ฎีกาตัดสินคดีสายน้ำติดเชื้อ-สั่งเอกชนชดเชยชาวบ้านคลิตี้ล่าง 36 ล้านบาท

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทจ่ายค่าชดเชย 36 ล้านบาท ให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน ฐานปล่อยปละละเลยให้สารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วย กระทบสุขภาพชาวบ้าน และสั่งให้จำเลยทั้ง 7 คน รับผิดชอบฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ จำเลย 2 คนที่ตายแล้วให้ผู้จัดการมรดกรับผิดชอบแทน

แฟ้มภาพชาวบ้านคลิตี้เดินทางไปศาลจังหวัดกาญจนบุรีเมื่อปี 2559 โดยถือภาพถ่ายสมาชิกครอบครัวซึ่งเสียชีวิตด้วย (ที่มา: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม)

11 ก.ย. 2560 กรณีที่ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษากรณีชาวบ้าน 151 คนยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท (ประเทศไทย) ฐานละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่ปล่อยปละละเลยให้สารตะกั่วปนเปื้อนลงในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค เป็นผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตนั้น ในวันนี้ช่วงเช้าที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน ฐานละเมิด พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ปล่อยปละเลยให้สารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ จำนวนกว่า 36 ล้านบาท พร้อมกับมีคำพิพากษาเพิ่มเติมให้ผู้จัดการบริษัทกรรมการบริษัทรวม 7 คนต้องมาร่วมรับผิดชอบ รวมทั้งต้องเข้ามาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว

โดยสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์กะเหรี่ยงและพัฒนา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า นอกจากจะเป็นการพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์แล้ว คำพิพากษาของศาลฎีกายังเพิ่มเติมมุมมองที่ว่า ชาวบ้าน 151 คนจากสมาชิกทั้งชุมชน 200-300 คน ที่ร่วมกันฟ้องให้บริษัทฟื้นฟูลำห้วย ถือเป็นการฟ้องกลุ่มใหญ่ เป็นการเรียกร้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านที่อยู่กันมานานถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรได้ และสามารถขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้ง 7 คน ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ ให้ค่ามาตรฐานเป็นไปตามที่หน่วยงานรัฐกำหนด นอกจากนี้ศาลฎีกามองว่ากรรมการของบริษัทต้องร่วมรับผิดเป็นการส่วนตัว ถือเป็นคนที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งก่อนหน้านี้กรรมการของบริษัทซึ่งเป็นจำเลยในคดีอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของบริษัท แต่คำพิพากษาของศาลฎีกาเห็นว่า กรรมการบริษัทต้องรับผิดด้วย ซึ่งคดีนี้มีกรรมการบริษัท 4 คนเป็นจำเลย กรรมการ 2 คนที่เสียชีวิตแล้ว ผู้จัดการมรดกต้องมารับผิดชอบแทน

สำหรับคดีดังกล่าวต่อสู้กันมาเป็นระยะเวลากว่า 19 ปี โดยในเว็บไซต์ของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) โดยเริ่มเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่ปี 2541 ที่ลำห้วยคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วปริมาณมหาศาลที่รั่วไหลมาจากโรงแต่งแร่ ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากการดื่มน้ำและกินสัตว์น้ำในลำห้วย ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยพิการและเสียชีวิต วิถีชีวิตที่เคยได้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากลำห้วยคลิตี้ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่แล้วปัญหานั้นก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างจริงจังทั้งจากบริษัทเอกชนเจ้าของโรงแต่งแร่ผู้ก่อมลพิษ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และมีการฟ้องร้องคดีมาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อให้ผู้ก่อมลพิษและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบชดใช้

โดยในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 2659/2550 หมายเลขแดงที่ 1290/2553 ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ โจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน กับ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 7 คน ในข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท (หนึ่งพันสี่สิบเอ็ดล้านเก้าแสนห้าหมื่นสองพันบาทถ้วน) และขอให้จำเลยรับผิดชอบในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำพิพากษา ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง จากการที่จำเลยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้เหมือนเดิมและให้จำเลยดำเนินการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป หากจำเลยไม่ยอมดำเนินการ ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้นในประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย แต่ในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูลำห้วย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้บัญญัติให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเอกชนผู้ก่อมลพิษดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยได้โดยตรง แต่เป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษที่จะบังคับตามกฎหมายให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูลำห้วย หากผู้ก่อมลพิษไม่ทำ กรมควบคุมมลพิษก็มีอำนาจฟ้องศาลขอให้บังคับผู้ก่อมลพิษให้ทำได้

โจทก์จึงยื่นฎีกาในประเด็นสิทธิของชาวบ้านในการฟ้องขอให้ศาลสั่งให้เอกชนผู้ก่อมลพิษทำการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน อันเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 11 กันยายน 2560 ดังกล่าว ในขณะที่ฝ่ายจำเลยก็ได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องอ้างว่าการรั่วไหลของสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่เป็นเหตุสุดวิสัย และผู้บริหารของบริษัทไม่จำต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นการส่วนตัวร่วมกับตัวบริษัทที่เป็นนิติบุคคล

นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีที่ชาวบ้านคลิตี้ล่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลอีก 2 คดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก่อนหน้านี้ คดีหนึ่งเป็นคดีปกครองที่ชาวบ้านฟ้องกรมควบคุมมลพิษฐานละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ โดยในเดือนมกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยต้องกำหนดแผนการฟื้นฟู และตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนในตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยทุกฤดูกาลจนกว่าจะไม่เกินค่ามาตรฐาน พร้อมทั้งปิดประกาศผลการตรวจให้ชุมชนทราบ รวมทั้งให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายต่อสิทธิในการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นเงินรวมเกือบ 4 ล้านบาท

อีกคดีหนึ่งในปี 2559 มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม กรณีชาวบ้านคลิตี้ล่าง 8 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ ประเทศไทย จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และคงศักดิ์ กลีบบัว กรรมการผู้จัดการ โดยสุลัตตา กลีบบัว เข้าเป็นคู่ความแทนเป็นจำเลยที่ 2 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นจำนวนเงิน 119 ล้านบาท และขอให้จำเลยทั้งสองฟื้นฟูลำห้วยให้สะอาดให้เหมือนเดิม

โดยศาลพิจารณาเห็นว่ากิจการเหมืองมีของเสียจากการแต่งแร่ที่เป็นพิษต่อร่างกายและถูกปล่อยลงสู่บ่อบำบัด และต่อท่อลงลำห้วยคลิตี้โดยตรง เป็นเจตนาที่ปล่อยของเสียลงลำห้วยทำให้เกิดการปนเปื้อน และเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการเจ็บป่วยของชาวบ้านจริง โดยศาลสั่งให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้ง 8 ราย เป็นเงินรวม 20,200,000 บาท รวมทั้งให้จำเลยร่วมกันรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จนเป็นปรกติ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท