Skip to main content
sharethis

อุ้มคนหายเห็นปัญหา ยุติธรรมไม่มีจริงเพราะรัฐไม่จริงใจ เงินเยียวยาไม่ได้ทุกสิ่ง แต่ข้อเท็จจริงสำคัญ แจง สนช. ปัดร่างฯ ต้องแก้ 5 จุด แล้วประชาพิจารณ์ใหม่ สมชาย-อังคณาติง ยุ่งยาก ซับซ้อน ก.ม. อื่นผ่าน สนช. ไม่เห็นต้องซาวเสียง ปชช. ประยุทธ์สั่งตั้งหน่วยงานร้องทุกข์ทรมาน-อุ้มหายขัดตาทัพแล้ว อังคณาติงสัดส่วนกรรมการมีพลเรือนคนเดียว-ดีเอสไอคิดแคบ แนะแนวแก้ปัญหาอุ้มหายในไทย เผย เครื่องมือมาตรฐานสากลมีหมด เหลือแต่ความตั้งใจของไทย

เมื่อ 30 ส.ค. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล จัดงาน “วันผู้สูญหายสากล: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับความยุติธรรมที่หายไป” เนื่องในวันผู้สูญหายสากล ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กทม.

ในงานมีเวทีเสวนาสองเวที ได้แก่ “ปัญหาและความท้าทายในการสืบสวนสอบสวน: คนหายหรือบังคับสูญหาย” มีอรนุช ผลภิญโญ ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คิงส์ลีย แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ปรึกษาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และคณะกรรมการปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นวิทยากร และณัฐาศิริ เบิร์กแมน เป็นผู้ดำเนินรายการ

อีกเวทีหนึ่งมีชื่อว่า “คนหายมีทุกที่ กับข้อจำกัดของการฟ้องคดีโดยไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน” ร่วมเสวนาโดยอังคณา นีละไพจิตร กรรมการ กสม. และตัวแทนครอบครัวผู้สูญหาย สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นรีลักษ์ แพไชยภูมิ ผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พิณนภา พฤกษาพรรณ ตัวแทนครอบครัวผู้สูญหาย ดำเนินรายการโดยณัฐาศิริ เบิร์กแมน

อุ้มคนหายแต่เห็นปัญหา ความยุติธรรมไม่มีจริงเพราะรัฐไม่จริงใจ เงินเยียวยาไม่ได้ทุกสิ่ง ข้อเท็จจริงต่างหากสำคัญ

ซ้ายไปขวา พิณนภา พฤกษาพรรณ สมชาย หอมลออ อังคณา นีละไพจิตร นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ณัฐาศิริ เบิร์กแมน 

อังคณายอมรับว่าการบังคับสูญหายไม่ได้เกิดขึ้นโดยปรกติแต่เกิดขึ้นโดยรัฐและรัฐรู้เห็นเป็นใจ เมื่อ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ส่งหนังสือแจ้งว่างดการสอบสวนคดีสมชาย นีละไพจิตร หลังจากศาลฎีกาตัดสินยกฟ้องจำเลยที่เป็นตำรวจในคดีของสมชายทั้ง 5 คน และถามด้วยว่าในส่วนครอบครัว ประสงค์ให้สอบสวนเรื่องใด บุคคลใดเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าจะถามแบบนั้นก็ควรให้ครอบครัวเข้าไปเป็นพนักงานสอบสวนน่าจะง่ายกว่า การสูญหายจะส่งผลทางเศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อทางศาสนา เนื่องจากบุคคลที่สูยหายเป็นคนที่ทำให้ไม่รู้ที่อยู่ ไม่รู้ชะตากรรม ทำให้ญาติต้องประสบปัญหาอย่างมากในการที่จะดำเนินชีวิตต่อไป

การบังคับสูญหายได้ทำลายระบบนิติรัฐของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา คดีสมชายได้ทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เคยมีความจริงใจในการคลี่คลายคดีบังคับสูญหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าทีรัฐ จึงเห็นว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของกระบวนการยุติธรรมไทยในการหาข้อเท็จจริงและเยียวยาเหยื่อนอกเหนือจากการใช้เงิน สิ่งสำคัญที่เป็นอุปสรรคครอบครัวมาตลอดคือการไม่รู้ความจริง ถูกปิดบังข้อมูล ความพยายามที่จะทำลายหลักฐาน และสำคัญที่สุดคือการข่มขู่คุกคาม ในกระบวนการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม ความล้มเหลวในการผ่านกฎหมายและสร้างกลไกการปกป้องคุ้มครอง

คณะกรรมการ กสม. ชุดปัจจุบันกล่าวว่า ตนละอายใจแทนรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษและผู้มีหน้าที่ออกกฎหมายในการตรากฎหมายที่จะคุ้มครองพลเรือนทุกคน ตนยอมรับว่ามันเป็นความยากลำบากมากที่จะเข้าถึงความยุติธรรมในฐานะคนธรรมดาสามัญ ผู้ถูกบังคับสูญหายมักจะถูกทำให้กลายเป็นคนไม่ดี เป็นทนายโจร เป็นคนขโมยของป่า การทำให้หายไปจึงเหมาะสม ซึ่งเป็นมายาคติโดยรัฐที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

รัฐต้องพยายามแสดงความจริงใจให้มีซึ่งกฎหมาย จำเป็นที่จะต้องเร่งให้มีกฎหมายและให้สัตยาบันว่าด้วยการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ รวมทั้งสร้างความโปร่งใสในกระบวนการสืบสวน ยกระดับกฎหมายการต่อต้านทรมานและการสูญหายให้สอดคล้องกับสหประชาชาติ ในฐานะเหยื่อการบังคับสูญหายคดีแรกในประเทศไทยที่ถูกนำขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมที่สุดท้ายจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เรื่องราวสมชายได้บอกเล่าปัญหามากมายที่ถูกปกปิดในสังคมไทย ถ้าเรายังหลับหูหลับตามองไม่เห็นความทุกข์ยากของผู้ถูกบังคับสูญหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐเองก็จะขาดความชอบธรรมในที่สุด

“ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ผ่านมาที่ช่วยเหลือในการเยียวยาครอบครัวนีละไพจิตรและบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การชดใช้ด้วยเงินไม่ได้ฟื้นคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การเยียวยาที่ไม่ใช่ตัวเงินมีความหมายและความสำคัญมากกว่า ได้แก่การค้นหาความจริง การนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรการที่ทำให้มีหลักประกันว่าจะไม่มีผู้ใดที่ถูกบังคับให้สูญหายอีกต่อไป สำหรับดิฉันในวันนี้ มีความรู้สึกว่าความยุติธรรมที่รัฐบอกจะให้จริงๆแล้วมันไม่มีอยู่จริง เป็นแค่คำมั่นสัญญาลมๆแล้งๆ บอกว่าจะร่างกฎหมายแต่สุดท้ายก็ตีกลับ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนกระทำผิดมีความย่ามใจ และคิดว่าจะสามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ รวมถึงสามารถท้าทายอำนาจนิติรัฐของประเทศไทยได้” อังคณากล่าว ก่อนจะกล่าวให้กำลังใจญาติผู้ที่ถูกบังคับสูญหายทุกคน

แจง สนช. ปัดร่างฯ ต้องแก้ 5 จุด แล้วทำประชาพิจารณ์ใหม่ สมชาย-อังคณาติง ยุ่งยาก ซับซ้อน ก.ม. อื่นทำไมผ่าน สนช. ไม่ต้องซาวเสียงประชาชน

นรีลักษณ์กล่าวถึงประเด็นที่ พ.ร.บ. ต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายติดขัด ไม่ผ่านเสียทีนั้นมีปัญหาที่ติดขัดตรงการแก้ไขห้าประการ หนึ่งเรื่องคำนิยามการทรมาน ให้นิยามให้ชัดเจนว่าต่างจากการทรมานในกฎหมายอาญาปรกติอย่างไร สอง ฐานความผิดการทรมานและอุ้มหายให้กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ไม่ลอกมาจากอนุสัญญาทั้งหมด สาม ให้นำเนื้อหาเรื่องลักษณะยกเว้นการใช้กฎหมายเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออก เพราะไม่มีกฎหมายใดในไทยที่จะอนุญาตให้กระทำการทรมานและอุ้มหายได้อยู่แล้ว สี่ ให้นำหลักการห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปยังต้นทางหากผู้ลี้ภัยมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย เพราะไทยปฏิบัติเป็นจารีตระหว่างประเทศอยู่แล้ว คือห้ามส่งคนที่เสี่ยงภัยกลับไป ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ และห้า เรื่องขอบเขตของศาล ที่ให้อำนาจการไต่สวนอยู่ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยทาง สนช. แย้งมาว่าศาลดังกล่าวไม่ได้ถูกออกแบบให้พิจารณาคดีเช่นนั้น ในการผลักดันกฎหมายก็พบว่ายากลำบาก เพราะว่านอกจากจะแก้ไขทบทวน 5 ประเด็นและต้องทำประชาพิจารณ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ก่อนนำเสนอเข้าไปใหม่ แต่ไม่ต้องนำเสนอตั้งแต่แรกใหม่ ให้นำเสนอไปที่วิป สนช. เลย

อังคณากล่าวในประเด็นเรื่องการผ่าน พ.ร.บ. ที่มีการให้ทำประชาพิจารณ์ตามมาตรา 77 แต่ที่ผ่านมา สนช. ผ่านกฎหมายไปหลายฉบับมากโดยไม่ได้อ้างกฎหมายมาตรา 77 เลย แต่ทำไม พ.ร.ฐ. ต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายถึงต้องกลับมารับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่ไทยให้สัตยาบันมาก็มีฟังประชาพิจารณ์มานับครั้งไม่ถ้วน พูดจนเบื่อแล้ว แต่ สนช. กลับให้ไปรับฟังความเห็นอีก ส่วนหลักการไม่ส่งกลับที่ได้รับการแนะนำว่าไม่ต้องใส่ไปนั้นตนคิดว่าควรใส่ เพราะว่าแม้ทางการไทยจะระบุว่าปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวเป็นจารีตระหว่างประเทศอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีกรณีการส่งกลับเกิดขึ้นเช่นกรณีการส่งชาวอุยกูร์กลับไปให้ทางการจีนเมื่อปี 2558

สมชายสงสัยการที่ สนช. ส่งร่าง พ.ร.บ. กลับไปให้ให้กระทรวงยุติธรรม ว่าเป็นความต้องการยื้อไม่ให้ร่างฯ ผ่าน เพราะถ้าต้องการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ก็มีการพิจารณาเป็นวาระ โดยเฉพาะในวาระสองที่ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณากฎหมายซึ่งสามารถแก้ไขตรงนั้นได้อยู่แล้ว ถ้าอยากฟังเสียงจากประชาชนก็สามารถเรียกมาฟังได้อยู่แล้ว และอาจจะมีประเด็นอื่นแอบแฝง เช่นกรณีข้อวิพากษ์วิจาณณ์มาตราที่กล่าวถึงการรับผิดของผู้บังคับบัญชา ซึ่งเจ้าหน้าที่หลายคนที่ไปนั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็อาจไม่สบายใจในส่วนนี้

ประยุทธ์สั่งตั้งหน่วยงานร้องทุกข์ทรมาน-อุ้มหายขัดตาทัพแล้ว อังคณาติงสัดส่วนกรรมการมีพลเรือนคนเดียว-ดีเอสไอคิดแคบ

นรีลักษณ์กล่าวว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมจัดตั้ง “คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ” ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีหมายเลข 131/2560 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 ปัจจุบันประชุมไปแล้วหนึ่งครั้ง ผลประชุมเห็นว่าให้ตั้งอนุกรรมการอีก 3 ชุด ได้แก่ อนุกรรมการติดตามตรวจสอบ มีอธิบดีของดีเอสไอเป็นประธาน อนุกรรมการเยียวยา มีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน และอนุกรรมการด้านการป้องกันการทรมานและการอุ้มหายก็จะมี ศ.ณรงค์ ใจหาญเป็นประธาน ทั้งสามอนุกรรมการได้รับเซ็นอนุมัติจาก รมว. กระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมาแต่ยังไม่มีการประชุมกัน ตอนนี้ก็มีแผนว่าจะประชุมครั้งแรกภายในเดือน ก.ย. ถ้าหากมีการประชุมก็ต้องมีการออกแบบการทำงานว่าถ้ามีการทรมาน อุ้มหายจะยื่นผ่านทางไหน ต้องทำอย่างไร ล่าสุดเมื่อวานไปประชุมกับอธิบดีดีเอสไอเพื่อออกแบบการทำงาน ก็ได้รับแจ้งให้ทำหนังสือทุกหน่วยงานให้รวบรวมคดีการทรมานและการอุ้มหายตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เพื่อนำมาพิจารณาในการประชุมนัดแรก แต่ถ้ามีคดีที่เกิดก่อนปี 2550 และคั่งค้างอยู่ก็สามารถส่งมาได้

อังคณากังวลองค์ประกอบคณะกรรมการที่ยังไม่มีความหลากหลายเพียงพอ ตนได้เห็นรายชื่อแล้วว่าส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการพลเรือนมีอยู่คนเดียว การขาดองค์ประกอบที่หลากหลายโดยเฉพาะผู้มีประสบการณ์ ควรเพิ่มคนเหล่านี้เข้าไปเพื่อให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์กับการทำงานได้มากขึ้น ต่อกรณีการให้ดีเอสไอเป็นผู้สืบสวนก็พบว่าดีเอสไอมีปัญหาเรื่องข้อจำกัดทางความคิดมากๆ หลายครั้งที่เหยื่อต้องเผชิญการผลักภาระให้เหยื่อต้องดำเนินการเอง

ต่อคำถามเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของคณะกรรมการร้องทุกข์ในร่างกฎหมายใหม่ที่จะเข้าวิป สนช. แล้วถ้ากฎหมายไม่ผ่านเสียที บทบาทคณะกรรมการจะเป็นแบบไหน จะใช้กฎหมายใดดำเนินการ นรีลักษ์ตอบว่า คณะกรรมการดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์ของนายก เป็นกลไกระหว่างที่ไม่มีกฎหมาย หากยังไม่มีผล ก็ต้องอิงอยู่กับกฎหมายอาญาปรกติ แต่สามารถทำได้เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ถ้ากฎหมายผ่านแล้วจะอยู่ตรงไหนก็ต้องดูต่อไป แต่ในร่าง พ.ร.บ. จะมีอีกองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกัน ในแต่ถ้ากลไกที่มีอยู่สามารถใช้งานได้จริงก็อาจจะบรรจุเอาไว้ในร่างที่จะเข้า สนช.

ต่อกรณีการหายตัวไปของวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณหรือ “โกตี๋” นรีลักษ์ระบุว่าสามารถมายื่นเรื่องได้ และจะมีอนุกรรมการติดตาม ก็จะมีการสืบหาข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่โดยดีเอสไอว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ ต้องมีการสืบสวนต่อไป ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ก็จะไปเข้าช่องทางการช่วยเหลือเยียวยา การจัดการ

อังคณาเสริมในประเด็นโกตี๋ว่า ตนไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจนอกเหนืออาณาเขตประเทศหรือไม่ประการแรก ต้องดูว่าเป็นการทำให้สูญหายโดยรัฐหรือเปล่า ประการสอง ถ้าภาพศพโกตี๋ที่ส่งกันในไลน์เป็นจริงก็แปลว่าไม่ใช่บุคคลถูกบังคับสูญหาย แต่เป็นการฆาตกรรม รัฐก็ต้องทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการคุ้มครองคนไทยในต่างแดน ต้องประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านในการดำเนินคดีนี้

แนะแนวทางแก้ปัญหาอุ้มหายในไทย เผย เครื่องมือมาตรฐานสากลมีหมด เหลือแต่ความตั้งใจของไทย

ซ้ายไปขวา: อรนุช ผลภิญโญ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ พรทิพย์ โรจนสุนันท์ คิงส์ลีย์ แอ๊บบอต ณัฐาศิริ เบิร์กแมน

คิงส์ลีย์มีข้อแนะนำในกรณีของประเทศไทยอยู่สามประการ หนึ่ง ให้ความสำคัญกับการผ่านและบังคับใช้กฎหมายการทำให้การซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายที่ค้างคามานานแล้ว และตัวร่างจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชน สอง ต้องมีการสืบสวนคดีการบังคับสูญหายที่โดดเด่นในประเทศไทยอย่างยุติธรรม มีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ สาม ให้สัตยาบันกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการบังคับสูญหาย

ที่ปรึกษาอาวุโสจากไอซีเจได้จำแนกการบังคับสูญหายกับการเป็นบุคคลสูญหาย โดยการบังคับสูญหายมีนิยามที่จำเพาะในอนุสัญญามีองประกอบสองอย่าง หนึ่ง ลักพาตัว ลิดรอนเสรีภาพอันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธว่าไม่มีคนๆ นั้นอยู่ในการควบคุม นอกจากนั้น การบังคับสูญหายยังเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงและมีผลต่อเนื่องจนกว่าจะรู้ว่าคนที่หายไปมีชะตากรรมอย่างไร อยู่ที่ไหน แต่กรณีคนหายเริ่มต้นจากการที่คนรอบตัวผู้ที่หายไปไม่รู้ว่าบุคคลดังกล่าวหายไปไหนซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุ เป็นเหยื่ออาชญากรรม หรืออาจจะเป็นเจตจำนงของเจ้าตัวว่าอยากหายตัวไป อย่างไรก็ดี หน้าที่ของการระบุว่ากรณีใดคือการบังคับสูญหายนั้นไม่ใช่อะไรที่พวกเราจะมาระบุ แต่ต้องเป็นรัฐที่จะต้องระบุผ่านการสืบสวนที่ดี และตรงกับมาตรฐานของอนุสัญญาฯ

ว่าด้วยการสืบสวนที่ดี คิงส์ลีย์ระบุว่าจะต้องเป็นการสอบสวนที่ต้องตามข้อบังคับด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) หรืออนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายที่ไทยเป็นภาคี และการสืบสวนจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รอบคอบ อิสระ ยุติธรรม และที่สำคัญจะต้องมีความโปร่งใส ญาติจะต้องรู้ว่ากระบวนการสอบสวนไปถึงไหนแล้ว

ทั้งนี้ ถ้ารัฐสงสัยว่าจะทำได้อย่างไรก็มีคู่มืออยู่ตามที่ระบุในพิธีสารมินเนสโซตา ปี 2560 ว่าด้วยการสอบสวนการฆ่านอกกฎหมาย ซึ่งรวมไปถึงการบังคับสูญหายด้วย โดยมีรายละเอียดแนวทางปฏิบัติสากลว่าด้วยการสืบสวนในพื้นที่เกิดเหตุ การสอบปากคำ การขุดค้นหลุมศพ การตรวจสอบซากกระดูกที่ยังหลงเหลือ ซึ่งเขียนขึ้นโดยตำรวจ ผู้สืบสวน เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนจากศาลอาญาระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น เครื่องไม้เครื่องมือที่ไทยต้องการนั้นมีหมดแล้ว จะเหลือก็แต่ความมุ่งมั่นในทางการเมืองว่าจะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับมาตรฐานสากลหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net