มองรูปปั้นสมาพันธรัฐ วิธีรำลึกประวัติศาสตร์นาซีที่น่าอับอายในแบบเยอรมนี

มีข้อถกเถียงเรื่องการรื้อถอนรูปปั้นอนุสาวรีย์ทหารสมาพันธรัฐในประเทศสหรัฐฯ ว่าการรื้อถอนเป็นการลบเลือนประวัติศาสตร์หรือไม่ คำถามนี้มีขึ้นแม้ฝ่ายสนับสนุนการรื้อถอนจะมีจุดยืนว่ารูปปั้นเหล่านี้เป็นการยกย่องเชิดชูการเหยียดเชื้อชาติสีผิวและสนับสนุนการใช้ทาส แต่ในเยอรมนีมีตัวอย่างให้เห็นว่าพวกเขารำลึกประวัติศาสตร์ความโหดร้ายนี้อย่างไร

19 ส.ค. 2560 เยอรมนีเคยมีประวัติศาสตร์ที่น่าอับอายจากช่วงที่เผด็จการนาซีเรืองอำนาจมีคนที่ตกเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพวกเขา สื่อ NPR ระบุถึงการรำลึกประวัติศาสตร์อันน่าอับอายนี้ไว้ด้วยการปักหมุดเป็นชื่อของเหยื่อที่ถูกสังหารไว้บนทางเท้า จนแทบจะเรียกได้ว่าถ้าหากคุณเดินไปในกรุงเบอร์ลินคุณก็อาจจะ "สะดุดประวัติศาสตร์ได้" หมุดที่ว่านี้ชาวเยอรมนีเรียกว่า "สโตลเปอร์ซไตเนอ" (Stolpersteine) หรือ "หินสะดุด" โดยหมุดเหล่านี้จะฝังไว้บนทางเท้าหน้าบ้านที่เหยื่อเคยอาศัยอยู่

NPR ระบุว่าวัฒนธรรมการ "รำลึก" ถึงช่วงสมัยนาซีและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคนั้นเป็นสิ่งที่มีการบันทึกไว้อย่างดีและกลายเป็นส่วนสำคัญของความเป็นเยอรมนี อาจจะมีพรรคการเมืองบางพรรคที่พยายามท้าทายวัฒนธรรมการรำลึกประวัติศาสตร์เช่นนี้แต่ก็มักจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่นับเป็น "พวกตกขอบ"

ผู้สื่อข่าวแม็กกี เพนแมน เล่าถึงประสบการณ์ตอนที่เธอไปยังเบอร์ลินแล้วพบว่าเยอรมนีมีการจดจำประวัติศาสตร์ที่ต่างจากสหรัฐฯ ที่สวนสาธารณะเทียการ์เทนในใจกลางกรุงเบอร์ลินเป็นพื้นที่ที่ทั้งคนหนุ่มสาวในเบอร์ลิน นักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติ พากันมาพลอดรักกันอย่างไม่ค่อยมีใครมาจับผิด และมีคนดื่มเบียร์กันอย่างถูกกฎหมาย ห่างออกไปจากพื้นที่ตรงนี้ไม่มากก็มีอนุสรณ์สถานรำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีชื่อเต็มว่า "อนุสรณ์สถานของยิวแห่งยุโรปผู้ถูกสังหาร" อนุสรณ์แห่งนี้อยู่ในที่เปิดโล่งและอยู่ใจกลางเมืองจึงยากที่จะมองไม่เห็น

 

อนุสรณ์สถานของยิวแห่งยุโรปผู้ถูกสังหาร (ที่มา:วิกิพีเดีย)

เพนแมนระบุว่าเมื่อเธอเข้าไปในอนุสรณ์แห่งนี้มันเป็นเขาวงกตคอนกรีตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยิ่งเดินเข้าไป กำแพงชั้นนอกดูคล้ายโลงศพ ลึกลงไปกำแพงเริ่มเหมือนต้นไม้สูงๆ ในป่าที่ไม่สามารถเจาะเข้าไปได้อีก ทำให้เธอรู้สึกสับสนและเสียขวัญซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่อนุสรณ์แห่งนี้อยากให้ผู้เข้าชมรู้สึก

เพนแมนเล่าต่อไปว่าเมื่อเดินห่างออกไปก็จะเห็นลานจอดรถที่เคยเป็นหลุมหลบภัยของผู้นำนาซีที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เคยใช้ฆ่าตัวตายในตอนท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 มีป้ายเล็กๆ เขียนไว้ว่าเคยมีอะไรเกิดขึ้นตรงจุดนี้ แต่ที่นั่นก็ยังคงเป็นที่จอดรถที่เต็มไปด้วยรถยนต์ของชาวเยอรมันอยู่ดี

แล้วเรื่องนี้มาเกี่ยวกับประเด็นอนุสาวรีย์สมาพันธรัฐได้อย่างไร เพนแมนะบุว่าถึงแม้การเทียบโรเบิร์ต อี ลี อดีตนายพลฝ่ายสมาพันธรัฐกับฮิตเลอร์จะดูขี้เกียจและมองประวัติศาสตร์ผิดๆ ไปหน่อย แต่เมื่อดูเหล่าผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรื้อถอนรูปปั้นของลีพากันแสดงสัญลักษณ์สวัสดิกะและทำท่าเชิงเคารพผู้นำนาซีอย่างเปิดเผยแล้วก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบเช่นนี้

จริงอยู่ที่การเดินขบวนถือคบเพลิงของฝ่ายขวาจัดที่เป็นคนหนุ่มสาวในอเมริกันดูแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น แต่สำหรับเยอรมนีแล้วเป็นภาพที่ยิ่งแปลกประหลาดเข้าไปอีก ในขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกวิจารณ์เรื่องที่เขาไม่ได้ประณามกลุ่มเชื้อชาตินิยมสุดโต่งของคนขาวเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาในการก่อเหตุรุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่โฆษกของผู้นำเยอรมนีแองเกลา แมร์เคิล ก็กล่าวประณามการเดินขบวนของฝ่ายขวาจัดนี้ว่า "น่ารังเกียจอย่างชัดเจน"

กลับมาที่เรื่องของอดีตบังเกอร์ผู้นำนาซีกลายเป็นที่จอดรถที่มีเกร็ดประวัติศาสตร์เขียนไว้ บทความใน NPR ระบุว่าหนึ่งในสาเหตุที่ไม่มีการอนุรักษ์อาคารหลบภัยของฮิตเลอร์ไว้เพราะกลัวว่าสถานที่นี้จะกลายเป็นแหล่ง "จาริกแสวงบุญ" ของพวกนีโอนาซี และเปรียบเทียบว่าการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ของลีในชาร์ล็อตส์วิลล์ก็กลายเป็นการจาริกแบบนี้

"สถานที่แห่งความรุนแรงและการเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ที่น่าอัปยศควรจะเป็นเรื่องน่าอับอาย" เพนแมนระบุในบทความ

"ในการโต้แย้งว่าควรจะมีการรักษาอนุสาวรีย์สมาพันธรัฐและธงสมาพันธรัฐไว้เพื่อไม่ให้พวกเราลืมประวัติศาสตร์ ในเยอรมนี จะพบอาคารของนาซีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปหมดแล้ว แต่เยอรมนีก็ไม่ได้ลืมประวัติศาสตร์ มีแค่การสำนึกรู้ได้ว่าการจดจำและการรำลึกถึงนั้นเป็นสองอย่างที่แตกต่างกัน" เพนแมนระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

How Charlottesville Looks From Berlin, NPR, August 16, 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท