Skip to main content
sharethis
สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าบริษัทฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม เรียกร้องนายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามคำสั่งศาล หลังศาลออกคำบังให้นายจ้างปฏิบัติตามภายใน 15 วัน แต่ขณะนี้นายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า “บริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6” ตั้งอยู่ ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้เร่งให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานทั้ง 95 ราย รายละตั้งแต่ 27,000-99,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 3 จ.นครราชสีมา
       
หลังจากทางบริษัทได้เลิกจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม โดยการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการไปอยู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาทำให้แรงงานไม่สามารถย้ายตามไปทำงานได้ ทั้งบีบบังคับทางอ้อมให้แรงงานเซ็นเอกสารสมัครใจลาออกจากงานเองเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งมีแรงงานกว่า 140 รายที่จำใจยอมเซ็นลาออกและรับเงินช่วยเหลือตามที่ทางบริษัทเสนอให้เพียงคนละ 10,000 บาท แต่มีแรงงานอีก 95 คนที่มองว่าการเลิกจ้างไม่มีความเป็นธรรม จึงร่วมกันยื่นฟ้องร้องต่อศาลแรงงานภาค 3 ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 2559
       
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ศาลได้พิพากษาให้จำเลยหรือนายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานทั้ง 95 ราย แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ทางบริษัทยังเพิกเฉยไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานตามคำพิพากษาศาลแต่อย่างใด และในวันนี้ตัวแทนแรงงานยังได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้ากรณีขอรับเงินการว่างงานที่สำนักงานประกันสังคม จ.บุรีรัมย์ พร้อมนำคำพิพากษาศาล และเอกสารที่เกี่ยวข้องเข้ายื่นต่อเจ้าหน้าที่ด้วย เนื่องจากประกันสังคมยังไม่สามารถจ่ายเงินกรณีว่างงานให้แรงงานได้ จนกว่าทางนายจ้างจะเซ็นเปลี่ยนแปลงในเอกสารจากลาออกเป็นเลิกจ้าง จึงจะสามารถจ่ายเงินได้ 
 
นางมล นาคนวน หนึ่งในตัวแทนแรงงาน บอกว่าหลังถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมก็สร้างความเดือดร้อนให้แรงงานเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากทางบริษัทตามกฎหมายแล้ว หลายคนต้องตกงานเพราะอายุมากแล้ว เมื่อถูกเลิกจ้างจะไปสมัครทำงานที่อื่นไม่มีใครรับ ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้ตามสิทธิรู้สึกดีใจและมีความหวังขึ้นมาบ้าง แต่ทางนายจ้างกลับเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินตามคำพิพากษาศาล
       
นายบุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าหลังจากแรงงานถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและมีเจตนาไม่สุจริตตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 ก็ได้เข้ายื่นฟ้องร้องต่อศาลแรงงานภาค 3 จ.นครราชสีมา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย กระทั่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ หรือลูกจ้างตามสิทธิกรณีถูกเลิกจ้างทั้ง 95 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 6,808,000 บาท โดยศาลได้ออกคำบังคับเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 ให้นายจ้างปฏิบัติตามภายใน 15 วันนับแต่วันรับทราบบังคับ แต่ขณะนี้นายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งที่หลังปิดกิจการนายจ้างได้มีการทยอยขายเครื่องจักรในหลายๆ จังหวัดแต่กลับไปจดทะเบียนเปิดกิจการใหม่ ซึ่งถือเป็นการหลบเลี่ยงไม่จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย
       
ด้านนายประถม วิสุทธิพรปิติกุล นักวิชาการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากที่ทางบริษัทได้ประกาศย้ายสถานประกอบการ ทำให้แรงงานกว่า 200 คนได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถย้ายไปทำงานกับนายจ้างได้ ทางประกันสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ส่วนกรณีเงินว่างงานที่ยังไม่สามารถจ่ายได้นั้นเพราะยังติดปัญหาเรื่องเอกสาร เนื่องจากนายจ้างยังไม่เซ็นเปลี่ยนแปลงในเอกสารจากลาออกเป็นการเลิกจ้าง ซึ่งทางประกันสังคมจะได้ทำหนังสือแจ้งนายจ้างตามขั้นตอนเป็นเวลา 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 45 วัน แต่หากนายจ้างยังไม่มาทางสำนักงานประกันสังคมก็จะดำเนินการแจ้งความเอาผิดตามขั้นตอนต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net