Skip to main content
sharethis
อดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ย้ำต้องปฏิรูปทั้งกระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูปทั้งอัยการและศาลด้วย ไม่ใช่ปฏิรูปเฉพาะตำรวจ เพราะทุกองค์กรมีปัญหาเรื่องงานบริหารงานบุคคล แนะปฏิรูปศาลชั้นต้นก่อน 

5 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ คณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง "สอบสวนคดีอาญา : ใครได้ใครเสีย" โดยมี ศ.ดร.คณิต ณ นคร ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ และอดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, พล.ต.อ.วิสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และ ผศ.ดร.ธานี วรภัทร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์

สำนักข่าวไทย รายงานเสวนาครั้งนี้ โดย ศ.ดร.คณิต กล่าวว่า การปฏิรูปต้องพูดถึงการปฏิรูปทุกองค์กร สมัยที่ตนดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด เคยพูดว่า หากสวะลงไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาต้องรีบตักขึ้นมาก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้ไหลลงทะเล สำหรับการปฏิรูป ต้องปฏิรูปทั้งกระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูปทั้งอัยการและศาลด้วย ไม่ใช่ปฏิรูปเฉพาะตำรวจ เพราะทุกองค์กรมีปัญหาเรื่องงานบริหารงานบุคคล 

คณิต กล่าวว่า เบื้องต้นต้องปฏิรูปศาลชั้นต้นก่อน แล้วตามมาด้วยการปฏิรูปอัยการและตำรวจ ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เคยสงบ ยิ่งจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หากกล่าวถึงภารกิจของตำรวจคือการดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลืออัยการ นิยามเรื่องการสืบสวนแสดงถึงภารกิจของตำรวจอย่างเด่นชัดในการดูแลความสงบสุขเรียบร้อย ซึ่งจะเป็นเรื่องของกฎหมายของตำรวจ ส่วนหน้าที่ช่วยเหลืออัยการเป็นเรื่องของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และภารกิจนี้ต้องร่วมมือกับพนักงานอัยการ ต้องติดต่อกับอัยการตลอด ดังนั้น จึงต้องปฏิรูปอัยการด้วย

“สำหรับการสอบสวนคือการหาความจริงที่เกิดขึ้น เราต้องคิดกันใหม่ การตรวจสอบความจริง ถ้าเป็นอย่างที่ผมคิด ผมคิดว่าความรับผิดชอบตกอยู่ที่อัยการ อัยการต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของข้อกฎหมาย และในคดีอาญาต้องทำให้ละเอียด  ต้องตรวจสอบความจริงแท้ของเรื่อง ที่จริงแล้วการตรวจสอบความจริงเป็นหน้าที่ของศาลด้วย” คณิต กล่าว

คณิต กล่าวว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่อำนวยความยุติธรรม ไม่ใช่กฎหมายที่พูดถึงแต่เรื่องอำนาจ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มี 2 มิติ เป็นกฎหมายรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ์ ก่อนหน้านี้ ที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า การนำผู้ต้องหามาออกข่าวเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเคยกล่าวไว้แล้ว เพราะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ทั้งนี้ ราชการไทยต้องวางนโยบายและกล่าวถึงภารกิจขององค์กรที่ชัดเจน และต้องปฏิรูปการบริหารงานบุคคล ตลอดจนสวัสดิการของตำรวจด้วย หากจะปฏิรูปจึงต้องยึดภารกิจก่อน เมื่อกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ ประชาชนจะได้รับการตอบสนองที่ดี การจะพูดถึงกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนด้วย

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า ในสมัยรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ได้ดำเนินกระบวนการปฏิรูปตำรวจมาก่อน โดยรับฟังความคิดเห็นทั้งจากตำรวจและประชาชนทั่วประเทศ ผลของการทำงานได้เอกสารหลายเล่มพิมพ์แจกจ่ายทั่วทุกจังหวัด คณะกรรมการที่ปฏิรูปตำรวจในขณะนั้นเสนอให้ออกกฎหมายสองฉบับ คือการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ โดยส่วนใหญ่แก้ไขด้านโครงสร้างของตำรวจ 

“เสนอให้นำงานที่ไม่ใช่งานของตำรวจออกไปจากตำรวจให้หมด เช่น งานของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจป่าไม้ เป็นต้น ทั้งยังเสนอให้ความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนมากขึ้น โดยให้พนักงานสอบสวนมีตำแหน่งสูงขึ้น ไม่ใช่ยึดติดแค่ระดับผู้กำกับการ แต่ให้เติบโตในสายของตนเองไปดำรงตำแหน่งถึงผู้บัญชาการได้ เพื่อป้องกันฝ่ายอื่นมีอิทธิพลเหนือพนักงานสอบสวนได้ แต่สุดท้ายร่างกฎหมายนี้ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการสอบสวนอิสระพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ เนื่องจากที่ผ่านมาการสอบสวนตำรวจด้วยกันเอง มักจะมีผลเข้าข้างตำรวจด้วยกันเองและลงโทษสถานเบา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จเช่นกัน” พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า วานนี้ (4 ก.ย.) คณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจของรัฐบาลได้มาทาบทามเพื่อไปพูดคุยเรื่องปฏิรูปตำรวจด้วย ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า ระบบสอบสวนที่มีในปัจจุบันยังสามารถดำเนินการได้ แต่อาจต้องปรับปรุงบางส่วนคือพนักงานสอบสวนมีจำนวนน้อย ขณะที่มีคดีจำนวนมาก พนักงานสอบสวนจึงไม่เพียงพอต่อคดี พนักงานสอบสวนจึงต้องใช้วิธีเลือกพิจารณาคดีก่อนหลัง เป็นเหตุให้มีคดีค้างอยู่จำนวนมาก 

“ที่สำคัญ เมื่อไม่นานมานี้ คสช.ออกคำสั่งยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวน ยิ่งทำให้คุณภาพของพนักงานสอบสวนตกต่ำลงมากกว่าเดิม ตำรวจที่มีวุฒิทางกฎหมาย รายได้ก็จะน้อยลง ทำให้หลายคนต้องการเปลี่ยนอาชีพไปเป็นพนักงานอัยการและผู้พิพากษาแทน ดังนั้น หากจะให้พนักงานสอบสวนมีคุณภาพมากกว่านี้ต้องแก้ไขเรื่องนี้ก่อน รวมทั้งปรับวิธีการตรวจสอบของผู้บังคับบัญชาให้ยึดเรื่องผลของคดีมากกว่าจำนวนของคดีเป็นหลักด้วย” พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

ขณะที่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การมองภาพเรื่องการปฏิรูป ต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่าจะปฏิรูปอะไร ซึ่งการปฏิรูปตำรวจและการปฏิรูปสอบสวนไม่ใช่เรื่องเดียวกัน การปฏิรูปตำรวจจึงเป็นหนึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หากมองเรื่องกระบวนการยุติธรรม ตนไม่ได้สนใจเพียงตำรวจ อัยการ หรือศาล แต่ต้องมองว่าประชาชนจะได้อะไร เพราะกระบวนการยุติธรรมถูกสร้างขึ้นและทำหน้าที่สร้างความสงบสุขในสังคม 

“ผลลัพธ์ของกระบวนการยุติธรรมไม่ได้หมายความว่าคนจะเข้าคุก แต่จะต้องไม่เกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมในแต่ชั้นการพิจารณา จึง ต้องตอบให้ได้ว่า ต้องการอะไรจากการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาการปฏิรูปส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่มีคดีขึ้นมาแล้วสังคมรู้สึกว่ายอมรับไม่ได้ เมื่อพูดถึงการปฏิรูปด้านการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีแนวความคิดว่า เพื่อให้เกิดหลักคุณธรรม โดยให้แบ่งกลุ่มผู้มีอาวุโสและผู้มีความสามารถ ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าว หากไม่มีตัวชี้วัดความสามารถ กระบวนการก็จะกลับไปสู่ในสิ่งที่ชี้วัดไม่ได้และจับต้องไม่ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาในระบบราชการมาโดยตลอด ขณะที่เรื่องการสอบสวน ส่วนตัวเชื่อว่า ก็ยังอยู่ในกรอบที่ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐาน และต้องมีการชี้จากนักกฎหมายของรัฐว่าพยานหลักฐานใดมีประโยชน์ต่อคดี ซึ่งหมายความว่า อัยการควรมีอำนาจในการควบคุมการสอบสวน แต่ก็มีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายว่า อัยการควรเป็นผู้สอบสวนเองหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า ในแง่ของต้นทุนการทำงานของตำรวจและอัยการไม่เท่ากัน แนวคิดนี้อาจไม่ได้รับการตอบสนอง” วิศิษฏ์ กล่าว

ผศ.ดร.ธานี กล่าวว่า การตั้งข้อหาเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้น ต้องปฏิรูปการตั้งข้อหาให้อยู่กับองค์กรเดียวได้หรือไม่ หรือควรจะการกลั่นกรองอย่างไรให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการความยุติธรรมในสังคมไทย เพราะทุกวันนี้มีคดีที่ผิดพลาดเพิ่มมากขึ้น จึงต้องปฏิรูปให้ตรงจุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net