สภาผู้แทนฯ เมียนมาร์ปัดข้อเสนอเร่งด่วนกรณีเหตุจู่โจมที่ยะไข่ ยอดตายนับร้อย พลัดถิ่นนับหมื่น

ความรุนแรงในรัฐยะไข่จากเหตุจู่โจมโดยกลุ่มมุสลิมโรฮิงญาหัวรุนแรงทวีความระอุหลังรัฐบาลตอบโต้ด้วยกำลังทหาร อัลจาซีราระบุ ประชาชนเสียชีวิตนับร้อย พลัดถิ่นอีกนับหมื่น ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรปัดข้อเสนอเร่งด่วนในกรณีการจู่โจม ผู้แทนจากพรรคแห่งชาติอารากันหนุนประกาศภาวะฉุกเฉินบนหนึ่งในพื้นที่ปะทะ อัดรัฐบาลพรรค NLD ไม่จริงจัง หนุนทหารขึ้นปกครองแทนพลเรือน
 
บังคลาเทศผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับ แม้จะถูกกระทำรุนแรงในเมียนมาร์ (ที่มา: แฟ้มภาพ)
 

สืบเนื่องจากคืนวันที่ 24 และเช้าวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมาในพม่า เกิดเหตุกลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวมุสลิมโจมตีจุดตรวจบริเวณชายแดน สถานีตำรวจและฐานทัพในเขตชุมชน  Maungdaw, Buthidaung และ Rathedaung บริเวณภาคเหนือของรัฐยะไข่ตามการรายงานของ พล.อ.อาวุโสและผู้บัญชาการทหารสูงสุด มินอ่องเหลง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตอย่างน้อย 10 นาย ผู้ที่คาดว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธเสียชีวิต 15 ราย และมีอาวุธปืน 5 กระบอกถูกผู้ก่อเหตุขโมยไป 

เมื่อวานนี้ (28 ส.ค.) สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่าง วินมิน ปัดข้อเสนอเร่งด่วนจากพรรคฝ่ายค้าน USDP (Union Solidarity and Development Party) ในประเด็นรัฐยะไข่

ลาธายวิน สมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรคยูเอสดีพี ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกองเสนาธิการทหารบก เรือ อากาศแห่งกองทัพพม่าพยายามผลักดันข้อเสนอให้ทางสภาล่างมีมาตรการประณาม “การกระทำอย่างทารุณเยี่ยงผู้ก่อการร้ายในเมือง Maungdaw ที่เป็นภัยกับอธิปไตยแห่งรัฐ หลักนิติธรรมและความมั่นคงในภูมิภาค” อองเตาก์ฉ่วย สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคแห่งชาติอารากัน หรือเอเอ็นพี ที่เป็นตัวแทนของเขตชุมชน Buthidaung หนึ่งในพื้นที่เกิดเหตุกล่าวกับอิระวดีว่าตนมีแผนที่จะสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว แต่ว่าประธานรัฐสภาไม่อนุญาตให้ข้อเสนอดังกล่าวเข้ารับการพิจารณา

อองเตาก์ฉ่วย แนะนำให้รัฐสภาประกาศภาวะฉุกเฉินบนพื้นที่เขตชุมชน Maungdaw ทั้งยังระบุเพิ่มว่าควรให้มีการปกครองโดยทหารแทนการปกครองโดยพลเรือน และรัฐบาลพรรค NLD หรือ National League for Democracy ไม่ได้จัดการกับความไร้เสถียรภาพในเมือง Maungdaw ได้ดีพอ “มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ภาวะฉุกเฉินและการปกครองโดยทหาร ไม่มีการปกครองโดยพลเรือนในตอนนี้เพราะว่ามันได้พังทลายลงไปพร้อมกับหลักนิติธรรม” อองเตาก์ฉ่วย กล่าว 

กองกำลังอารากันโรฮิงญาออกมาแสดงความรับผิดชอบ
ทหารตอบโต้เข้าจู่โจมชุมชน ยอดตายนับร้อย พลัดถิ่นนับหมื่น 

การโจมตีครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นถือเป็นการโจมตีจากกลุ่มมุสลิมชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การโจมตีจุดตรวจชายแดนเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2559 หลังการโจมตี กลุ่มกองกำลัง  Arakan Rohingya Salvation Army (ARSA) ออกมาแสดงความรับผิดชอบการโจมตีดังกล่าวโดยระบุว่า การโจมตีเป็นผลจากการปิดล้อมเส้นทางขนส่งอาหารและความรุนแรงจากทหารที่มีต่อชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง และจะสู่ต่อไปจนกว่าข้อตกลงด้านสิทธิพลเมืองที่ชาวโรฮิงญาเรียกร้องกับรัฐบาลพม่าจะได้รับการตอบรับ

การโจมตีเกิดขึ้นภายหลังคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ที่นำโดยอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน ส่งรายงานเสนอแนวทางแก้ไขความขัดแย้งในรัฐยะไข่ที่ให้คำแนะนำแก่ทางการพม่าให้ทหารออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเร่งให้เกิดแผนการสร้างพลเมืองโดยเร็ว

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในคืนวันพฤหัสบดีและเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลพม่าระบุให้กลุ่มกองกำลัง ARSA เป็นองค์กรผู้ก่อการร้ายไปแล้ว สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ รายงานว่าทหารได้ประกาศสงครามกับการก่อการร้ายโดยปิดล้อมเมือง Maungdaw Buthidaung และ Rathedaung ที่มีประชากรอาศัยอยู่รวมกันราว 8 แสนคนและประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่ 18.00 - 6.00 น. ทางการพม่าระบุว่ามีผู้เสียชีวิตหลังเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเช้าวันศุกร์กว่า 100 คนแล้ว ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนชาวโรฮิงญากลับบอกกับอัลจาซีราว่ามีชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมเสียชีวิตกว่า 800 คน ในจำนวนนี้ได้รวมไปถึงสตรีและเด็กด้วย 

อาซิซ ข่าน ผู้พำนักอยู่ในเขตชุมชน Maungdaw กล่าวว่าทหารเข้าจู่โจมหมู่บ้านในเช้าวันศุกร์และเริ่ม “ยิงบ้านและรถของผู้คนอย่างไม่เจาะจง”

“กองกำลังของรัฐบาลและตำรวจชายแดนฆ่าคนในหมู่บ้านไปอย่างน้อย 11 คน พวกเขามาถึงแล้วก็ยิงทุกอย่างที่เคลื่อนไหว ทหารบางคนได้ทำการวางเพลิงด้วย”

“ในหมู่คนที่ตายมีผู้หญิงและเด็ก” เขากล่าว “แม้แต่เด็กก็ไม่ได้รับการละเว้น”

ในขณะที่โรเนซาน-ลวิน นักกิจกรรมและบล็กเกอร์ชาวโรฮิงญาในยุโรปได้ข้อมูลจากเครือข่ายในพื้นที่ว่า การโจมตีดังกล่าวทำให้ประชาชนกว่า 5,000 - 10,000 คน ต้องพลัดถิ่นที่อยู่ มัสยิดและมาดราซาส หรือสถาบันศาสนาอิสลามถูกเผาทำลาย และมีชาวมุสลิมหลายหมื่นคนขาดแคลนอาหารและที่อยู่

เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี  2559 กลุ่ม “การเคลื่อนไหวแห่งศรัทธา” หรือ Harakah al-Yaqin ซึ่งเป็นชื่อเดิมของกลุ่ม ARSA ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการโจมตีจุดตรวจชายแดนและสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจไป 9 นาย หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ตำรวจและทหารตอบโต้ด้วยปฏิบัติการกวาดล้างในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ เป็นผลให้ชาวโรฮิงญาถึง 7 หมื่นคนต้องอพยพไปประเทศบังคลาเทศ ปฏิบัติการกวาดล้างดังกล่าวได้รับการกล่าวหาจากองค์กรสิทธิมนุษยชนจากต่างประเทศว่าเกิดการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การทรมานและการข่มขืน และท่ามกลางความรุนแรง รัฐบาลพม่ายังคงปฏิเสธให้วีซาเจ้าหน้าที่ค้นหาข้อเท็จจริงจากสหประชาชาติ

 
แปลและเรียบเรียงจาก
 
The Irrawady, Urgent Rakhine Proposal Blocked in Lower House, August 28, 2017
The Irrawady, Muslim Militants Stage Major Attack in Rakhine, August 25, 2017
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท