอย่างเช่นเรื่องราวของแบ็คแพ็คเกอร์ 4 คน ที่ได้ติดต่อเธอมาจากที่เธอได้ประกาศการรณรงค์ปฎิรูปโครงการจ้างงานตามวีซ่าทำงานและท่องเที่ยว (Visa subclass 417 และ 462) ของออสเตรเลีย ดังนี้

แบ็คแพ็คเกอร์หญิง สัญชาติแคนาดา อายุ 30 ปี ระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว (2559) เธอได้ข้อเสนองานจากไร่องุ่นแห่งหนึ่งในเมืองมิลดูรา (Mildura) ทางตะวันตกเฉียงเหนือในรัฐวิคทอเรีย, ออสเตรเลีย คืนหนึ่งชายที่ทำงานที่ฟาร์มขับรถไปส่งเธอที่โฮสเทลที่พัก ในระหว่างนั้นเขาก็พยายามข้ามเบาะที่นั่งมาหาเธอ เธอกระโดดลงจากรถ แต่เขาก็ตามลงไปทำร้ายร่างกายและพยายามข่มขืนเธอ ซึ่งก่อนหน้านี้ชายคนเดียวกันนี้ก็ถูกกล่าวหาว่าพยายามที่จะข่มขืนแบ็คแพ็คเกอร์หญิงอีกคน ต่อมาเจ้าเขาก็ถูกจับในข้อหากระทำการข่มขืน

แบ็คแพ็คเกอร์ชาย สัญชาติเดนมาร์ก อายุ 26 ปี ได้เล่าถึงสภาพอันย่ำแย่ของ 'ห้องพัก' ตามโครงการทำงานในฟาร์ม 88 วัน นี้ว่าครั้งหนึ่งที่เขาเดินทางไปยังรัฐควีนส์แลนด์ หลังจากเจ้าของฟาร์มสัญญาว่าจะจ้างเขาทำงาน ในระหว่างรอทำงานนั้นเขาต้องจ่ายเงิน 200 ดอลลาร์ฯ (ประมาณ 7,000 บาท) ต่อสัปดาห์สำหรับห้องพักรวม จากนั้นหลังจากที่เขาได้งานเก็บลูกแพร์ในฟาร์มและได้พักในโฮสเทลแห่งหนึ่งในเมืองเชพพาร์ตัน (Shepparton) ทางตอนเหนือของรัฐวิคทอเรีย เขาก็พบว่าห้องพักของเขามีสภาพคล้ายกับห้องขังนักโทษ มีอากาศหนาวเย็นมากในเวลากลางคืน เขาต้องจ่ายค่าเช่าให้วันละ 33 ดอลลาร์ฯ จากรายได้ของเขา 90 ดอลลาร์ฯ ในการทำงาน 10 ชั่วโมงต่อวัน

แบ็คแพ็คเกอร์หญิง สัญชาติอังกฤษ อายุ 22 ปี แม้เธอจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในช่วง 88 วัน จากการทำงานที่ฟาร์มเบอร์รี่แห่งหนึ่ง ในรัฐควีนส์แลนด์ เธอได้รับค่าแรงงานตามค่าจ้างขั้นต่ำและหลังเสร็จสิ้น 88 วันนั้น เธอยังต้องการทำงานต่อในออสเตรเลีย เธอจึงได้หางานผ่านเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเว็บที่รัฐบาลดำเนินการเอง และได้งานที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองโบเวน (Bowen) เมืองทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ แต่เมื่อเธอและเพื่อนเดินทางไปถึงกลับไม่มีงานในฟาร์มตามที่ได้สัญญาไว้ นายจ้างให้พวกเธอไปทำงานที่โฮสเทลที่พวกเธอพักแทนโดยได้รายได้ 15 ดอลลาร์ฯ ต่อชั่วโมง นอกจากเรื่องผิดสัญญาจ้างแล้ว พวกเธอยังไม่พอใจกับพฤติกรรมทางเพศของเจ้าของโฮสเทลแห่งนี้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพยายามสัมผัสเนื้อตัวพวกเธอ หรือการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของพวกเธอในขณะที่อาบน้ำ

ก่อนหน้านี้เมื่อปี เดือน ต.ค. 2560 เว็บไซต์ news.com.au ได้รายงานถึงผลการตรวจสอบของ ผู้ตรวจการการจ้างงานที่เป็นธรรม (The Fair Work Ombudsman) ที่ใช้เวลาถึง 2 ปี ในการรวบรวมข้อมูล ในรายงานยืนยันว่าแรงงานแบ็คแพ็คเกอร์ตามโครงการนี้มักจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของออสเตรเลีย หรือไม่ได้รับเงินเลย บางคนทำงานฟรีเพื่อแลกกับที่พัก บางคนยังต้องเสียเงินในการซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำงานเอง หรือเสียเงินในการหาตำแหน่งงาน ทั้งนี้โฮสเทลที่พักส่วนใหญ่มักมีเจ้าของหรือมีนิติบุคคลเดียวกับฟาร์มบริหารงาน และแบ็คแพ็คเกอร์ต้องจ่ายเงินค่าที่พักล่วงหน้าก่อนเข้าทำงานเสมอ

แบ็คแพ็คเกอร์หญิงจากฝรั่งเศสรายหนึ่งระบุว่าเธอต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับงานเก็บองุ่นในไร่ที่เธอจะได้ค่าแรงประมาณ 1 ดอลลาร์ฯ ต่อถัง (แต่ต้องซื้ออุปกรณ์คือกรรไกรตัดองุ่นเอง) "ฉันเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 6.30 น. และทำงานไปจนถึงเวลา 17.30 น. โดยไม่หยุดพัก" เธอกล่าวกับ news.com.au "เราไม่ได้เข้าครัวในการทำมื้อกลางวัน และได้รับการเติมน้ำขวดน้ำของเราเพียงครั้งเดียวในระหว่างวัน .. ช่วงท้ายของวันทำงานกว่า 11 ชั่วโมงภายใต้อุณหภูมิ 43 เซลเซียส เราต้องนับถังองุ่นของเรา ฉันเก็บได้ถังเต็ม 75 ถัง ซึ่งน่าจะได้ค่าแรง 75 เหรียญ ฉันถามเจ้าของว่าฟาร์มว่าเขาสามารถกรอกแบบฟอร์มหลักฐานว่าฉันได้ใช้เวลาอีกหนึ่งวันในการทำงานเพื่อขยายวีซ่าของฉัน แต่เขาปฏิเสธ" ท้ายสุดแทนที่แบ็คแพ็คเกอร์หญิงรายนี้จะได้ค่าแรง 75 ดอลลาร์ฯ ในวันนั้น นายจ้างกลับจ่ายให้เธอเพียง 27 ดอลลาร์ฯ เท่านั้น

รายงานของ Fair Work ยังแสดงถึงความห่วงใยต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของเหล่าแบ็คแพ็คเกอร์ที่เข้ามาทำงานตามโครงการนี้ โดยเฉพาะหนุ่ม-สาวที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารไม่ดีนักและถึงเดินทางมาเพียงลำพัง จากสถิติที่ Fair Work สำรวจยังพบว่าแบ็คแพ็คเกอร์มากกว่า 1 ใน 3 ได้รับค่าแรงน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของออสเตรเลีย ร้อยละ 14 ระบุว่าต้องจ่ายเงินก่อนทำงาน และร้อยละ 6 ต้องจ่ายเงินให้นายจ้างเพื่อค่า 'เซ็นสัญญา' บางคนต้องถูกหักค่าใช้จ่ายที่พวกเขาไม่ยินยอม และผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่โดยเฉพาะแบ็คแพ็คเกอร์จากเอเชียไม่ทราบถึงสิทธิคุ้มครองในการทำงานของตนเอง

นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ยังระบุถึงความกังวลว่าแบ็คแพ็คเกอร์ต่างชาติที่กำลังมองหางานต่อในออสเตรเลีย ที่ขอรับวีซ่า 417 ต่อในปีที่ 2 มีความเสี่ยงที่จะถูกแสวงประโยชน์จากนายจ้าง แม้โปรแกรม Working Holiday ของออสเตรเลียนี้ถูกออกแบบมาเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการเรียนรู้ระหว่างประเทศที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันโดยเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้าไปท่องเที่ยว ศึกษา และทำงานได้เป็นการชั่วคราว แต่ในบางกรณีก็กลับกลายเป็น 'ตั๋ว' ที่มีราคาของทั้งแรงงานต่างชาติและนายจ้างสำหรับการทำงานในออสเตรเลีย

อนึ่งการทำงานและเที่ยวในออสเตรเลีย (Working Holiday) โดยอาศัยวีซ่า 417 (Visa subclass 417) ซึ่งเป็นวีซ่าที่ออกให้กับเยาวชนอายุที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี จากประเทศ 19 ได้แก่ เบลเยียม แคนาดา ไซปรัส เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มอลต้า เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ไต้หวัน และสหราชอาณาจักร เข้าไปทำงาน ท่องเที่ยว หรือศึกษาที่ออสเตรเลีย เป็นระยะเวลา 1 ปี ผู้ถือวีซ่า 417 สามารถเข้า-ออกจากออสเตรเลียได้บ่อยเท่าที่ต้องการภายในระยะเวลาของวีซ่า ส่วนวีซ่าอีกประเภทก็คือ วีซ่า 462 (Visa subclass 462) ออกให้กับเยาวชนอายุที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี จาก 20 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บังกลาเทศ ชิลี จีน ฮังการี อินโดนีเซีย อิสราเอล ลักเซมเบิร์ก มาเลเซีย โปแลนด์ โปรตุเกส ซานมาริโน สโลวาเกีย สโลเวเนีย สเปน ไทย ตุรกี สหรัฐอเมริกา อุรุกวัย และเวียดนาม

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมาทางการออสเตรเลียออกกฎให้สามารถเรียกเก็บภาษีจากแบ็คแพ็คเกอร์ที่เข้าไปทำงานผ่านวีซ่า 417 นี้ อัตราขั้นต่ำสุดที่ร้อยละ 15 ทั้งนี้ผู้ถือวีซ่านี้แทบที่จะทำงานได้ทุกประเภทในออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่แบ็คแพ็คเกอร์จากต่างประเทศนิยมทำงานในภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว แต่กระนั้นแรงงานแบ็คแพ็คเกอร์ตามวีซ่านี้จะไม่ได้รับสวัสดิการตามโครงการประกันสุขภาพของออสเตรเลีย เว้นแต่โครงการประกันสุขภาพประเทศต้นทางของพวกเขาจะมีการทำข้อตกลงกับโครงการประกันสุขภาพของออสเตรเลียไว้

ทางการออสเตรเลียเปิดเผยข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 2559 ว่ามีผู้เดินทางมาทำงานและเที่ยวในออสเตรเลียถึง 321,000 คน ส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร 57,000 คน เกาหลีใต้ 35,200 คน และจากเยอรมนี 33,600 คน การทำงานและเที่ยวของชาวต่างชาติเหล่านี้ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย ประมาณการว่าสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนถึง 3 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี

 

ที่มาข้อมูล

‘I wonder how long you’ll last’: Backpacker exploitation goes even deeper (news.com.au, 20/10/2016)
Backpackers reveal stories of sexual assault, exploitation while working on Australian farms (abc.net.au, 17/7/2017)
Working holidays in Australia (Wikipedia, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 14/8/2017)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท