พี่ว๊าก SOTUS ระบบอุปถัมภ์ และประเพณีบุญบั้งไฟ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในบทความนี้ผู้เขียนได้สรุปใจความจากการสัมภาษณ์ “พี่ว๊าก” , , “ กลุ่มคนที่ต่อสู้เรื่องการว๊าก ทั้งในสภา (สภา นศ., กรรมการน ศ.ฯลฯ) และ นอกสภา (นักกิจกรรม) จากมหาลัยต่างๆและชั้นปีต่างๆ ซึ่งด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย จึงไม่สามารถเปิดเผยชื่อบุคคล ชื่อคณะ หรือชื่อมหา'ลัยได้

ดังนั้นในบทความนี้จุดที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอจึงไม่ใช่การประจานกลุ่มบุคคล หรือ มหา'ลัยแห่งไหนให้สังคมช่วยกันตรวจสอบ แต่เป็นการนำเสนอ มุมมองอีกมุมหนึ่งในการทำความเข้าใจ “วัฒนธรรมการว๊าก” ในภาพรวมของมหา'ลัยในประเทศไทย ซึ่งปกติอาจไม่ได้ถูกนำเสนอต่อสังคมมากเท่าที่ควร ก็ขอให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วย 

 

ในส่วนแรก “การว๊าก” ในทัศคติของคนที่เป็น “พี่ว๊าก”

“พี่จะบอกให้นะ สำหรับพี่ กิจกรรมว๊ากนี่เป็นอะไรที่ไร้สาระมากๆ เลย”

พี่ว๊าก ท่านหนึ่งที่เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ได้พูดขึ้น

"เรื่องนี้ใครๆก็รู้เว้ย ว่ามันไร้สาระ มันละเมิดสิทธิ น้องๆก็ไม่ชอบ พี่เองก็ไม่ชอบ ให้มาเอะอะ สั่งนู่นนี่ ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย แถมยังเสี่ยงผิดใจกับน้องๆ อีก"

“แล้วพี่ทำ ทำไมล่ะครับ”

“ ถ้าพี่ไม่ทำมันก็ไม่ใครทำแล้วน้องเอ้ย มันก็ไม่มีใครอยากทำหรอก แต่รุ่นพี่ที่จบไปแล้วเขาอยากให้ทำน่ะสิ"

"พวกเขากลับมารวมตัวกันพร้อมหน้า (หลังเรียนจบ) ตอนวันค่ายรับน้อง เขาก็อยากเห็นสิ่งที่พวกเขาเคยโดน เคยทำ แล้ว.

พวกเขาคิดว่าดี “

“ อ๋อ.. อย่างนี้นี่เอง”

“ แล้วมันไม่ใช่ว่าพี่ทำเพราะเห็นด้วยนะ พวกพี่ และ พวกสภา (นศ.) พวกกรรมการ (นศ.) ก็พยายามต่อรองแล้วต่อรองอีก ให้พี่ๆที่จบไปแล้วเขายอมลดเวลาว๊ากลง ซึ่งรุ่นปัจจุบันก็ถือว่าโดนน้อยกว่าแต่ก่อนนะ รุ่นก่อนๆช่วงว๊ากนี่มากกว่านี้สัก 4-5 ชั่วโมงได้ แต่เราก็ต่อรองจนลดลงมาเรื่อยๆได้เท่านี้ ใจจริงที่ต่อรอง เราต่อรองว่าไม่ต้องมีสักชั่วโมงเลยได้ไหม แต่รุ่นพี่ไม่ยอม “

“ ดูจากสถิติแล้วผมว่าเด็กรุ่นใหม่ๆไม่เอาว๊ากเยอะนะ ถ้ารู้ว่าไปค่ายรับน้องแล้วมีว๊ากก็ไม่ไปเลย ปีหลังๆนี่มาไม่ถึง ¼ ของรุ่นด้วยซ้ำไป ถ้ารู้ว่ามีว๊ากแล้วเด็กไม่มา/มาน้อย จะมีการเปลี่ยนแปลงไหมครับ “

“ แล้วเราจะทำอะไรได้ เขาทำกันมาอย่างนี้เป็นสิบๆปีแล้ว ถ้าเด็กไม่มาก็ช่วยไม่ได้ รุ่นพี่เขาก็จะถือว่า ไม่เอารุ่น ไม่นับเป็นรุ่นน้อง และ จะไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆทั้งสิ้น

“ โอเคครับ “

 

จากบทสนทนานี้จะเห็นได้ว่า “กิจกรรมต่างๆในการว๊าก” แม้แต่รุ่นพี่เองก็รู้ว่าทำไปก็ไม่ได้อะไร ( เช่น บังคับให้จำเลข นศ.เพื่อน, บังคับให้ร้องเพลงสถาบัน เพลงคณะให้ได้ , การสั่งวิดพื้นลุกนั่ง , และกิจกรรมอื่นๆตามแต่ละมหาลัยที่ใช้ในการกดดันน้องๆ ) แต่ก็ต้องทำต่อไป เพราะเป็นความต้องการของ “รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว”

และต่อให้มีว๊ากแล้วคนไปเข้าค่ายน้อย ก็ไม่ใช่ปัญหา ขอแค่ “พอมีคนไป” ให้สามารถ “จัดกิจกรรมว๊าก” ให้รุ่นพี่ที่จบไปแล้วเห็นได้ ก็ถือว่า ภารกิจเสร็จสมบูรณ์

ดังนั้นแก่นสารของกิจกรรมรับน้อง จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อ “น้อง” แบบที่เราเข้าใจกัน แต่เป็นไปเพื่อ “รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว” ได้เห็นว่า “ทุกอย่างยังเหมือนเดิมอยู่”

...........

ในส่วนต่อมา “การว๊าก” ในทัศคติของคนที่เป็น “คนในสภา”

“ พวกผมก็พยายามต่อรองกับพี่ว๊าก และพี่ที่จบไปแล้ว เรื่องการลดเวลาการว๊ากลง แต่เราต่อรองได้มากที่สุดเท่านี้แหละ “

“ ทำไมรึ แต่อำนาจการจัดงานมันอยู่ในมือพวกคุณไม่ใช่หรือ แค่คุณไม่จัด ใครจะทำอะไรได้”

“ จริงๆแล้วมันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น”

“อะไรรึ”

“รู้มั้ยว่าทุกกลุ่มกิจกรรมของคณะผมต้องใช้เงิน ซึ่งเงินเหล่านั้นส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนของรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว ส่วนที่คณะให้ ให้แค่หลักพัน แต่ที่ต้องใช้จริงๆเป็นหลักแสน หลายครั้งพวกเราต้องควักตังค์จ่ายกันเองซึ่งถ้าเราล้มว๊าก แล้วทำให้รุ่นพี่ที่จบไปแล้วไม่พอใจ รุ่นพี่จะตัดงบสนับสนุน ผลก็ คือ  กลุ่มกิจกรรมทุกกลุ่มในคณะจะล้มทั้งหมดเพราะขาดเงินสนับสนุน“

“ อ๋อ..อย่างนี้นี่เอง”

จากบทสนทนาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทั้งตัว “พี่ว๊าก” และ “คนในสภา” ที่จัดค่ายรับน้อง ต่างก็ไม่ได้มีสิทธิเต็มที่ในการเลือกจะทำหรือไม่ทำอะไร ตามที่พวกเขาต้องการ ทุกการตัดสินใจมีความอิสระในระดับนึงตราบที่ไม่ทำให้ “รุ่นพี่ที่จบไปแล้วไม่พอใจ”

............

จากข้อมูลเหล่านี้ผมจึงนำมาสรุปให้เข้าใจง่าย และ สามารถเล่าต่อได้ง่ายโดยการเปรียบเทียบ คือ

“ประเพณีการว๊าก” มีความคล้ายคลึงกับ “ประเพณีบุญบั้งไฟ”

1. คล้ายตรงที่ประเพณีถูกจัดขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ “เทพเจ้า” ได้รับชม

 ในประเพณีบุญบั้งไฟ เทพเจ้า คือ พญาแถน ซึ่งมีอำนาจดลบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาลได้

ในประเพณีรับน้อง เทพเจ้า คือ รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว ซึ่งมีอำนาจดลบันดาลให้กลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในคณะยังอยู่ต่อได้ (ด้วยเงินสนับสนุน) และในระดับปัจเจก คือมีเส้นสายในการเข้าทำงานที่ๆ รุ่นพี่ทำงานอยู่ได้

2. แก่นสารของกิจกรรมในประเพณีไม่ได้มีประโยชน์ในตัวเอง แต่เป็น “สัญญะ” ของบางสิ่ง

ในประเพณีบั้งไฟ การจุดบั้งไฟ ไม่ได้มีผลโดยตรงให้เกิดฝน เหมือนเครื่องบินปล่อยฝนเทียม แต่มีคุณค่าในฐานะที่เป็น “สัญลักษณ์” ที่แสดงถึงความเคารพต่อ “เทพเจ้า” (พญาแถน)

ในประเพณีรับน้อง การถูกว๊าก,ถูกสั่งวิดพื้นลุกนั่ง,ถูกสั่งให้จำเลข นศ.เพื่อน, ถูกสั่งให้จำเพลงคณะ ฯลฯ ไม่ได้เป็นประโยชน์ด้วยตัวมันเอง ( เช่น จำเลข นศ. ถ้าต้องใช้จริงๆ ก็สามารถถ่ายรูปเก็บไว้ได้ ไม่จำเป็นต้อง “ท่องจำ”เอา ) แต่มีแต่มีคุณค่าในฐานะที่เป็น “สัญลักษณ์” ที่แสดงถึงความเคารพต่อ “เทพเจ้า” (รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว)

3. จำนวนผู้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรมไม่สำคัญเท่าการได้จัดพิธีกรรม

ในประเพณีบุญบั้งไฟ ไม่ได้มีการกำหนดขั้นต่ำว่าต้องมีผู้เข้าร่วมกี่มากน้อย ขอแค่มากพอให้สามารถยิงบั้งไฟได้

ในประเพณีรับน้อง ก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องมีรุ่นน้องเข้าร่วมกี่คน หรือ ถ้ามีต่ำกว่าจำนวนที่กำหนด ต้องมีการแก้ไขให้คนเข้าร่วมมากขึ้น ขอแค่มีน้องมากพอให้จัด “กิจกรรมรับน้อง” ได้ ก็เพียงพอแล้ว

4. ทั้งสองประเพณีได้รับการยืนยันจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ไม่ได้ผลตามที่กล่าวอ้าง แต่ก็ยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ

5. เรามักจะคิดว่า “ทีมผู้จัด” เป็นผู้ตัดสินใจในการจัดกิจกรรมทั้งหมด แต่แท้จริงแล้ว พวกเขาต่างก็ถูก “ระบบ” “วัฒนธรรม” ครอบมาอีกที  “พวกเขา” ไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาด ถ้าไม่ใช่ “พวกเขา” อาจจะมีคนอื่นมาทำต่อก็ได้ ปัจจัยชี้ขาดที่แท้จริง คือ “ระบบ”

...........

สรุป

จากบทสนทนาเหล่านี้ผู้อ่านก็สามารถตีความไปได้หลากหลายแนวตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน แต่สำหรับผู้เขียน บทสนทนาเหล่านี้บอกกับเราว่า

“ ระบบ /โครงสร้าง /วัฒนธรรม” ต่างหากที่เป็นตัวผลิตซ้ำอุดมการณ์ (และนำไปสู่การผลิตซ้ำกิจกรรม  ดังนั้นเมื่อเราต่อสู้เรียกร้องสิทธิในประเด็นต่อต้านการว๊ากในประเพณีรับน้อง เราต้องไม่ลืมที่จะกล่าวถึง “ระบบ/โครงสร้าง/วัฒนธรรม” ทีเป็นต้นเหตุที่แท้จริง และ ต้องพยายามสังเกตให้เห็นความเชื่อมต่อระหว่างประเพณีนี้กับวัฒนธรรมอื่นๆในประเทศของเรา เพื่อประสานความขัดแย้งในภาคส่วนอื่นๆเข้ามาเป็นพลังในการต่อสู้ให้เกิดการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง “โครงสร้าง” ให้ได้

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท