ขอ จนท.ทำงานเชิงบวก หลังข่าว กทม.-ทหาร อ้างความมั่นคง สั่งจับคนเร่ร่อนตรอกสาเก

นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิอิสรชน เผย กทม.-ทหาร อ้างความมั่นคง สั่งกรมพัฒนาสังคมฯ นำรถมาจอดตรอกสาเก ใกล้สนามหลวง หากพบคนเร่ร่อนจับส่งสถานสงเคราะห์ ขอทำงานเชิงบวกและเคาระสิทธิฯ ภายใต้ พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง อย่างที่เคยทำมา

15 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 ก.ย.60) เมื่อเวลาประมาณ 10.20 น. อัจฉรา สรวารี นักสังคมสงเคราะห์ ของมูลนิธิอิสรชน ซึ่งทำงานกับคนเร่ร่อนและคนไร้ที่พึ่ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า รายงานในพื้นที่ตรอก สาเก (เขต พระนคร กรุงเทพฯ) ทหารร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยอ้างความมั่นคง สั่งให้กรมพัฒนาสังคมฯ นำรถมาจอดหน้าตรอกสาเก หากพบคนเร่ร่อนจับขึ้นรถไปลงบันทึกประจำวันส่งสถานสงเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมฯ ก็ต้องทำกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ทำงานเชิงบวกกันมาแต่ต้งมาเจอแบบนี้ คนเร่ร่อนทำไรผิดถึงอ้างความมั่นคง คนเร่ร่อนก็คนเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม อัจฉรา เพิ่มเติมถึงกรณีดังกล่าว เธอเปิดเผยว่า ความจริงแล้ว บริเวณดังกล่าวมีการจัดระเบียบมาช่วงระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ก่อนสร้างพระเมรุมาศในพื้นที่ท้องสนามหลวง โดย กทม. เรียกประชุมหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในตอนแรกเรียกองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วม ช่วงที่มีเรื่องว่ามีคนมารับของบริจาคและนำไปขายจำนวนมาก แต่ช่วงหลังไม่มีการชวนองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมประชุม เป็นเพียงการประชุมภายในของหน่วยงานภาครัฐ
 
อัจฉรา กล่าวว่า ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะทำงานเชิงบวกกับคนไร้ที่พึ่งหรือคนเร่ร่อน เนื่องจากมี พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง อยู่ จึงมีการทำงานร่วมกันภายใต้กรอบของ พ.ร.บ. มีการวางระบบ วางแผนงาน ไม่ได้เน้นจับ แต่เน้นการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิ หากเขาไม่พร้อมไปสถานคุ้มครอง เราก็ไม่สามารถไปจับเขาได้ เพราะมีกฎหมายตัวนี้ดูแลอยู่
 
นักสังคมสงเคราะห์ ของมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า ล่าสุดตนทราบมาจากเจ้าหน้าที่ที่ร่วมประชุมด้วย ว่า กทม. อยากจัดระเบียบให้ครอบคลุม ซึ่งตนไม่ทราบในรายละเอียดเนื่องจากตนไม่ได้เข้าร่วม แต่ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมแจ้งกับตนว่ามีคำสั่งออกมาให้กรมพัฒนาสังคมฯ นำรถไปจอดไว้ที่ตรอกสาเก ตนมองว่าเหมือนเป็นการขู่คนเร่ร่อน เป็นการย้อนยุคกลับไปเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่หากพบคนเร่ร่อน จับขึ้นเอาไปสถานีตำรวจ ลงบันทึกประจำวัน จากนั้นส่งไปสถานคุ้มครอง 
 
อัจฉรา กล่าวต่อว่า คนที่มาเคารพพระศพหรือคนที่อยู่แถวนั้น จะแยกออกได้อย่างไรว่าเป็นคนเร่ร่อนหรือไม่ และหากคนเร่ร่อนไม่ได้ดื่มสุรา หรือก่อเหตุอะไร แต่เป็นประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมแล้วสังสรรค์ อาจเกิดเหตุขึ้น แต่จะโยนความผิดให้กับคนเร่ร่อนหรือ อะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคนเหล่านั้นที่ก่อปัญหาเป็นคนเร่ร่อน 
 
อัจฉรา กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ที่ร่วมประชุมเปิดเผยกับตนว่า กทม. และทหาร อ้างในเรื่องของความมั่นคง ตนก็มีคำถามคือคนเร่ร่อนเกี่ยวอะไรกับเรื่องความมั่นคง
 
อัจฉรา ต้องคำถามด้วยว่า ทำไม่ไปทำงานเชิงข่มขู่คุกคาม ละเมิดสิทธิ ทำไมไม่ทำงานในเชิงบวก เช่น อาจะประกาศว่าพื้นที่ตรงนี้อยู่ในช่วงที่มีพระราชพิธี หากไม่ใช่บุคคลที่มาเกี่ยวข้องหรือเคารพพระศพ อย่าเข้ามาทำการค้าขายหรือก่อกวน หรือมาทำพื้นที่ไม่สะอาด ก็สามารถนำกฎหมายเกี่ยวกับความสะอาดเข้ามาใช้ได้ แต่จากแนวทางข่มขู่ที่กล่าวมานั้น เหมือนเป็นการเอารถไปตั้งการ์ดเลยว่าใครเป็นคนเร่ร่อน แล้วก็เตรียมจับขึ้น ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิ ทั้งที่คนเร่ร่อนก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน และคนเร่ร่อนไม่ใช่ทั้งหมดที่จะก่อกวนหรือทำพื้นที่ไม่สะอาด และในบางครั้งประชาชนที่มาร่วมงานกลับเป็นผู้สร้างขยะเสียเอง คนเร่ร่อนกลับเป็นผู้ไปเก็บขยะเก็บขวดมาขายก็มี
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท