เนติวิทย์-สุเนตร-เวทิน-ชอมสกี้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

สังคมไทยปัจจุบันมี “ดราม่า” กันรายวัน ทั้งเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งไปถึงเรื่องสลักสำคัญ แต่พอ “ดราม่า” กันสักพักชาวเน็ทสัญชาติไทยเราก็มักปล่อยเรื่องดังกล่าวให้หายไป จนกว่าเรื่องทำนองเดิมจะโผล่มาอีก หลายครั้งเราจึงเหมือนได้ประมวลข้อถกเถียงเพื่อจะเรียนรู้หรือหาข้อตกลงที่พอจะยอมรับกันได้

การจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ของนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่ผ่านมาดูจะเป็นประเด็นที่ดร่ามากันยาวนานกว่าหลายๆเรื่อง ยิ่งมีโนม ชอมกี้ นักวิชาการระดับโลกส่งอีเมล์มาให้กำลังเนวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลที่กำลังจะถูกต้นสังกัดสอบสวนทางวินัย ยิ่งกระพือความไม่พอใจให้ฝ่ายตรงข้ามออกมาแย้ง ที่ฮือฮามากที่สุดเห็นจะเป็นจดหมายเปิดผนึกของ ดร. เวทิน ชาติกุล ซึ่งเป็นอาจารย์สอนปรัชญา ถึงโนม ชอมสกี้ อันที่จริงแล้วชื่อชั้นไม่ควรจะมีผลต่อการถกเถียง เราพึงให้ความสำคัญกับการอ้างเหตุผลมากกว่าบารมีทางวิชาการ

ที่จริงก่อนหน้านี้ก็มีบทความหลายชิ้นที่น่าสนใจ อย่างเช่นบทความของคุณศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ที่ชี้ให้เห็นว่าการที่ ร. 5 ทรงยกเลิกพิธีหมอบกราบนั้นเป็นโครงการที่ต่อเนื่องกับการเลิกทาส ซึ่งก็เป็นปฏิกิริยาต่อลัทธิล่าอาณานิคมที่เห็นว่าสยามไร้อารยะ คุณศิริพจน์เห็นว่าการที่พวกหัวก้าวหน้าใช้พระราชประสงค์ของ ร. 5 ในการยกเลิกพิธีหมอบกราบมาอ้าง อาจจะเป็นอาวุธที่ใช้จัดการกับพวกอนุรักษนิยมสำเร็จก็ได้ นั่นหมายความว่าการอ้างพระราชประสงค์ของ ร. 5 เป็นเพียงยุทธวิธีและวาทศิลป์ของฝ่ายก้าวหน้านำมาใช้

บทสัมภาษณ์ของ  รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ก็เป็นการแสดงทัศนะที่น่าสนใจ คืออาจารย์สุเนตรเห็นว่าประเพณีนี้หรือพิธีกรรมมีส่วนยึดโยงกันอยู่ร่วมกันเป็นประชาคม แม้ว่า ร. 5 จะพระบรมราชโองการให้ยกเลิกพิธีหมอบกราบ และพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ของนิสิตชั้นปีที่ 1 แม้จะเพิ่งมีขึ้นมาเพียง 20 ปีนี้เอง แต่หากมีคุณค่าก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องยกเลิก และอาจารย์สุเนตรได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ในแต่ละวัฒนธรรมมีการแสดงความเคารพที่แตกต่างกัน เราต้องเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น  “...เราต้องเคารพศรัทธาของผู้อื่นที่แตกต่าง ทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อนะ” ซึ่งเราจะเห็นว่าจุดยืนของอาจารย์สุเนตรดูจะเป็นกลางอย่างมาก

ในจดหมายเปิดผนึกของอาจารย์ ดร.เวทิน ชาติกุล เองก็ได้กล่าวถึงการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมขึ้นมาโต้แย้งโนม ชอมสกี้ กรณีที่เขียนอีเมล์มาให้กำลังใจและสนับสนุนเนติวิทย์ อาจารย์เวทินยกตัวอย่างพระอาจารย์ชยสาโร หรือณอน ชิเวอร์ตัน ชาวตะวันตกที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุในไทย จนเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมตะวันตกและไทย อย่างเรื่องการเล่นหัว ซึ่งวัฒนธรรมไทยถือว่าเสียมารยาท หรือเรื่อง “บุญคุณ” ต่อบุพการีที่ฝรั่งจะไม่เข้าใจ อาจารย์เวทินเห็นว่าชอมสกี้สามารถสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมของตนได้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรเคารพความต่างทางวัฒนธรรมและไม่ควรแสดงทัศนะที่ “ตื้นเขินจนไร้สติ”

จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่แบ่งแยก “หัวอนุรักษ์” หรือพวกอนุรักษนิยมกับ “หัวก้าวหน้า” หรือฝ่ายสนับสนุนเสรีนิยมออกจากกันได้ ตัวอย่างเช่นการวิจารณ์พิธีหมอบกราบโดยอ้างพระราชประสงค์ที่แท้จริงของ ร. 5 ที่เนติวิทย์อ้าง ก็เป็นวาทศิลป์ที่อ้างสิทธิอำนาจ (authority) ซึ่งนักปราชญ์สายกษัตริย์นิยมอย่างอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ชอบใช้ จริงอยู่ประเพณีไม่ใช่ดีหรือเลวโดยตัวมันเอง ประเพณีไม่ได้มีด้านลบอย่างที่นักคิดอยู่แสงสว่างแห่งปัญญาใช้เหตุผลวิพากษ์ไปเสียทั้งหมด เราเกิดมาในสังคม เรียนรู้ภาษาวัฒนธรรม อยู่ร่วมกันในสังคมย่อมเรียนรู้อะไรบางอย่างผ่านประเพณี ตัวอย่างง่ายๆเลยคือภาษา แต่กระนั้น สิ่งที่ตกทอดมากับประเพณีมีอุดมการณ์ (ideology) แฝงฝังมาด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะเข้ามาจัดการความทรงจำเรา ทำให้ความทรงจำเรากลายเป็นความทรงจำที่ถูกจัดการ (manipulated memory) และครอบงำให้จดจำอดีตอย่างที่รัฐอยากให้เราจำ เราจึงจ้องอาศัยการวิพากษ์อุดมการณ์ (critique of ideology) เพื่อแก้อาการดังกล่าว ความทรงจำต่างๆเกี่ยวกับอดีตของชาติถูกเข้ารหัสความหมายในอนุสาวรีย์ หนังสือเรียน พิธีกรรมต่างๆ การที่ “ฝ่ายก้าวหน้า” ใช้วาทศิลป์อ้างความถูกต้องของพระราชประสงค์ของ ร. 5 เพื่อมาแย้งพิธีกรรมที่ตนไม่เห็นด้วย ก็อาจจะต้องระวังอุดมการณ์บางอย่าง ซึ่งอาจจะเรียกว่าราชาชาตินิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งก็จัดเป็นประวัติศาสตร์แบบอ้างอิงผู้ยิ่งใหญ่ (great man history) อย่างที่อาจารย์สุเนตรก็ทราบดีอยู่แล้ว การอ้างเช่นนี้ทำให้เส้นแบ่งเรื่อง “หัวอนุรักษ์” กับ “หัวก้าวหน้า” คลุมเครืออย่างยิ่ง

ในทางกลับกัน ฝ่ายที่ดูจะเห็นด้วยกับถวายสัตย์ฯ อย่างอาจารย์สุเนตรและอาจารย์เวทิน ซึ่งอีกฝ่ายมักจะมองว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม ก็อ้างการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity ) และเน้นที่การเคารพความแตกต่าง (difference) กลับชี้ให้เห็นด้านตรงกันข้าม คนที่สนับสนุนความคิดนี้หลายคนอ้างถึงพิธีการแสดงความเคารพ อย่างพิธีชงชาในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการเปรียบที่ผิดฝาผิดตัวเพราะนัยยะของพิธีกรรมที่แตกต่างกัน (ซึ่งขอข้ามไป ไม่นำมาพูดถึงในที่นี้) อย่างไรก็ตาม อุลริค เบค (Ulrich Bech) เห็นว่าการอ้างการเคารพความต่าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สัมพันธนิยมทางวัฒนธรรม สากลนิยม ศัพท์แสงเหล่านี้ล้วนเป็นวาทศิลป์ของพวกเสรีนิยมใหม่ที่ใช้จัดการกับความต่างเท่านั้น เบคชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ในสังคมปัจจุบันเรากำลังเผชิญวิถีชีวิตที่ข้ามพ้นกรอบของรัฐชาติ และการสื่อสารระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา ความเสี่ยงจากการก่อการร้าย ประเด็นคำถามที่สำคัญก็คือ สังคมต่างๆจะรับมือกับความเป็นอื่นและพรมแดนต่างๆท่ามกลางการอิงอาศัยซึ่งกันและกันในระดับโลกนี้อย่างไร เบคเห็นว่าแม้แต่สังคมอเมริกันที่เป็นแหล่งรวมของชาติพันธุ์ต่างๆก็ยังมีท่าทีกังวลในเรื่องความต่างของชาติพันธุ์ กล่าวคือ ยิ่งมีความต่างมากก็ยิ่งยากจะเชื่อมผสานกัน ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้มีข้อเรียกร้องต่อจิตวิญญาณของชาติ (national ethos) หรือแนวคิดแบบชุมชนนิยม (อ่านได้ใน  “Realistic Cosmopolitanism: How do societies handle otherness?” ในหนังสือ Cultural Politics in a Global Age: Uncertainty, Solidarity and Innovation)

เบคเห็นว่านักปรัชญาตะวันตกอย่างค้านท์ ป๊อบเปอร์ เลียวตาร์ด เรื่อยมาถึงรอร์ตีนั้น แม้จะเห็นว่าความต่างมีอยู่จริง แต่ก็พยายามจะเน้นย้ำความเชื่อมโยงกันของมนุษยชาติ โดยย้อนกลับมาอ้างอิงหลักสากลนิยมแบบตะวันตก กล่าวคือ ไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นอื่นของคนอื่น แต่ย้ำถึงสิทธิความเท่าเทียมกันของมนุษย์มากกว่า นั่นหมายความด้วยว่า เสียงพูดของคนอื่นที่มีความต่างเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อพูดผ่านเสียงของความเหมือน คุณจะต่างจากฉันได้ ต้องเป็นเหมือนฉันก่อน คุณจะมีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ก็ได้ แต่ต้องเป็นคนไทยก่อน คุณจะคิดต่างจากฉํนก็ได้ แต่ต้องคิดต่างบนพื้นฐานความคิดแบบเดียวกับฉัน

เราจะเห็นได้ว่าฝ่ายที่ถูกประทับตราว่าเป็น “อนุรักษนิยม” กลับอ้างวาทศิลป์ของเสรีนิยมกลับไปตอบโต้พวกเสรีนิยมเอง นั่นคือการอ้างเรื่องการเคารพความแตกต่าง ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ถูกประทับตราว่า “หัวก้าวหน้า” ก็อาศัยวาทศิลป์แบบอนุรักษนิยมโต้แย้งฝ่ายอนุรักษนิยมเอง ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ ในแง่นี้ เส้นแบ่ง “อนุรักษนิยม” กับ “หัวก้าวหน้า” จึงดูคลุมเครือและไม่อาจแบ่งชัดได้ในกรณีการถกเถียงนี้

ถึงที่สุดแล้วเราอาจจะต้องกลับไปหาศัพท์คำว่า diversity ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า diversus แปลว่าบ่ายหน้าไปคนละทิศคนละทาง ความต่างที่ว่านี้ไม่ใช่ความต่างชนิดที่จะหันหน้าเข้ามากันเพื่อพูดคุยใช่หรือไม่ ก็คงจะย้อนกลับไปที่คำถามว่า เราอยากอยู่ร่วมกันหรือไม่ เราอยากอยู่ร่วมกันอย่างไร แล้วนำไปสู่ข้ออ้างของข้อถกเถียงที่ทั้งสองฝ่ายพอจะรับกันได้ เราจะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความต่างได้หรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะมีข้อตกลงร่วมกัน อาจจะต้องอาศัยเวลาในการถกเถียงอภิปรายโดยไม่ด่วนสรุปว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “ตื้นเขินจนไร้สติ” แม้แต่การการตัดสินว่าตัวเอง “ตื้นเขินจนไร้สติ” ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาก็เรียกว่า อหังการ มมังการ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: คงกฤช ไตรยวงค์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท