Skip to main content
sharethis

ชาวสิงคโปร์วิจารณ์กรณีประธานาธิบดีหญิงสิงคโปร์คนล่าสุดที่นอนมาแบบไม่ต้องเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญและระบบเลือกตั้ง "แบบสงวนที่นั่ง" ให้กับเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง แถมกำหนดคุณสมบัติมากล้นจนทำให้เหลือผู้สมัครเพียงคนเดียวและได้สาบานตนเป็นประธานาธิบดีทันทีนั่นคือ ฮาลิมะห์ ยาโกบ อดีตประธานรัฐสภาเชื้อสายมลายู ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญยังวิจารณ์ด้วยว่าระบบแบบนี้จะส่งผลเสียต่อรัฐบาลในระยะยาว

ลีเซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวแสดงความยินดีในพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีของฮาลิมะห์ ยาโกบ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 (ที่มา: Prime Minister's Office, Singapore/YouTube)

ฮาลิมะห์ ยาโกบ สาบานตนเป็นประธานาธิบดีของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 ห้อมล้อมด้วยนายกรัฐมนตรี (ซ้าย) และสุนทระเรช เมนอน ประธานศาลสูงสุดสิงคโปร์ (ขวา) (ที่มา: Prime Minister's Office, Singapore/YouTube)

ฮาลิมะห์ ยาโกบ สาบานตนเป็นประธานาธิบดีของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 (ที่มา: Prime Minister's Office, Singapore/YouTube)

14 ก.ย. 2560 ที่สิงคโปร์มีการเลือกตั้งใหญ่ๆ 2 ประเภท นั่นคือการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปซึ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี โดยมีพรรคการเมืองลงแข่งขันกันตามระบอบทั่วไป แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีกลับต่างออกไปตรงที่มีการกำหนดคุณสมบัติเยอะแยะมากมาย จนทำให้ผู้ลงสมัครได้ตามคุณสมบัติเหลือคนเดียวจนไม่ต้องเลือกตั้งอย่างในกรณีของ ฮาลิมะห์ ยาโกบ อายุ 63 ปี ผู้ที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 8 เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา

ทั้งที่ไม่มีการเลือกตั้ง แต่ในพิธีสาบานตนเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ลีเซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้กล่าวแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีคนที่ 8 ว่า "มาดามผู้เป็นประธานาธิบดี ขอแสดงความยินดีที่ท่านได้รับการเลือกตั้ง" (ฟังคลิป)

ในการกล่าวสุนทรพจน์สาบานตน ยาโกบ ทราบดีถึงเสียงกังวลของชาวสิงคโปร์ต่อชัยชนะแบบนอนมาของเธอ ผ่านระบบสำรองที่นั่งให้กับเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยเธอกล่าวตอนหนึ่งว่าเคารพในความคิดเห็นของพวกเขา

"เช่นเดียวกับพวกเขา ดิฉันก็เฝ้ามองไปข้างหน้าไปยังวันที่พวกเราจะไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่มีระบบสงวนที่นั่งในการเลือกตั้ง และโดยธรรมชาติและอย่างสม่ำเสมอที่ชาวสิงคโปร์จะได้เลือกพลเมืองจากทุกเชื้อชาติมาเป็นประธานาธิบดี"

 

ระบบเลือกตั้งแบบสงวนที่นั่ง ส่งเสริมพหุนิยมหรือล็อกสเปก?

ทั้งนี้หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการนำระบบสำรองที่นั่งหรือสงวนที่นั่งให้กับเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งมาใช้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้ชาวสิงคโปร์มีความคิดเห็นต่อประเด็นนี้แตกต่างกัน บ้างเสนอว่ามีความจำเป็นเพื่อปกป้องแนวคิดพหุนิยม ขณะที่อีกส่วนก็เชื่อว่าระบบสำรองที่นั่งจะบ่อนทำลายระบบคุณธรรมของสิงคโปร์

โดยยาโกบ ผู้เป็นอดีตประธานรัฐสภาได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสิงคโปร์โดยไม่มีการเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครคนอื่นไม่ผ่านด้านคุณสมบัติ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็สร้างข้อกังขาในหมู่ประชาชนที่มองว่านี่เป็นกระบวนการที่ถูกจัดฉากเอาไว้แล้ว โดยเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความชอบธรรมในการเป็นประธานาธิบดี

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญสิงคโปร์จะระบุให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ก็มีการกำหนดคุณสมบัติจำนวนมาก เช่น ต้องมีอายุมากกว่า 45 ปี ขึ้นไป ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในช่วงที่ได้รับเสนอชื่อ เคยดำรงตำแหน่งใหญ่ต่างๆ เป็นเวลา 3 ปี เช่น รัฐมนตรี เลขาธิการฝ่ายตรวจสอบบัญชี อธิบดีกรมอัยการ หรือหัวหน้าผู้พิพากษา เป็นต้น ส่วนคนที่มาจากฝ่ายบริหารระดับสูงของเอกชนจะต้องทำงานกับบริษัทที่มีหุ้นมูลค่าอย่างน้อย 500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ และมีคุณสมบัติที่ฟังดูคลุมเครืออย่างการมีศีลธรรม ความซื่อสัตย์ และกิตติศัพท์ที่ดี นั่นทำให้หลายๆ ครั้งผู้สมัครตำแหน่งนี้ไม่มีคู่แข่งให้เลือกตั้ง

เมื่อปี 2554 ก็มีการเลือกตั้งโดยมีผู้สมัครหลายคนและคะแนนผู้ชนะอันดับแรกกับคะแนนอันดับที่ 2 ก็ใกล้เคียงกัน ผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดร้อยละ 94.8 โดยที่ตำแหน่งประธานาธิบดีในสิงคโปร์โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นตำแหน่งในเชิงพิธีกรมเสียมากกว่า แต่ก็มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งไต่สวนการทุจริตคอร์รัปชัน

และล่าสด หนึ่งในหลักเกณฑ์การเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่มเติมเข้าไปในปีที่แล้วก็คือใช้ระบบสำรองที่นั่งให้กับเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยรอบนี้คนที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องเป็นชาวมลายูเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าไม่เคยมีชาวมลายูทำหน้าที่นี้เกิน 5 ทศวรรษแล้ว ทั้งนี้ในสิงคโปร์มีประชากรมลายูร้อยละ 13 ขณะที่ผู้ที่อยู่ในภาครัฐบาลส่วนใหญ่จะเป็นคนเชื้อสายจีนถึง 3 ใน 4

อนึ่งก่อนหน้านี้มีตัวแทนอีก 2 คนที่เป็นชาวมลายูผู้ได้รับการพิจารณา หนึ่งในนั้นคือโมฮัมเหม็ด ซัลเลห์ มาริกัน ผู้ที่บอกว่าถ้าเขาได้รับตำแหน่งเขาจะตรวจสอบเรื่องข้อหาใช้อำนาจในทางที่ผิดที่ลีเซียนหลงถูกกล่าวหา แต่ตัวแทนทั้ง 2 คนนี้ก็ไม่ผ่านการคัดเลือกโดยอ้างว่าบริษัทที่พวกเขาทำงานตำแหน่งสูงก็จริง แต่อยู่ในบริษัทที่ไม่ใหญ่พอ

ถึงแม้ว่ายาโกบจะเป็นประธานาธิบดีหญิงเชื้อสายมลายูคนแรกของสิงคโปร์ แต่ผู้คนก็มองที่มาของเธอว่าไม่เป็นประชาธิปไตย หนึ่งในนั้นคือริโอ โฮ นักศึกษานิติศาสตร์ที่เขียนคอลัมน์ให้กับเว็บไซต์คอนเซนซัสเอสจี

ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยเรื่องการที่เธอเคยเป็น ส.ส. พรรคกิจประชาชน (PAP) พรรคเดียวกับลีเซียนหลง นายกรัฐมนตรีซึ่งถือเป็นหัวหน้าของรัฐบาล โดยที่ในตอนนี้ลีเซียงลุงยังมีข้อพิพาทกับพี่น้องของเขาในเรื่องที่เขาอาศัยตำแหน่งยึดกุมอำนาจแบบพรรคเดียว และดำเนินการในเรื่องต่างๆ ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของพ่อเขาคืออดีตผู้นำลีกวนยู

นักวิจารณ์อีกคนหนึ่ง สุธี โธมัส วาดาเคท ระบุไว้ในบล็อกของตัวเองว่าพรรครัฐบาลกิจประชาชนได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ในการ "ทำลายประชาธิปไตย" และทำลายระบบที่สนับสนุนคนมีความสามารถ

ยูจีน ตัน ผู้ช่วงศาตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์กล่าวว่ารัฐบาลทำพลาดตรงที่ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสให้เลือกตั้งจนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ได้เป็นการวิจารณ์ตัวยาโกบเองแต่เป็นการวิจารณ์ระบบการเลือกตั้งและรัฐบาล อย่างไรก็ตามมันจะทำให้ยาโกบทำงานยากขึ้นไปด้วย

ยาโกบให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในเรื่องนี้ว่า มันไม่สำคัญว่าเธอจะได้ตำแหน่งมาโดยมีการแข่งขันหรือไม่ แต่เธอก็พร้อมจะทำงานให้กับประชาชนสิงคโปร์

โดยรายงานในเดอะสเตรทไทมส์ ระบุว่ายาโกปทราบดีว่าบางชุมชนในสิงคโปร์ก็กังขาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีว่ารอบนี้สำรองที่นั่งให้กับผู้สมัครเชื้อสายมลายู "แม้ว่าระบบเลือกตั้งนี้จะเป็นแบบสำรองที่นั่ง แต่ดิฉันก็ไม่ใช่ประธานาธิบดีตัวสำรอง" เธอย้ำด้วยว่าจะทำงานและเป็นตัวแทนของทุกคน

 

เรียบเรียงจาก

Singapore Has a New President, No Election Needed, The New York Times, 12-09-2017

Although this is a reserved election, I am not a reserved president: Halimah Yacob, The Straitstimes, SEP 13, 2017

President Halimah Yacob: I will serve every one of you, regardless of race, language or religion, The Straitstimes, SEP 14, 2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net