Skip to main content
sharethis

สกว.ร่วมกับมหิดลหนุนนักวิจัยศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการ กับเครื่องมือวัดความอยู่ดีมีสุข 9 มิติ กลุ่มตัวอย่างจาก 5 ภูมิภาค หวังกระตุ้นให้เกิด 'ครอบครัว 4.0' เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ชี้ปัญหาใหญ่คือยาเสพติด เป็นบ่อนทำลายครอบครัวและสังคม

5 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานเปิดการเสวนาวิชาการ “ครอบครัวไทยยุค 4.0 ... ข้อค้นพบจากการศึกษาเบื้องต้น” ซึ่งสนับสนุนโดย สกว. และมหาวิทยาลัยมหิดล ณ โรงแรมเอเชีย เพื่อนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทยตามกรอบแนวคิดพัฒนาการครอบครัวที่มีมุมมองครอบครัวเป็นระบบนิเวศมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์ และได้รับอิทธิพลจากระบบทั้งภายในและภายนอกครอบครัว การเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการครอบครัวหรือวงจรชีวิตครอบครัว ทั้งโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และสัมพันธภาพในครอบครัว ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว.

ผู้อำนวยการ สกว. ระบุว่าสิ่งที่ต้องทำต่อไปหลังจากเกิดความรู้เชิงวิชาการจากงานวิจัยนี้ คือ ต้องต่อยอดความรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสังคม ให้เป็น “ครอบครัว 4.0” ที่อยู่ดีมีสุขและเป็นพลังสำคัญที่สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมการเสวนาวิชาการครั้งนี้จะช่วยกันขบคิดและนำความรู้ที่ได้รับเป็นเสียงสะท้อนในการเก็บข้อมูลให้งานวิจัยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ศ.ดร.รุจา ภู่ไพบูลย์ หัวหน้าโครงการวิจัย “โครงการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิตครอบครัว” จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการวิจัยยังอยู่ในระยะแรก เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 310 ครอบครัวจาก 5 ภูมิภาค ทั้งในชุมชนชนบทและชุมชนเมือง เพื่อให้เกิดความเข้าใจคุณลักษณะเฉพาะของความอยู่ดีมีสุขตามวงจรชีวิตในบริบทของครอบครัวไทย และได้รับข้ อมูลที่มีฉากและเหตุการณ์ประสบการณ์ชีวิตของผู้ถูกศึกษาที่มีความหลากหลายซับซ้อนตามบริบทสังคมวัฒนธรรมผ่านทัศนะของคนนอก

จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ากลุ่มตัวอย่างมาจากครอบครัวเดี่ยวที่มีสมาชิกพ่อแม่ลูกมากที่สุด ร้อยละ 34 รองลงมาคือครอบครัวขยาย ครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มีบุตร โดยครอบครัวขยายมีสมาชิกจากเครือญาติของฝ่ายหญิงมากกว่าฝ่ายชาย จำนวนรุ่นในครอบครัวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามอายุของกลุ่มตัวอย่างเป็นรูป U-shape เช่น ครอบครัวใหม่อายุน้อยมักอยู่ในครอบครัวเดิมหรือขยาย และจำนวนรุ่นจะลดลงเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนอายุ 41-50 ปี และพบว่าผู้สูงอายุวัยพึ่งพามีค่าเฉลี่ยจำนวนรุ่นเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ครอบครัวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่มวัยกลางคนปีมีรายได้สูงสุด ระยะครอบครัวในวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและปัจจัยด้านรายได้ที่ควรศึกษาในระยะที่สอง (การสำรวจครอบครัวไทยแบบบูรณาการ) ต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่าระยะวงจรชีวิตครอบครัวไทยมีลักษณะเฉพาะของความใกล้ชิด มีระบบเกื้อหนุน แตกต่างจากครอบครัวตะวันตก โดยการแยกครอบครัวใหม่ในระยะแรกมักอาศัยในครอบครัวเดิม และรุ่นสมาชิกจะลดลงเมื่ออยู่ในวัยที่ลูกคนที่ 1-2 แยกออกไปเมื่ออายุ 47-56 ปี แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 70-80 ปีขึ้นไป เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกหลายรุ่น

ขณะที่ ศ.ดร.ดารุณี จงอุดมการณ์ กล่าวถึงองค์ประกอบความอยู่ดีมีสุขครอบครัวไทย ผ่านการศึกษารับรู้เชิงอัตวิสัยของตัวแทนครอบครัวถึงองค์ประกอบหรือปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อครอบครัวอยู่ดีมีสุข โดยวิเคราะห์องค์ประกอบ 9 ด้าน จะพบว่า (1) ด้านสัมพันธภาพ ความซื่อสัตย์เป็นประเด็นที่สำคัญมากสำหรับสตรี เพราะผู้หญิงไทยถูกเอาเปรียบมาก ต้องอุทิศตนให้กับครอบครัวอย่างมาก ถ้ามีผู้ชายดีจะเป็นศรีแก่บ้านเรือน (2) ด้านสุขภาพ การไม่มีโรค สุขภาพแข็งแรง ไปได้มาได้ มีผู้พาไปโรงพยาบาลหรือดูแลยามเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ต้องการ และควรมี อบต. หรือ รพ.สต. เข้ามาสนับสนุน (3) ด้านจิตวิญญาณ มีศีลธรรม เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีมีธรรมในใจ ความกตัญญูแบบต้องมีพันธะสัญญาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (4) ด้านเศรษฐกิจ ไม่มีหนี้สิน มีปัจจัย 4 ครบและมีเงินออม เศรษฐกิจอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดทั้งหมดแต่บรรเทาความทุกข์ของสมาชิกในครอบครัว มีรายได้พอเพียง (5) ด้านการศึกษา คาดหวังให้ลูกได้ร่ำเรียนแต่ในต่างจังหวัดมักท้องก่อนแต่ง (6) ด้านความมั่นคงและการพึ่งพา มีงานทำ มีเงินและพึ่งพาตัวเองได้ มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่บางคนยังพึ่งพาพ่อแม่ เพราะคนไทยเลี้ยงลูกไม่เคยโตยังขอเงินพ่อแม่ใช้ (7) ด้านความร่วมใจและความปลอดภัยในชุมชน ยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ หลายครอบครัวต้องประกันตัวลูกหลานที่ถูกจับ ทำให้ชุมชนมีปัญหา บางชุมชนมีเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขในการขับเคลื่อนทำให้คนในชุมชนแตกแยกเพราะผลประโยชน์ (8) ด้านการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง เป็นพอเพียงตามกระแส (9) ด้านการทำบทบาทหน้าที่ในครอบครัว พฤติกรรมที่สมาชิกปฏิบัติเป็นประจำเพื่อคงไว้ความสมดุลของครอบครัว ทั้งการทำงานบ้าน อบรมเลี้ยงดูลูก จัดความสมดุล แก้ปัญหาและดูแลเมื่อเจ็บป่วย

ทั้งนี้ผลการศึกษาในภูมิภาคอีสาน ศ.ดร.ดารุณี ระบุว่าคนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย พึ่งพาการเกษตร หนุ่มสาวออกไปทำงานต่างถิ่นเพื่อจุนเจือครอบครัวคล้ายกับการไปหาประสบการณ์เป็นปริญญาชีวิต ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความสุขไม่ใช่เงิน แต่สุขเพราะมีข้าวกิน มีที่ดิน คู่ครอง มีแรงทำงาน ทุกข์ใหญ่เป็นเรื่องครอบครัว รองลงมาคือการทำกิน ขณะที่ ผศ. ดร.ถวัลย์ เนียมทรัพย์ เผยว่าครอบครัวในภาคเหนือจะอยู่ดีมีสุขได้ต่อเมื่อทุกคนรู้จักหน้าที่ของตนเอง หัวหน้าครอบครัวต้องเป็นกลาง ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ปรึกษาได้ทุกเรื่อง และไม่มีความลับในครอบครัว ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีวินัยในการใช้จ่าย จึงจะทำให้ภาระหนี้สินครัวเรือนลดลง ชุมชนควรจะต้องมีการช่วยเหลือกัน ปราศจากยาเสพติด

ในภาคกลาง รศ.ดร.วรรณี เดียวอิศเรศ กล่าวว่าปัญหาสำคัญคือ ยาเสพติด และความไม่ปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น ช้างป่าที่ลงมาหากินในหมู่บ้านยังแก้ไขไม่ได้ ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงเห็นว่ายังเป็นเพียงวาทกรรมแต่ก็เป็นหลักยึดของครอบครัวที่พยายามปฏิบัติตาม ขณะที่ภาคใต้มีความแตกต่างเรื่อง้ความเสมอภาคและไม่เสมอภาค โดย ศ.ระพีพรรณ คำหอม ระบุว่าสังคมไทยมุสลิมดั้งเดิมมีมิติหญิงชาย ชายเป็นใหญ่แต่ภาพรวมที่ซ่อนอยู่จะเห็นว่าหญิงเป็นผู้นำในครอบครัวเพราะเป็นผู้เก็บเงินและจัดการทุกอย่างในบ้าน มุสลิมใหม่คนเริ่มทำงานนอกบ้าน หญิงและชายเท่าเทียมกันในการทำงานนอกบ้าน ชายเข้ามาดูแลงานบ้านมากขึ้น คนรุ่นเก่ามีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เช่น ฉุดผู้หญิงที่ชอบพอ ครอบครัวเดิมจะสนับสนุนเมื่อลูกมีปัญหา พร้อมให้ลูกกลับมาบ้าน สุขภาพและการศึกษาให้ความสำคัญควบคู่กัน พยายามให้ลูกมีการศึกษามากที่สุด และไม่ทำอาชีพเดียว มีการวางแผนจัดสรรที่ดินให้กับลูกทุกคน ไม่คิดว่าตัวเองจนเพราะมีอยู่มีกิน มีรายได้จากงานประจำ งานสวน และท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุและถือเป็นหน้าที่ของคนในบ้าน ทุกข์ที่สุดคือสามีนอกใจ ดูแลพึ่งพากันในยามมีปัญหาความไม่สงบ และไม่รู้สึกว่าเป็นความรุนแรงหากแต่สามารถอยู่ได้เป็นปกติในพื้นที่

ในกรุงเทพฯ รศ.ดร.สาวิตรี พยานศิลป์ ระบุว่าสิ่งสำคัญคือสมาชิกต้องมีความรักและเอาใจใส่กัน อยู่กันพร้อมหน้า ทำกิจกรรมร่วมกัน เข้าใจ ให้อภัยกัน เกื้อหนุนเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน วางแผนชีวิตร่วมกัน ความสุขเกิดจากความประพฤติของคนในครอบครัว ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ มีสุขภาพแข็งแรงและมีธรรมยึดเหนี่ยวจิตใจ มีสติปล่อยวางและแก้ปัญหาได้ การอยู่อาศัยในชุมชนที่ปลอดภัยไม่มีอาชญากรรม ขณะที่เศรษฐกิจจะต้องมีเงินพอที่จะมีกินมีใช้ มีงานทำเลี้ยงดูครอบครัวได้ ไม่มีหนี้และมีเงินออม ถ้าเงินไม่พอคนกลุ่มหนึ่งจะคิดทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นปัญหาสังคม อยากมีบ้านเป็นของตัวเองเพื่อแสดงถึงความมั่นคงของชีวิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net