10 ปี 1 แสนภาพ: คุยกับ ‘Soray Deng’ นักบันทึกภาพ ‘นายู น่าอยู่’ สะท้อนปาตานี

มูฮำหมัดซอเร่ เด็ง หรือ ‘Soray Deng’ ผู้เชี่ยวชาญในการบันทึกภาพวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม และการเมืองในพื้นที่สงครามชายแดนใต้/ปาตานี ที่มีทั้งความสวยงาม ความหวัง หรือแม้แต่ความจริงที่เลวร้ายที่มีเรื่องราวซ่อนอยู่

มูฮำหมัดซอเร่ เด็ง หรือ ‘Soray Deng’ 

ไม่นานมานี้เขารวบรวมภาพจากแสนกว่าภาพที่เขาใช้เวลาถ่ายภาพบันทึกเรื่องราวมา 10 ปี และคัดเลือกเหลือร้อยกว่าภาพเพื่อนำมาจัดในงานนิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยว 'Nayu Nayu (นายู น่าอยู่)' ณ บ้านมลายู ลิฟวิ่ง (Melayu Living) ถ.ปัตตานีภิรมย์ อ.เมือง จ.ปัตตานี ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-13 ส.ค. 2560 และล่าสุดได้ต่อเวลาอีกจนถึงวันที่ 27 ส.ค. 2560 เพื่อให้ผู้สนใจได้มีเวลามาเยี่ยมชมกันนานขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นการเรียกร้องจากแฟนเพจอีกด้วย

ตลอดระยะเวลาการจัดงานที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมมากมายหลายหลากเข้ามาเยี่ยมเยือนชื่นชมอย่างไม่ขาดสาย ทั้งช่างภาพ ศิลปิน นักกวี นักวิชาการ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักศึกษา นักเรียน นักข่าว อาจารย์ อุสตาส ทหาร ตำรวจ รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อย่างผู้ว่าราชการปัตตานี คุณวีรนันท์ เพ็งจันทร์   

‘Soray Deng’ ภาพประกอบโดย Mana Salae (ภาพที่ 1) และ Nurdin NDgraphic Aouming (ภาพที่ 2)

จัดแสดงเพื่อการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ สื่อสารสู่ภายนอก

Soray Deng เปิดเผยว่า “การจัดนิทรรศการภาพครั้งนี้ เริ่มต้นจากการเชิญชวนของคุณราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานกลุ่ม Melayu Living คุณราชิต เขาเห็นว่าผลงานของผมน่าสนใจ แนะว่าควรจัดแสดงให้คนได้ชมเพื่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงวิถีของคนในพื้นที่ อีกทั้งเป็นการสื่อสารกับคนในพื้นที่และคนข้างนอกด้วย

“ผมกลับมานั่งคิดอีกทีว่าคงถึงเวลาที่ผมต้องรวบรวมภาพเพื่อจัดแสดงแล้ว เพราะตลอดระยะเวลาที่ผมบันทึกภาพมาก็ยังไม่เคยจัดแสดงผลงานตัวเองแบบฉายเดี่ยวเลยสักครั้ง นอกจากผมแล้วก็ยังไม่เคยเห็นศิลปินอื่นๆ ในพื้นจัดขึ้นมาเหมือนกัน ผมจึงตกลงรับปากคุณราชิตไป แต่ขอเวลาเตรียมภาพ 6 เดือน เพื่อคัดเลือกภาพที่น่าสนใจมากที่สุด” Soray กล่าว

'นายู น่าอยู่' ความหมาย-ความเป็นมา

“ระหว่างที่คัดภาพอยู่ ผมก็ประมวลถึงหัวข้อที่จะนำเสนอไปด้วย แต่คิดแบบจริงจัง คิดไปก็คิดไม่ออก ผมกวาดสายตามองภาพที่ผมคัดมาทำให้นึกได้ว่า ภาพพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นวิถีของคนมลายู เป็นวิถีที่หลากหลาย มีความน่าสนใจแฝงอยู่ มีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์ มีความน่าอยู่ซ่อนอย่างน่าค้นหา

"คนในพื้นที่มักเรียกตนเองว่า ออแฆ-นายู หรือแปลว่า คนมลายู ตามมาด้วยคำว่า น่าอยู่ ซึ่งเป็นสไตล์การถ่ายภาพที่ผมมักจะสะท้อนอยู่แล้ว รวมๆเป็น นายู น่าอยู่ ดังนั้น ผมจึงสรุปว่า สองคำนี้น่าจะเป็นคำที่น่าสนใจและมีความเป็นพื้นที่มากที่สุด นั่นคือที่มาและความหมายของชื่องานในครั้งนี้" Soray เล่าที่มาของคำ

Soray ยังกล่าวเชิงเชิญชวนว่า หากใครอยากรู้ว่า คำว่า 'น่าอยู่' มันน่าอยู่จริงหรือไม่ ก็ต้องมาหาคำตอบจากภาพ ถ้าอยากรู้ต้องมาค้นหาในงาน

ภาพน่าสนใจ-เกิดคำถาม

Soray ระบุว่า ภาพที่เป็นจุดสนใจและเกิดคำถามมากที่สุด คือ 2 ภาพด้านล่างนี้ ซึ่งทั้ง 2 ภาพเขาพึ่งถ่ายมาปีนี้ (2560) ภาพแรกเขาถ่ายในชุมชนกรือเซะ ซึ่งชุมชนรายรอบมัสยิดกรือเซะ เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี เต็มไปด้วยเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์มากมาย แต่ภาพแรกไม่มีชื่อภาพ

ส่วนภาพที่สองเขาถ่ายที่ตึกปาตานีจายา ในเมืองปัตตานี มีชื่อภาพว่า 'มลายูไม่เสร็จ'

ภาพแรก “ไม่มีชื่อภาพ”

ภาพที่ 2 ชื่อภาพ “มลายูไม่เสร็จ”

'มลายูไม่เสร็จ' มาจากความไม่สมบูรณ์และผสมผสานของความต่าง

Soray อธิบายภาพ มลายูไม่เสร็จ คือจุดที่โฟกัสบอกว่ามลายูไม่เสร็จ ก็คงเป็นภาพตึก บวกกับการแต่งตัวผสมผสาน ความขัดแยงระหว่างโลกกับศาสนา iPad กับแกะ

ชมภาพ จุดประเด็น ชวนคิด ร่วมถก

“หลายๆ ภาพผมใช้ความพยายามอย่างสูงที่จะไม่อธิบาย เพราะอยากให้คนดูได้ลองคิด ส่วนหนึ่งต้องการจุดประเด็นให้คนคุยกันเอง บางภาพสำหรับผมมันแรงไปที่จะอธิบาย สุดแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน เพราะในสังคมทุกคนมีความคิดความอ่านที่แตกต่างกันอยู่แล้ว

"ส่วนตัวอยากเชิญชวนผู้สนใจลองมาสัมผัสชื่นชมกันเอง ถ้าใครสนใจก็ลองมาชมดู ผมคิดว่าคนที่มาน่าจะได้มากกว่าภาพ ตอนนี้ทางทีมงานก็ได้ขยายเวลาไปถึงวันที่ 27 สิงหาคมเพื่อให้ผู้สนใจได้มีเวลามาชมภาพถ่ายกันมากขึ้น บรรยากาศในงานก็จะออกแนวสบายๆ อารมณ์อาร์ต วินเทจหน่อยๆ แต่ผมแฝงภาพบางมุมที่อยากให้คนมาได้คิด วันนี้ถึงเวลาที่ภาพต้องทำงานอย่างจริงจังแล้ว” Soray กล่าว

10 ปี 1 แสนภาพ

“ผมใช้เวลาบันทึกภาพมา 10 ปี รวมๆ แล้วได้แสนกว่าภาพโดยประมาณ ตอนฝึกสามสี่ปีแรก ผมถ่ายเยอะมาก กว่าจะหาแนวทางเจอโคตรยาก เอาที่เข้าที่เข้าทางจริงห้าปีหลังนี่แหละ” Soray กล่าว

เริ่มถ่ายหลังเห็นคนตายที่กรือเซะ เห็นความเสียหายจากพายุดีเปรสชั่น

Soray ผู้ใช้ระยะเวลาบันทึกภาพมาเกือบสิบปี ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับเหตุสงครามที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี สิ่งที่เขาตัดสินใจจับกล้องเพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ เขาเปิดเผยอย่างน่าสนใจว่า

“ผมเริ่มจากการเห็นรอยเลือด รูกระสุน คนตายที่ไม่มีปืน คนยิงมีปืน ในเหตุการณ์กราดยิงมัสยิดกรือเซะช่วงปี 2547 บวกกับทุนเดิมที่ผมเกลียดการนำเสนอภาพถ่ายมุมลบของคนในพื้นที่ ทำให้คนนอกเข้าใจว่าพื้นที่นี้อันตราย ตอนนั้นคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อลบภาพเหล่านั้น

"ช่วงปี 2551 เกิดพายุดีเปรสชั่น ผมเห็นคนตาย เห็นความเสียหายของบ้านช่อง เห็นความสูญเสียมากมาย ผมจึงใช้ภาพที่ผมถ่ายไปขอความช่วยเหลือจากภายนอก ปรากฏว่ามีการตอบรับเป็นอย่างดี มันทำให้ผมเห็นคุณค่าของภาพที่สามารถช่วยคนได้ นั้นคือที่มาและแรงกผลักให้ผมต้องถือกล้องบันทึกภาพจนถึงวันนี้” Soray กล่าว

รวมกลุ่มบันทึกภาพ เพราะคิดเหมือนกัน

Soray ระบุว่า “ช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็มีกลุ่ม Deep South Photojournalism Network. (DSP) โดยมีพี่บอย คุณปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ เป็นตัวหลัก ผมก็เป็นทีมงานในกลุ่มนี้ด้วย แต่ทุกอย่างมันถึงจุดพีคสุดแล้วก็หายไป

"หลังจากนั้นผมก็เริ่มกลับมาทำกลุ่มใหม่ เริ่มสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองและคนที่สนใจผ่านกลุ่ม Bintang Photo เริ่มทำตั้งแต่แรกๆ พอถึงช่วงหนึ่งเฟสบุ๊คผมโดนโจรกรรมข้อมูลไปจนหายหมด แต่ผมก็มาเริ่มใหม่อีกครั้ง เริ่มทำแบบเล็กๆ ค่อยเป็นค่อยไป” Soray กล่าว

ย้ำ ช่างภาพ กับนักบันทึกภาพ ต่างกัน

“ผมไม่เคยเรียกตัวเองว่า ช่างภาพ แต่ผมเป็นคนบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งความหมายมันต่างกัน ช่างภาพส่วนใหญ่จะเน้นและกังวลเรื่องเทคนิค แต่สำหรับนักบันทึกภาพเขาจะเน้นเรื่องราวมากกว่า ภาพพวกนี้ไม่ได้ทำเงินให้หรอกนะ ไม่อย่างนั้นคงมีคนถ่ายภาพแนวนี้เยอะแยะไปแล้ว

"ช่างภาพใหม่ๆ ตอนนี้ออกดอก เกิดผลออกมาเยอะมาก เต็มไปหมด ดูเหมือนจะเยอะกว่าภาคอื่นๆ อีก ก็มีผลต่อแนวคิดและท้าทายอยู่เหมือนกัน แต่ผมก็ไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา” Soray กล่าว

“ถ้าหากช่างภาพที่มีอยู่นับร้อยนำเสนอภาพในพื้นที่ ในหมู่บ้านของตนเองออกมา ผมว่ามันจะเกิดพลังมาก ภาพแนวนี้อาจจะไม่มีผลต่อตัวเรา หรืออาจจะมีผลก็ได้ แต่โดยส่วนรวมแล้วมันมีผลแน่นอน เชื่อเถอะว่าการทำให้คนอื่นได้รับผลดี สุดท้ายเราจะได้รับมันเช่นกัน หากสิ่งนั้นทำให้คนรอบข้างมีความสุขไปพร้อมกับเรา ก็ทำไปเหอะ” Soray ทิ้งท้าย

หมายเหตุ: ชมภาพและบรรยากาศในงานเพิ่มเติม คลิ๊ก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท