Skip to main content
sharethis

มีชัย ยันเขียน ก.ม.ลูกให้ กก.ในองค์กรอิสระอยู่หรือไปตาม รธน. แต่ สนช. เปลี่ยนให้อยู่ต่อก็ไม่อาจค้าน เหตุศาล รธน. ชี้แล้วว่าไม่ขัดรธน. 'กกต.สมชัย' ระบุเป็นสร้างมาตรฐานให้ ป.ป.ช.-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ยาวได้ แต่กรณีเซตซีโร่ กกต.ยังไม่จบ เตรียมยื่นศาล รธน.

6 ก.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจาและลงมติคำร้องกรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิกสนช. จำนวน 36 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 56 กรณีการดำรงตำแหน่งของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ ผลการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ... มาตรา 56 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในการแจ้งมติดังกล่าว ไม่ได้แถลงผลการวินิจฉัยแต่เป็นการแจกเอกสารข่าว ซึ่งไม่ได้ระบุเหตุผลหรือคำอธิบายใด ๆ นอกจากมติว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะส่งผลต่อ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้สามารถกำหนดเนื้อหาคุ้มครองคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันด้วย ขณะเดียวกันจะทำให้การต่อสู้เรื่องเซ็ตซีโร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าขัดรัฐธรรมนูญจะมีน้ำหนักน้อยลงด้วย

แฟ้มภาพ

ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้มาเช่นนี้ ก็สามารถเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้องค์กรอิสระอื่นอยู่ต่อได้ โดยไม่ได้มีเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติ แต่ในส่วนของ กรธ. ยืนยันว่าหากองค์กรใดไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ก็จะให้กรรมการในองค์กรที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้  อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ที่จะพิจารณา  หากปรับแก้ กรธ. ก็ต้องยอมรับเพราะศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่าไม่ขัดกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านมา กรธ. เขียนกฎหมายให้เซ็ตซีโร่เพียงองค์กรเดียวคือ กสม. เพราะมีเรื่องโครงสร้างที่เปลี่ยนไป 

มีชัย กล่าวถึงกรณีที่ กกต. บอกว่าพร้อมสำหรับการจัดการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมปีหน้า ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับไม่ออกมา จึงยังไม่มีใครบอกได้ว่าพร้อมหรือไม่ เพราะยังไม่รู้ว่าใครต้องทำอะไร อย่างไร  ดังนั้นเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ค่อยมาบอกว่าพร้อม แต่ในส่วนของ กรธ. ยืนยันว่าจะยกร่างให้เสร็จตามกำหนดเวลา 240 วัน 

ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า การยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ ทาง กรธ. จะพิจารณาว่าโครงสร้างของกรรมการเปลี่ยนหรือไม่ หากโครงสร้างไม่เปลี่ยนก็จะให้ กรรมการที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญสามารถอยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้ แต่การที่จะให้กรรมการ ในองค์กรอิสระอยู่หรือไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสนช. จะพิจารณา ซึ่งมีสิทธิ์เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ให้อยู่ ทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระได้โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณสมบัติ แต่การจะแก้อย่างไร ก็จะต้องมีเหตุผลที่มากพอ 

"ถ้าคุณสมบัติขาดแล้วจะอาศัยบทเฉพาะกาลเขียนให้อยู่ต่อ ถ้าเป็นแบบนี้ก็เขียนได้ แต่ก็ต้องถามว่าสามัญสำนึกควรทำหรือไม่ ผมว่ามัน ไม่ควรทำ เพราะถ้าเค้าบอกว่าต้องการคนสูง 180 มาเล่นบาส แต่ที่ผ่านมา 160 แล้วจะเอาคนเก่ามา ทู่ซี้เล่นให้หมดเกมส์ทั้งที่มีโอกาสเอาเครื่อง 180 มาเล่นผมว่ามันไม่ใช่" ชาติชาย กล่าว

ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังศาลรัฐธรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การคุ้มครองผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน ให้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระตามร่าง  พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ   ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนเห็นด้วยเพราะร่างกฎหมาย กกต. ที่กกต.เสนอไปก็กำหนดในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่ากรรมการมาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงควรได้รับการคุ้มครองให้ทำงานต่อไป 

“คำวินิจฉัยครั้งนี้ จะมีผลต่อการกำหนดเนื้อหาในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าสามารถเขียนคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันให้อยู่ครบวาระได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ” สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวว่า กรณีเซ็ตซีโร่ ยังไม่มีการชี้ชัดว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็เป็นความชัดเจนที่ สนช. ต้องตระหนักว่า การจะออกกฎหมายให้ใครอยู่ในตำแหน่ง หรือไม่ให้อยู่ในตำแหน่ง ต้องไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคลและมีการเลือกปฏิบัติ หากทำเช่นนี้ สนช.ก็จะกลายเป็นจำเลยของสังคม เพราะไม่สามารถชี้แจงถึงเหตุผลที่แท้จริงได้ เนื่องจากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินให้เหตุผลว่า  มาจากรัฐธรรมนูญเก่า จึงต้องคุ้มครองให้อยู่ในตำแหน่ง  จะไปรอนสิทธิไม่ได้ เท่ากับว่า สนช.ไม่ได้ใช้เหตุผลเดียวกันกับองค์กรอิสระอื่น

สมชัย กล่าวด้วยว่า ได้เตรียมคำร้องส่วนตัว ที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แต่รอเวลาให้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้  และรอให้ สนช.ผ่านความเห็นชอบกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้งหมดก่อน จึงค่อยยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากยื่นในขณะนี้  อาจเป็นแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะองค์กรศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ชัดเจนว่า  สนช.จะกำหนดเรื่องการดำรงตำแหน่งของตุลาการอย่างไร จะคุ้มครองหรือเซตซีโร่  หากยื่นตอนนี้ ศาลจะเกิดความอึดอัดใจ  เพราะคำวินิจฉัยที่จะออกมา ก็จะมีผลต่อองค์กรตัวเองด้วย   

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net