'ดาไลลามะ' ร้อง 'ซู จี' หาทางออก ส่วน ยูเอ็น ย้ำอีกวิกฤตโรฮิงญา คือ "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" นัดถกด่วนพรุ่งนี้ สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ร้องพม่ายุติปฏิบัติการทางทหาร

ผู้อพยพชาวโรฮิงญา (แฟ้มภาพ)
12 ก.ย. 2560 จากเหตุการณ์ความรุนแรงภายในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า โดยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาประมาณ 150,000 คนได้หลบหนีเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าที่มีต่อกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา
ยูเอ็น นัดถกด่วนพรุ่งนี้
ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ย.60) Nation TV รายงานว่า 15 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเตรียมหารือนัดฉุกเฉินในประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในวันพรุ่งนี้ ตามคำขอของสหราชอาณาจักรและสวีเดน
รายงานข่าวระบุว่า การนัดประชุมฉุกเฉินเกิดขึ้นหลังเจ้าชายเซอิด บิน ราอัด เซอิด อัล-ฮุสเซ็น แห่งจอร์แดน ข้าหลวงใหญ่แห่งสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า รัฐบาลและกองทัพพม่ากำลังโจมตีอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญา และว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังเข้าตำราการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ ที่ผ่านมาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเคยหารือในประเด็นนี้มาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมจบลงโดยไร้แถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่การประชุมในเดือนมีนาคม จีนได้ใช้อำนาจวีโตในฐานะชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีปัดตกร่างแถลงการณ์ประณาม
'ดาไลลามะ' ร้อง 'ซู จี' หาทางออก
ขณะที่วานนี้ (11 ก.ย.60)
บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต เขียนจดหมายหา ออง ซาน ซู จี เรียกร้องให้เธอหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 3 แสนคนต้องอพยพออกจากพม่า ขณะที่ล่าสุด ข้าหลวงใหญ่คณะมนตรีสิทธิแห่งสหประชาชาติออกมาระบุว่า ปฏิบัติการที่มุ่งเป้าไปยังชาวมุสลิมโรฮิงญาของกองทัพรัฐบาลพม่า "ดูเป็นกรณีตัวอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างชัดเจน"
สมาคมสิทธิฯ ร้องพม่ายุติปฏิบัติการทางทหาร
วันนี้ สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส) ในฐานะองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ ต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายของรัฐบาลและกองทัพพม่า โดยการมุ่งโจมตีต่อหมู่บ้านและชุมชนชาวมุสลิมโรฮิงญาโดยไม่มีการแยกแยะกลุ่มก่อการร้ายออกจากพลเรือน เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของพลเมือง อย่างร้ายแรง
สมาคมสิทธิฯ ระบุด้วยว่า รัฐบาลพม่ายังปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยชนธรรมจากต่างประเทศ ไม่ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงมากยิ่งขึ้น และเป็นอันตรายต่อชีวิตของพลเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคน การกระทำในลักษณะดังกล่าวของรัฐบาลพม่า จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกินกว่าที่นานาประเทศจะยอมรับได้
สมาคมสิทธิฯ จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและกองทัพพม่า ให้ยุติปฏิบัติการทางทหารหรือการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ การปราบปรามจะต้องกระทำเฉพาะต่อกลุ่มก่อการร้ายหรือผู้ต้องสงสัย ซึ่งต้องมีกระบวนการแยกแยะอย่างชัดเจนออกจากพลเรือนโดยทั่วไป และต้องให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมรวมถึงหน่วยงานระหว่างประเทศ เข้าถึงพลเรือนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือโดยทันที เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเมียนมาร์ ยังคงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และมิได้มุ่งประสงค์ที่จะให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา อันเป็นอาชญากรรมที่จะถูกประณามจากทั่วโลก
นอกจากนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพม่า ได้ปฏิบัติการในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายด้วยความชอบธรรม และมิได้ละเลยต่อชีวิตของพลเมืองของตน ควรให้ผู้สื่อข่าวเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นสู่การรับรู้ของนานาประเทศ อันจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลพม่า ซึ่งกำลังถูกจับตามองในเวทีระหว่างประเทศไม่เลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่