Skip to main content
sharethis

พบ ‘ความเหลื่อมล้ำค่าแรงชาย-หญิง’ ในเอเชียยังมีอยู่สูง งานศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ในนิคมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา ชี้ค่าแรงหญิงได้เพียงร้อยละ 92.8 เมื่อเทียบกับผู้ชาย แม้ทักษะภาษาอังกฤษดีกว่าแต่ผู้หญิงเป็น ‘ฝ่ายผลิต’ มากกว่า ส่วนผู้ชายเป็น ‘หัวหน้างาน-ผู้จัดการ’ มากกว่า ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

11 ก.ย. 2560 ในรายงาน Women at Work: Trends 2016 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2538-2558) มีการลดช่องว่าเรื่องการจ้างงานระหว่างเพศลงเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น และในด้านรายได้ก็พบว่าผู้หญิงยังมีรายได้จากการทำงานน้อยกว่าผู้ชายอยู่ถึงร้อยละ 23 เลยทีเดียว

ส่วนข้อมูลจากรายงาน Underpaid and undervalued: how inequality defines women's work in Asia ของ Oxfam ที่เผยแพร่เมื่อปี 2559 ก็ระบุว่าแรงงานหญิงในเอเชียได้ค่าจ้างร้อยละ 70-90 เมื่อเทียบกับแรงงานชาย ทั้งนี้ภาคธุรกิจมักบีบให้แรงงานหญิงต้องทำงานในสภาพการจ้างงานที่เลวร้ายและถูกกดค่าแรง นอกเหนือจากการทำงานเต็มเวลาแล้วผู้หญิงยังคงต้องรับภาระงาน ‘นอกเวลางาน’ อันรวมถึงภาระงานบ้าน การดูแลคนในครอบครัว ซึ่งส่งผลให้พวกเธอไม่มีเวลาเพียงพอ แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจก้าวกระโดดจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ในระหว่างปี 2533-2558 ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของภูมิภาคอยู่ที่ร้อยละ 6 โดยเฉลี่ย แต่การเติบโตนี้กลับเพิ่มช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยและคนจน และยังส่งผลให้สถานการณ์ความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายแย่ลงอีกด้วย

สถานการณ์ในไทยก็ยังเหลื่อมล้ำในภาคเอกชน

ที่ผ่านมาแนวโน้มของประเทศไทยก็เป็นเช่นเดียวกับในระดับโลกและระดับเอเชีย ที่ค่าแรงจากการทำงานเฉลี่ยของผู้หญิงยังน้อยกว่าชายอยู่

จากข้อมูล 'สัดส่วนค่าจ้างเฉลี่ยหญิงต่อชาย (เฉพาะผู้ที่ทำงานเป็นลูกจ้างรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน) จำแนกตามสถานภาพการทำงาน และช่องว่างรายได้ (ค่าจ้าง) ระหว่างหญิง-ชาย ปี พ.ศ. 2544-2557' ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในภาพรวมทุกภาคการจ้างงานรวมกัน ผู้หญิงยังได้ค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชาย [น่าสังเกตว่าสัดส่วนค่าจ้างเฉลี่ยหญิงต่อชายนั้น เฉลี่ยโดยรวมทุกภาคการจ้างงาน (ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน) แล้วพบว่าผู้หญิงยังได้น้อยกว่าชายตั้งแต่ปี 2544-2557 แต่ในภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ พบว่าในบางปีสัดส่วนค่าจ้างเฉลี่ยของผู้หญิงยังมากกว่าของผู้ชาย]

แต่กระนั้นสัดส่วนค่าจ้างเฉลี่ยหญิงต่อชายของคนทำงานในภาคเอกชน ซึ่งเป็นกำลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศนั้นพบว่ายังเหลื่อมล้ำอยู่มากจากในปี 2544 ที่ร้อยละ 85.19 ขยับมาเป็นร้อยละ 93.19 ในปี 2555 ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภาครัฐบาล (ร้อยละ 94.04) และรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 149.56)

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยค่าแรงหญิงยังน้อยกว่าชาย แม้ทักษะภาษาอังกฤษและงานช่างดีกว่า

เมื่อโฟกัสไปยังภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่สัดส่วนการจ้างงานของแรงงานหญิงมีสูง บางอุตสาหกรรมก็มีการจ้างงานแรงงานหญิงมากกว่าชายไปแล้ว เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่กลับพบว่าค่าแรงของผู้หญิงยังน้อยกว่าชาย รวมทั้งโอกาสก้าวหน้าในสายงานผู้หญิงก็เสียเปรียบผู้ชายด้วย

จากงานศึกษาเรื่อง 'ความแตกต่างค่าจ้างแรงงานระหว่างเพศ : กรณีศึกษาของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา' ของจักรพัทธ์ วาทนาสุข วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2554 ที่ได้ศึกษาพนักงานในระดับแรงงานกึ่งฝีมือ (แรงงานฝ่ายผลิต) ในสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรมยานยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 400 คน จาก 50 โรงงานแบ่งเป็นชายจำนวน 200 คน และหญิงจำนวน 200 คน ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่จะเลือกจ้างแรงงานทั้งชายและหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มีสถานภาพโสดและมีระดับการศึกษาอยู่ที่ระดับอนุปริญญา/ปวส. โดยคิดเป็นร้อยละ 52.7 ร้อยละ 60.5 และร้อยละ 82.5 ตามลำดับ ซึ่งจัดเป็นแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับการทำงาน อีกทั้งยังเป็นแรงงานที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เพราะไม่มีพันธะครอบครัว

ด้านตำแหน่งงานแรงงานส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงจะเป็นพนักงานในระดับเจ้าหน้าที่ (ฝ่ายผลิต) โดยคิดเป็นร้อยละ 97 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพนักงานชายเพียงร้อยละ 47 และเป็นพนักงานหญิงร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 3 เป็นพนักงานในระดับหัวหน้างาน/ผู้ช่วยผู้จัดการ และเป็นที่น่าสังเกตว่าพนักงานในระดับนี้เป็นเพียงผู้ชายเท่านั้น แม้ในงานศึกษาชิ้นนี้จะพบว่าพนักงานงานหญิงมีทักษะทางด้านความสามารถภาษาอังกฤษและความสามารถทางช่างมากกว่าพนักงานชาย

ผลสรุปในด้านความแตกต่างทางด้านอัตราค่าจ้าง จากงานศึกษาพบว่าส่วนใหญ่พนักงานชายจะได้รับอัตราค่าจ้างมากกว่าพนักงานหญิง โดยพนักงานชายได้ค่าจ้างเฉลี่ยที่ 15,100 บาท ซึ่งมากกว่าพนักงานหญิงที่ได้ 14,012 บาท และเมื่อนำค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานหญิงมาคำนวณเปรียบเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานชาย พบว่าพนักงานหญิงมีค่าจ้างเฉลี่ยเพียงร้อยละ 92.8 เมื่อเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานชาย ส่วนด้านสวัสดิการที่พนักงานชายและพนักงานเพศหญิงได้รับ พบว่าต่างก็ได้รับสวัสดิการต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน แต่จะมีแตกต่างกันบ้างในบางสวัสดิการที่มีเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง อาทิ วันลาคลอด วันลาอุปสมบท เป็นต้น

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net