Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน แจงค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับแรงงานแรกเข้าทำงาน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ชี้แจงเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยกล่าวว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการกำหนดเพดานค่าจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เฉพาะลูกจ้างคนเดียวที่สมควรจะได้รับและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ณ เวลานั้น ๆ ซึ่ง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ได้กำหนดให้ค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นมาตรฐานของการคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับค่าจ้าง ทั้งนี้ ประเทศไทยก็ได้นำมาปรับใช้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่นำมาพิจารณาในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า อาทิ ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายลูกจ้าง ได้แก่ปัจจัยทางด้านค่าครองชีพและค่าจ้างที่ผู้ใช้แรงงานพึงได้รับผลตอบแทนจากการทำงานให้สมกับความสามารถและดำรงชีพอยู่ได้อย่างพอเพียง ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายนายจ้างได้แก่ ความสามารถในการจ่าย และความอยู่รอดของธุรกิจ ส่วนปัจจัยทางภาครัฐได้แก่ การประสานผลประโยชน์ของทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของส่วนรวม ความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจ และผลกระทบของค่าจ้างขั้นตํ่าต่อการลงทุน รวมถึงพิจารณาระดับค่าจ้างโดยทั่วไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นด้วย เป็นต้น

นายอนันต์ชัยฯ กล่าวต่อว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับสภาพการใช้จ่ายการครองชีพในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการขยายการลงทุนไปยังภูมิภาค โดยมีคณะอนุกรรมการการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดร่วมกันพิจารณา อันเป็นกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาคไม่ใช่การตัดสินใจจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 จากการปรับอัตราค่าจ้างในอัตรา 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออก เพราะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าจ้างแรงงานเหมือนประเทศไทย การพิจารณาเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน

การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี อันประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งยังได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปในภูมิภาคเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดด้วย เพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องยิ่งขึ้น รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มาดูความเหมาะสมของหลักเกณฑ์ สูตรการคำนวณที่เป็นไปตามหลักวิชาการที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศ ซึ่งในปี 2561 ได้มีการกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาใหม่ โดยจะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าซึ่งเป็นค่าครองชีพของประชาชนรอบ 1 ปี และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และจังหวัด (GPP) ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเฉลี่ย 5 ปี (พ.ศ.2554-2558) มาเป็นฐานการคำนวณด้วย

“ขอเน้นย้ำว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กำหนดไว้เป็นหลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน ส่วนผู้ที่มีทักษะฝีมือแรงงานที่ได้มาตรฐาน กระทรวงแรงงาน ได้กำหนดระดับค่าจ้างอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมสอดคล้องกับทักษะฝีมือและความรู้ความสามารถ ปัจจุบันได้ประกาศแล้ว 67 สาขาอาชีพ สูงสุดถึงวันละ 800 บาท และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มขึ้นอีก 16 ขาอาชีพ หากให้ความสำคัญกับมาตรฐานฝีมือแรงงานประโยชน์จะเกิดขึ้นทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และประเทศชาติที่กำลังจะเดินหน้าสู่ประเทศไทย 4.0” นายอนันต์ชัยฯ กล่าวในท้ายที่สุด

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 10/9/2560

'อีอีซี' ต้องการวิศวกร-แรงงานขั้นสูงกว่าแสนคนใน 5 ปี

นายขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมได้คาดการณ์ว่าหลังจากเปิดพื้นที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) แล้ว คาดว่าจะมีความต้องการแรงงานระดับวิศวกรและกลุ่มแรงงานที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงมากกว่า 1 แสนคน ในระยะ 5 ปีนับจากนี้ ทั้งนี้ความต้องการแรงงานทักษะขั้นสูงที่มากขึ้นนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งสร้างบุคลากรรองรับภาคอุตสาหกรรมไม่ให้ขาดแคลนแรงงาน ภาครัฐควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวางแผนส่งเสริมให้บุคลากรได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมนายขัติยา กล่าว

ด้าน ส.อ.ท.มีโครงการมุ่งพัฒนาแรงงานช่างระดับสูงในจำนวนหลายหมื่นอัตรา โดยคาดการณ์ว่าอีอีซีจะส่งเสริมการลงทุนและผลักดันให้ภาคเอกชนในประเทศพร้อมลงทุนด้านวิจัยมากขึ้น และพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรทักษะสูงและแรงงานในประเทศ พร้อมผลักดันการทำวิจัยให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และการร่วมสร้างนวัตกรรม สำหรับโครงการอีอีซีที่จะเกิดการลงทุนใหม่ในพื้นที่จำนวนหลายแสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานแรงงานใหม่ ควรจะผลักดันภาคธุรกิจกลุ่มขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ได้รับประโยชน์ เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายการผลิต (ซัพพลายเชน) ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มากที่สุด

นายขัติยา กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีควรกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยมุ่งลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีในระดับน้อย เพราะมีเงินลงทุนในธุรกิจที่จำกัดเพื่อผลักดันมูลค่าการผลิตในประเทศมากขึ้น และส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันระหว่างธุรกิจขนาดล็กและขนาดใหญ่

"ปัญหาอุปสรรคหลักของการอาร์แอนด์ดีมาจากการที่องค์ความรู้ส่วนใหญ่จะอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย รวมถึงปัญหาด้านบุคลากรและห้องแล็บ ช่องทางการหาข้อมูลความรู้ไม่หลากหลาย ทำให้การลงทุนสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นไปอย่างล่าช้า"นายขัติยา กล่าว

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 11/9/2560

จ่อเปิดศูนย์คัดบริษัทส่งแรงงานลาวเข้าไทย 7 แห่ง

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย กล่าวภายหลังการลงนามในบันทึกการประชุมระดับวิชาการไทย-ลาวร่วมกับนางอนุสอน คำสิงสะหวัด รักษาการอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย. 2560 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ ว่า ที่ประชุมได้หารือและเห็นชอบร่วมกันในการดำเนินการกรณีแรงงานลาวที่ได้รับหนังสือรับรองจากกระทรวงแรงงาน ทั้งกลุ่มที่ 1 แรงงานลาวมีหนังสือเดินทาง (PP) และวีซ่ายังไม่หมดอายุ และกลุ่มที่ 2 แรงงานลาวที่มี PP แต่วีซ่าหมดอายุ ต้องไปลงทะเบียนที่ศูนย์รับแจ้งของทางการลาว เพื่อเลือกใช้บริการบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งแรงงานมาทำงานที่ประเทศไทย จำนวน 20 บริษัท และศูนย์บริการจัดหางาน 1 ศูนย์ ซึ่งทางการลาวกำหนดจะจัดตั้งศูนย์ จำนวน 7 แห่งได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ จำปาสัก สาละวัน สะหวันนะเขต คำม่วน ไชยะบุรีและกรุงเทพมหานคร ซึ่งฝ่ายไทยได้ลดขั้นตอนการดำเนินการตามรูปแบบเอ็มโอยู โดยใช้หนังสือรับรอง (ใบจับคู่) ที่ออกโดยกระทรวงแรงงานแทนหนังสือแจ้งความต้องการ และหนังสือแจ้งการอนุญาตให้จ้างคนต่างด้าว

นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันฝ่ายไทยพร้อมจัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างเพิ่มที่จ.มุกดาหารอีก 1 แห่ง และพิจารณาขยายระยะเวลาการทำงานของศูนย์แรกรับฯ จังหวัดหนองคายตามความเหมาะสม นอกจากนี้ฝ่ายไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศจะอำนวยความสะดวกโดยอนุญาตให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยดำเนินการขอรับการตรวจลงตรา(วีซ่า ) ประเภท Non - Immigrant L-A ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สำหรับสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต สามารถตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภท Non - Immigrant L-A ได้ แต่แรงงานลาวต้องเดินทางไปขอรับการตรวจลงตราด้วยตนเอง ซึ่งจะประสานกรมการกงสุลเพื่อหาแนวทางการให้บริการ เพื่อรองรับจำนวนแรงงานที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 10/9/2560

กพร. ดึง นศ.อาชีวะ ฝึกเข้มยานยนต์ชิ้นส่วนกว่า 5,000 คน

ก.แรงงาน จัดงาน AHRDA-ประชารัฐ กับการขับเคลื่อนกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์รองรับไทยแลนด์ 4.0” เสริมการพัฒนาบุคลากร ฝึกอบรมแรงงานในสถานประกอบกิจการและนักศึกษาอาชีวะแล้วกว่า 5,000 คน

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จังหวัดสมุทรปราการได้จัดงาน“AHRDA-ประชารัฐกับการขับเคลื่อนกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์รองรับไทยแลนด์ 4.0” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร วิทยากร การจัดทำหลักสูตร และการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ซึ่งสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Academy : AHRDA) จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Growth Engine) เพื่อให้แรงงานมีทักษะความรู้ ความชำนาญ มีมาตรฐานสากล สอดคล้อง 8 วาระปฏิรูป กระทรวงแรงงาน “เพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0” ของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต The First S-Curves และ The New S-Curves

ในปัจจุบัน AHRDA ได้ร่วมกับเครือข่ายในการฝึกอบรมให้กับกำลังแรงงาน พนักงานในสถานประกอบกิจการ นักศึกษาอาชีวะ จำนวน 5,949 คน และพัฒนาหลักสูตรแล้ว จำนวน 107 หลักสูตร เช่น หลักสูตรกลึงรูปพรรณเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หลักสูตรการใช้เครื่อง Wire Cut เพื่อผลิตแม่พิมพ์ หลักสูตรการเชื่อมจุดด้วยความต้านทานในการผลิตชิ้นส่วน หลักสูตรพนักงานควบคุมการเชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์ เป็นต้น

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การจัดงาน “AHRDA-ประชารัฐกับการขับเคลื่อนกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์รองรับไทยแลนด์ 4.0” มีสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กกว่า100 แห่ง และเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน รวม 250 คน เข้าร่วมงาน มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้งการเสวนา “ทิศทางการพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ด้วยวิถีประชารัฐรองรับ Thailand 4.0” แนวคิดจากตัวแทนภาครัฐและเอกชน และ “Skill for Change in Automotive and Part Industry” โดยวิทยากรชั้นนำจากภาคเอกชน มีการฝึกอาชีพฟรี บูทให้คำปรึกษาด้านการจัดฝึกอบรมในสถานประกอบกิจการและการเป็นเครือข่าย Mobile Training พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ เช่น หลักสูตรด้านการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยโปรแกรม NX หลักสูตรงาน CNC อย่างมืออาชีพ หลักสูตรการประกอบชิ้นงาน (MONOZUKURI)

“ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับพนักงานตนเองให้สูงขึ้น ขณะเดียวกัน AHRDA ได้รับข้อแนะนำจากผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปพัฒนากำลังแรงงานต่อไปได้อีกด้วย” อธิบดีกพร. กล่าว

ที่มา: บ้านเมือง, 11/9/2560

เล็งตั้งนิคมฯ มาตรฐานแรงงานไทย

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า กสร.ได้ดำเนินการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานประกอบกิจการมีการบริหารจัดการด้านแรงงานที่เป็นมาตรฐาน เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานซึ่งจะทำให้สถานประกอบกิจการมีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบกิจจัดทำระบบมาตรฐานแรงงานไทย 1,249 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้องกว่า 6.3 แสนคน

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าการยกระดับการดำเนินการดังกล่าว กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ใช้แนวทางประชารัฐโดยประสานความร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมและสถานประกอบกิจการที่อยู่ในนิคมฯ ในการนำมาตรฐานแรงงานไทยไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกจ้าง และยกระดับสู่นิคมอุตสาหกรรมมาตรฐานแรงงานไทย ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับนิคมอุตสาหกรรมอื่นต่อไป โดยจะนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาคร สำหรับสถานประกอบกิจการใดสนใจที่จะเข้ารับการพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงานไทย ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 7211, 0 224 68370 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด"

ที่มา: Nation TV, 13/9/2560

นายกฯ ขอเวลาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ย้ำต้องปรับตัวเป็นแรงงานมีฝีมือ รัฐอุ้มไม่ไหวคงเจ๊งกันหมด

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2560 เวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวคิดที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำในขณะนี้ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เสนอขอปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600-700 บาทต่อวัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เเนวคิดเรื่องการปรับค่าเเรงขั้นต่ำมีอยู่เเล้ว ต้องมาคิดว่าจะดูเเลเขาอย่างไร ประเด็นคือต้องดูว่าผลกระทบจะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้อยู่ในการดูเเลของกระทรวงเเรงงาน ขอร้องว่าอย่าไปพูดกันนอกเวที ส่วนเรื่องค่าเเรงตามคณะกรรมการที่พิจารณาขึ้นมา ก็ขึ้นค่าเเรงเท่าที่ขึ้นได้

“ขอให้เข้าใจวันนี้เรากำลังลงทุน ชักจูงคนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ถ้าเจออย่างนี้เข้าไปก็จบหมด อยากขอเวลาก่อน ให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเเละก้าวหน้า มีรายได้เเละผลประโยชน์มากขึ้นเดี๋ยวค่าเเรงก็ขึ้นเอง อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการพัฒนาตนเองไปสู่เเรงงานที่มีฝีมือ ถ้าทุกคนไม่ปรับตัวเลยก็คงไม่ได้ รัฐบาลอุ้มไม่ไหว ก็คงพากันเจ๊งไปหมด”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/9/2560

ขรก.-พนง.รัฐเจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้า รพ.เอกชน ไม่ต้องทดรองจ่ายภายใน 72 ชม.

กรมบัญชีกลางออกหลักเกณฑ์ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนสำหรับข้าราชการและพนักงานของรัฐ 'เจ็บป่วยฉุกเฉิน มีสิทธิทุกที่' ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและพนักงานของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)”

กรมบัญชีกลางจึงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน สถานพยาบาลของเอกชนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2560 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 เมษายน 2560

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ไหนก็ได้ที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก และหากต้องเข้ารับการรักษาเกินกว่า 72 ชั่วโมง ให้ทดรองจ่ายในส่วนที่เกินกว่า 72 ชั่วโมงไปก่อน แล้วนำใบเสร็จเบิกกับต้นสังกัดในภายหลัง

โดยการเบิกค่ารักษาพยาบาลจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณียังไม่พ้นภาวะวิกฤต และไม่สามารถย้ายไปโรงพยาบาลของรัฐได้ จะเบิกได้ครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไปจริง 2.กรณีพ้นภาวะวิกฤตและสามารถย้ายกลับไปยังโรงพยาบาลของรัฐได้แล้ว แต่โรงพยาบาลของรัฐไม่มีเตียงรองรับนั้น กรมบัญชีกลางจะให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 8,000 บาท

โดยทั้ง 2 กรณี อนุญาตให้เบิกค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ได้ในอัตราของทางราชการ หากแพทย์วินิจฉัยว่าพ้นภาวะวิกฤตและสามารถย้ายไปยังโรงพยาบาลรัฐได้ แต่ปฏิเสธการย้าย ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากพ้นภาวะวิกฤตเอง

โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) และผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 8,000 บาท และสามารถเบิกค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ได้เช่นเดียวกับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ โดยนำใบเสร็จและใบประเมินผลคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินมาเบิกกับต้นสังกัดในภายหลัง ซึ่งในกรณีฉุกเฉินนั้นจะต้องเป็นผู้ป่วย

ที่บาดเจ็บ หรือป่วยกะทันหัน และต้องผ่านการพิจารณาจากระบบคัดแยกของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉิน จะไม่รวมการนัดมาตรวจรักษาพยาบาล หรือการนัดมาทำหัตถการ

"การกำหนดหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวจะได้รับ และเพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเหมาะสม"นางสาวอรนุชกล่าว

ที่มา: Voice TV, 13/9/2560

งบดูแลคนแก่สูง 6-7แสนล. คลังหวั่นรัฐกระเป๋าฉีกเร่งส่งเสริมการออม

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวง การคลัง เปิดเผยในงานสัมนาวิชาการ เรื่อง "Wellness Aging สูงวัย มีสุข" ว่า ปัจจุบันมีประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงได้เล็งเห็นความสำคัญและเริ่มเดินหน้าพัฒนาและส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ หากมีการดำเนินการส่งเสริมการออมได้ จะทำให้กระทรวงการคลังประหยัดงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุ และจะทำให้ไม่เกิดวิกฤติทาง การคลังได้ในอนาคต ทั้งนี้หากไม่เริ่มสนับสนุนเรื่องการออมเพื่อวัยเกษียณ ในช่วง 10-15 ปี ข้างหน้า รัฐบาลจะต้องใช้งบดูแลผู้สูงอายุถึง 6-7 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงได้เตรียมเสนอแพ็กเกจ การส่งเสริมการออมแห่งชาติให้รมว.คลังพิจารณาภายในเดือนกันยายนนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การยกระดับการให้ความรู้ทางการเงิน แก่ประชาชนทุกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ จากปัจจุบันที่แต่ละหน่วยงานต่างมีการทำแต่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ แต่ครั้งนี้จะเป็นการทำร่วมกัน โดยมีกระทรวงการคลังเป็นแกนนำ ซึ่งการให้ความรู้ทางด้านการเงินให้เหมาะสมกับประชาชนแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มเกษตกร กลุ่มคนโสด กลุ่มคนตกงาน ฯลฯ ซึ่งขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)อยู่ระหว่างการ จัดทำแผน 2.การส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการออมที่เป็นเสาหลักการออกฐานราก เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สถาบันการออมชุมชน ในเรื่องการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ โดยนำระบบไอทีเข้ามาช่วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการประสานกับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

3.เรื่องการออกผลิตภัณฑ์การออมใหม่ โดยให้สถาบันการเงินของรัฐบาลและเอกชน เป็นผู้นำ อาทิ บริษัทประกันอาจจะเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีการออกมระยะยาวมากขึ้น โดยให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น การออมเพื่อ ที่อยู่อาศัย หากต้องการเรื่องสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ทางกระทรวงการคลังพร้อม ให้การสนับสนุน และมาตรการลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าง พิจารณาว่าจะใช้มาตรการการเงินการคลัง มาใช้อย่างไรได้บ้าง และ 4.การเพิ่มเติมเงื่อนไขระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ ให้สอดคล้องกับอนาคตประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น กองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันเสนอให้มีการรับเงินบำเน็จบำนาญจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี ส่วนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขณะนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาของกฤษฎีกา คาดว่า จะมีผลบังคับใช้ในปี 2561และจะทยอยดำเนินการการจ่ายเงินสมทบจะเป็นขั้นบันได โดยหวังว่าภายใน 7 ปี จะมีสมาชิก 11 ล้านคนจากปัจจุบันที่มีแรงงานนอกระบบอยู่ที่ 25 ล้านคน ซึ่งคาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินกองทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญและรุนแรงเป็นอย่างมาก โดยผู้ที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่คือกลุ่มคนรากหญ้า ส่งผลให้กลุ่มคนดังกล่าวขาดการออม ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ภายในปีนี้ โดยจะนำหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมดสามารถปล่อยสินเชื่อได้ปกติและจัดเก็บดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมตามกฎหมายกำหนด

นายสมชัยกล่าวว่า กระทรวงการคลัง ยังเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างภาษี โดยจะทำการจัดเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความมั่งคั่ง จากปัจจุบัน ที่จัดเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินเพียง 1% จะขยับเป็น 5% และ 10% ในอนาคต

ที่มา: บ้านเมือง, 14/9/2560

เครือข่ายหมออนามัยลั่น พร้อมเป็น “หน่วยงานรับคนพิการเข้าทำงาน”

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2560 นายมงคล เงินแจ้ง นายกสมาคมหมออนามัย เขตพื้นที่ 2 เปิดเผยถึงการดำเนินการความร่วมมือกับแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เพื่อเป็นหน่วยงานที่จะรับคนพิการเข้าทำงานว่า ทางสมาคมหมออนามัยได้มีการหารือร่วมกันเห็นว่าแนวทางการดำเนินงานนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง จึงมีการสั่งการในระดับนโยบายเพื่อให้เครือข่าย(สมาคมหมออนามัย)ในพื้นที่ทั่วประเทศ เปิดรับคนพิการเข้าไปทำงานในหน่วยงานสาธารณสุข ในกลุ่มงาน 5 ประเภท ได้แก่ งานบริการ งานบันทึกข้อมูล งานธุรการ งานช่วยเหลือคนไข้ งานผู้ช่วยแพทย์แผนไทย/นวดไทย

ทั้งนี้ เครือข่ายในพื้นที่ได้ตอบรับแสดงความสนใจต่อการรับคนพิการเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก ทางสมาคมฯคาดว่าน่าจะได้รับความสนใจจากคนพิการในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 300 ราย ซึ่งจะทำให้เกิดคนพิการเข้าไปทำงานในหน่วยงานสาธารณสุขได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า มูลนิธิฯเห็นว่าการทำความร่วมมือกับสมาคมหมออนามัย เพื่อให้คนพิการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าสู่โอกาสงานได้ โดยการไปทำงานในหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านนั้น เป็นแนวทางที่ดี เพราะช่วยให้คนพิการสามารถทำงานที่เป็นประโยชน์ ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน อีกทั้งยังได้อยู่กับหน่วยงานที่ต้องการการหนุนเสริมกำลังคนทำงาน หน่วยงานเหล่านี้ก็มีความพร้อม มีความเข้าใจในการดูแลคนพิการเป็นอย่างดี เชื่อว่าจะมีบริษัทจำนวนมากให้ความสนใจต่อรูปแบบการจ้างงานเพื่อให้คนพิการไปทำงานในหน่วยงานแบบนี้อย่างแน่นอน

นางมนิษา อนันตผล ผู้จัดการศูนย์ประสานการจ้างงาน มูลนิธินวัตกรรมสังคม กล่าวเพิ่มเติม “สองปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯมีการทำงานกับเครือข่ายรพ.สต.เป็นจำนวนกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรพ.สต.เหล่านี้ได้นำร่องเป็นหน่วยงานรับคนพิการเข้าไปทำงานแล้วกว่า 150อัตรา เพื่อทำงาน อาทิ ผู้ช่วยหน่วยคัดกรอง เจ้าหน้าที่ช่วยงานเวชระเบียน สำหรับการทำความร่วมมือครั้งนี้ มองว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมา มูลนิธิฯยังไม่สามารถเข้าถึงหน่วยงานรพ.สต.ได้เป็นจำนวนมาก ความร่วมมือครั้งช่วยให้ขยายพื้นที่ทำงานที่จะนำโอกาสงานไปสู่คนพิการในพื้นที่ รวมถึงเป็นความร่วมมือในระดับนโยบายจากส่วนกลางคือสมาคมหมออนามัยที่เป็นหน่วยงานที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมีกลไกในการร่วมกับขับเคลื่อนเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนพิการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การทำงานบรรลุเป้าหมายและเกิดความยั่งยืนต่อไปได้

อนึ่ง การทำความร่วมมือในข้อตกลงนี้ เป็นการทำงานภายใต้โครงการจ้างงานเชิงสังคมและส่งเสริมการประกอบอาชีพ โดยมูลนิธินวัตกรรทางสังคม มีหน้าที่ในการเป็นตัวกลางเชื่อมประสานการสนับสนุนจากสถานประกอบการ(ที่ต้องจ้างงานคนพิการตามกฏกหมาย) เพื่อให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานในพื่้นที่ โดยปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมใกล้บ้าน เป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนสังคม

ที่มา: มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม, 15/9/2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net