Skip to main content
sharethis

เตือนเด็ก ม.6 ถึง ป.ตรี ระวัง ! ผู้แอบอ้างชื่อกระทรวงแรงงาน หลอกให้สมัครเรียนเพื่อไปทำงานบนเรือสำราญในต่างประเทศ

กระทรวงแรงงาน เตือนนักเรียนชั้น ม.6 – ปริญญาตรี อย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อกระทรวงแรงงานหลอกให้จ่ายเงินกว่า 59,000 บาท เพื่อเข้าเรียนหลักสูตรการทำงานบนเรือสำราญในต่างประเทศ โดยอ้างว่าเมื่อเรียนจบจะได้บรรจุเข้าทำงานบนเรือสำราญ มีรายได้ถึง 70,000 บาท ข้อเท็จจริงเป็นแค่การสมัครเข้าเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมเท่านั้น หากเรียนจบต้องไปติดต่อหาสมัครงานเอง ซึ่งไม่มีใครรับรองว่าจะได้งานทำหรือไม่

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับเบาะแสว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพโพสต์ข้อความผ่านทาง Facebook และ Line ชักชวนคนหางานและสมาชิกที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาให้ส่งบุตรหลานที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 – ปริญญาตรี อายุระหว่าง 21-33 ปี เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการทำงานบริการบนเรือสำราญในต่างประเทศ เป็นเวลา 6 เดือนกับโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ เช่น ตรัง สงขลา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช นครราชสีมา กำแพงเพชร เป็นต้น โดยอ้างว่าอยู่ในความควบคุมของกระทรวงแรงงาน และเมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับการบรรจุเข้าทำงานบนเรือสำราญ มีรายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 34,000 - 70,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมทิป ซึ่งจะเก็บค่าสมัครเบื้องต้น 1,000 บาท ค่าชุดยูนิฟอร์ม 8,000 บาท โดยก่อนเข้าอบรมต้องจ่าย 20,000 บาท ระหว่างเรียน 10,000 บาท และก่อนเรียนจบอีก 20,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 59,000 บาท โดยจะจัดหาที่พักให้ฟรีในระหว่างเรียน ซึ่งหากผู้ใดสนใจให้สมัครได้ตามสถานที่ต่างๆ ที่กำหนด

นายวรานนท์ฯ กล่าวย้ำว่า โรงเรียนที่ฝึกสอนหลักสูตรการทำงานบริการบนเรือสำราญในต่างประเทศดังกล่าวไม่ได้อยู่ในความควบคุมของกระทรวงแรงงานแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เรียนต้องจ่ายลค่าที่พักเอง โดยโรงเรียนจะฝึกอบรมความรู้และทักษะการทำงานบนเรือสำราญให้เท่านั้น แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดส่งผู้เรียนไปทำงานบนเรือสำราญในต่างประเทศได้ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด หากผู้เรียนประสงค์จะทำงานต้องไปติดต่อหาสมัครงานเอง ซึ่งไม่มีใครรับรองว่าจะได้งานทำหรือไม่ ดังนั้นจึงขอฝากเตือนพี่น้องประชาชน ขอให้ตรวจสอบและพิจารณาให้รอบคอบว่าการฝึกอบรมดังกล่าวคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปหรือไม่เพียงใด สอบถามข้อมูลหรือแจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd หรือโทร. 0 2245 6763 หรือสายด่วน 1694

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 3/9/2560

สปส. แจงเตรียมโรงพยาบาลรับผู้ประกันตนจาก 3 โรงพยาบาลที่ออกจากระบบแล้ว

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า สิ้นปีนี้ จะมีโรงพยาบาลที่ออกจากระบบประกันสังคม 3 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลยันฮี กรุงเทพฯ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และโรงพยาบาลศรีระยอง จ.ระยอง ซึ่งมีผู้ประกันตนใช้บริการทั้ง3 แห่งประมาณ 3 แสนคน นั้นผู้ประกันตน ที่ให้สิทธิ ประกันสังคมอยู่ที่โรงพยาบาล ทั้ง 3 แห่ง ยังสามารถใช้บริการได้ จนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2560

ซึ่งขณะนี้ สปส. ได้จัดสถานพยาบาลทดแทนให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้ว และ สามารถเลือกสถานพยาบาลที่ต้องการใช้สิทธิได้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นี้

หากผู้ประกันตน บางราย ไม่เลือกมาภายในกำหนด สปส.จะจัดสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตน และ จะแจ้งผลการเลือกสถานพยาบาลให้สถานประกอบการ ที่ผู้ประกันตนทำงานอยู่ และผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเองทราบใน วันที่ 17 ธันวาคม 2560

ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิได้จากเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th และ ข้อความ SMS แจ้งผลการเลือกสถานพยาบาลของผู้ประกันตนมาตรา 39 แต่หากผู้ประกันตนที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำปี 2561 ใหม่ ก็สามารถแจ้งการเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561

โดยสถานพยาบาลที่เลือกต้องเป็นสถานพยาบาล ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ซึ่งในปี 2561 มีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการประกันสังคม ทั้งสิ้น 238แห่ง (สถานพยาบาลรัฐบาล 159 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 79 แห่ง ทั้งนี้รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนสมัครเข้าใหม่ในปี 2561 อีก 2 แห่ง)

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า ทางสปส. ให้ความสำคัญกับ โรงพยาบาลเอกชน ทุกแห่ง ซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ดี และพร้อมที่จะรับฟัง ข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในส่วนของผู้ประกันตน โรงพยาบาลเอกชน และทาง สปส.

ที่ผ่านมา ทุกปี ก็จะมี โรงพยาบาลที่สมัคร เข้ามาอยู่ในระบบ ประกันสังคมจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้ได้ มาตรฐานก่อนที่จะได้เข้ามาอยู่ในระบบ และก็มีอีกโรงพยาบาลส่วนหนึ่งออกจากระบบประกันสังคมด้วยเหตุผลทางธุรกิจ

“ขอย้ำว่า เหตุผลของสถานพยาบาล 3 แห่งดังกล่าวได้ถอนตัวออกจากโครงการประกันสังคม เนื่องจากเป็นการดำเนินตามแนวทางการบริหารธุรกิจของแต่ละแห่ง อาทิ ต้องการเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางการที่สถานที่ตั้งของโรงพยาบาลในเครือที่อยู่ใกล้กันจะได้ไม่แย่งลูกค้ากันเอง หรือเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้ประกันตนเลือกจำนวนน้อย“นายสุรเดช กล่าว

พร้อมขอยืนยันว่า ตลอด 27 ปีที่ผ่านมาไม่มีโรงพยาบาลเอกชนออกจากโครงการประกันสังคมเนื่องจากภาวะการขาดทุน ทั้งนี้ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนตามโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ขอถอนตัวเนื่องจากประสบภาวการณ์ขาดทุน

ที่มา: คมชัดลึก, 4/9/2560

สังคมน่าห่วง นศ.ตกงานพุ่ง คนไทยป่วยเฉลี่ย 8 ปีก่อนตาย

จากรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2 ปี 2560 ที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงพบว่าปัญหาเศรษฐกิจยังน่าเป็นห่วง เพราะแรงงานจำนวนมากยังว่างงาน โดยมีการจ้างงาน 37.5 ล้านคน เพิ่มจากขึ้นไตรมาส 2 ปี 2559 ประมาณ 0.4% แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในภาคเกษตร จาก 11 ล้านคน เป็น 11.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 6 แสนคน เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำอยู่ในภาวะปกติ ราคาสินค้าเกษตรดี แต่ช่วงครึ่งปีหลังน่าเป็นห่วง เพราะน้ำท่วม และราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง

ขณะที่อีกด้านหนึ่งแรงงานนอกภาคเกษตรจ้างงานลดลงจาก 26.4 ล้านคน เหลือ 25.9 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม การก่อสร้าง โรงแรม ภัตตาคาร ตอกย้ำให้เห็นว่า การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวช้า ผู้ประกอบการเน้นใช้แรงงานที่มีอยู่เดิม ไม่จ้างงานเพิ่ม และนำเทคโนโลยีมาใช้ จนกลางปี 2560 มีความต้องการแรงงานด้านการผลิต เพียง 2,709 ตำแหน่ง จากที่เคยมีถึง 4,203 ตำแหน่งในปี 2557 อัตราการว่างงานจึงมีสูงถึงประมาณ 470,000 คน หรือ 1.2% ของแรงงาน เพิ่มขึ้น 1.1%

ที่น่าเป็นห่วง คือแรงงานที่เพิ่งจบ หรือที่ไม่เคยทำงานมากก่อน เพิ่มขึ้นถึง 24.1% โดย 39% จบระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งปกติกลุ่มนี้จะว่างงานสูงในไตรมาส 2-3 และลดลงในไตรมาส 4 ของทุกปี แต่ช่วงตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2560 นี้จำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนมีถึง 220,000 คน เพราะความไม่สอดคล้องของคุณสมบัติแรงงาน และวุฒิการศึกษา ที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และการรอการฟื้นตัวของการลงทุนของภาคเอกชน นอกจากกลุ่มที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยตกงานเพิ่มขึ้น กลุ่มเจนเนอเรชั่น วาย ที่มีอายุ 22-35 ปี จำนวน 5.24 ล้านคน พบว่าเป็นหนี้รวมกันถึง 2.13 ล้านล้านบาท โดยเฉพากลุ่มคนอายุ 29 ปีที่มีหนี้เฉลี่ยคนละ 150,000 บาท จำนวนนี้ 20% เป็นหนี้เสีย เพราะบางคน รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปตามสังคมเมือง มีพฤติกรรมใช้ง่าย จ่ายคล่อง ตัดสินใจเร็ว เข้าถึงบัตรเครดิต สินเชื่อเงินส่วนบุคคลได้ง่าย

ขณะที่เด็ก ป.1 ไอคิวสูงขึ้นเป็น 98.23 จากปี 2554 ไอคิว 94.58 แต่ก็ต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่ระดับ 100 เยาวชนไทยยังสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ที่มีนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา 10 เท่า นอกจากนี้สังคมไทยยังน่าเป็นห่วง ที่คดีอาชญากรรมเพิ่งประมาณ 10% โดยคดีทำร้ายร่างกาย และทางเพศ เพิ่มขึ้น 7.3% คดีปล้นจี้ชิงทรัพย์เพิ่มขึ้น 6.5% สำหรับเรื่องสุขภาพ โรคที่คนไทยเป็นมากในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา คือไข้หวัดใหญ่ เป็นเพิ่มขึ้นถึง 31.1%

ทางด้านอายุเฉลี่ยของคนไทย มีอายุยืนเพิ่มขึ้นถึง 75.4 ปี จากปี 2558 เฉลี่ย 75 ปี อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าอายุคาดเฉลี่ย ของภาวะสุขภาพดี (Health Adjusted Life Expectancy: HALE)ของคนไทยมีค่าต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ย โดยในปี 2552 มีค่าเท่ากับ 62 ปี และในปี 2558 มีค่าเท่ากับ 66.8 ปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยไม่ได้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ตลอดช่วงชีวิตจะมีช่วงเวลาที่ต้องอยู่อย่างเจ็บป่วยหรือพิการ ซึ่งปี 2558 คนไทยต้องอยู่อย่างเจ็บป่วยหรือพิการก่อนเสียชีวิตกว่า 8 ปี อย่างไรก็ตาม อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดและอายุคาดเฉลี่ย ของภาวะสุขภาพดีของคนไทยยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/9/2560

ก.แรงงงานเตรียมปลดล็อก 39 อาชีพสงวนของคนไทยและการปรับลดโทษ โดยจะเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการ

หลังจากกระทรวงแรงงานได้เปิดให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวมาแจ้งการทำงาน ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พุทธศักราช 2560 พบว่ามีนายจ้างมาแจ้งขอใช้งานแรงงานต่างด้าวกว่า 797,685 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นนายจ้างลูกจ้างกันจริงหรือไม่

แต่จากการพิสูจน์ความสัมพันธ์ พบว่ากลุ่มที่ไม่ผ่านเพราะมีทั้งการเอาคนที่ประกอบอาชีพอิสระมาสวมสิทธิ ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาต รวมถึงการที่นายจ้างมาแจ้งขอใช้แรงงานก่อนจะเอาแรงงานเข้ามาภายหลัง ถือว่าไม่สามารถทำงานในไทยได้ ต้องกลับไปยังประเทศของตนเอง และถ้าอยากทำงานในประเทศไทยอยู่ก็ให้เข้ามาผ่านระบบเอ็มโอยู

ส่วนเรื่องอาชีพสงวนของคนไทยและการปรับลดโทษ ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ทางกระทรวงแรงงาน เตรียมประชุมร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ โฆษกกระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึงสาเหตุการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในรอบ 28 ปีเพื่อให้ตรงกับความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจของไทย โดยการปลดล็อคอาชีพสงวนจะพิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับแรงงานคนไทย ซึ่งอาชีพอย่างมัคคุเทศก์ งานช่างที่เกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรมไทย จะยังคงไว้

ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่มีปัญหามากคือการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเดิมเด็กกลุ่มนี้อยู่ในฐานะของผู้ติดตามผู้ปกครองมาทำงานในไทย แต่เมื่อมีการเปิดให้แจ้งการทำงาน ก็พบว่ามีการมาขอใช้แรงงานเด็กกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาตอยู่แล้ว หากมีการลอบใช้แรงงานเด็ก แม้พระราชกำหนดการบริหารแรงงานต่างด้าวฯ จะชะลอโทษเอาไว้ แต่ก็จะมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอยู่ดี ซึ่งโทษปรับ 4-8 แสนบาทต่อแรงงานเด็ก 1 คน ดังนั้นเด็กต้องถูกส่งกลับ หรืออยู่ในฐานะผู้ติดตามที่ห้ามทำงานเด็ดขาด

ที่มา: TNN24, 6/9/2560

ก.แรงงานเผยช่างไฟฟ้าผ่านประเมินกว่า 7 หมื่นคน

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 กำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ ความสามารถ ต้องดำเนินการโดยผู้ที่ได้รับหนังสือรับรอง ความรู้ความสามารถ(License) ซึ่งประกาศกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดให้ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 มีผู้ผ่านการประเมินแล้ว 70,829 คน โดย กพร. มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเน้นหลักด้าน Safety Thailand การตรวจประเมินเป็นมาตรการสำคัญ ที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายธวัช เบญจาทิกุล รองอธิบดี กพร. กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติหน้าที่ด้านตรวจประเมิน ควรเตรียมตัวให้มีความพร้อมตลอดเวลา ตลอดจนต้องพัฒนาบุคลิกภาพให้มีความน่าเชื่อถือ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม ถูกต้องตามระเบียบ ข้อบังคับ และถูกต้องตามกฎหมายด้วย

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 7/9/2560

สำนักงานประกันสังคม แจงสิทธิการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว

สำนักงานประกันสังคม แจงสิทธิรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกระยะ เผยการให้ยารักษามะเร็ง Imatinib เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และมาตรฐานการใช้ยาโดยประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงถึงกรณี ข้อเรียกร้องการใช้สิทธิประกันสังคม จากผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะที่ 3 แต่สิทธิประกันสังคมจ่ายยาให้เฉพาะคนที่เป็นมะเร็งระยะแรกเท่านั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ โดยไม่จำกัดค่ารักษา ทั้งนี้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา สำหรับยา Imatinib สำนักงานประกันสังคมสนับสนุนยาดังกล่าวให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในระยะสงบ (Chronic stable phase) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการใช้ยาโดยประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศ กรณีการรักษาโรคมะเร็งระยะลุกลาม (Accelerated phase) ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นวิธีการรักษาตามมาตรฐานโดยการรับรองจากสมาคมโลหิตแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ดี หากการรักษา โดยที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือเกินกว่าข้อบ่งชี้ตามมาตรฐานวิชาชีพ แต่เป็นความจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษา สำนักงานประกันสังคมจะดูแลให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาภายใต้ข้อกฎหมาย และระเบียบที่มีต่อไป อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิต้องดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตั้งแต่ตรวจพบ จนสิ้นสุดการรักษาไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดก็ตาม รวมถึงยาที่จำเป็นต้องใช้รักษาผู้ประกันตนตามดุลยพินิจ ของแพทย์ผู้รักษา สำนักงานประกันสังคมจะไม่ครอบคลุมเฉพาะยาที่อยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง ทั้งนี้ ในปี 2558 พบผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแล้วจำนวน 1,399 คน สำนักงานประกันสังคม จ่ายไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 326,003,145 ล้านบาท

ด้าน นายแพทย์ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีของการรักษาด้วยยาที่มีราคาสูงในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งสามกองทุนจะอ้างอิงหลักเกณฑ์และข้อบ่งชี้การใช้ยาตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะมีคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานประกอบด้วยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในระบบสาธารณสุขพิจารณากำหนดรายการและข้อบ่งชี้การใช้ยาบัญชี จ (2) ภายใต้การนำเสนอข้อมูลทางวิชาการของราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผล ของการใช้ยาในแต่ละรายการ ทั้งนี้ กรณีของผู้ป่วยรายนี้เป็นการใช้ยา Imatinib รักษาโรคมะเร็งในระยะลุกลาม (Accelerated phase) ซึ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเพิ่มเติมข้อบ่งชี้ในการใช้ยาดังกล่าวในบัญชีจ (2) คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ และออกประกาศ ในระยะเวลาอันใกล้ สำหรับกรณีของผู้ป่วยรายนี้สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองในการรักษา ตามวิธีการรักษาของแพทย์ ถึงแม้จะไม่ตรงตามข้อบ่งชี้ของประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากยาในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย หากยานั้นๆ ยังอยู่ในระหว่างทดลองและวิจัยอาจจะไม่ปลอดภัยและไม่เป็นผลดีกับผู้ป่วย ดังนั้น การใช้ยาที่เหมาะสมควรเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อบ่งชี้ของประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวอีกว่า ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจถึงมาตรการการรักษาของสำนักงานประกันสังคมในเรื่องของโรคมะเร็ง เป็นไปตามมาตรฐานของคณะกรรมการ การแพทย์และราชวิทยาลัย ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นการให้บริการทางการแพทย์ ให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีคุณภาพ ครบถ้วนและเท่าเทียมกัน อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ที่มา: VoiceTV, 7/9/2560

อาชีวะเร่งสร้างกำลังคนรองรับการท่องเที่ยววิจัยพบปัญหาในการพัฒนาบุคลากรการท่องเที่ยว

นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เร่งพัฒนาผลิตกำลังคน ขานรับนโยบายปฏิรูปการศึกษาด้านอาชีวะ หลังงานวิจัยพบปัญหาในการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มาตรฐานการบริการของภาค บริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและชุมชน ท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านทุนมนุษย์ทางการ ท่องเที่ยวที่ต้องการให้มีการพัฒนาหลักสูตร ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ทางการท่องเที่ยว ให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งปัจจุบัน สอศ. มีวิทยาลัยที่ เปิดสอนด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึง มัคคุเทศก์ รวม 43 แห่ง แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคเอกชนที่ต้องการคน ปีละ 200,000 คน แต่สามารถผลิตได้เพียง 4,000 คน ดังนั้น ครม. จึงมีมติสั่งการให้ ช่วยกันแก้ปัญหาการขาดแคลนมัคคุเทศก์ โดย สกว. ได้เข้ามาสนับสนุน สอศ. ในการพัฒนา อาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว อีกทั้งสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการงานวิจัยระหว่างบุคลากรอาชีวศึกษาและคณาจารย์ ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพื่อร่วมกันพัฒนากำลังคนสายอาชีพให้มีขีดความสามารถและสมรรถนะสูงยิ่งขึ้น ตลอดพัฒนาศักยภาพของชุมชนชนบทฐานทรัพยากรทางการท่องเที่ยว

นายวณิชย์ อ่วมศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐาน และทักษะในการบริการของบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว และเตรียมความพร้อมบุคลากรสำหรับภาคการท่องเที่ยง โดยแนวทางการบริหารหลักสูตร คือ ให้มีการใช้ใบรับรองการจบหลักสูตรในการสมัครงานในตำแหน่งต่างๆ เพื่อป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานในอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ หลักสูตร การฝึกอบรมสามารถจำแนกเป็นหลายระดับ เช่น ระดับปฏิบัติการ ระดับหัวหน้างาน ระดับผู้จัดการ ซึ่งผู้ประกอบการยินดีที่จะนำผลผลิต จากงานวิจัยดังกล่าวไปปฏิบัติจริงด้วยการจัดทำ บันทึกข้อตกลง (MOU) รวมทั้งสนับสนุน กระบวนการฝึกอบรมและพัฒนาต่อไป

ที่มา: แนวหน้า, 9/7/2560

คสรท.แถลงไม่เห็นด้วยค่าจ้างลอยตัว และสูตรคิดค่าจ้าง เสนอปรับขึ้นปี 2561

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้จัดแถลงข่าวเรื่อง ขอให้มีการปรับค่าจ้างในปี 2561 ไม่เห็นด้วยกับค่าจ้างลอยตัวและสูตรการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน วันที่ 8 กันยายน 2560 ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)แถลงว่า สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเนื่องในวันกรรมกรสากลปี พ.ศ.2560 มีจำนวน 10 ข้อ การเสนอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหนึ่งใน 10 ข้อที่ยื่นไปซึ่งมีสาระก็คือ

1.) รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

เหตุผล : ที่ผ่านมาการปรับค่าจ้างก็เน้นแต่คำว่า “ขั้นต่ำ”แต่การปรับค่าจ้างไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ควรค่าแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็จะได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลด้วยข้ออ้างเสมอว่านักลงทุนจะหนี จะย้ายฐานการผลิต รัฐบาลให้ความสำคัญของนักลงทุนมากกว่าคุณภาพชีวิตของลูกจ้างซึ่งส่วนมากยังคงได้รับค่าจ้างที่ไม่พอต่อการดำรงชีพ ทำให้คนงานไม่มีเงินเพียงพอที่จะสร้างคุณค่าให้ชีวิตที่ ยากจน เป็นหนี้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการบริโภคและภาคการผลิตและอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขมากกว่าความเป็นจริงทางสังคม แท้จริงแล้วประมาณร้อยละ 60 ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า GDP มาจากคนงานและชนชั้นล่าง

2) ให้กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

เหตุผล : ค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มประกาศใช้ในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2516 ซึ่งหลักการเป็นไปตามนิยามที่ ILO ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก ๒ คนโดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 12 บาทแต่ในปี พ.ศ.2518 นิยามค่าจ้างขั้นต่ำก็เปลี่ยนไปเหลือเพียงเลี้ยงดูคนทำงานเพียงคนเดียว และที่เลวร้ายกว่านั้นในปี 2537 รัฐบาลได้ประกาศให้ค่าจ้างลอยตัว โดยการปรับค่าจ้างในแต่ละจังหวัดก็ขึ้นอยู่กับอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด ซึ่งทำให้ราคาค่าจ้างมีความต่างกันอย่างมากถึง 32 ราคา ในปี 2553 จังหวัดที่มีค่าจ้างสูงสุดเปรียบเทียบกับค่าจ้างต่ำสุดห่างกันถึง 62 บาท (221 – 159) ซึ่งจากความไม่เข้าใจ มองระบบเศรษฐกิจแบบคับแคบ ไม่สนใจโครงสร้างทางสังคมของนักการเมือง นักลงทุน และข้าราชการ ความต่างของค่าจ้างเหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นจนทำให้ประเทศไทยติดลำดับต้นๆของโลกในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทุกรัฐบาลพยายามที่จะแก้ปัญหาแต่ก็ไม่สามารถแก้ได้จนกระทั่งปัจจุบัน และการทำให้ค่าจ้างต่างกันก็จะทำให้คนงานที่อยู่ในเขตค่าจ้างต่ำก็อพยพเข้าเขตค่าจ้างสูงก่อให้เกิดการกระจุกตัวแออัด และทำให้ชนบทภูมิลำเนาขาดแรงงาน ขาดความสัมพันธ์ต่อกันในสังคม สังคมชนบทล่มสลาย ที่ดินที่นาว่างเปล่าไร้เกษตรกรรุ่นหลังสืบทอดจนเกิดการยึดครองที่ดินของกลุ่มทุนผ่านการซื้อขายถูกๆ ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ชอบธรรม

3) กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

เหตุผล : โครงสร้างค่าจ้างและการปรับค่าจ้างทุกปีในเหตุผลและราคาที่เหมาะสมโดยไม่ต้องมารอกังวลกับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะทำให้คนงานสามารถวางแผนอนาคตได้ การจับจ่ายซื้อขายด้วยกำลังซื้อก็จะทำให้เกิดการไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยที่เกือบทั้งหมดทั้งการลงทุนและส่งออกยังคงพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก ยังมีความผันผวนสูงจากเงื่อนไขปัจจัยต่างๆที่กล่าวมา การเน้นกำลังซื้อ กำลังผลิต หรือการสร้างความแข็งแกร่งจากภายในประเทศ มีความสำคัญยิ่งต่อการวางระบบโครงสร้างค่าจ้าง และการปรับค่าจ้างรายปีโดยมองบริบทรอบด้านอย่างเข้าใจ ความเหลื่อมล้ำที่พยายามควานหาทางแก้ไขก็จะค่อยๆหายไปในที่สุด

อย่างไรก็ตามปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานยังคงพยายามที่จะดำเนินการปรับค่าจ้างตามกรอบความคิดเดิม คือปล่อยค่าจ้างลอยตัวในแต่ละจังหวัดให้ดำเนินการได้เอง และเพิ่มสูตรการคิดให้ซับซ้อนมากขึ้นซึ่งในอนาคตค่าจ้างอาจมีถึง 77 ราคา ไม่เกิดผลดีต่อระบบโครงสร้างค่าจ้าง และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จะเป็นการตอกย้ำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมมากขึ้น จากข้อเสนอและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) จึงแถลงจุดยืนต่อสื่อมวลชนและสังคมว่าทั้ง 2 องค์กร ยังคงยืนยันในข้อเรียกร้องและเจตนารมณ์เดิมคือ

“ รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี ”

“และไม่เห็นด้วยกับการให้ค่าจ้างลอยตัวและสูตรการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ ส่วนการปรับค่าจ้างในอัตราเท่าใดนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเจรจาหาเหตุผลกันโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่มิใช่เพียงแค่คณะกรรมการค่าจ้างกลางเพียงอย่างเดียว และให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดโดยให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับประเทศเพียงชุดเดียว มีองค์ประกอบคณะกรรมการที่หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและที่สำคัญด้วยสภาวะเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลได้มีการให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคนงานและประชาชน เช่น ก๊าซ น้ำมัน และอื่นๆจึงควรที่จะต้องปรับค่าจ้างในปี 2561 ตามหลักการและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นพร้อมกับควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคไม่ให้ขึ้นราคาตามไปด้วย

นายสาวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการปรับค่าจ้างมีความจำเป็นต้องมีการถกเถียงกัน จึงไม่ได้กำหนดตัวเลขออกไปฟว่าควรปรับค่าจ้างขึ้นเท่าไร และจากการที่ตนได้รับฟังนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการนายกพบประชาชนเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เงิน 1 แสนบาทต่อปีไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในปัจจุบัน หากเอา 12 เดือนหารก็ตกที่เดือนละ 9 พันบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่าอยู่ไม่ได้ หากอยู่ได้ต้องมีรายได้ต่อปี 3 แสนบาทขึ้นไป ตกเดือนละ 25,000 บาท ซึ่งเห็นว่าค่าจ้างจะเท่าไรต้องมาคุยกัน แต่ในหลักการก็เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางคสรท.เคยทำข้อมูลช่วงปี 2552-2554 เคยเสนอตัวเลขของผุู้มีรายได้สำหรับเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างน้อย 3 คน ค่าจ้างต้องอยู่ที่วันละ 560 บาท ซึ่งปัจจุบันคงมีความเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หากคิดตามอัตราเงินเฟ้อปีละร้อยละ 3 คูรด้วยร้อยละ 12 จาก 560 บาทน่าจะเพิ่มเป็น ประมาร 700 กว่าบาทเพราะอัตราเงินเฟ้อทำให้ค่าเงินต่ำลงหากไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายทำให้คนงานมีเงินซื้อสินค้าได้น้อยลง และไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ซึ่งขณะนี้ทางคสรท.กำลังมีการทำแบบสอบถามเรื่องค่าจ้างกันเองราวหมื่นฉบับ ใน 77 จังหวัด ตอนนี้ได้รับแบบสอบถามกลับมาแล้ว 20 จังหวัด

ส่วนประเด็นของการมีอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดนั้นจากภาพสะท้อนก้จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างในระดับจังหวัด ก็ต้องมีการนำมาให้ส่วนคณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณา ซึ่งแน่นอนไม่ได้รับการปรับตามที่คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอปรับ ซึ่งหากดูข้อมูลของความเป็นตัวแทน ส่วนใหญ่ก้ไม่มีตัวแทนแรงงานที่แท้จริง เพราะว่าไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่มีอำนาจต่อรองทำให้หลายจังหวัดไม่ได้มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง หรือที่เสนอให้ปรับก็ไม่ได้รับการปรับตามที่เสนอมา จึงคิดว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ควรมี ควรยกเลิก ซึงคสรท.ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องไตรภาคี ในเมื่อไม่มีอำนาจ และไม่มีตัวแทนที่แท้จริงก็ไม่ควรมี และคิดว่าเวทีที่ถกแถลงกันต้องมีทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นทั้งส่วนของผู้ประกอบการ ส่วนของคนงาน รัฐบาล และอีกส่วนทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการที่จะมาให้ข้อมูลในลักษณะที่เป้นกลาง ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยมีการเสนอตัวเลขแต่ไม่ได้ตรงกับที่รัฐเสนอเลยไม่ได้ถูกเชิญมาร่วมเวทีให้ข้อมูล ที่เราออกแบบจึงต้องมีภาคส่วนเหล่านี้เข้าร่วมด้วย คาจ้างปัจจุบันไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างในปี 2561 เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะปรับขึ้นเท่าไรต้องมาดูกันในเชิงข้อมูล จำเป็นต้องมีการหารือกัน ส่วนค่าจ้างจะให้ลอยตัวนั้นไม่เห็นด้วยในขณะนี้เพราะว่ายังไม่มีความพร้อมด้วยแรงงานยังไม่มีเสรีภาพเพียงพอ ในการที่จะรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานและมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างได้ เพราะกฎหมายที่มีไม่เอื้อต่อการสร้างการรวมตัวหรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ฉะนั้นการกำหนดเรื่องค่าจ้างประจำปีต้องมี ซึ่งหลังจากสรุปแบบสอบถามเรื่องค่าจ้างปลายเดือนตุลาคม 2560 จะมีการแถลงอีกครั้ง

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท.กล่าวว่า ค่าจ้างยังเป็นประมาณ 3 ถึง 4 อัตราตามที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเมื่อปีที่ผ่านมา จากเดิมค่าจ้างมีการปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ และยังมีบางจังหวัดที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างอีกด้วย วันนี้รัฐบาลดีใจว่ามีนักลงทุนมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่อยากถามว่าคนงานได้อะไรจากการลงทุน การลงทุนของนายทุนรัฐสนับสนุน และการลงทุนครั้งนี้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา และการจ้างงานจะมีหรือไม่ เป็นอย่างไร การจ้างงานจะเป็นแรงงานไทย หรือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเขตAEC ที่มีการจัดตั้งขึ้นในภาคตะวันออก ในยุค 4.0 อย่าหลงดีใจว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จะรับคนงานกี่คนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมองเรื่องสภาพแวดล้อมด้วยก็ยังไม่ทราบว่าจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ในการลงทุนข้างหน้านี้

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า เรื่องการปรับค่าจ้างในระดับจังหวัด ในส่วนของจังหวัดสระบุรี มีการประชุมกันเพื่อกำหนดการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว ซึ่งมีหลายจังหวัดที่มีมติไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งในฝั่งของลูกจ้างต้องการที่จะให้มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ว่าหากดูคะแนนที่มีการสรุปออกมาว่าจะขึ้นหรือไม่ ก็มีผู้ลงคะแนน 8 ต่อ 6 และ7 ต่อ5 เป็นความร่วมมือระหว่างตัวแทนภาครัฐกับนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างจะยกมืออย่างไรก็ไม่มีการปรับขึ้น อยากถามว่ารัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการแล้วออกเสียงโหวตนั้นมีส่วนได้เสียอะไรด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้าง หรือไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะว่าไม่มีลูกจ้างที่ไหนที่มาเป็นกรรมการแล้วบอกว่าไม่อยากปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะทุกจังหวัดยังพึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าจะทำงานมากี่ปี เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ ลูกจ้างเหมาค่าแรง ที่ไม่มีองค์กรสหภาพแรงงานจะได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น การที่ไม่เห็นด้วยกับการมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพราะท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรอง ไม่ว่าอย่างไร หากนายจ้างกับรัฐร่วมกันโหวต ลูกจ้างก้แพ้ 2 ใน 3

“อีกประเด็นรัฐจะบอกเสมอว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำข้าวของจะขึ้นราคา วันนี้ยังไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างเลยราคาก๊าซหุงต้มก็ขึ้นมาถังละ 10 บาท และราคาค่าไฟฟ้ากำลังจะปรับขึ้นตาม ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่มีการปรับขึ้นเลย รัฐบาลควรให้ข้อมูลความจริงไม่ใช่ให้เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานเป็นจำเลยสังคม ตอนนี้แบบสำรวจค่าจ้างกระจายออกไป 77 จังหวัด เพื่อดูว่าค่าครองชีพ ต่างจังหวัดแต่ละภาคนั้นมีความแตกต่างกันหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าเท่านั้น รัฐต้องมีการปรับค่าจ้างประจำปีด้วย ที่ผ่านมาคสรท.ได้ประกาศว่าควรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งไม่ได้รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางไปทำงาน ซึ่งคราวนี้แบบสำรวจของคสรท.มีเรื่องอายุงาน ค่าจ้างที่ได้รับเป็นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ อยู่ภาคอุตสาหกรรมอะไร (แบบสำรวจค่าจ้าง ดาวน์โหลดได้ที่นี่ แบบสํารวจค่าจ้าง 60) คสรท.ในฐานะองค์กรนำที่ทำงานขับเคลื่อนนโยบายจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิแรงงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และอยากส่งเสียงถึงภาครัฐบาลว่าเศรษฐกิจจะเดินได้ต้องมีผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่เพียงนายทุน หรือนักลงทุนเท่านั้น” นางสาวนธนพร กล่าว

นายสมพร ขวัญเนตร เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรต้องเท่ากันทั้งประเทศไม่ควรมีความแตกต่างกัน เพราะจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และค่าจ้างควรเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์การแรงงานระหว่าประเทศ (ILO) การปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี ที่ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้างานก้ไม่มี ทำไมแรงงานรัฐวิสาหกิจมีการปรับขึ้นค่าจ้างอัตราเดียวกันไม่เห็นมีข้ออ้างเรื่องค่าครองชีพที่แตกต่างกัน ปัจจุบันค่าจ้างที่ปรับขึ้นยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่าประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่มีรายได้ประชากรจากระดับปานกลางเป็นผู้มีรายได้ที่สูงขึ้น ฉะนันสิ่งที่จะบอกได้ว่าประชากรมีรายได้สูงคือ ประชากรต้องมีค่าจ้างที่สูงขึ้น เพื่อให้มีรายได้สูง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

นางสาวดาวเรือง ชานก ตัวแทนอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า เมื่อมีการโหวตปรับขึ้นค่าจ้างระดับจังหวัด ฝ่ายตัวแทนลูกจ้างที่มีอยู่จะแพ้โหวตทุกครั้ง กลไกการออกเสียง ส่วนของลูกจ้างจะได้เพียง 5 เสียงเท่านั้น ฝ่ายรัฐ และนายจ้างที่มีฝ่ายละ 5 ส่วนใหญ่ก็โหวตเสียงไม่เห็นด้วยทุกครั้ง แม้ว่าลูกจ้างจะยืนหยันตามคสรท.ที่เสนอปรับค่าจ้าง 360 บาทแต่ส่วนของนายจ้างกับภาครัฐก็จะไม่เห็นด้วย และสรุปส่งให้ส่วนกลาง คือคณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสินใจกลไกระดับจังหวีดจึงไม่สอดคล้องในการเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง เช่นลูกจ้างเสนอเหตุผลว่าค่าจ้างรายได้ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย เมื่อภาครัฐไปสำรวจค่าครองชีพมา ตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำพื้นที่อยู่ที่ 310 บาทต่อวัน เมื่อมีการสำรวจเรื่องค่าใช้จ่ายหลักของคนงาน เช่นค่าเช่าห้อง รัฐสำรวจว่าเดือนละ 500 บาท แต่ความเป็นจริงคือ เช่าเดือนละ 1,200-1,800 บาทขึ้นไป ทำให้ค่าจ้างที่หักลบออกไปยังเหลือ 8 บ้าง 10 บาทบ้าง ความเป็นจริงพอใช้จ่ายหรือไม่ ตัวอย่างเช่นจังหวัดสระบุรีเสนอให้ปรับขึ้นอย่างน้อย 315 บาทแต่พอส่งมาที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ตัดให้ปรับขึ้นเพียง 308 บาท ถามว่ากลไกระดับจังหวัดยังใช้ได้จริงหรือไม่ นี่เป็นอีกเหตุผลที่อยากให้ยกเลิกระบบอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด แล้วให้ส่วนกลางมีบทบาทเสนอปรับค่าจ้าง พร้อมทั้งดึงทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องจริงๆมามีส่วนร่วม

ที่มา: Voicelabour.org, 8/9/2560

อธิบดีกรมการจัดหางานเยี่ยมคนงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนและฟินแลนด์ ย้ำ! ดูแลคนงานไทย ปี 2560 มีรายได้ส่งกลับประเทศมากขึ้น

อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมคนงานไทยในสวีเดนและฟินแลนด์ พร้อมเข้าพบหารือเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ให้ความคุ้มครองด้านสวัสดิการ สัญญาจ้าง สภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงาน พร้อมเจรจาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีเงื่อนไขพิเศษ ลดภาระค่าใช้จ่าย โดยในปี 2560 คนงานไทยสามารถส่งรายได้กลับประเทศได้มากขึ้น

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการตรวจเยี่ยมคนงานไทยไปเก็บผลไม้ป่า (ลูกเบอรรี่) ที่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ที่ผ่านมาว่า ในปี 2560 คนงานไทยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ จำนวนทั้งสิ้น 5,093 คน เป็นสวีเดน 2,903 คน ฟินแลนด์ 2,190 คน โดยสวีเดนเป็นการเดินทางโดยนายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน คนงานเสียค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางจำนวน 75,000 บาท (ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าประกันภัยการเดินทาง ค่ารถโดยสาร ค่าดำเนินการด้านเอกสาร) สำหรับค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเช่ารถและค่าน้ำมันเชื่อเพลิงที่ใช้ในการเดินทางไปทำงานคนงานเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มที่สวีเดน คนงานได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของสวีเดน โดยมีสัญญาจ้าง ใบอนุญาตทำงาน ประกันสุขภาพและประกันเงินเดือนขั้นต่ำ 20,676 โครนาสวีเดนต่อเดือน (ประมาณ 80,429 บาท) ขณะที่ประเทศฟินแลนด์เป็นการเดินทางเข้าประเทศด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ระยะเวลา 90 วันเพื่อเก็บผลไม้ป่า โดยบริษัทรับซื้อผลไม้ของฟินแลนด์จะแจ้งรายชื่อผู้ประสานงานในประเทศไทยและจำนวนโควตาคนงานเก็บผลไม้ป่ามายังกรมการจัดหางาน จากนั้นผู้ประสานงานจะรวบรวมรายชื่อและเอกสารของคนงานไปยื่นขอวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย เมื่อคนงานได้วีซ่าจึงจะไปแจ้งการเดินทางด้วยตนเองที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือกรมการจัดหางาน มีค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง จำนวน 65,000 บาท (ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าประกันชีวิต ค่ารถโดยสาร ค่าดำเนินการด้านเอกสาร) สำหรับค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเช่ารถและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเดินทางไปทำงานคนงานเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มที่ฟินแลนด์ มีประกันชีวิตแต่ไม่มีประกันเงินเดือนขั้นต่ำ

จากการพบปะเยี่ยมเยียนคนงานที่แคมป์ของทั้ง 2 ประเทศ พบว่า คนงานพอใจกับสภาพความเป็นอยู่อาคารที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ออกไปเก็บผลไม้ช่วง 05.00-20.00 น. ในพื้นที่ป่าสนและบนภูเขา สภาพอากาศกลางวันแดดจัด บางวันมีฝนตก ช่วงเย็นอากาศหนาว ต้องใช้ความอดทนในการทำงาน ในปีนี้ผลไม้ป่าราคาดี โดยรายได้จะผ่านเข้าบัญชีส่วนตัวลูกจ้าง พร้อมหักหนี้สินกู้ยืมเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายการเดินทางมาทำงาน โดยส่วนใหญ่จะกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ผ่านบริษัทนายจ้างไทย คนงานจะมีรายได้หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วประมาณ 100,000-120,000 บาทต่อคน ทำให้มีรายได้ส่งกลับประเทศได้มากขึ้น ในส่วนของปัญหาที่พบคือ ราคาผลไม้แต่ละปีไม่แน่นอน ไม่มีการประกันราคาผลไม้ล่วงหน้า และที่ประเทศฟินแลนด์ไม่มีประกันรายได้ และยังมีความเสี่ยงเรื่องราคาผลไม้และพื้นที่ในการเก็บผลไม้ เพราะคนงานไม่สามารถทราบราคาผลไม้และพื้นที่ในการเก็บผลไม้ล่วงหน้าได้ ทำให้ต้องย้ายแคมป์ในการทำงาน

ในโอกาสนี้อธิบดีกรมการจัดหางานและคณะได้หารือร่วมกับนายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนเกี่ยวกับการดูแลคนไทยและตลาดแรงงานไทยในสวีเดน ซึ่งกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานจะได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูต สวีเดนและฟินแลนด์ และบริษัทนายจ้างไทย เพื่อรับทราบแนวโน้มความต้องการคนงานไทย ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตและราคาผลไม้และการดูแลคนงานไทยในด้านต่างๆ นอกจากนี้จะได้หารือกับสถาบันการเงินในการจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของคนงานในอัตราสูงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีราคาผลไม้ไม่เท่ากัน ดังนั้นคนงานต้องตัดสินใจให้รอบคอบ และขอย้ำเตือนให้เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 นายวรานนท์ กล่าว

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 9/9/2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net