Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



น้ำผึ้งหยดเดียวจากเหตุความวุ่นวายในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของนิสิตใหม่ ทำให้เกิดการอภิปรายโต้แย้งกันอย่างแพร่หลายทั้งในสื่อออนไลน์,เวทีสาธารณะทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้บริหารจุฬาฯ โดยคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตต้องมีคำสั่งปลดสมาชิกสภานิสิตจำนวน 4 คนออกจากตำแหน่ง เพียงเพราะขาดคุณสมบัติจากการถูกตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งการขัดแย้งในครั้งนี้กำลังสะท้อนภาพและมุมมองบางอย่างในสังคมจุฬาฯ ออกสู่สายตาคนภายนอก

การเผชิญหน้าในพื้นที่ใจกลางของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ระหว่างอุดมการณ์เก่า-อุดมการณ์ใหม่,อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม,ฝ่ายขวา-ฝ่ายซ้าย,วัฒนธรรมเก่า-วัฒนธรรมใหม่,ค่านิยมเก่า-ค่านิยมใหม่ เหตุการณ์นี้จะลุกลามบานปลายและดำเนินต่อเนื่องไปสิ้นสุด ณ จุดใด ก็มีหลายบริบท หลายมิติให้วิเคราะห์กัน หากให้คำจำกัดความว่า ปีกฝ่ายขวาคือกลุ่มอนุรักษ์นิยม ปีกฝ่ายซ้ายคือกลุ่มหัวคิดก้าวหน้าทันสมัยแล้ว การปะทะกันครั้งนี้จะเป็นบททดสอบที่สำคัญของสังคมไทยในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคตอันใกล้นี้

กล่าวได้ว่า นี่คือการจำลองสังคมไทยมาไว้ในห้องทดลองขนาดย่อมในรั้วมหาวิทยาลัย จุฬาฯ ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยาม และเป็นแหล่งรวมตัวของบรรดาหัวกะทิทั้งหลายจากทั่วประเทศ ศิษย์เก่าที่จบออกไปก็กลายเป็นผู้บริหารที่มีบทบาทนำทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นจึงมีความภาคภูมิใจในความเป็นสถาบันอันดับหนึ่ง และด้วยประวัติศาสตร์และเกียรติภูมิอันยาวนานเช่นนี้ บุคลากรที่เกี่ยวข้องจึงต้องการสืบทอดอิทธิพลทางความคิดเหล่านี้ให้ยืนยาวออกไป การรับเอาแนวคิดก้าวหน้าหรือวัฒนธรรมใหม่เข้ามานั้นเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังเพราะขาดการยึดโยงกับรากเหง้าอันเก่าแก่ สิ่งใหม่จึงไม่ได้มีคุณค่ามากกว่าสิ่งเก่าเสมอไป ดังนั้นบรรดาขบถทางความคิดนับจากยุคจิตร ภูมิศักดิ์ จึงไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมอนุรักษ์นิยมย้อนยุคที่ยังมีลมหายใจอยู่ในศตวรรษที่ 21

ถึงแม้จุฬาฯ จะมีความทันสมัยและก้าวหน้าทางวิชาการและมีผลงานวิจัยที่ยอดเยี่ยม,มีความพร้อมของหลักสูตรการศึกษาทั้งไทยและนานาชาติ,มีความเป็นอิสระทางวิชาการ อีกทั้งมีพื้นที่ให้ปลดปล่อยความหลากหลายทางความคิด แต่หากมีใครลุกขึ้นมาท้าทายคุณค่าหรือค่านิยมอันเป็นรากฐาน,ตั้งคำถามในประเด็นที่อ่อนไหว หรือเข้ามาแตะต้องพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อ,ความศรัทธา,ค่านิยม,จารีตประเพณี,วัฒนธรรม และธรรมเนียมปฏิบัติ คนๆ นั้นก็จะถูกแรงกระเพื่อมโจมตีโต้กลับจากองคาพยพอย่างรุนแรงและไร้เหตุผล เปรียบเสมือนการถาโถมของคลื่นสึนามิเข้าหาฝั่ง หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นความทันสมัยที่ไม่พัฒนา ซึ่งจุฬาฯ เองก็มีความทันสมัยเทียบชั้นกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก แต่กลับไม่พยายามยกระดับจิตใจให้เข้าถึงจิตวิญญาณของสังคมประชาธิปไตยแบบสากลเลย

การลงโทษทางอ้อมด้วยการตัดคะแนนความประพฤติเพื่อปลดเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และเพื่อนออกจากตำแหน่งนั้น ดูเหมือนว่าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อมิให้พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์นี้แพร่กระจายออกไป จนเกิดลัทธิเอาอย่างจากนิสิตคนอื่น ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อคุณค่าโดยรวมของสังคมจุฬาฯ โดยผู้บริหารมองว่า นิสิตกลุ่มนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อจารีตประเพณีอันดีงาม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไปเพื่อไม่ให้ความศรัทธาเลื่อมใสถูกท้าทายจากเด็กเมื่อวานซืน อีกทั้งไม่ต้องการถูกตั้งคำถามพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมประดิษฐ์ที่เพิ่งมีมาเมื่อปี 2540 ซึ่งใจความสำคัญก็เพื่อป้องกันการสั่นคลอนของระบบโครงสร้างอำนาจและลำดับชั้นความสัมพันธ์ เช่น ระหว่างอาจารย์กับนิสิต เป็นต้น

 

แถลงการณ์จุฬาฯ ต่อสื่อมวลชน กรณีการลงโทษทางวินัยนิสิต

ครั้งแรก

แก้ไขใหม่

“...ในขณะนี้  ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการกระบวนการสอบสวนทางวินัยสำหรับอาจารย์ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และได้แสดงออกอย่างไม่สมควรยิ่งกับนิสิตคนหนึ่งในเหตุการณ์วันที่ 3 สิงหาคม  ดังปรากฎเป็นข่าวไปอย่างกว้างขวาง...”

“...ในขณะนี้  ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงสำหรับอาจารย์ที่ได้ทำการยับยั้งนิสิตคนหนึ่งในเหตุการณ์วันที่ 3 สิงหาคม  ดังปรากฎเป็นข่าวไปอย่างกว้างขวาง...”

“...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าอับอายยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัย  แต่เป็นการกระทำของบุคคลเพียงคนเดียวและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับนโยบายของมหาวิทยาลัย...”

“...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ  และไม่น่าจะเกิดขึ้น  บัดนี้อาจารย์ท่านนี้ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต...”

“...มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฏิบัติของสถาบัน  ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย  จุฬาฯ ไม่คาดหวังให้สื่อตะวันตกเห็นชอบในการตัดสินใจและวิธีการในเรื่องนี้  แต่เราขอขอบคุณท่านที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจต่อจุดยืนของมหาวิทยลัย...”

“...มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฏิบัติของสถาบัน  ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย  จุฬาฯ ขอขอบคุณท่านที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจต่อจุดยืนของมหาวิทยาลัย...”

ที่มา: เรียบเรียงจากเฟซบุ๊ก Thanawat Wongchai

การแก้ไขแถลงการณ์เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น จึงเกิดข้อสงสัยตามมาว่า เกิดอะไรขึ้น หรือได้รับแรงกดดัน,เสียงสะท้อนจากสังคมภายนอก จนทำให้ต้องเปลี่ยนข้อความให้ดูนุ่มนวลลง ลดความแข็งกร้าว พร้อมทั้งปกป้องและช่วยเหลืออาจารย์ที่เป็นคู่กรณีอย่างเห็นได้ชัด สร้างมลทินให้นิสิตกลายเป็นแพะรับบาปแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยฝ่ายบริหารให้เหตุผลว่า เป็นกิจการภายในที่ดำเนินไปด้วยความสมัครใจของนิสิตภายใต้กฎระเบียบของสถาบันจึงไม่เกี่ยวข้องกับสังคมภายนอก ดังนั้นจุฬาฯ จึงมีสิทธิ์และอำนาจอันชอบธรรมในการตัดสินปัญหา และใช้อำนาจนั้นเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้สังคมส่วนรวม พร้อมทั้งไม่จำเป็นต้องรับผิดหากมีผลเสียเกิดขึ้นจากคำตัดสินดังกล่าว อย่างเช่น ผลการสอบสวนอาจารย์ที่เข้าล็อคคอนิสิตเกิดความล่าช้าอย่างมาก รวมถึงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งๆ ที่ความผิดสำเร็จแล้วจากการทำร้ายร่างกาย อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะลอยนวลไร้ความผิด ซึ่งแตกต่างจากผลการสอบสวนเนติวิทย์และเพื่อนที่ออกมาอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว จนเป็นที่จับตามองของสังคมอย่างคลางแคลงใจ

คำตัดสินลักษณะนี้บ่งบอกว่า ฝ่ายบริหารไม่ใส่ใจแยแสต่อเสียงสะท้อนทั้งในและต่างประเทศ มุ่งแต่รักษาอำนาจในการครอบงำความคิดและจิตใจ ซึ่งต้นทุนที่ต้องจ่ายในครั้งนี้เป็นราคาที่สูงยิ่ง ทั้งนี้เพื่อรักษาและคงไว้ซึ่งความเป็นอนุรักษ์นิยมต่อไป การไม่ตอบคำถามของสังคมให้กระจ่างอย่างไร้ข้อกังขา ย่อมส่งผลให้ความน่าเชื่อถือลดลง สาระสำคัญที่โลกมองก็คือ เหตุใดและทำไมมหาวิทยาลัยระดับแถวหน้าของประเทศ กลับมีแนวคิดที่ตื้นเขิน คับแคบ และล้าหลังเช่นนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่มีผลสะเทือนให้การจัดอันดับของจุฬาฯ เพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ตามมาคือ จะเกิดคำถามขึ้นมากมายในแวดวงวิชาการว่า องค์ความรู้ทางทฤษฎีในห้องเรียนและภาคปฏิบัตินอกห้องเรียนมีทิศทางเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่ ทำไมจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เมื่อมองออกไปนอกประเทศแล้ว คงเป็นเรื่องตลกขบขันในเวทีนานาชาติ หากถูกตั้งคำถามถึงความไม่มีเสรีภาพในการยอมรับความคิดที่แตกต่าง  การปิดกั้นการแสดงออกของนิสิต การไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ทำให้สภาพมหาวิทยาลัยเป็นดั่งค่ายทหารที่ผู้บริหารสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามใจชอบ นิสิตจึงเป็นเพียงผู้รับคำสั่งและปฏิบัติตามเท่านั้น ความคิดที่แปลกแยกไปจากสังคมส่วนใหญ่จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ คุณค่าหรือค่านิยมดั่งเดิมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนต้องสรรเสริญและกราบไหว้บูชา

หากมองลึกลงไปจะปรากฎภาพระบบอุปถัมภ์เป็นแก่นและใจกลางของการปะทะกัน การอุปถัมภ์ค้ำชูเริ่มกันตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบน ซึ่งในอุดมคติของผู้มีอำนาจนั้นต้องการสภาพการปกครองที่สงบเรียบร้อยโดยง่าย นอกจากใช้กฎระเบียบและข้อบังคับทางกฎหมายแล้ว ยังต้องใช้ความเชื่อ,ความศักดิ์สิทธิ์,ความศรัทธา เพื่อครอบงำทางจิตใจอีกด้วย โดยการสร้างศูนย์รวมจิตใจให้เป็นค่านิยมหลักของสังคม ซึ่งจะเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือทำลายมิได้ การอภิปรายถกเถียงกันตามข้อเท็จจริงในเวทีสาธารณะจะถือเป็นการบ่อนทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของระบบโดยรวม รวมทั้งลดทอนความน่าเชื่อถือ และส่งผลกระทบต่อความมั่งคงของสถาบันหลักของชาติได้

การนิยามตัวเองว่าเป็นเสาหลักของแผ่นดิน ในความหมายที่ต้องมั่นคงและหนักแน่น เพื่อเป็นคำตอบให้สังคมอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงยืนหยัดในหลักวิชาการที่ถูกต้องเที่ยงธรรม แต่น่าแปลกใจที่เสาหลักนี้ปักอยู่ในดินเลนที่พร้อมจะเอนเอียงไปรับใช้ผู้มีอำนาจในระบอบเผด็จการเสมอมา และที่สำคัญคือ พร้อมจะแปรพักตร์หรือทรยศต่อจรรยาบรรณวิชาชีพหากผลประโยชน์ลงตัว หรือกล่าวได้ว่า เกียรติภูมิที่ยึดถืออยู่นั้น จริงๆ แล้วเป็นเกียรติแห่งการเป็นนายประชาชนมากกว่า ไม่ใช่เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชนตามคำขวัญจรรโลงใจ ความภาคภูมิในการเป็นเสาหลักนี้ได้สร้างอีโก้หรืออัตลักษณ์ที่มองไม่เห็นในรูปแบบการยกตนข่มท่าน เย่อหยิ่งลำพองตัว มองคนอื่นต่ำระดับเป็นเพียงเสารองที่ไม่มีความสำคัญมากนัก เปรียบเปรยก็เหมือนการแบ่งชนชั้นวรรณะโดยปริยาย ไม่ต่างอะไรจากแนวคิดนายกับบ่าว เจ้ากับไพร่

เมื่อฉากสุดท้ายมาถึง การประยุกต์ค่านิยมเดิมให้อยู่รอดปลอดภัยในกระแสโลกาภิวัตน์นั้น ต้องทำให้เนื้อหามีความร่วมสมัยมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และสร้างโอกาสนำเสนอมุมมองและความคิดที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดการอภิปรายอย่างมีเหตุผลเป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม ทั้งนี้เพื่อพัฒนาและยกระดับสติปัญญาขึ้นมารองรับสิ่งใหม่ที่กำลังเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพราะกระแสน้ำแห่งการเปลี่ยนแปลงจะไหลปะทะและพังทลายสิ่งกีดขวางย้อนยุคอย่างไม่เหลือซากและไร้ซึ่งความเมตตาปรานีแต่อย่างใด

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net