ศาลปกครองสั่งมหาดไทยคืนสัญชาติ 351 ไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้าน-เมียวดี

ศาลปกครองสั่งมหาดไทยคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้าน หลังหลักฐานชัดพลัดถิ่นเมื่อสยามทำสัญญากับข้าหลวงอินเดีย พ.ศ. 2441 หลังอังกฤษรบชนะพม่าได้หัวเมืองมอญจนเขตแดนต่อกับสยาม โดยสั่งให้ มท.เพิกถอนมติ 29 ก.ย. 57 ที่ไม่รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นของผู้ฟ้องคดี ให้ถือว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 9/6 พ.ร.บ.สัญชาติ

ด้านทนายความยังขอให้กระทรวงมหาดไทยยุติคดีเพียงเท่านี้ โดยไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพราะคนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้เสียสิทธิมานานแล้ว หากอุทธรณ์คดีก็ยืดเยื้อไปอีกหลายปี

คนไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้าน อพยพกลับเข้ามาอยู่ อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 และสุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความ ระหว่างไปฟังคำพิพากษาศาลปกครองขอคืนสัญชาติไทยเมื่อ 14 กันยายน 2560 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดยสุรพงษ์ กองจันทึก)

14 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (14 ก.ย.60) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่นจากห้วยส้าน อ.แม่สอด จำนวน 351 คน หลังบุคคลทั้งหมดยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวกรวม 4 ราย ไม่รับรองสัญชาติให้กับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองเห็นว่า คำสั่งที่ไม่รับรองสัญชาตินั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้กระทรวงมหาดไทยคืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่นทั้ง 351 คน

 

อ่านคำพิพากษาศาลปกครองคดีคนไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้านที่นี่

สำหรับพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ 352/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 1678/2560 วันที่ 14 กันยายน 2560 ผู้ฟ้องคดีคือ นางเกี๋ยงคำ บัวระพา ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และพวกรวม 351 คน กับผู้ถูกฟ้องคดี ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตุลาการเจ้าของสำนวนคือ นายธวัชไชย สนธิวนิช ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง นายหัสฎี ศรีวิเชียร ตุลาการศาลปกครองกลาง นายวิโรจน์ ศิริชัยเจริญ ตุลาการศาลปกครองกลาง นายวิบูลย์ จำปาเงิน ตุลาการศาลปกครองกลาง มีตุลาการผู้แถลงคดีคือ นายวุฒิวัฒจ์ จรัณยานนท์

 

หลักฐานชัดต้องพลัดถิ่นหลังสยาม-อังกฤษทำสัญญาเมื่อ 2441

รายละเอียดในคำพิพากษาศาลปกครองตอนหนึ่งระบุว่า "ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนเป็นคนไทยพลัดถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เคยมีถิ่นที่อยู่และตั้งถิ่นชุมชนอยู่บริเวณบ้านห้วยส้าน ปัจจุบันอยู่ในเขตแดนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่าเดิม) บรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนเคยมีถิ่นฐานในแผ่นดินอาณาจักรล้านนา ประกอบด้วย เมืองเชียงใหม่ เมืองเขลางค์นครหรือเมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองเชียงราย เมืองลำพูน โดยเรียกตนเองว่าคนเมืองหรือไทยล้านนาเหมือนคนไทยเหนือที่เรียกตนเองว่าคนเมือง และยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในแบบล้านนาที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก ซึ่งบรรพบุรุษส่วนใหญ่มาจากเมืองลำปาง

"ทั้งนี้ประวัติศาสตร์การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเดิมของบรรพบุรุษดังกล่าวประกอบด้วยเหตุผลเนื่องจากเดิมพื้นที่ระหว่างอำเภอแม่สอดของประเทศไทยกับจังหวัดเมียวดีของประเทศเมียนมา (พม่าเดิม) มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเมืองในหุบเขาตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบมีแม่น้ำเมยไหลผ่าน และเป็นชุมชนที่มีเส้นทางการค้าสำคัญผ่านไปยังเมืองมะละแหม่งหรือเมาะลำเลิงซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของเมียนมา (พม่าเดิม) ในสมัยที่ยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ โดยเป็นเส้นทางการค้าระหว่างมะละแหม่ง - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย - ล้านนา - รัฐฉาน - ยูนนาน เส้นทางการค้าส่วนใหญ่ต้องผ่านแม่สอด จึงทำให้บรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าสิบเอ็ดคนได้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางการค้าดังกล่าวทำการค้าเป็นพ่อค้าวัวต่าง แรงงานทำไม้ รวมถึงการเสาะแสวงหาพื้นที่อุดมสมบูรณ์เพื่อทำการเกษตร มีการตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการค้าและอยู่อาศัยบริเวณบ้านห้วยส้านซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่และบางส่วนกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ หลายชุมชนในบริเวณที่ราบของจังหวัดเมียวดีและอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าสิบเอ็ดคนที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มไทยเหนือไว้จนปัจจุบัน ภายในชุมชนมีกำนันผู้ใหญ่บ้านปกครองตนเอง มีการเก็บภาษีใช้ในการทำนุบำรุงวัด ศาสนา โดยไม่มีการจัดเก็บภาษีส่งให้ประเทศหรือรัฐใด ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อยรัฐกะเหรี่ยงหรือรัฐบาลเมียนมา (พม่าเดิม) ซึ่งขณะนั้นอาณาเขตหรือเขตแดนที่จะบ่งบอกถึงความเป็นรัฐยังไม่ปรากฏชัดเจน การก่อตั้งหรือสร้างชุมชนจึงเป็นไปโดยอิสระและไม่อาจทราบเส้นเขตแดนของแต่ละรัฐได้อย่างแท้จริง แม้แต่สยามประเทศในขณะนั้น เมียนมาหรือพม่าภายใต้อาณัติของอังกฤษหรือชาติพันธุ์กะเหรี่ยงต่างๆ ก็ยังไม่อาจทราบเส้นเขตแดนหรือหลักปักปันเขตแดนการปกครองสมัยใหม่ได้ คงมีเพียงพรมแดนธรรมชาติแสดงอำนาจอิทธิพลการดูแลอาณาบริเวณของกลุ่มตนเอง เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองประชากรของตน การรวมกลุ่มตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนจึงเป็นไปโดยอิสระอย่างแท้จริง ต่อมาเมื่อมีการสู้รบระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับกองกำลังรัฐบาลเมียนมา (พม่าเดิม) ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าาสิบเอ็ดซึ่งเดิมเคยอาศัยอยู่บริเวณบ้านห้วยส้านและชุมชนใกล้เคียงไม่สามารถประกอบการค้าได้ จึงได้เดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำเมยเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สอดตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน" ตอนหนึ่งในคำพิพากษาระบุ

โดยหลังจากอังกฤษชนะสงครามได้หัวเมืองมอญซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับดินแดนล้านนา มีการทำอนุสัญญาฯ ที่รัฐบาลสยามทำข้อตกลงกับข้าหลวงใหญ่อินเดียในปี พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) "จึงเป็นผลให้ดินแดนบ้านห้วยส้านที่บรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนเคยอาศัยอยู่เป็นดินแดนของประเทศเมียนมา (พม่าเดิม) นับตั้งแต่วันทำอนุสัญญาดังกล่าว จึงต้องถือว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าสิบเอ็ดคนต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่นโดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราชอาณาจักรไทยในอดีต ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนถือสัญชาติของประเทศอื่นแต่ได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่จังหวัดตากซึ่งเป็นอาณาเขตของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนมีชื่อตัวชื่อสกุลเป็นภาษาไทย มีความเป็นอยู่และวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีเช่นเดียวกับคนไทยภาคเหนือ รวมทั้งได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด ตามนัยกฎกระทรวงการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 และย่อมได้รับการรับรองจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อันมีผลให้ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 9/6 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน"

"การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คน อันทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คน ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 9/6 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 ดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนเป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามคำนิยามคนไทยพลัดถิ่นในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท. 0309.1/15143 ลงวันที่ 29 กันยายน 2557 ที่ไม่ให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าสิบเอ็ดคน ยกเว้นผู้ฟ้องคดีที่ 9 และที่ 324 และให้ถือปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คน ยกเว้นผู้ฟ้องคดีที่ 9 และ 324 เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 9/6 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555"

ศาลปกครองยังวินิจฉัยด้วยว่าเมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นคนไทยพลัดถิ่นมีสัญชาติไทยโดยการเกิด บุตรของคนไทยพลัดถิ่นซึ่งได้รับสัญชาติไทยดังกล่าวย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย เว้นแต่บุตรผู้นั้นถือสัญชาติของประเทศอื่น ตามนัยมาตรา 9/6 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงต้องดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะทางทะเบียนราษฎรให้แก่บุตรของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวด้วย ตามนัยข้อ 9 ของกฎกระทรวง การพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พ.ศ. 2555

สุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

ด้านสุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความสิทธิมนุษยชนที่เดินทางไปฟังคำพิพากษากับชาวบ้านด้วยกล่าวขอบคุณศาลปกครองกลางที่ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน ซึ่งเหตุผลที่ศาลมีคำสั่งคืนสัญชาติไทยให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า อาณาเขตที่คนกลุ่มนี้อยู่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสยาม แต่พลัดถิ่นไปเพราะไทยเสียดินแดนในปี พ.ศ. 2411 จึงถือเป็นคนไทย อีกทั้งทางการเคยขึ้นทะเบียนเป็นคนไทยพลัดถิ่นไว้แล้ว แต่ต่อมาเกิดความคลาดเคลื่อน ทำให้ไม่รับรองสัญชาติไทยให้คนกลุ่มนี้

โดยทนายความยังขอให้กระทรวงมหาดไทยยุติคดีเพียงเท่านี้ โดยไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคนไทยเหล่านี้เสียสิทธิมานานแล้ว หากยื่นอุทธรณ์ก็จะทำให้คดียืดเยื้ออีกหลายปี และก่อนหน้านี้เคยมีคดีที่ศาลปกครองกลางตัดสินให้คืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น จำนวน 73 คน มาแล้ว กระทรวงมหาดไทยก็ดำเนินการให้โดยไม่มีการอุทธรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท