นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความหวังไม่รู้ดับของไผ่ ดาวดิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไผ่ ดาวดิน / จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

 

ผมยอมรับว่า ตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ไม่มีครั้งไหนที่ผมรู้สึกสิ้นหวังกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองเท่ากับครั้งนี้ เมื่อได้ทราบคำพิพากษากรณีไผ่ ดาวดิน

ไผ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอิสระของตนเอง คนรุ่นใหม่เช่นนี้เป็นความหวังของทุกประเทศ เพราะพวกเขาคือพลังสำคัญที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนไปสู่สภาวะที่ดียิ่งขึ้น แต่ไผ่และที่จริงสังคมไทยโดยรวม กลับต้องสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์เมื่อเอาเขาหรือคนอย่างเขาไปจำขัง ทั้งนี้โดยความสมยอมของคนในระบบและความจำนนของคนนอกระบบ

ตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังเหลือช่องว่างแคบๆ เล็กๆ ที่เปิดให้ผู้คนซึ่งมองหาทางเลือกทางการเมืองที่ต่างจากที่ถูกยัดเยียดมาให้ ได้พอดิ้นรนขยับขยายผลักดันได้บ้าง แม้อย่างจำกัดจำเขี่ยเต็มทีก็ตาม พื้นที่เล็กๆ ตรงนี้ไม่เพียงแต่ต่ออายุให้แก่เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถขยายตัวออกไปได้ในระยะยาว

คำพิพากษากรณีไผ่ ทำให้ผมตระหนักว่า พื้นที่แคบๆ เล็กๆ ดังกล่าวนั้นไม่มีมากไปกว่ายุทธศาสตร์และยุทธวิธีของผู้มีอำนาจจะกำหนดขึ้น การมีอยู่ของพื้นที่นั้นไม่ใช่เพื่อเสรีภาพ แต่เพื่อการครอบงำโดยสมบูรณ์

ผมรู้ดีว่า ความสิ้นหวังต่ออนาคตของบ้านเมืองเช่นนี้เป็นอารมณ์ความรู้สึก ซ้ำเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเขาอยากจะเพาะให้เกิดในใจพวกเราให้มากด้วย เพราะมันทำให้พวกเขามีอำนาจที่ยั่งยืนมั่นคงกว่า ผมจึงรวบรวมสติปัญญาเพื่อมองหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรรักษาความหวังของเราไว้ แม้ในยามที่ไม่มีเหตุที่จะมองโลกในแง่อื่นได้ นอกจากในแง่ร้าย

อาจเพราะสนใจประวัติศาสตร์มาชั่วชีวิต จึงง่ายมากที่จะเตือนสติตนเองว่า ช่วงชีวิตของเรา ของเขา ของมัน ล้วนเป็นช่วงสั้นๆ แทบไม่กี่ลมหายใจก็หมดแล้ว สิ่งที่เราหวังจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเรื่องเวลาทางประวัติศาสตร์ ไม่เกิดในช่วงชีวิตเรา ก็ช่วงชีวิตลูก ไม่เกิดในช่วงชีวิตลูก ก็ช่วงชีวิตหลาน

โดยเฉพาะในโลกยุคใหม่และยุคปัจจุบัน เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้นอย่างมาก

ในช่วงทศวรรษ 2420 จะมีคนกรุงเทพฯ สักกี่คนคิดว่า ขุนนางซึ่งถืออำนาจในการบริหารและผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอันเป็นผลจากการบริหาร จะกลายเป็นข้ารับใช้พระเจ้าแผ่นดินอย่างไม่มีทางต่อรองได้เลย แต่อีกเพียง 20 ปีต่อมา ลูกหลานตระกูลขุนนางเก่าแก่ขนาดไหนก็ตาม ล้วนเป็นข้าราชการที่ได้รับพระราช­ทานเงินเดือนตามแต่ท่านจะกำหนดลงมา ไม่อาจมีปากมีเสียงใดๆ ได้อีกเลย

เช่นเดียวกับในทศวรรษ 2440 จะมีคนกรุงเทพฯ คนไหนคิดบ้างว่า พระราชอำนาจอันเปี่ยมล้นและไร้ขีดจำกัดของพระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสิ้นสุดลงในเวลาอีกเพียงไม่เกิน 35 ปีข้างหน้า

20 ปีและ 35 ปี จะว่านานก็นานในชีวิตคน แต่สั้นกระจิริดในประวัติศาสตร์ เวลาจึงอยู่ฝ่ายเราเสมอ

จากประวัติศาสตร์อีกเหมือนกัน เรานอนใจได้เลยว่า ไม่ว่าในระบอบปกครองใดๆ ก็ตาม ความเห็นชอบมีความสำคัญเสมอ ปัญหาอยู่ที่ว่า จะต้องเป็นความเห็นชอบของใครบ้าง

ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะมากล้นสักเพียงไร ย่อมต้องแสวงหาความเห็นชอบจากกลุ่มคนที่มีศักยภาพจะเป็นภัยต่ออำนาจของตนได้เสมอ การใช้กำลังเข่นฆ่าคนเหล่านี้ลงทั้งหมด นอกจากเป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเกิดผลร้ายแก่อำนาจของตนเองด้วย เช่นพ่อค้าใหญ่ๆ ทั้งหลายมีศักยภาพจะต่อต้านอำนาจของผู้ครองรัฐได้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่หากฆ่าหรือริบทรัพย์พ่อค้าใหญ่ทั้งหมดเสียแต่ต้น ก็ไม่มีใครนำโภคทรัพย์มาแก่ท้องพระคลังได้ดีไปกว่าคนกลุ่มนี้ จะต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าช่องทางหาเงินเข้าท้องพระคลังใหม่ๆ จะสัมฤทธิ์ผลเท่าช่องทางเดิม ผู้ครองอำนาจอาจตายเสียก่อนที่จะรวยล้นฟ้าก็ได้

ใครบ้างที่มีศักยภาพจะเป็นภัยต่ออำนาจของเผด็จการในเมืองไทยได้ คำตอบคือคนหน้าเดิมๆ ทั้งหลายที่ไม่เคยเสียส่วนแบ่งของอำนาจไปแต่อย่างใด ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบปกครองแบบไหน คนเหล่านี้ได้รับการเอาใจจากเผด็จการทหารอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่น่าสนใจกว่าคนหน้าเดิม คือคนหน้าใหม่ ซึ่งค่อยๆ มีศักยภาพมากขึ้นในระยะประมาณ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา นั่นคือสามัญชนหรือประชาชนธรรมดาทั่วไป

คนประเภทนี้มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ถึงแม้มีจำนวนมากเป็นมหาชน แต่ไม่มีศักยภาพจะเป็นภัยต่ออำนาจของชนชั้นปกครองได้ เพราะขาดเครือข่ายและการจัดตั้งอย่างที่ชนชั้นปกครองมี อีกทั้งไม่มีความจำเป็นจะต้องไปยุ่งเกี่ยวกับชนชั้นปกครองมากนัก เนื่อง­จากมีกลวิธีทางเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรมที่จะกันมิให้อำนาจของชนชั้นปกครองเข้ามาใกล้ชิดตัวจนเกินไป (เช่นหนีเข้าป่า)

แต่ภายใต้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ คนกลุ่มนี้ไม่อาจหลบอำนาจของชนชั้นปกครองได้อย่างแต่ก่อนแล้ว เกิดความจำเป็นต้องเข้ามาต่อรองอำนาจมากขึ้นตามลำดับ จนไม่นานมานี้เองก็กลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหลักของการตัดสินใจทางการเมือง

แม้ว่าในปัจจุบัน ประชาชนแตกร้าวกันทางการเมืองและสังคมอย่างหนัก กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งสนับสนุนการยึดอำนาจของกองทัพก็จริง แต่นั่นไม่น่าไว้วางใจแต่อย่างไร การที่มวลชนจำนวนมากที่ร่วมกับแกนนำพันธมิตรฯ และกปปส. สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองให้เกิดผลได้ด้วยตนเอง (ส่วนความจริงเบื้องหลังอาจไม่ใช่อย่างที่เขาคิด แต่ประสบการณ์ของแต่ละคนทำให้พวกเขาเชื่อว่าเป็นฝีมือของพวกเขาล้วนๆ) จะเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงไปชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งหมายถึงเส้นทางทางการเมืองที่คนกลุ่มนี้จะเลือกเดินไปชั่วลูกชั่วหลานเหมือนกัน ฉะนั้นตราบเท่าที่พวกเขายังไปกับเผด็จการได้ เผด็จการก็ปลอดภัย

แต่ที่ไปกันได้กับเผด็จการก็เพราะความแตกร้าวบาดหมางกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงอย่างเดียวกัน ไม่มีความแตกร้าวบาดหมางใดๆ ในโลกนี้ที่อาจดำรงอยู่ได้ชั่วนิรันดร์ สักวันหนึ่งรอยแผลของความบาดหมางก็จะเลือนลง ถึงตอนนั้นเผด็จการทหารก็จะเผชิญกับ"มวลมหาประชาชน" (ที่แท้จริง) ถึงวันนั้น อำนาจของอาวุธยุทธภัณฑ์และกำลังรบ จะไม่สามารถหยุดประเทศไทยให้นิ่งอยู่กับที่ได้อีกต่อไป ฝันร้ายส่วนหนึ่งของคนไทยย่อมจะบรรเทาลง

ผมไม่ได้หมายความว่า เส้นทางสู่ประชาธิปไตยจะกลับคืนมา บ้านเมืองของเรายังอาจต้องเผชิญเผด็จการในรูปแบบอื่นต่อไป แต่ต้องเป็นเผด็จการที่แสวงหาความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ มากกว่าแสวงหาการยอมจำนน

แรงกดดันจากภายนอกจะทำให้ฝันร้ายนี้ดำรงสืบเนื่องต่อไปยาวนานนักไม่ได้ ผมไม่ได้หมายความถึงแรงกดดันทางการเมืองจากมหาอำนาจ เมื่อสิ้นสงครามเย็น ประเทศไทยไม่มีความสำคัญมากพอที่มหาอำนาจใดจะแทรกแซงการเมืองภายในมากไปกว่าการแสดงท่าที หากจะมีบางส่วนในกองทัพก่อรัฐประหารซ้อนขึ้นวันใด เชื่อผมเถิดว่าอเมริกันไม่เกี่ยว, จีนไม่เกี่ยว และรัสเซียก็ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของการแย่งอำนาจกันในกลุ่มชนชั้นปกครองของไทยเอง

แต่ผมหมายถึงแรงกดดันจากความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี, ด้านความคิดอ่าน, ด้านวัฒนธรรม, ด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดในโลกกว้าง ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่า, รวดเร็วกว่า และแผ่ไพศาลกว่า ความเปลี่ยนแปลงสู่"ความทันสมัย"หรือความเป็นตะวันตกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เสียอีก ระบอบเผด็จการของไทยปัจจุบัน ถอยหลังไปไกลเกินกว่าจะอยู่ในโลกอย่างนั้นได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ระบอบนี้จะดำรงอยู่อย่างยืนนาน ไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศใดในโลก

ปัญหาสถาพรของระบอบอัตตาธิปไตยทุกชนิดในทุกสมัยก็คือ จะสืบทอดอำนาจโดยสงบได้อย่างไร แม้แต่ระบอบกษัตริย์ในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นระบอบอัตตาธิปไตยที่วางระเบียบแบบแผนของการสืบทอดอำนาจอย่างรัดกุมที่สุด ก็หนีการชิงราชสมบัติ, สงครามกลางเมือง, การจลาจล, การลอบสังหาร หรือสงครามระหว่างรัฐไม่พ้น เมื่อจำเป็นต้อง"ผลัดแผ่นดิน"

คงจำได้ว่า ถนอม-ประภาสจำเป็นต้องปล่อยวางอำนาจควบคุมกองทัพบกในพ.ศ.2515 ผลที่ตามมาคือ 14 ตุลาคม 2516

กล่าวโดยสรุปก็คือ ระบอบที่ทำให้คนไทยสิ้นหวังต่อบ้านเมืองของตนเองนี้ ไม่มีทางที่จะดำรงอยู่นานได้ แล้ววันใหม่ก็ต้องผุดขึ้นมาจนได้ จะเป็นเมื่อไรไม่ทราบได้ ในชั่วชีวิตของผมอาจไม่ได้เห็น แต่ในชั่วชีวิตของไผ่จะได้เห็นอย่างแน่นอน

เพียงแต่ว่า วันใหม่ที่มาถึงอาจไม่ตรงกับความหวังของเรานักก็ได้ (แต่ผมมั่นใจว่าดีกว่าวันนี้แน่) ไผ่ได้ใช้สติปัญญาและความกล้าหาญอย่างน่าสรรเสริญ ก็เพื่อทำให้วันใหม่ที่จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ใกล้เคียงกับความหวังของเรามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้แต่ที่เขาถูกจองจำอยู่ในวันนี้ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวันใหม่ให้ตรงกับที่พวกเราหวัง คือนับแต่นี้ ลูกหลานของพวกเราทุกคนจะไม่ถูกจำขังอย่างไผ่อีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท