เปิดใจแม่ผู้ต้องหาคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว 'คาร์บอม' ปีที่แล้ว

แม่ผู้ต้องหาคดีกวาดจับหน้ารามฯ เผยลูกถูกซ้อมให้สารภาพ ซ้ำแยกทางสามีหลังลูกติดคุก เผยหากเคลียร์เรื่องลูกไม่ได้จะไม่กลับอยู่ด้วยกัน ขอความเมตตากองทุนยุติธรรม หวังประกันลูกมาช่วยทำงาน  วอนรัฐอย่าใส่ร้าย โปรดให้ยุติธรรม

แฟ้มภาพ

จากเหตุการณ์จับกุมนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม.รามฯ ไปกว่า 40 คน ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2559 เป็นต้นมา ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างเหตุสงสัยว่าคนเหล่านี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการก่อวินาศกรรมคาร์บอมบ์ในช่วงที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.2559 ซึ่งช่วงเวลานั้นตรงกับโอกาสครบรอบ 12 ปี การสลายการชุมนุมที่ตากใบด้วย แต่จากข่าวที่ปรากฏยังไม่พบของกลางเป็นวัตถุระเบิดตามคำฟ้อง มีเพียงกล่องลังที่ใส่น้ำบูดูเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากห้องพัก

อุสมาน กาเด็งหะยี เป็นหนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวพร้อมนักศึกษาและชาวมุสลิมชายแดนใต้ ที่ห้องพัก ซ.รามคำแหง 53/1 ย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งขณะที่เขาและจำเลยทั้ง 13 ยังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร สำหรับ อุสมาน เดิมเป็นชาว อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ช่วงที่ถูกจับกุมเขากำลังศึกษาอยู่ที่สถาบันการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขณะเดียวกันเขาก็ทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว ส่วนหนึ่งก็เพื่อส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือให้จบตามความคาดหวังของแม่ที่ต้องการให้ลูกมีวุฒิการศึกษาติดตัวไว้  

ก่อนที่จะครบ 1 ปี ของการจองจำ ประชาไท ได้มีโอกาส สัมภาษณ์ ฮานีละห์ ดือรามะ (กาเด็งหะยี) วัย 44 ปี มารดาของอุสมาน ที่ปัจจุบันต้องแบกรับภาระคนเดียวในบ้านขณะนี้ พร้อมเปิดเผยถึงผลกระทบของตนเองหลังจากที่ลูกชายคนโตถูกจับกุมไปด้วยข้อหาที่เธอเชื่อว่าเป็นการใส่ร้ายเพื่อกลบกระแสข่าวทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว  (อ่านต่อ

ภาพขณะญาติและครอบครัวของจำเลย 9 คน ในคดีนี้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเอกสารคำร้องขอรับความช่วยเหลือกู้เงินประกันตัวจำนวน 1,000,000 บาท เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา

ลูกถูกซ้อมให้สารภาพ ช่วงสอบสวนยังไร้ทนาย

“ลูกของแม่ถูกจับไปโดยไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน ตอนที่ลูกแม่ถูกสอบสวนก็โดนซ้อมเพื่อให้รับสารภาพด้วย อีกทั้งยังไม่มีทนายความที่เราไว้ใจร่วมสอบสวนด้วย ความจริงตำรวจจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเขายังไม่ใช่ผู้ต้องหา เขาเป็นเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย” ฮานีละห์ เปิดเผย

เคยยื่นขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาติ

ก่อนหน้านี้ฮานีละห์ เคยยื่นเอกสารคำร้องขอรับความช่วยเหลือกู้เงินประกันตัวจากสำนักงานกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ด้วยเงินที่สูงถึง 1,000,000 บ. เพื่อขอยื่นประกันตัวอุสมานผู้เป็นลูก แต่ปรากฏว่าศาลไม่อนุมัติให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว เธอเปิดเผยว่า อุสมานมีโรคเกี่ยวกับสมอง ต้องพบแพทย์เป็นประจำ เคยส่งคำร้องขอประกันตัวชั่วคราวแต่ศาลไม่อนุญาต โดยระบุในคำร้องว่า “พิเคราะห์แล้ว ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง หากปล่อยชั่วคราวอาจเกิดความเสียหายแก่รูปคดี อีกทั้งจำเลยที่ 4 อาจหลบหนี จึงยังไม่มีเหตุสมควรปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างที่พิจารณา ให้ยกคำร้องคืนหลักประกัน”

ล่าสุด ฮานีละห์ ได้รับหนังสือจากกองทุนยุติธรรมฯ อีกครั้ง โดยในหนังสือนั้นระบุว่า “การขอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวของนายอุสมาน กาเด็งหะยี จำเลยที่ 4 ต่อศาลอาญานั้น กองทุนยุติธรรมฯ ได้พิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือเงินกองทุนยุติธรรมของท่านแล้ว เห็นว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ถูกจับกุม และดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันเป็นอังยี่ ร่วมกันซ่องโจร มีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองอย่างผิดกฎหมาย ถือเป็นคดีร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ จึงไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรมตามคำขอของท่าน”

ฮานีละห์ ตั้งข้อสงสัยด้วยว่า เหตุใดอับดุลบาซิ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ถึงได้รับการอนุมัติ จึงอยากรู้เพียงว่า เมื่อเทียบกับบุตรของตน แล้วมีเหตุผลต่างกันตรงไหนในเมื่อเป็นคดีเดียวกันและถูกจับมาพร้อมกัน

ขอความเมตตากองทุนยุติธรรม หวังลูกออกมาช่วยทำมาหากิน

“ถ้าลูกของแม่ได้รับการประกันตัวออกมา อย่างน้อยเขาก็จะได้ออกมาช่วยแม่ทำงานเพื่อหาเงินสู้คดี เพราะตอนนี้แม่มีภาระหลายอย่างที่ต้องดูแล ที่ผ่านมาก็มีอุสมาน ซึ่งเป็นลูกชายคนโตนี่แหละคอยทำงานช่วยเหลือส่งเสียน้องๆ เรียนหนังสืออีก 2 คน และพ่อที่ป่วยด้วยโรคหัวใจอีก 1 คน” ฮานีละห์ กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า หากตอนนี้ตนอยู่ต่อหน้ากระทรวงยุติธรรม อยากขอวอน ขอความเมตตา เพราะถ้าได้รับเงินจากกองทุนยุติธรรมฯ เพื่อประกันตัวอุสมานแล้ว ตนก็จะได้รับโอกาสหลายๆ อย่าง อุสมานก็จะได้ช่วยทำงาน ตนก็จะได้ไม่ต้องแบกภาระในส่วนของอุสมานที่ตอนนี้ต้องส่งไปให้เขาเดือนละ 1,500-2,000 บาททุกๆ เดือน

“น้องๆ เขาก็จะได้เรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ จะได้ซื้ออุปกรณ์การเรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ ตอนนี้น้องเขาน่าสงสารมาก อยากเรียนพิเศษ อยากเรียนภาษาจีน อยากเรียนกีตาบศาสนา แต่แม่ไม่มีเงินส่งเสีย ล่าสุดแม่ก็ไปต่อรองกับเจ้าของสถาบันขอจ่ายวันละ 10 บาททุกวัน ทางเขาก็ตกลงเพราะเห็นใจครอบครัวแม่ แต่บางวันแม่ก็ไม่มีจ่าย ความจริงน้องชายอุสมานก็ออกจากโรงเรียนประจำแล้ว และย้ายมาเรียนโรงเรียนใกล้บ้านแทน” ฮานีละห์ เล่าถึงความยากลำบากเมื่อขาดลูกชายที่เป็นเหมือนเสาหลักของบ้านไป

ฮานีละห์ ยังคงคาดหวังให้ลูกตนเองออกมาให้เร็วที่สุดเพื่อมาช่วยเหลือตนเองทำงานเหมือนเดิม โดยเธอกล่าวว่า ถ้าอุสมานออกมาก็จะได้มาช่วยตนทำสวน ถางหญ้า เก็บขี้ยาง ตนก็จะได้มีเพื่อนช่วยทำมาหากิน ไม่ต้องไปทำงานคนเดียว เพราะระยะทางไปเก็บขี้ยางก็ไกลพอสมควร ตอนนี้ถ้าไปเองไม่ไหวก็ต้องจ้างเขาอีกที รายได้ที่ได้ก็น้อยอยู่แล้ว ถ้ามีอุสมานอยู่ด้วยก็จะได้ช่วยๆ กันทำมาหากิน แม่ก็จะได้เก็บเงินค่าจ้างคนอื่นมาใช้จ่ายในบ้านได้

ลูกส่ง จม. ถ้าต้องยืมก็หยุดส่งมา

ฮานีละห์เปิดเผยต่อว่า ก่อนหน้านี้อุสมานส่งจดหมายมาห้ามแม่ส่งเงินให้เขาอีก ซึ่งในจดหมายนั้นระบุว่า “ถ้าแม่ไม่มีเงิน แม่ไม่ต้องส่งมาก็ได้ อย่าให้ถึงกับต้องไปยืมเงินคนอื่นส่งให้เลย ผมยอมกินข้าวคุกดีกว่าให้แม่ไปยืมตังค์คืนอื่น”

เดือนหนึ่งได้ 4,000 โชคดีชาวบ้านช่วย

มารดาของอุสมาน เล่าถึงที่มาของรายได้และรายจ่ายของครอบครัวตอนนี้ว่า ตนรับจ้างทำทุกอย่างตั้งแต่กรีดยาง เลี้ยงเด็กเล็ก ปลูกกล้วย ถางหญ้า แต่เอาเข้าจริงก็ไม่พอใช้หรอก เพราะรายจ่ายมากกว่ารายได้ โชคดีมีพี่น้องช่วยเหลือ เดือนหนึ่งสองสามร้อยแล้วแต่เขาจะช่วย บางคนก็ให้ไปกรีดยางในสวนของเขาโดยไม่ขอส่วนแบ่ง ยกให้ตนใช้จ่ายไปเลย ส่วนพ่อของอุสมานเขาทำงานไม่ไหวแล้ว เหลือตนทำงานอยู่คนเดียว

“เดินทางไปเยี่ยมอุสมานที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ก็ต้องมีเงินติดกระเป๋ารวมๆ ประมาณ 8,000 บาท บางทีก็เกือบหมื่น ในขณะที่รายได้ของแม่เดือนหนึ่งได้เพียงแค่ 4,000 บาท แต่พอถึงเวลาก็มีพี่น้องมาให้ตามความสามารถดังที่กล่าวมา ชาวบ้านก็ช่วยน่ะ  ช่วยกันยื่นให้คนละ 20 บาท 50 บาท บางคนก็ 100 บาท แล้วแต่เขามี บางคนที่ไม่มีเงินให้จริงๆ ก็เอาขนมที่บ้านให้ไปฝากอุสมาน แม่รู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจเพื่อนบ้านมาก โลกนี้แม่คงชดใช้บุญคุณให้ไม่หมด นอกจากพระเจ้าเท่านั้นที่จะตอบแทนบุญคุณของทุกคนได้  ส่วนเงินที่ยืมเขามาก็ไม่ต้องพูดถึง ไปครั้งหนึ่ง 500-2,000 บาท รวมๆ ตอนนี้ในส่วนที่แม่ยืมเขามาก็ประมาณ 2 หมื่นกว่าบาทน่าจะได้” มารดาของอุสมาน กล่าว

แยกทางเพราะลูกติดคุก หากเคลียร์เรื่องลูกไม่ได้จะไม่กลับอยู่ด้วยกัน

มารดาของอุสมาน ยังกล่าวด้วยว่า รายได้ทั้งหมดตนต้องแบ่งกันใช้ถึง 4 ชีวิต น้องของอุสมาน 2 คน คนหนึ่งอยู่ชั้นมัธยมต้น (ม.1) อายุ 13 ปี ส่วนอีกคนอยู่อายุ 5 ขวบ แม้แต่อุสมานเอง ตนก็ต้องส่งไปทุกเดือนอยู่แล้ว ส่วนพ่อของเขาตอนนี้ตนแยกกันอยู่มาสักพักแล้ว หลังจากที่อุสมาถูกจับไป เพราะอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาไม่ได้ หากอยู่ด้วยกันก็เกรงจะเจอจุดจบที่ไม่ค่อยสวยงามเท่าไรนัก

“แม่เป็นห่วงพ่อ เขาเป็นโรคหัวใจ หลังๆ มานี้พ่อเขาเครียดบ่อย แต่ความจริงแม่ก็เครียดเหมือนกันน่ะ พออยู่ด้วยกันก็จะทะเลาะกันตลอด ร้อนมาเจอกับร้อนก็ยิ่งร้อนกันใหญ่ ก็เลยคุยกันตัดสินใจแยกกันอยู่โดยเราสัญญากันว่า หากอุสมานออกจากคุกเมื่อไร เราจะกลับมาอยู่ด้วยกันพร้อมพร้อมตาอีกครั้ง แต่หากยังเคลียร์เรื่องอุสมานไม่ได้ เราจะไม่กลับมาอยู่ด้วยกันเด็ดขาด แต่ตอนนี้พ่อเขามีญาติพี่น้องฝั่งพ่อเขาดูแลอยู่ ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าอยู่กับแม่” ฮานีละห์ ถอนหายใจหลังได้เปิดเผยถึงชีวิตครอบครัวของเธอในปัจจุบัน

ลูกเรียนไม่จบ เพราะโรครุมเร้า สู้เรียนอีกครั้งแต่กลับถูกจับ

ฮานีละห์ เล่าถึงประวัติของอุสมานในวัยเด็กแก่ผู้สื่อข่าวว่า อุสมานเคยเรียนโรงเรียนได้รับใบระเบียนแสดงผลการประจำถึงชั้น ม.3 แต่ไม่ทันเรียน (ใบ รบ.) เพราะเขาไม่สามารถเรียนหนังสือต่อได้ด้วยโรคประจำตัวที่รุมเร้าอย่างหนัก ตอนอุสมานอายุประมาณ 3-4 ขวบ อุสมานเลือดคั่งในสมองทำให้ต้องผ่าตัดสมอง แต่หลังจากผ่าตัด สมองของเขาก็ไม่ปกติอีกเลย ไม่เหมือนเดิม จะมีปัญหาในเรื่องความจำ รับรู้ช้า เวลาสื่อสารกัน ถามอะไรก็จะนิ่งเงียบเพื่อตั้งสติก่อนที่จะตอบช่วงนั้นแม่ก็ปรึกษาหมอตลอด หมอบอกว่าเป็นเรื่องปกติ มันคือผลข้างเคียงหลังผ่าสมอง ถ้าจะให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมคงเป็นไม่ได้

“หลังออกจากโรงเรียนประจำแม่ก็พาอุสมานไปสมัครเรียน กศน. เพราะคิดว่าไม่หนักเท่าเรียนโรงเรียนประจำ คือแม่หวังอยากให้ลูกเรียนจบ อยากให้ลูกมีวุฒิการศึกษา แต่ครั้งสุดท้ายช่วงสอบปลายภาคอุสมานก็ถูกจับไป ทำให้ไม่ทันไปสอบ

อุสมานมีโรคไตวายเฉียบพลันอีกโรคหนึ่ง แต่โชตดีก่อนที่เขาจะถูกจับอาการเขาดีขึ้นมาก ไม่อย่างนั้นคงช็อคในคุกไปแล้ว เพราะปกติเขาจะตกใจไม่ได้ ตกใจเมื่อไรช็อคทันที อุสมานจะมีใบประวัติคนไข้เข้าออกโรงพยาบาลเดือนละครั้ง โดยเฉพาะช่วงสามปีให้หลังก่อนจะถูกจับเพราะทุกๆ เดือนเขาต้องไปพบหมอ บางเดือนก็สองครั้ง ทนายความทราบเรื่องนี้ดี เพราะแม่ยื่นไปให้ทนายความแล้ว

ล่าสุดเดือนที่แล้ว (ก.ค.2560) ตอนแม่ไปเยี่ยมอุสมานที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อุสมานบอกแม่ว่า ตั้งแต่อยู่ในคุกมาเขาไม่เคยช็อคเลย อาการของเขาปกติทั่วไป แต่ช่วงที่อุสมานถูกจับแรกๆ ก็มีอาการช็อค ท้องแข็ง มือเท้าอ่อนเพลีย เพราะถูกตำรวจซ้อมให้สารภาพ” มารดาของอุสมาน กล่าว

วอนอย่าใส่ร้าย โปรดดำเนินอย่างยุติธรรม หากผิดจริงก็พร้อมรับผล

“สิ่งที่แม่คาดหวังมากที่สุดตอนนี้ คือ อยากให้ลูกพ้นจากการใส่ร้าย อยากให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมที่จริงใจที่สุด หากผิดจริงเราก็พร้อมรับผลที่จะตามมา แต่หากไม่ผิดก็อย่าใส่ร้ายกันเลย อย่ายัดข้อหาที่ลูกแม่ไม่ได้ทำเลย ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไรถ้าคุณจริงใจ ตรงไปตรงมา และตัดสินอย่างยุติธรรมจริง แม่ก็พร้อมที่จะรอ รับผลการตัดสินของศาล” ฮานีละห์ กล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ : มีการแก้ไขข้อมูลและเรียบเรียงเพิ่มเติม 18.00 น. 5 ก.ย.2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท