เอ็นจีโอแถลงข่าวเชิญชมเครื่องใช้ประจำกายศาสดามูฮำหมัด (ซล.) อายุพันกว่าปี ที่ปัตตานี

เอ็นจีโอใต้ร่วมนักประวัติศาสตร์ แถลงข่าวเชิญชมวัตถุศิลป์อายุพันกว่าปี เสวนาประวัติศาสตร์อิสลาม 20 ส.ค.-19 ก.ย. นี้ที่ปัตตานี ย้ำทุกรายการเป็นของจริง มีเอกสารยืนยัน ผ่านการรับรองจากองค์กรเกี่ยวข้องหลายประเทศ แจงงาน Open เชิญต่างศานิกร่วมชม รายได้สมทบทุนเด็กกำพร้าชายแดนใต้

 

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 16.00 น. ที่สำนักงานอาคารปาตานีเซ็นเตอร์ ถ.กะลาพอ ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา ร่วมกับสำนักงานอาคารปาตานีเซ็นเตอร์ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ร่วมกันจัดแถลงข่าวต่องาน “นิทรรศการพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ ศิลปะวัตถุประวัติศาสตร์อิสลามและศาสดามูฮัมหมัด (ซล.)” ซึ่งเป็นการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ประจำกายของศาสดามูฮำหมัด (ซล.) และบรรดาสหายที่มีอายุนานถึงพันกว่าปี

ชมวัตถุศิลป์อายุพันกว่าปี เสวนาประวัติศาสตร์อิสลาม (20 ส.ค.-19 ก.ย. ที่ปัตตานี)

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า งานนิทรรศการครั้งนี้จะมีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ส.ค. ถึงวันที่ 19 ก.ย. 2560 ณ.ห้องประชุมปาตานีเซนเตอร์ หรือ สนง.คกก.อิสลามจังหวัดปัตตานีหลังเก่า ซึ่งประตูจะเปิดเวลา 10.00 น. และจะปิดในเวลา 22.00 น. ของทุกๆ วัน

กิจกรรมในงานนอกจากจะได้ชมวัตถุศิลป์สิ่งของเครื่องใช้ประจำกายของศาสดามูฮำหมัด (ซล.) และบรรดาสหายอายุนานถึงพันกว่าปีแล้ว ยังมีกิจกรรมสานเสวนา บรรยายถึงเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของโลกอิสลามในอดีตตั้งแต่จุดสูงสุดจนถึงจุดต่ำสุด โดยวิทยากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี วิทยากรจากกรุงเทพฯ และต่างประเทศ กิจกรรมนี้เราจะจัดอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ภายใน 1 เดือน ของทุกๆ วันศุกร์และวันเสาร์ในเวลาค่ำคืน รับรองว่าเราจะได้รู้ถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์อิสลามในอดีต ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ มองว่าเป็นโอกาสดีสำหรับทุกท่าน

มีเหตุผลอันใด - ทำไมต้องจัด

ฮัสนี ดอเลาะแล อาจารย์พิเศษด้านประวัติศาสตร์อิสลาม และประธานศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา ระบุถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่ชวนระลึกถึงจริยวัตรคุณงามความดีของศาสดามูฮำหมัด (ซล.) เรียนรู้ถึงประวัติของศาสดามูฮำหมัด (ซล.) และบรรดาสหาย ร่วมถึงผู้นำโลกอิสลามในอดีตกาล งานนี้ยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้า ความรู้ทางประวัติศาสตร์อิสลามให้กับผู้ที่สนใจ อีกทั้งยังสามารถสร้างความเป็นหนึ่งในหมู่ประชาชาติอิสลามผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ นักการเมือง โต๊ะครูศาสนา คณะใหม่ คณะเก่า ซีเอสโอ เอ็นจีโอ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ด้วย

ขณะที่ อิบรอฮีม ยานยา ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เสริมเพิ่มเติมว่า เสมือนสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง หรือ เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์อิสลามอย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องจินตนาการถึงอีกต่อไป เมื่อก่อนเราเรียนประวัติศาสตร์อิสลามผ่านการสอนของโต๊ะครู อุสตาส อาจารย์ โดยไม่รู้ว่าวัตถุเครื่องใช้ของศาสดาและสหายมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่วันนี้เราสามารถมาชมดูอย่างใกล้ชิดด้วยตัวของเราเอง

กว่าจะถึงปาตานี ความเป็นไป เป็นมา

ฮัสนี ได้อธิบายและสรุปถึงความเป็นมาในการจัดงานนิทรรศการครั้งนี้ว่า วัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์ หรือสิ่งของเครื่องใช้ของศาสดาและสหายนั้น เดิมทีทั้งหมดกระจัดกระจายอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิเช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย เยเมน จอร์แดน อีหร่าน อียิปต์ ปากีสถาน และมาเลเซีย

กระทั้งอดีตจุฬาราชมนตรีประเทศจอร์แดน ฯพณฯ อามีน มูฮำหมัด ซัลเล็ม มันชะห์ ที่สืบเชื้อสายมาจากทศาสดา ได้ทำการรวบรวมเพื่อทำการตรวจสอบทางวิชาการ และได้ทำสนธิสัญญา (MOU) กับหอศิลป์ฮัสซานัลโบลเกียห์ (Gallery Hassanal Bolkiah) แห่งประเทศบรูไน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (Sultan Haji Hassanal Bolkiah Muizzadin waddaulah) โดยมีวิสัยทัศน์เป็นศูนย์รวมวิจัยประวัติศาสตร์อิสลามในปี ค.ศ. 2020

หนึ่งในที่ปรึกษาหอศิลป์ฮัสซานัลโบลเกียห์ คือ ศ.ดร.อับดุลมานาน อิมบง นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์อิสลาม ชาวตรังกานู ประเทศมาเลเซีย เจ้าของหอศิลป์วารีซันมาร์ (Gallery Warisan MAR) แห่งประเทศมาเลเซีย ได้ทำสนธิสัญญาร่วมกับหอศิลป์แห่งชาติบรูไนดังที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อร่วมทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Enternal achcology) ตรวจสอบว่าสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้เป็นของจริงหรือไม่ มีความเป็นมาอย่างไร รวมทั้งพิสูจน์ถึงเรื่องทามไลน์ทางประวัติศาสตร์ถึงช่วงเวลาต่างๆ ด้วย

หลังจากนั้น ศ.ดร.อับดุลมานาน ได้ทำเรื่องขอนำสิ่งของเครื่องใช้ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มาจัดแสดงนิทรรศการที่รัฐมะละกา ตรังกานู กลันตัน เคดาห์ สลังงอร์  และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ก็ได้นำไปจัดแสดงที่ปุตราจายา กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซียอีกด้วย   

ฮัสนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนาได้มีโอกาสเชื่อมสัมพันธ์กับหอศิลป์วารีซันมาร์แห่งประเทศมาเลเซียจึงได้ทำเรื่องขอนำมาจัดนิทรรศการที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี แต่ด้วยความที่ต้องจ่ายค่าประกันเป็นเงินที่มากถึง 5 ล้านบาททางเราจึงหยุดความคิดนั้นไป เวลาผ่านไป ศ.ดร.อับดุลมานาน ติดต่อมาขออาสาจ่ายค่าประกันในจำนวนเงินดังกล่าวให้ เพราะเขาก็มีความคิดที่จะนำสิ่งของเหล่านี้ไปจัดในบ้านเราอยู่แล้ว โดยทางเราจะหาเงินในจำนวนดังกล่าวมาชดใช้ให้เขาอย่างเร็วที่สุด

จริง หรือ ปลอม คำถาม Popular

ในประเด็นของแท้หรือปลอมนั้นทางอับดุลกอฮาร์ได้ชี้แจงว่า “วัตถุศิลป์สิ่งของเครื่องใช้ทั้งหมด 27 รายการนี้ได้มีการยืนยันผ่านการศึกษาวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญมาแล้ว ซึ่งสามารถตอบได้ทางวิชาการ และมีการรับรองจากประเทศที่ครอบครองวัตถุแต่ละชิ้นเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ก่อนจะมาถึงบ้านเราก็ได้มีการจัดแสดงมาแล้วในหลายๆ ประเทศโดยยังไม่มีข้อครหาต่อประเด็นนี้แม้แต่ครั้งเดียว” อับดุลกอฮาร์ ชี้แจง

อาจารย์ฮัสนีเสริมข้อมูลต่อประเด็นนี้เพิ่มว่า “ทุกชิ้นมีใบประกาศจากพิพิธภัณฑ์อีนาฟอิสลามี่ของประเทศซาอุดีอารเบีย มีหนังสือรับรองจากจุฬาราชมนตรีประเทศมาเลเซีย และมีหนังสือรับรองจากหอศิลป์ฮัสซานัลโบลเกียห์แห่งประเทศบรูไน รวมไปถึงหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตนี ยะลา และนราธิวาส” อาจารย์ฮัสนี กล่าว

บัตรชม ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 60 บาทรายได้สมทบทุนเด็กกำพร้า

ฮัสนีระบุต่อว่า งานนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงทั้งในเรื่องการจัดการที่ต้องใช้เงินถึง 1.6 ล้านบาท ค่าประกัน 5 ล้านบาท และอื่นๆ อีกหลายรายการ ดังนั้นงานในครั้งนี้ปกติราคาบัตรเข้าชมในต่างประเทศสูงถึง 80 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,000 กว่าบาท แต่เราอยากจะขอสบทบทุนจากทุกท่านด้วยราคาบัตรเข้าเพียงแค่ 100 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และ 60 บาท สำหรับเด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี ส่วนเด็กอายุต่ำกว่านั้นสามารถเข้าชมได้ฟรีตลอดการจัดงาน

อาจารย์ฮัสนีระบุเพิ่มว่า ทางเราผลิตบัตรทั้งหมด 300,000 แผ่น แต่หวังเพียงแค่ 150,000 แผ่นก็เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายแล้ว และสำหรับรายได้ที่เหลือนั้นส่วนหนึ่งเราจะมอบให้กับเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่ในสังกัดมูลนิธินูซันตาราฯ  และอีกส่วนเราจะมอบให้กับองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ หรือ คปส. ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรได้ที่สำนักงานศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา สำนักงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานีทุกสาขา หรือจะซื้อผ่านตัวแทน หรือโทรไปตามหมายเลขโทรศัพท์ในโพสเตอร์ หรือจะซื้อหน้างานก้อได้

ทำไมต้องชม แจ้งงาน Open ต่างศาสนิกร่วมชมได้

“สิ่งของเหล่านี้มีอายุประมาณพันกว่าปีแน่นอนหาดูได้ยาก เพราะกว่าจะถึงทีนี้ไม่ใช้เรื่องง่าย ปกติถ้าต้องการชมเราต้องไปดูถึงต่างประเทศ แต่วันนี้มาถึงที่บ้านเราแล้ว ถือเป็นโอกาสดีสำหรับพวกเราทุกคน ผมอยากเชิญชวนทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมที่สนใจอยากจะเข้าใจอิสลามที่ถูกต้องในภาวะที่อิสลามถูกทำให้เข้าใจผิดๆ งานนี้เป็นงานที่เราเปิดกว้าง ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมสามารถเข้าชมและศึกษาเรียนรู้ได้ ยืนยันว่าทางเราไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นมุสลิมและอิสลามเท่านั้น อีกทั้งหน้างานเรามีชุดสำหรับผู้หญิงต่างศาสนิกชนได้ใส่คลุมด้วย” อับดุลกอฮาร์ กล่าวเชิญชวนผู้สนใจทั้งในและนอกพื้นที่ 

อาจารย์มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธาน มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา เชิญชวนเพิ่มเติมว่า เป็นนิมิตหมายอันดีและเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนในพื้นที่ทุกคน วัตถุเหล่านี้ถูกรวบรวมและมาถึงบ้านเราแล้ว เราสามารถให้ลูกหลานเรามาเรียนรู้เพื่อระลึกถึงศาสดาให้เกิดความอยากรู้ถึงประวัติ และประวัติศาสตร์อิสลาม เป็นเรื่องยากที่เราจะได้ชมวัตถุศิลป์เหล่านี้ หากเราไปชมที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย บางทีอาจจะได้ชมไม่หมด เพราะวัตถุเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายในหลายๆ ประเทศ

“งานนนี้เราได้ประกาศเชิญชวนผ่านโพสเตอร์ เบรนเนอร์ สถานีวิทยุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่จังหวัดสงขลาจนถึงจังหวัดกระบี่ รวมทั้งในกรุงเทพฯ ด้วย ล่าสุดก็ได้รับการต้อนรับจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เป็นอย่างดี”มูฮำหมัดอาลาดี กล่าว

หอศิลป์บรูไนมอบที่นั่งไปอุมเราะห์ ณ ซาอุฯ ผู้เข้าร่วมมีโอกาสร่วมลุ้น

“งานนี้นอกจากทุกท่านได้มาชมและเรียนรู้แล้ว ยังมีโอกาสลุ้นรับบัตรเดินทางไปประกอบพิธีอุมเราะห์ 30 ที่นั่ง ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และลุ้นรับอัลกุรอานดีจิตอล  200 เครื่องจากหอศิลป์ฮัสซานัลโบลเกียห์แห่งประเทศบรูไนอีกด้วย” ฮัสนี กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลศาสดามูฮำหมัด (ซล.) เพิ่มเติม

สำหรับศาสดามูฮำหมัด หรือนบีมูฮำหมัด คือ ศาสดาคนสุดท้ายในศาสนาอิสลาม นามว่า “มูฮำหมัด” แปลว่า “ผู้ได้รับการสรรเสริญ” เกิดที่นครมักกะฮ์ แห่งประเทศซาอุดีอาระเบียในปี ค.ศ.570 เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลามตามราชโองการของพระเจ้า เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกคนหนึ่งที่ขนานนามเลื่องลือมาถึงวันนี้แม้เวลาผ่านไปถึงพันกว่าปี เป็นบุคคลที่คนในยุคสมัยเคารพรักในความประเสริฐหลายด้านๆ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความยุติธรรม มีวาจาสัจจะและซื่อสัตย์จนได้ฉายานามว่า “อัลอามีน” แปลว่า “ผู้ที่มีความซื่อสัตย์” (อ่านต่อ)

หมายเหตุ : สามารถชมดูวีดีโอวัตถุศิลป์สิ่งของเครื่องใช้ของท่านศาสดาได้ที่เพจสำนักสื่อวาร์ตานี (คลิ๊ก)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท