Skip to main content
sharethis

“มันไม่ควรจะเกิดขึ้น และขอให้เคสนี้เป็นเคสสุดท้าย เพราะเราทุกคนนั้นเป็นมนุษย์ ที่ต้องการความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นราบหรือ ชนเผ่าใดๆ ก็ตาม” เสียงหนึ่งจากเยาวชนที่ร่วมงานสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับชัยภูมิ ป่าแส และบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ

“ฝันของเธอ เราจะร่วมกันสานต่อ...จงภูมิใจในตัวตน แม้จะไร้สัญชาติ”

“บิลลี่ หายไปไหน...”

“เด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการเรียนรู้ ส่งต่อและเผยแพร่ วิถีวัฒนธรรมได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติ”

ป้ายภาพของจะอุ๊ ชัยภูมิ ป่าแส กับภาพของบิลลี่  และข้อความนั้น ตั้งเด่นอยู่หน้าซุ้มกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ในงานสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทยและวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล เพื่อทบทวนปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุม 40 ปี อาคาร 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้เข้าร่วมงานสนใจและเข้ามาดูกันเป็นระยะๆ

กิจกรรมในวันนั้น เครือข่ายเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองฯ ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ม้ง ลาหู ดาระอั้ง กะเหรี่ยง เป็นต้น ทุกคนได้ร่วมกันวาดรูปบิลลี่และชัยภูมิลงในผืนผ้าดิบขนาดใหญ่และยาวหลายเมตร พร้อมกับวาดเส้นทางที่โค้งทอดยาว ระหว่างทางนั้น ทุกคนช่วยกันเขียนบันทึกเรื่องราวชีวิต ความจริง ความฝันของบิลลี่และชัยภูมิลงบนผืนผ้า

ในขณะเดียวกัน ทุกคนมองเห็น มึนอ ภรรยาของบิลลี่ นั่งนิ่งจ้องมองรูปวาดของน้องๆ เยาวชนชนเผ่าที่ร่วมกันวาดรูปของบิลลี่อยู่ตรงนั้นอย่างเงียบๆ

กิจกรรมครั้งนี้ มีการล้อมวงสนทนาแลกเปลี่ยนเพื่อสรุป 'บทเรียนจากกรณีบิลลี่และชัยภูมิ สู่การปกป้องนักสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย' ซึ่งจัดโดยเครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส และกองเลขานุการเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

และนี่คือส่วนหนึ่งของเสียงเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ที่ได้ร่วมพูดคุยกัน

“เรื่องราวของบิลลี่และชัยภูมิไม่ควรจะเกิดขึ้นแบบนี้กับคนทำงานจิตอาสา แต่กลับถูกละเมิด เพราะฉะนั้น เราจะต้องรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้อสิทธิ ต้องสร้างแกนนำ ที่สามารถเข้าเจรจาพูดคุยกับรัฐได้”

“เราจำเป็นต้องมีความรู้ทางกฎหมาย”

“อยากให้ภาครัฐมีกระบวนการยุติธรรมที่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง”

“มันไม่ควรจะเกิดขึ้น และขอให้เคสนี้เป็นเคสสุดท้าย เพราะเราทุกคนนั้นเป็นมนุษย์ ที่ต้องการความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นราบหรือชนเผ่าใดๆ ก็ตาม”

“อยากให้มีหน่วยงานนอกที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐเข้าไปทำคดีบิลลี่และคดีชัยภูมิ โดยต้องเป็นผู้ที่เข้าใจความเป็นชนเผ่าของเรา เพื่อให้ความเป็นธรรมและเป็นกลาง”

ในขณะที่ Prabindra Shakya ตัวแทนจากองค์กรชนพื้นเมืองในเอเชีย หรือ Asia Indigenous Peoples Pact (AIPP) ชาวเนปาล ได้นั่งล้อมวงกับเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ก็ได้บอกเล่าว่า ตนเองก็เป็นชนเผ่าพื้นเมืองชนเผ่าหนึ่งที่เนปาล และก็ไม่ได้รู้จักกับบิลลี่และชัยภูมิเป็นการส่วนตัว แต่สิ่งที่เราเจอและเผชิญอยู่นี้ก็คล้ายๆ กัน เพราะว่าบิลลี่และชัยภูมิ ทั้งสองคนต่างก็มีครอบครัว เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้นำในชุมชน โดยเฉพาะกรณีบิลลี่นั้น ตนเคยเจอบิลลี่ครั้งหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งถ้าหากย้อนเวลากลับไปได้ ก็อยากใช้เวลาพูดคุยกับบิลลี่ อยู่กับบิลลี่ให้นานมากกว่านี้

“ในฐานะที่ผมทำงานอยู่องค์กรชนพื้นเมืองในเอเชีย หรือ AIPP ก็ขอยืนยันว่าเราจะทำงานเพื่อสิทธิชนเผ่าของเราต่อไป อย่างกรณีบิลลี่ ตอนนี้เราก็ได้ทำข้อมูลเพื่อการค้นหาความจริงกันอยู่ เพราะฉะนั้น การที่เราจะสู้กับอำนาจ เราจะต้องร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่ายขยายกันไปออกไป” Prabindra Shakya กล่าวในตอนท้าย

ในขณะที่กลุ่มเครือข่ายเยาวชนกำลังวาดรูปบนแผ่นผ้าและล้อมวงคุยกันอยู่นั้น ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ เดินถือกล้องถ่ายรูปภายในซุ้มกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง เจ้าหน้าที่บางคน ยืนจ้องถ่ายรูปป้ายบิลลี่และชัยภูมิด้วยสีหน้าจริงจัง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งแอบกระซิบถามว่ามีแฟนบิลลี่มางานนี้ด้วยใช่ไหม พอบอกได้ไหมว่าคนไหน...ในขณะที่มึนอ ภรรยาของบิลลี่ ยืนอยู่ใกล้ๆ นั้นด้วยสีหน้าเรียบเฉย...

อังคณา นีละไพจิตร กรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็กล่าวถึงกรณีของบิลลี่และชัยภูมิว่า ที่ผ่านมา ตนเคยเข้าไปคุยกับนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่ารัฐบาลสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อมาดูกรณีของบิลลี่และกรณีจะอุ๊ ชัยภูมิ เราก็ยังพบว่ารัฐยังพยายามจะให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนไม่ดี ยกตัวอย่างกรณีของบิลลี่ เจ้าหน้าที่รัฐก็พยายามจะกล่าวหาว่าบิลลี่นั้นเป็นคนขโมยน้ำผึ้งจากป่า หรือกรณีจะอุ๊ ชัยภูมิ ก็มีความพยายามจะโยงให้เขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

“หรือแม้กระทั่งเรื่องการคุ้มครองสิทธิ การช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมที่ทำงานอยู่ ยกตัวอย่าง กรณีพี่ชายของชัยภูมิได้ยื่นขอการคุ้มครองสิทธิแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือกรณีบิลลี่ก็คุ้มครองเฉพาะในหมู่บ้านเท่านั้นเอง สรุป ทุกคนก็อยู่อย่างมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้น เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เลย ถ้ารัฐและเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่อดทน ไม่รับฟังเสียงประชาชน ขอให้เลิกหวาดระแวงชาวบ้านได้แล้ว และขอให้ปรับเรื่องทัศนคติไม่ดีกับพี่น้องชนเผ่ากันใหม่ ถ้าอยากร่วมกันแก้ปัญหา รัฐต้องไว้ใจประชาชน”

ในช่วงท้ายของกิจกรรม น้องๆ เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองฯ ได้ร่วมกันเดินถือป้ายผ้าที่ร่วมกันเขียนถึงบิลลี่ และชัยภูมิ เดินรณรงค์ไปรอบๆ พื้นที่การประชุมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับรู้เรื่องราวการนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ พร้อมกับน้องเครือข่ายเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองต่างก็ยืนยันที่จะร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ของบิลลี่และชัยภูมิกันต่อไป

แม้ว่าเหตุการณ์และเรื่องราวของพวกเขาทั้งสองคนนั้น ไม่ได้รับความคุ้มครองเหมือนกับที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในปฏิญญาสหประชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง เอาไว้เลยว่า...

“ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิที่จะได้รับความพึงพอใจอย่างเต็มที่ ในสิทธิมนุษยชนทั้งปวง และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในฐานะส่วนรวมและปัจเจกบุคคล ตามที่ได้รับรองไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

(ปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มาตรา 1)

“สิทธิต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับในปฏิญญานี้ ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการอยู่รอด ความมีศักดิ์ศรี และความเป็นอยู่ที่ดีของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก”

(ปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มาตรา 43)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net