Skip to main content
sharethis

วิธีคัดกรรมการ ความเป็นราชการ บังคับใช้กฎหมายไม่ได้จริงทำเกรดตก ชุดปัจจุบันมุ่งทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแม้ภาพพจน์ไม่ดีและรัฐค้าน แนะ  บางเรื่องต้องตัดสินใจเร็วแต่โครงสร้างทำช้า กสม. พึ่งพาได้แต่ไม่ใช่นักรับจ้างเคลื่อนไหว ต้องขีดเส้นหน้าที่ให้ชัด โอดหน่วยงานรัฐไม่เชื่อ รธน. อ้างที่นี่ไทยแลนด์ รัฐบาลมาจากไหนก็ละเมิดสิทธิประชาชนทั้งนั้น แต่ใต้รัฐบาลทหาร กสม. ขยับตัวได้ไม่เยอะ เล่าที่มากรรมการ วิธีการทำงานแต่แรกเริ่ม ต้องดิ้นรนให้คนรู้จัก แสดงความพึ่งพาได้

จากซ้ายไปขวา: จีรนุช เปรมชัยพร กาจ ดิษฐาอภิชัย ชาติชาย สุทธิกลม นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สุรสีห์ โกศลนาวิน จอห์น ซามูเอล

17 ส.ค. 2560 มูลนิธิศักยภาพชุมชนจัดงานเปิดตัวรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทย 2559 ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีเวทีเสวนา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทย “จาก A เป็น B… จาก B เป็น A ฤาจาก B เป็น C?” มีกาจ ดิษฐาอภิชัย ผู้นำชุมชนอาวุโส จ.พัทลุง ชาติชาติ สุทธิกลม กสม. ชุดที่ 3 นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ชุดที่ 2  สุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) แห่งชาติชุดที่ 1 ไกรศักดิ์ ชุนณะหวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นวิทยากรและจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทเป็นผู้ดำเนินรายการ

วิธีคัดกรรมการ ความเป็นราชการ บังคับใช้กฎหมายไม่ได้จริงทำเกรดตก

นิรันดร์ กล่าวว่า ในขณะนั้นที่ตนเป็นกรรมการ กสม. เมื่อปี 2552-2558 มีปัญหาเชิงโครงสร้าง 2-3 ประเด็น ประเด็นแรกคือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักการปารีสในเรื่องการสรรหากรรมการในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่เปลี่ยนองคาพยพของกรรมการสรรหาหมด สมาชิก 5-7 คนมาจากฝ่ายตุลาการ อีก 2 คนมาจากฝ่ายการเมือง เราไม่ได้ดูหมิ่นกระบวนการตุลาการ แต่คิดว่ากระบวนการตุลาการไม่ควรผูกขาดการสรรหากรรมการ กสม. เพียงแต่เป็นองค์กรที่รู้กฎหมายด้านหนึ่ง แต่ไม่รู้เรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน เป็นผลให้ กสม. ที่มีทัศนะในวงแคบ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น เป็นที่มาของ ICC ลดเกรดจากเอเป็นบีแน่นอน

ประเด็นที่สอง การทำงาน กสม. มีปัญหาตรงสำนักงาน กสม. ถ้าไปอ่านตามกฎหมายจะพบว่าสำนักงานเป็นส่วนของราชการ และถ้าพูดถึงคนที่มาทำงานในสำนักงานก็เป็นข้าราชการ แต่คนเหล่านั้นมาทำงานใน กสม. ซึ่งผมถือว่าพวกเขาต้องมีทัศนคติที่เข้าใจสิทธิมนุษยชน จะมาทำแบบระบบราชการไม่ได้ ความที่ยังฝักใฝ่ระบบราชการ การจัดซื้อจัดจ้าง ทัศนคติแบบข้าราชการอย่างเจ้านายยังมีอยู่ จะทำให้มองผู้ที่มายื่นคำร้องในมุมมองที่ต่างไป เขามองชาวบ้านเป็นคู่กรณี เขามาเตือนว่า “หมอระวังนะ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเราเข้าข้างข้างใดข้างหนึ่ง” แต่ว่าผมมองชาวบ้านเป็นผู้เดือดร้อน ผมก็ต้องเข้าข้าง เว้นเสียแต่ว่าเขาจะไม่เดือดร้อน การไปทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจและรู้ถึงกระบวนการในการตรวจสอบยากมาก ทำให้กระทบกับการบริหารจัดการภายใน กสม. กระทบกับรายงานปี 2553 เป็นปัญหาการบริหารจัดการที่ได้กลุ่มบุคคลที่ไม่ถูกต้องมาจัดการทำให้รายงานล่าช้า ไม่ตรงตามที่ตกลงกันได้ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้โดนลดเกรด

ประการที่สาม เหมือนเป็นจุดอ่อนแต่ก็เป็นจุดแข็งของรัฐธรรมนูญ 2550 ผมไปประชุมที่ Southeast Asia Forum เขาก็ชื่นชมรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้อำนาจ กสม. ในการฟ้องร้องได้ ชาวบ้านก็หวังพึ่งในการฟ้องกับศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ แต่พอทำจริงไม่ได้ เพราะเวลาไปฟ้องศาลยุติธรรมมันฟ้องไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมาย มีแต่ตัว พ.ร.ป. กสม. ที่ไม่มีฎหมายรองรับเรื่องการฟ้อง รวมทั้งในทางรูปธรรม ตัวองค์กรก็ยังไม่เข็มแข็งพอที่จะเป็นคนฟ้อง คนที่เข้มแข็งคือสภาทนายความ เพราะเรื่องการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในหมู่นักกฎหมายเข้มแข็ง ในสมัยผมจึงทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับสภาทนายความให้ช่วยฟ้องในเรื่องที่ กสม. เห็นควร แต่ก็ไม่ง่ายในทางปฏิบัติ การฟ้องร้องกับศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองนั้นยื่นเรื่องไปได้ แต่ก็ไม่เยอะ แต่กับศาลยุติธรรมยังมีปัญหาอยู่ กฎหมายดังกล่าวจึงถือเป็นความก้าวหน้าที่ต่างประเทศยกย่อง แต่ไทยก็ยังทำไม่ถึง

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในยุคผมเป็นช่วงประชาธิปไตยที่เปลี่ยนไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 แต่ในยุคประชาธิปไตยเองก็ยังมีความไม่สมดุลของแนวคิดการทำงาน แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง คือการชุมนุมในทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553-2557 เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้บทบาท กสม. เป็นที่จดจำ ผมดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ด้านสิทธิคนไร้รัฐ ไรัสัญชาติและคนไทยพลัดถิ่น ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่รัฐจะทำงาน เรื่องสิทธิพลเมืองเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะช่วงนั้นมีการชุมนุมของคู่ความขัดแย้ง แต่บทบาท กสม. ไม่ผิดในรัฐธรรมนูญ คือเราต้องเข้าไปตรวจสอบ การตรวจสอบนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ กสม. แต่ปัญหาคือสังคมค่อนข้างไม่สามารถลดละความเป็นขั้วตรงข้าม เวลาผมไปตรวจสอบชุมนุมเสื้อเหลืองบ่อยเขาก็หาว่าผมเป็นเสื้อแดง เวลาไปตรวจสอบเสื้อแดงบ่อยเขาก็หาว่าผมเป็นเสื้อเหลือง การตรวจสอบถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐรู้ว่าจะใช้มาตรการไหนเป็นสำคัญ ตอนนั้นก็คิดว่ารัฐทำไม่ถูก ใช้กฎหมายเรื่องความมั่นคง ประกาศภาวะฉุกเฉิน พ.ร.บ. ความมั่นคง รูปธรรมของการมีความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะตรวจสอบได้ด้วยการลงพื้นที่ แต่พอลงพื้นที่ก็จะถูกมองว่าเลือกข้างทันที สะท้อนถึงทัศนคติในสังคม เมื่อไม่ถูกต้องก็มีเรื่องที่ต้องทำความเจ้าใจ แต่ความขัดแย้งทางการเมืองก็สูงมาก เราจึงตกลงว่าเมื่อทำรายงานก็จะต้องแสดงให้เห็น แต่สังคมไทยก็ต้องสลัดสภาวะความเป็นขั้วตรงข้ามให้ได้ รายงานของ กสม. นั้นจะไม่นำเสนอเข้าข้างใคร แต่ปัญหาคือเวลาไปขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐตามสิทธิที่พึงมีก็ไม่ได้ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางราชการ หน่วยงานรัฐไม่บังคับใช้ทางกฎหมาย ถามว่าหน่วยงานที่เข้าใจมีไหมก็มี แต่ที่ไม่เข้าใจก็มี ถือเป็นหน้าที่ของ กสม. ที่ทำให้ต้องรู้เพราะเราก็เพิ่งมีมา 6-7 ปี ณ ตอนนั้น เขาฟังแต่กฎหมายของเขา ไม่สนใจรัฐธรรมนูญ เขาถือว่ากฎหมายหรือเจ้านายเขาใหญ่กว่า ถ้าไม่ทำตามก็โดนเด้ง ซึ่งเป็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในบ้านเรา ในรุ่นต่อมาก็ควรต้องทำการตรวจสอบ ไม่ใช่เพื่อจับผิดแต่เพื่อทำให้ถูกต้อง ถ้าแก้ไขหน่วยงานย่อยไม่ได้ ก็ส่งให้นายกฯ รัฐสภา ในสมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการตั้งคณะกรรมการ แต่หลังรัฐประหารปี 2557 กลับไม่มีเลย พอเป็นระบบอำนาจนิยมทุกอย่างมันสลายไปหมด เรารู้อยู่ว่าหน่วยงานรัฐร้อยละ 90 ไม่ทำตามเรา แต่ถ้ามีนายกฯ หรือสภาคอยจี้ก็จะช่วยเราได้ ตรงนี้สังคมและรัฐบาลและฝ่ายการเมืองต้องพยายามอนุวัติไปตามการมอบหมายที่ถูกต้อง แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น แล้วทีนี้มันมีประเด็นข้ามชาติด้วย ที่เกาะกง ที่ทวาย มีนักธุรกิจไปทำร้ายคนในท้องที่ แล้วผมไปตรวจสอบ รัฐบาลก็ต้องเข้าใจว่าผมไม่ได้ไปฉีกหน้ารัฐบาล แต่นักธุรกิจที่เอาเงินคนไทยไปลงทุน ผู้จัดการรัฐธรรมนูญหรือนายธนาคารต่างก็ต้องมีธรรมาภิบาล ถ้าไปทำคนเขมร คนทวายเดือดร้อนเขาก็มาด่าเรา เรื่องขณะนี้มันข้ามพรมแดน เรากำลังทำหน้าที่ตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ แม้แต่เรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ก็ตาม ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นปัญหาใหญ่ แต่ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ต้องเจอ มันต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ในการทำงาน 6 ปี สิ่่งที่ผมทำได้คือทำให้คนตื่นตัวและลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ ยุคนี้มีปัญหาการพัฒนาที่ขาดความสมดุล ขัดกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือจุดที่เราทำการตรวจสอบก่อนหมดวาระ การทำเหมือง เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำท่าเรือ ทวงคืนผืนป่า ผมก็ทิ้งให้ชาวบ้านทำงานกันต่อ แล้วพวกเขาก็คงไม่เลิก เพราะถ้าเลิกเมื่อไรเขาก็ตาย ผมก็เชื่อว่ารัฐบาลรับรู้ แต่ได้ยินหรือเปล่านั้นไม่รู้

กสม. ชุดปัจจุบันมุ่งทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแม้ภาพพจน์ไม่ดีและรัฐค้าน แนะ โครงสร้างองค์กรทำมติช้า บางอย่างต้องแข่งกับเวลา

ชาติชาย กล่าวว่า กสม. ในปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายหลายประการแม้แนวคิดสิทธิมนุษยชนจะเข้ามาในภูมิภาคเป็นเวลา 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังถือว่าใหม่อยู่ การตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำรายงานที่ผ่านมารัฐเป็นผู้ต่อต้านมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่ของรัฐ แต่เมื่อมีการรายงานไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางปฏิบัติงาน จึงเป็นหน้าที่เราที่ต้องทำให้ภาครัฐและประชาชนมีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ได้ อาจจะเกิดจากมุมมองที่แตกต่างกันแต่สุดท้ายปลายทางก็คือการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

กรรมการ กสม. ถูกออกแบบมาเป็นองค์กรกลุ่ม การใช้อำนาจจะต้องเป็นไปโดยมติเสียงส่วนใหญ่ ไม่เหมือนผู้ตรวจการแผ่นดินที่มี 3 คน แบ่งกันรับเรื่องและมีอำนาจบนเรื่องดังกล่าวเว้นแต่จะเป็นเรื่องสำคัญจึงจะมาประชุมกันเช่นเรื่องจริยธรรมนักการเมือง แต่ถ้าเป็นการวินิจฉัยหน่วยงานของรัฐ อำนาจจะอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินหนึ่งคนเท่านั้น หลายเรื่องควรจะรวดเร็วและตรงไปตรงมาเพื่อแก้ปัญหา แต่เมื่อเอาเข้ามาในการประชุมที่มีหลายความคิดก็ต้องใช้เวลา บางครั้งความแหลมคมก็อาจจะลดลง แต่เราต้องยอมรับว่านี่คือวิธีการที่จะต้องทำงานออกมาให้ได้ ความท้าทายนี้อาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกว่า กสม. ล่าช้าในบางประเด็นเพราะต้องผ่านมติ กสม. โดยเฉพาะในเรื่องรายละเอียดต่างๆ ที่ต้องใช้เวลา แต่ผมก็พยายามผลักดันให้หลายเรื่องออกไปเร็วๆ ไม่เช่นนั้นความศักดิ์สิทธิ์จะไม่มี

กสม. ชุดที่ 3 มีความตั้งใจที่จะกล้าเข้าไปตรวจสอบ ค้นหาความจริง ออกรายงานและมีข้อเสนอแนะที่จะต้องไม่เกรงใจกัน ผมเรียนว่ารัฐคือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกประเทศเพราะกฎหมาย แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ รวมถึงแนวคิดของภาครัฐโดยรวมที่มีมานานเปลี่ยนแปลงไม่ทันโลกที่ มีการเคารพสิทธิมนุษยชนกว้างขวางอย่างที่อดีตไม่ได้คิดถึงกัน หน้าที่ของเราคือการตรวจสอบการละเมิดฯ ทำให้เราถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ หรือไปเกื้อหนุนประชาชน ถือเป็นความท้าทายอีกอันหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่สามารถตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและออกรายงานที่ตรงไปตรงมาได้ มันก็ไม่ควรที่จะเป็น กสม. ความตั้งใจตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราพูดกันในชุดที่ 3 ที่ต้องทำให้ได้ หลายเรื่องที่ออกไปช้านิดหนึ่งเพราะกระบวนการ แต่ผมก็เชื่อว่าเราจะเห็นความตั้งใจตรงนี้ อย่างผมกับคุณอังคณา (อังคณา นีละไพจิตร) ที่ทำประเด็นพื้นที่ภาคใต้ ก็มองทุกมิติในทุกพื้นที่ของ 3 จ. ชายแดนใต้ รายงานที่ออกมาก็มองเห็นว่าเราตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาและหาความจริงอย่างเต็มที่ ข้อเท็จจริงจากภาครัฐนั้นอาจจะหายาก แต่ไม่เป็นไร เราหาข้อเท็จจริงจากทางอื่นแล้วเราจะออกรายงาน เราไม่กลัวที่จะออกรายงาน

สุดท้าย ผมยังคิดว่าความเป็นองค์กรกลุ่มมีหลายอย่างที่อาจจะออกมาในภาพลักษณ์อย่างไม่ค่อยน่านับถือ ถือว่าเป็นข้อท้าทายที่สำคัญเพราะคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการสรรหา จะต้องสรรหาสมาชิกที่มีความหลากหลายเพื่อให้ได้ประสบการณ์และความชำนาญที่หลากหลาย คนที่มีประสบการณ์คนละที่มา เมื่อมาแล้วทำอย่างไรให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยยึดถือหลักการตามอำนาจหน้าที่ของเราให้ได้ อาศัยการพูดคุยในที่ประชุม การนำเสนอข้อเท็จจริงและมุมมองที่ชัดเจนเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ ก็เป็นธรรมดาที่ภาพลักษณ์ขององค์กรจัดตั้งประเภทนี้จะถูกมองว่าไม่น่ารัก ไม่น่านับถือหรือเป็นที่ตลกขบขัน ท่านสังเกตไหมว่าองค์กรอิสระที่ติดตามการทำงานจะมีภาวะอย่างนี้ แต่รายงานที่เราออกมาจะต้องชัดเจน คม และกล้าหาญ ตรงไปตรงมา

รัฐธรรมนูญ 2560 มีหลายจุดที่ทำให้ข้อบกพร่องบางอย่างหายไป ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองก็พยายามรับฟังข้อคิดเห็นของทุกฝ่าย ไม่ได้เสียหลาย มีบางเรื่องยกตัวอย่างเช่น การเรียกให้หน่วยงานหรือบุคคลมาให้ถ้อยคำ มีเป็นบทบังคับและบทลงโทษ และข้อเสนอที่ไปสู่องค์กรต่างๆ ก็ต้องทำตาม หรือเมื่อไปถึงคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) ก็ต้องมีคำตอบ เหล่านี้ก็บังคับไว้ใน พ.ร.ป. แต่บางเรื่องก็เป็นอะไรที่ไม่ค่อยน่ารัก แต่ก็ไม่รู้จะเขียนอะไรไปจากนั้นแล้วเพราะมันอยู่ในรัฐธรรมนูญ เราพยายามจะทักท้วงตั้งแต่กระบวนการร่างฯ แล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล

กสม. พึ่งพาได้แต่ไม่ใช่นักรับจ้างเคลื่อนไหว ต้องขีดเส้นหน้าที่ให้ชัด โอดหน่วยงานรัฐไม่เชื่อ รธน. อ้างที่นี่ไทยแลนด์

กาจกล่าวว่า ผมมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญปี 2540 พอสมควรในฐานะคนร่วมยกร่างฯ และประชาสัมพันธ์ให้คนออกไปทำประชามติ ผมมองทั้ง 2 ด้าน ประเด็นที่หนึ่ง ด้านประชาชน เป็นการเปิดโอกาสแห่งความหวังให้ประชาชน แต่มันก็เป็นจุดบอดที่ประชาชนหวังพึ่ง กสม. ให้มาช่วยเหลือประเด็นการถูกละเมิดสิทธิ์ ทำให้พวกเขาคิดว่าเพียงแต่ร้องต่อ กสม. ก็พอ ไม่ต้องสู้อะไร ทัศนะและความคาดหวังต่อ กสม. ของประชาชนสูงมาก เมื่อตั้งมาใหม่จะทำให้ทันอกทันใจก็ยาก คนก็เลยตั้งคำถาม ประเด็นที่สอง องค์กรรัฐเองมักพูดว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของตะวันตก อย่ามาอ้างในประเทศไทย ไม่ควรเอามาใช้ ทุกวันนี้เป็นมายาคติว่าเรามีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แต่แท้ที่จริงก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันมีกฎหมายอื่นที่เป็นกฎหมายธรรมดาที่มันเหนือกว่า กสม. ผมก็ไม่เข้าใจว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญมันเป็นกฎหมายสูงสุดหรือเปล่า ตามอุปสรรค ข้อท้าทายที่พูดมาทำให้ไม่สามารถใช้กฎหมายได้

ถ้ามองเรื่องการทำงานของ กสม. ตามความรู้สึก ที่ผ่านมาปัญหาใน 3 จ.ชายแดนภาคใต้ก็มีมาเรื่อยๆ ปัจจุบันยิ่งมีมากขึ้น กสม. ชุดที่ 1 รู้สึกว่าเนื่องจากมีความใหม่ ลงไปเคลื่อนไหวประชาชนก็สนใจ แล้วก็เข้ามาเป็นเครือข่ายกรรมการสิทธิฯ มาสร้างความน่าเชื่อถือและการเป็นที่รับรู้ พอชุดที่ 2 ลงมาสร้างกลไกแล้วให้คนจนสู้เอง ผมเองก็เห็น แต่คนที่ถูกละเมิดฯ นั่นแหละที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะว่ามันเกี่ยวกับอนาคตของเขา แต่คนอื่นๆ ที่สามารถจะช่วย ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการละเมิดฯ กลับวางเฉย กลายเป็นการต่อสู้ของตัวบุคคลหรือท้องถิ่นแทนที่จะเป็นการต่อสู้ทางสังคม เราก็จะเห็นว่าพื้นที่ของ กสม. ในการรับรู้ของคนมันถูกทำให้หายไป ถ้าเขามีปัญหาค่อยคิดถึง แต่ถ้าไม่มีปัญหาก็จะไม่รู้สึกกันเลย ทำให้พัฒนาการของ กสม. เป็นลักษณะถดถอยตามความเข้าใจผม ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้ กสม. เป็นหลักประกันสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญคงยาก แล้วการเคลื่อนไหวทางด้านสังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนจะหายไป เหลือแต่การถูกละเมิด ทำให้กลไกของ กสม. ในพื้นที่อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเพราะขาดการมีส่วนร่วม ที่จริงผมเองก็ยุ่งเกี่ยวกับสิทธิชุมชน สิทธิตัวบุคคลและรับรู้เรื่องการถูกละเมิดฯ แต่อย่างไรก็ยังเห็นว่าเรื่องนี้ กสม. ยังไม่จริงจัง เมื่อปลายเดือนที่แล้วก็เรื่องท่าเรือปากบาราก็มีคุณอังคณา นีละไพจิตรลงไป ผมคิดว่าถ้าเผื่อว่ามีการทำงานของ กสม. ไปหนุนเสริม ไม่ได้หมายความว่าต้องไปสู้กับรัฐ ชาวบ้านอาจจะเห็นว่ากสม. เป็นที่หวังพึ่งได้ แน่นอนว่า กสม. ต้องทำให้เขารู้ว่าประเด็นปัญหาเป็นเรื่องของพวกเขาที่จะต้องสู้เอง กสม. ไม่ใช่องค์กรรับเหมาทำแทนชาวบ้าน

อัดรัฐบาลมาจากไหนก็ละเมิดสิทธิประชาชนทั้งนั้น แต่ใต้รัฐบาลทหาร กสม. ขยับตัวได้ไม่เยอะ

ชาติชายกล่าวว่า ไม่ลำบากใจที่ทำงานภายใต้ระบอบเช่นนี้เพราะว่ารัฐแบบไหนก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน แต่ในส่วนรัฐทหาร สิ่งที่พบก็คือการกระทำมันเกินเลยไปจากหลักการที่ควรจะเป็น สิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็น แต่ในสมัยปฏฺิวัติมันก็ตัดหลักการพื้นฐาน แล้วเรามาบอกว่าหลักการพื้นฐานควรมีอยู่ รัฐทหารก็จะบอกว่านี่เป็นสมัยปฏิวัติ ศาลเองก็ยอมรับรัฐถาธิปัตย์ ใน 3 จ. ชายแดนภาคใต้ก็ยังมีการใช้กฎอัยการศึก ข้อเรียกร้องของ กสม. ชุดที่ 2 ก็บอกว่าควรยกเลิกกฎอัยการศึกได้แล้วเพราะนี่ไม่ใช่สมัยสงคราม แต่ก็ยังใช้อยู่ กฎหมายจะมีอย่างไรก็ตาม แต่การปฏิบัติตามกฎหมายก็คือหน้าที่ของ กสม. จึงต้องทำเท่าที่ทำได้

ไกรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐคือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยฐานของทุนนิยมที่อยู่เบื้องหลังทำให้มีการช่วงชิงทรัพยากรซึ่งเป็นทรัพยากรที่ประชากรไทยได้ยึดเอาไว้ทุกหนแห่งทั่วประเทศตั้งแต่ป่า นายันทะเลอันเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่ในทุกหนแห่ง ทรัพยากรอันนี้จึงต้องอาศัยอำนาจรัฐเพื่อที่จะช่วงชิงจากประชาชนมาเป็นประโยชน์ของบรรษัท จุดเริ่มต้นประชาธิปไตยเต็มใบเมื่อปี 2540 กลายเป็นการสร้างโฆษณาการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมที่สุดก็คือการทำสงครามปราบปรามยาเสพติดที่ภายในเวลา 3 เดือนคร่าชีวิตคนไป 3,000 กว่าคน ฆ่าแล้วก็ยังมีการประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าฆ่าไปกี่คน กรณีนี้ ไม่ว่าจะขึ้นศาลที่ไหนในโลก ตัวนายกฯ หรือผู้บังคับบัญชาตำรวจผิดแหงๆ แต่ว่าไม่มีใครฟ้อง

ไกรศักดิ์ ชุนณะหวัน (ที่มา: facebook/ People's Empowerment Foundation)

การสอบสวนเหตุการณ์ข้างต้นเกิดในสมัยเผด็จการ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนซึ่งตนก็อยู่ในคณะกรรมการนั้นด้วย เนื่องจากเป็นการสอบสวนคดีสิทธิมนุษยชน 6 เดือนต่อมาปรากฎว่า ผู้เสียชีวิต 1,800 คนจาก 3,000 คนเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง ภายในปีเดียวหลังจากยาเสพติดก็มีเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงที่ อ.ตากใบและมัสยิดกรือเซะ ฆ่ากันอย่างซึ่งๆ หน้า จับกุมกันเป็นพันคนต่อวัน สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นใน 3 จ. ชายแดนภาคใต้ทั้งที่นอนหลับสบายมาไม่รู้กี่ปีแล้ว แสดงให้เห็นว่ารัฐละเลยประเด็นสิทธิมนุษยชน มันก็เกิดขึ้นทันที ความรุนแรงในภาคใต้นั้นหลีกเลี่ยงไม่พ้นในยุคที่ประชาธิปไตยกำลังรุ่งเรือง เพราะพฤติกรรมอย่างนี้ถึงทำให้ประชาธิปไตยปั่นป่วน มิหนำซ้ำพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่คนไทยชอบเสียอีก บอกว่าทำแบบนี้น่าถูกใจ การฆ่าคนทิ้งเป็นสิ่งที่น่านิยม นายกฯ ก็พูดตลอดเวลาว่าคนติดยาเสพติดมีที่ไป 2 ทาง ไม่วัดก็คุก หรือภาคใต้โจรกระจอก ทำอย่างไรกับมันก็ได้ คุณเชื่อไหม คดีในภาคใต้แทบทุกคดีมีการซ้อมทรมานก่อนรับทราบข้อกล่าวหา กว่าร้อยละ 70 ขึ้นศาลไปก็หลุดอยู่แล้ว เพราะการทรมานเป็นระบบไปแล้ว ทุกวันนี้ประชาธิปไตยโดนทำลายไปแล้ว สิ่งที่เห็นคือกำลังการก่อตัวของทุนผูกขาดและอำนาจรัฐ โดยเฉพาะกับกองทัพบก เพื่อที่จะกลับมาทำเมกะโปรเจคต์ที่ทำในระบอบประชาธิปไตยเอาอกเอาใจประชาชนไม่ได้ เพื่อเป็นตัวอย่างว่ารัฐประหารจะนำไปสู่รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก แต่วิธีคิดของรัฐวิธีนี้เขาลืมคิดว่าเกือบทุกพื้นที่ที่จะทำโครงการมันมีประชาชนอยู่เป็นร้อยปี เมื่อไม่มีรัฐสภา สถานการณ์ทุกวันนี้ก็เป็นการปะทะกันโดยตรงระหว่างรัฐกับประชาชนที่อยู่ภายใต้แผนเช่นว่า กสม. ได้เข้าไปมีบทบาทตลอด แต่มีบทบาทเพียงอย่างเดียวเท่าที่มีได้ตอนนี้คือฟ้องสื่อ ฟ้องประชาชน ฟ้องไปทั่วโลกว่าเรากำลังโดนละเมิดอย่างหนัก โดยไม่มีกฎหมายที่มาปกป้องประชาชนเหลืออยู่แล้ว

ไกรศักดิ์ตั้งคำถามว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะกล้าตอบคำถามและสำนึกต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอยู่หรือไม่ ถ้ายอมรับมันก็มีทางจับมือกันได้ ตนคิดว่าประเด็นที่ท้าทายที่สุดในประเทศตอนนี้คือจะเป็นไปได้ไหมที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือภาคประชาชนจะยอมรับในหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐานให้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ดังนั้นการแสดงออกอย่างมีพลวัต ตรงไปตรงมาในด้านความจริงจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย

กสม. รุ่นแรกเล่าที่มากรรมการ วิธีการทำงาน ต้องดิ้นรนให้คนรู้จัก แสดงความพึ่งพาได้

สุรสีห์ กล่าวว่า กสม. ชุดแรกได้รับการเลือกตามหลักการปารีส มีหลายฝ่ายเข้ามาเลือกตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ว่าจะเป็นสภาทนายความ นักการเมืองหลายฝ่าย วุฒิสภา ทั้งศาลและอัยการกว่า 40 คน ช่วงแรกได้ 9 คน จากจำนวนที่ต้องการทั้งหมด11 คน ซึ่ง 9 คนก็ต้องลาออกจากงาน และทำงานนอกเวลาด้วยการเดินทางไปยังจุดต่างๆเพื่อฟังประชาชนและกลุ่มเครือข่าย เนื่องจากช่วงที่ทำงานใหม่ก็้ต้องเรียนรู้ สำรวจ จัดประชุมเพื่อรับฟัง พอครบ 11 คนในปี 2544 ก็เริ่มดำเนินการ จุดสำคัญคือพวกเราจัดตั้งคณะอนุกรรมการ  5 ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายสังคม ฝ่ายกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายต่างประเทศและฝ่ายบริหารจัดการทั่วไป โดยมีอนุกรรมการเข้าไปในชุมชน ดึงชุมชนเป็นเครือข่ายและเป็นอนุกรรมการ ทำให้มีเครือข่ายชุมชนร่วมด้วยเยอะ แล้วเราก็ใช้ผู้ช่วยดำเนินงานเป็นเรื่องๆ ไป และการออกรายงานก็ต้องประชุมก่อนจัดทำ ซึ่งถือเป็นงานหนัก ก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันเขียนรายงานถึงจะถือว่าทำงานครบตั้งแต่กระบวนการค้นหาความจริง จัดเวทีเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และไปปกป้องด้วยการเข้าไปในพื้นที่ที่มีกรณีต่าง ๆ ในส่วนภาคใต้ที่ลงไปถอนฟ้องคดี อ.ตากใบ ก็ต้องประสานหน่วยงานราชการเพื่อให้เขาเข้าใจว่าชาวบ้านเดือดร้อนที่ไปขึ้นศาล ที่ตากใบมีคนตายไปแล้วก็ยังไปฟ้องเขาซ้ำอีก ก็ถอนฟ้องไป และอีกหลายเรื่องที่จัดทำไว้เป็นเล่ม แม้แต่กรณีที่ทหารไปซ้อมคนที่ชายแดนเราก็ยังตามไปปฏิบัติหน้าที่ เราจะไม่ปะทะกับรัฐโดยตรงในด้านความเห็น แต่เราจะออกแถลงการณ์ในกรณีที่เป็นประเด็นร้อนแรง จะใช้ความจริงไปออกในรายงาน เราจะเว้นเรื่องการต่อสู้ให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ เพราะมิฉะนั้นเราจะกลายเป็นนักต่อสู้เสียเอง

การทำหน้าที่ก็ดำเนินมาจนกระทั่งรัฐบาลจัดตั้งกรรมการชุดหนึ่งที่เอารายงานของ กสม. ไปปฏิบัติ แต่มันก็ต้องใช้เวลา เพราะเมื่อปี 2549 มีการปฏิวัติและอยู่ไปจนปี 2552 คิดว่าในรายละเอียดมีเอกสารประเมินอยู่พอสมควร ถ้าจะถามจุดประเด็นปัญหาอุปสรรคคือเรื่องการร่วมมือกับภาครัฐที่เราต้องชี้แจงอยู่เป็นระยะ ทุกหน่วยราชการทั้งในจังหวัดและรัฐบาล บางคนก็ไม่รู้จักหน่วยงาน ก็ต้องไปประชาสัมพันธ์กัน ตอนนั้นมีสถานการณ์เรื่องสิทธิฯ กับฐานทรัพยากรบนที่ดินและป่าไม้ ก็จะมีอนุกรรมการในประเด็นนั้นโดยตรง แต่ความร่วมมือจากภาครัฐไม่มีเท่าที่ควร เราก็พยายามทำรายงานและข้อเสนอแนะส่งไปให้หน่วยงานต่างๆ และรัฐบาล จำได้ว่าในช่วงฆ่าตัดตอนเราก็มีบทบาทออกมาตอบโต้รัฐวันต่อวัน มีชาวบ้านเป็นร้อยคนที่มาที่สำนักงานเพราะพวกเขารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย พวกเราก็ลงพื้นที่ไปช่วย สถานการณ์ดังกล่าวก็ถือเป็นโอกาสที่ทำให้คนรู้จัก กสม. ก็ต้องทำให้เขารู้สึกว่าพึ่งได้

ในกระบวนการยุติธรรมเราก็ทำ กรณีไหนที่ฟ้องได้ก็ฟ้อง อันไหนที่ไกล่เกลี่ยให้อยู่ร่วมกันได้ก็ทำ ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของกฎหมาย ด้วยโครงสร้างหลักการปารีสในเรื่องกระบวนการสรรหาที่ทำให้เขาเห็นว่า กสม. มีความชอบธรรม ในช่วงการปฏิวัติตอนนั้นคนก็โจมตี กสม. แต่ด้วยกฎหมาย พ.ร.ป. กสม. มันยังคาอยู่ ยังไม่ได้ยกเลิก เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วการอยู่ต่อแทนที่จะลาออกจึงถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เหมือนอยู่เพื่อประชด คณะปฏิวัติก็ให้ กสม. ทำงานต่อไปจนกว่าจะมีชุดใหม่เข้ามา ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายใดๆ ทั้งสิ้น พวกเราก็ทำงานเต็มที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net