การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเนติวิทย์ไม่เคารพเสรีภาพคนอื่น?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อ่านสำเนาคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4928/2560 เรื่อง ตัดคะแนนความประพฤติ ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2560 สรุปประเด็นสำคัญได้ว่า

1. พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรี ร.5 และ ร.6 ของนิสิตใหม่ ชั้นปีที่ 1 นั้น “เพื่อแสดงเข้าตนเป็นนิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

2. มีการจัดพื้นที่พิเศษสำหรับนิสิตที่ไม่สะดวกจะถวายบังคม อันเนื่องจากศาสนา สุขภาพร่างกาย ความเชื่อ หรือทัศนคติอันเป็นเสรีภาพของบุคคล (มีนักศึกษา 3 คนใช้พื้นพิเศษที่นี้)

3. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลและเพื่อนรวม 8 คน ไม่ได้ใช้พื้นที่พิเศษดังกล่าว แต่ได้นัดหมายกันเดินออกมาโค้งคำนับถวายความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่าพิธียังดำเนินไปยังไม่เสร็จสิ้นลง

4. จากข้อเท็จจริงต่างๆ ย่อมทำให้เห็นได้ว่านิสิตทั้ง 8 คน ได้มีการวางแผนและนัดหมายที่จะไม่ไปใช้พื้นที่พิเศษที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ให้ แต่จะกระทำการบางประการอันเป็นการแตกต่างจากประเพณีและขนบธรรมเนียมปฏิบัติปกติของมหาวิทยาลัย เพื่อให้กระทบต่อพิธีการฯ

5. นิสิตได้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างให้เรื่องราวซึ่งดูเสมือนขัดแย้งนี้เป็นประเด็นในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และสะท้อนถึงการไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างจากตน โดยเฉพาะประชาคมทั้งนิสิต บุคลากร และนิสิตเก่าอื่นๆ ที่ให้คุณค่าและมีศรัทธาต่อพิธีการฯ จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่เรียบร้อย ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย จึงผิดวินัยนิสิต ถูกลงโทษตามระเบียบมหาวิทยาลัยด้วยการตัดคะแนนความประพฤติคนละ 25 คะแนน

การลงโทษตามคำสั่งดังกล่าวเป็นเหตุให้เนติวิทย์ถูกปลดจากตำแหน่งประธานสภานิสิต และเพื่อนอีก 4 คน ถูกปลดจากตำแหน่งกรรมการสภานิสิต

ถามว่า การแสดงออกของเนติวิทย์และเพื่อนๆ ตามที่คำสั่งฉบับนี้อธิบาย เป็นการแสดงออกที่ถูกหลัก “เสรีภาพในการแสดงออก” (freedom of expression) หรือไม่?

เป็นที่ทราบกันว่า การแสดงออกของเนติวิทย์และเพื่อนๆ มีจุดประสงค์เพื่อสื่อคำถามต่อประชาคมจุฬาฯ และสังคมไทยว่า “ทั้งๆ ที่ ร.5 ให้เลิกพิธีหมอบคลานกราบไว้ไปแล้ว เหตุใดจุฬาฯ จึงยังมีพิธีการเช่นนี้อยู่” และแสนอว่า “ควรยืนคำนับถวายเคารพซึ่งเป็นการบ่งถึงความเท่าเทียมมากกว่า” การแสดงออกที่เป็นการ “สื่อสารต่อสาธารณะ” เช่นนี้ จึงถือเป็น “การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์” ที่โดยทั่วไปแล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 19 ที่ว่า

“ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน”

แล้วเสรีภาพในการแสดงออกควรถูกระงับภายใน “ขอบเขต” แค่ไหน? คำตอบตามทัศนะนักปรัชญาเสรีนิยมอย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์คือ ภายในขอบเขตที่ไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่น และ/หรือไม่ก่ออันตรายทางกายภาพแก่คนอื่น ในกรณีนี้ไม่ปรากฏว่าเนติวิทย์และเพื่อนๆ ได้กีดกันเสรีภาพในการประกอบพิธีของคนอื่น หรือทำการใดๆ ที่เป็นการขัดขวางไม่ให้พิธีดำเนินไปได้ จึงไม่ใช่การไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างจากตน

ส่วนประเด็นที่ว่าการแสดงออกดังกล่าว “นำไปสู่เหตุการณ์ความไม่เรียบร้อย ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย” คืออะไร คือการเกิดเหตุการณ์ที่อาจารย์ล็อคคอนิสิตจนเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ ใช่หรือไม่ หากใช่ ความเสื่อมเสียนี้ควรจะเป็นความรับผิดชอบของนิสิตหรืออาจารย์ท่านนั้น?

ปัญหาที่ละเอียดอ่อนและยากมากคือ จะประเมินอย่างไรว่านิสิตได้กระทำการที่ส่งผลให้เกิด “ความเสื่อมเสีย”(?) ต่อมหาวิทยาลัย เพราะหากประเมินจากที่ปรากฏทางสื่อต่างๆ ก็มีคนจำนวนมากทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนิสิต ซึ่งความเห็นด้วยหรือเห็นต่างย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา

โดยเฉพาะ “หลักฐานเชิงประจักษ์และเป็นทางการ” นั้นได้มีนักวิชาการไทยกว่าร้อยคนลงชื่อแถลงการณ์ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนิสิต มีนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของโลกอย่างนอม ชอมสกี้ ส่งข้อความให้กำลังใจเนติวิทย์ทางอีเมล์ เป็นต้น ปรากฏการณ์เช่นนี้จะอธิบายว่าก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อจุฬาฯ อย่างไร

ยิ่งเมื่อพิจารณาที่ตัว “คำถาม” และ “ข้อเสนอ” ที่สื่อออกมาจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนิสิตนั้น จริงๆ แล้วมีเนื้อหาในทางทำให้จุฬาฯ เสื่อมเสีย หรือทำให้จุฬาฯ มีความเป็นอารยะในทางส่งเสริมเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และประชาธิปไตยมากขึ้นกันแน่

เป็นความจริงว่า เสรีภาพไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับใช้เป็น “ใบเบิกทาง” ที่จะทำอะไรก็ได้ เพราะสังคมอารยะที่มีความเป็นประชาธิปไตย ย่อมไม่อาจยอมรับการที่ใครก็ตามตระโกนแบบเด็กเลี้ยงแกะว่า “ไฟไหม้” ในโรงภาพยนตร์หรือสถานที่ที่มีคนแออัดที่คนอาจแตกตื่นวิ่งเยียบกันตายได้ หรือทำอะไรอย่างไม่คำนึงถึงกาลเทศะ เช่น รณรงค์ต่อต้านการเกณฑ์ทหารในยามที่บ้านเมืองเกิดสงคราม (ในสภาพบ้านเมืองปกติการคัดค้านการเกณฑ์ทหารย่อมแสดงออกได้อย่างชอบธรรมตามหลักเสรีภาพ) แต่การจำกัดเสรีภาพในกรณีตัวอย่างนี้ ก็เพราะมันก่ออันตรายแก่คนอื่น และเป็นการผิดกาลเทศะที่เห็นได้ว่าจะส่งผลเสียต่อสังคมชัดเจน เช่นเดียวกันเราไม่มีเสรีภาพจะใส่ร้ายป้ายสีให้คนอื่นเสียหายอย่างไรก็ได้ ไม่มีเสรีภาพจะปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพแก่คนอื่น หรือเปิดเผยข้อมูลลับบางอย่างของรัฐที่ส่งผลเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัย เป็นต้น

แต่การแสดงออกใดๆ ที่เพียงแต่ผิดแผกไปจากขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ หรือศรัทธาของคนส่วนใหญ่ หรือการแสดงออกที่ก่อให้เกิดความความขัดเคืองใจต่อคนที่คิดต่าง ย่อมไม่ใช่การไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพคนอื่นดังที่มักกล่าวหากัน และคนส่วนใหญ่ย่อมไม่มีสิทธิ์แทรกแซงหรือขัดขวางเสรีภาพของใครก็ตามที่เลือกจะแสดงออกแตกต่างจากคนอื่น

พูดตรงๆ คือแม้เราจะชิงชังสิ่งที่เขาแสดงออกที่เป็นการสื่อสารต่อสาธารณะอย่างไร เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปแทรกแซงหรือระงับยับยั้งเสรีภาพในการแสดงออกของเขา

ฉะนั้น คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ระหว่างการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติของนิสิต กับการระงับการแสดงออกของนิสิตโดยอาจารย์ท่านนั้น และการลงโทษของมหาวิทยาลัย อะไรคือสิ่งที่อธิบายด้วยเหตุผลได้ว่าเป็นการ “ไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างจากตน” และอะไร “ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย” มากกว่า หากใช้มาตรฐานสังคมอารยะที่ยึดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยมาตัดสิน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท