Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
โชคชัย สุทธาเวศ เขียนบทความร่วมรำลึกวันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy) ของสหประชาชาติ (วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี)

บทนำ

ประวัติศาสตร์สากลแสดงให้เราเห็นว่า ประเทศส่วนใหญ่ของโลก หากไม่นับประชาธิปไตยชุมชนบุพกาลของชนเผ่า แต่ถือเอาสมัยอาณาจักรกรีกและโรมันในยุโรปเมื่อกว่าสองพันปีก่อนเป็นจุดเริ่มต้น ก็ได้เคยมีระบอบประชาธิปไตยแตกหน่อขึ้นแล้ว แต่มาสูญหายไปชั่วคราวหลังสมัยกรีกและโรมันล่มสลาย ภายใต้ยุคมืดของยุโรปที่คริสตจักรครอบงำอาณาจักรกว่าหนึ่งพันปีนั้น

นับจากยุคแสงสว่างทางปัญญา (Renaissance) ในคริสตศตวรรษที่ 15 ที่เน้นเรื่องการฟื้นฟูศิลปวิทยาและสถาปัตยกรรม และ ถัดมาในยุคการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ในคริสตศตวรรษที่ 16 - 17 อันเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ของการค้นพบใหม่ทางวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา นักคิดฝ่ายประชาธิปไตย นักคิดฝ่ายเผด็จการ และผู้ปกครองรัฐแบบกษัตริย์และศักดินานิยมอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เริ่มมีปฏิสังสรรค์กันทางปัญญาและการต่อสู้กันในทางการเมืองการปกครอง แต่โดยภาพรวมแล้ว ในรอบกว่า 300 ปีที่ผ่านมา รัฐสมัยใหม่ค่อยๆทยอยอาศัยแนวคิดและกระบวนการประชาธิปไตยของชุมชนและสังคมสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชาชนของตน และใช้มันเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างสันติ มากกว่าการปกครองแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็น: การปกครองโดยเหล่าผู้ทรงเกียรติ (มักจะเป็นคนรวย) (Timocracy) การปกครองโดยคนส่วนน้อย (Oligarchy) รวมทั้งหรืออาจจะกลายเป็นคณาธิปไตยของขุนนางชั้นสูงที่มีคุณธรรม (Aristocracy) และการปกครองโดยกษัตริย์ (Monarchy) ที่การปกครองเหล่านี้อาจจะเป็นการปกครองที่ชอบธรรมหรือเป็นการปกครองของทรราช (Tyranny) ไปเสียก็ตาม

สิ่งที่สมควรทำความกระจ่างกันก็คือ ประชาธิปไตยที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในบางส่วนของโลกและรับเอามาปรับใช้กับประเทศอื่นมากขึ้นๆในระดับโลกนั้น แสดงถึงความเป็นสากลนิยมของประชาธิปไตยได้เช่นไร และหลักการประชาธิปไตยสากล อันถูกพัฒนาขึ้นมาใช้กันนั้น มีสาระสำคัญอะไรบ้าง และสำหรับประเทศไทยแล้ว ทำไมเราจึงสมควรยืนยันใช้มันเพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่กำลังตกต่ำในประเทศไทยของเรา 

 

สากลนิยมของประชาธิปไตย

การกล่าวถึงสากลนิยมของประชาธิปไตย ย่อมมีได้หลายมุมมอง เราสามารถอาศัยการพิจารณาจากมุมมองเชิงสิทธิทางการเมืองของประชาชนเป็นหลักและโดยสังเขป ดังต่อไปนี้


สิทธิทางการเมืองของประชาชนสะท้อนสากลนิยมของประชาธิปไตยอย่างไร?

สิทธิทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ค่อยๆพัฒนาขึ้นจากประเทศตะวันตกตั้งแต่สมัยคริสตศตวรรษที่ 17 ประเทศสำคัญที่เป็นแบบอย่างคือ สหรัฐอเมริกา (ที่เกี่ยวเนื่องกับการปลดแอกจากสหราชอาณาจักร) และฝรั่งเศส และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคเริ่มแรก คือ การสร้างสรรค์การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อวางรากฐานการปกครองในแบบที่ประชาชนเป็นใหญ่นั่นเอง

กรณีของสหรัฐอเมริกานั้น เกิดขึ้นในคราวการปฏิวัติอเมริกาเพื่อปลดปล่อยความเป็นประเทศอาณานิคมของอเมริกาออกจากสหราชอาณาจักร หลักการสำคัญหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้บ้าง (หลังจากมีการใช้กันในอังกฤษมาก่อน) ในมลรัฐทัง 13 แห่ง ในทวีปอเมริกาที่สมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็คือ “No representation without taxation” อันหมายถึงว่า หากไม่มีระบบผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมา ประชาชนก็จะไม่ยอมเสียภาษี (หลักการเดียวกับบทบัญญัติใน Bill of Rights 1689 ในสหราชอาณาจักร  ที่ว่า ”การบังคับให้จ่ายภาษีจะทำไม่ได้ หากมิได้ผ่านการยินยอมของรัฐสภา”) หลักการดังกล่าวถูกนำมาใช้อย่างสำเร็จผล ร่วมกับปฏิบัติการต่อสู้อื่นๆ ในขณะทำการต่อสู้เพื่อประกาศเอกราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเทใบชาจากประเทศอังกฤษทิ้งทะเล และการสู้รบกันด้วยอาวุธระหว่างทหารรัฐบาลสหราชอาณาจักรกับทหารและประชาชนจากมลรัฐในอเมริกาจำนวนหนึ่งจนประสบชัยชนะ สามารถประกาศเอกราชได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776

กรณีฝรั่งเศส การประกาศหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ซึ่งได้แบบอย่างมาจากคราวการปฏิวัติอเมริกา (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 1) ในอีก 13 ปีต่อมา แสดงถึงความก้าวหน้าไม่แพ้สิทธิทางการเมืองของประชาชนมากกว่าที่เคยมีในคราวปฏิวัติอเมริกา แต่ยังคงแฝงอยู่ภายใต้ คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง จำนวน 17 ข้อ โดยเน้นสามเรื่องสำคัญที่ผูกโยงกัน คือ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"

สิทธิทางการเมืองของประชาชนมีความก้าวหน้าในระดับสากลอย่างชัดเจนก็สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสหประชาชาติ (United Nations) ได้รับการจัดตั้งขึ้นแทนสันนิบาตชาติ (League of Nations) ที่จัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ล้มเหลวในการหยุดยั้งไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 2) โดยผลของสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาติจึงได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Declaration on Human Rights 1948) ปฏิญญาฉบับนี้ผู้แทนจากฝ่ายประเทศทุนนิยมและสังคมนิยมได้ร่างร่วมกัน และอิงอยู่บนหลักการในคำประกาศปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างมาก สิทธิทางการเมืองของประชาชนถูกระบุไว้ในข้อ 21 ของปฏิญญาฉบับนี้ คือ

 

“ข้อ 21   สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและเข้าถึงบริการสาธารณะ

(1) ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน จะเป็นโดยตรงหรือโดยผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ

(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค

(3) เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้ต้องแสดงออกทางการเลือกตั้ง ตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง ซึ่งอาศัยการออกเสียงโดยทั่วไป และเสมอภาค และการลงคะแนนลับหรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระอย่างอื่นทำนองเดียวกัน”


ต่อมาในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2509 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรองกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาพหุภาคี และมีผลใช้บังคับเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2519 อันเป็นการรองรับสิทธิพลเมืองและทางการเมืองที่มีสาระในแง่มุมต่างๆครบถ้วนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในทางการเมืองนั้น ได้เน้นถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การมีส่วนร่วมกับรัฐบาลโดยตรงหรือผ่านผู้แทนราษฎร  รวมทั้งการรับรองเจตจำนงของประชาชนผ่านสิทธิในการเลือกตั้งด้วย และนอกจากนี้ยังรวมถึงเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งสะท้อนอยู่ในสิทธิพลเมืองของสหประชาชาติด้วย

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงสะท้องสากลนิยมของประชาธิปไตยหรือสากลนิยมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นจากประเทศตะวันตก และมีองค์การระดับโลกแบบสหประชาชาติช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ในระดับสากล อันทำให้ประชาธิปไตยได้รับการสนับสนุนออกไปทั่วโลกมากขึ้น และช่วยเสริมแรงประชาชนในประเทศด้อยและกำลังพัฒนาต่างๆ ในการสรรค์สร้างประชาธิปไตยของตนให้เติบโตและมีคุณภาพ


หลักการประชาธิปไตยสากล

ปรัชญาการเมือง ทฤษฎี และตัวแบบ หรือสิทธิมนุษยชนในทางการเมืองประชาธิปไตย ตอบสนองต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในทิศทางโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรอบ 200 – 300 ปีที่ผ่านมา การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีความหมายสำคัญว่าคือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังที่ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอน ของสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวสุนทรพจน์ไว้เป็นอมตะนั้น [แต่เราทั้งหลาย ก็พึงระวังว่าจะเกิดอันตราย หากจะกลายเป็นการปกครองของรัฐบาลที่อยู่เหนือประชาชน (Government over the people) อันหมายถึงประชาชนสูญเสียอำนาจของตนเองไปให้รัฐบาลมาอยู่เหนือตน] นับถึงปัจจุบัน การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้รับการให้คุณค่าว่ามีค่านิยมที่เป็นสากลโดยประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ร่วมโลก อย่างไม่ต้องสงสัย กล่าวคือ องค์การสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter-Parliament Union, IPU) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมรัฐสภาและรัฐบาลต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 3) เป็นอาทิ ได้ยืนยันในเรื่องนี้ โดยออก “คำประกาศว่าด้วยประชาธิปไตย” (Universal Declaration on Democracy) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 1997 โดยสาระสำคัญในส่วนของหลักการประชาธิปไตย ได้ประกาศ (ข้าพเจ้า - ผู้เขียนขอแปล) ไว้ดังนี้

1) ประชาธิปไตยเป็นทั้งอุดมคติและเป้าหมายในระดับสากล ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานค่านิยมร่วมกันของประชาชนทั่วชุมชนโลก โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองที่จะใช้สิทธินั้น ภายใต้เงื่อนไขของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ ด้วยความเคารพต่อทัศนะที่หลากหลาย และในผลประโยชน์ของประชาชนในระบบการเมือง

2) ประชาธิปไตยเป็นทั้งอุดมคติที่จะต้องยึดถือไว้ และเป็นวิถีแห่งการเป็นรัฐบาลที่พึงจะนำไปประยุกต์ตามแบบแผนที่สะท้อนถึงความหลากหลายของประสบการณ์ และลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมโดยต้องไม่ละทิ้งหลักการ บรรทัดฐาน และมาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเหล่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาทางทำให้มีสถานภาพแห่งปัจจัยและเงื่อนไขที่สมบูรณ์ที่จะยังความก้าวหน้าแห่งประชาธิปไตยบนความหลากหลายของการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

3) ในฐานะที่เป็นอุดมคติ  ประชาธิปไตยมีจุดมุ่งหมายอย่างสำคัญที่จะรักษาและส่งเสริมศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานของแต่ละบุคคลเพื่อที่จะบรรลุความยุติธรรมทางสังคม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน เสริมสร้างความแข็งแกร่งในความเป็นปึกแผ่นของสังคม และเสริมสร้างความสงบสุขในชาติ เช่นเดียวกับเพื่อสร้างบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อความสงบสุขระหว่างประเทศและในการจัดตั้งรัฐบาล ประชาธิปไตยเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว; นอกจากนี้ ประชาธิปไตยยังเป็นระบบการเมืองที่มีความสามารถในการปรับปรุงแก้ไขด้วยตนเองให้ถูกต้อง

4) ผลสัมฤทธิ์ของประชาธิปไตย ย่อมอาศัยความเป็นหุ้นส่วนที่แท้จริงระหว่างชายและหญิง ในการดำเนินกิจกรรมของสังคมที่พวกเขาทำงานกันอย่างเสมอภาคและช่วยเหลือกันและกัน อันได้มาจากคุณค่าร่วมของความแตกต่างของทั้งสองฝ่าย

5) รัฐของระบอบประชาธิปไตยย่อมให้หลักประกันว่ากระบวนการที่อำนาจเข้าไปถึง การใช้อาวุธ และการปรับเปลี่ยนใดๆ จะเป็นไปให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองอย่างเปิดเผย เสรี และไม่เลือกปฏิบัติต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยถูกใช้ไปในทางที่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ทั้งในทางลายลักษณ์อักษรและจิตวิญญาณ

6) ประชาธิปไตยไม่สามารถแยกออกได้จากสิทธิที่กำหนดไว้ในกลไกระหว่างประเทศที่กล่าวถึงในอารัมภบท สิทธิเหล่านี้จึงต้องถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิผล และการใช้สิทธิอย่างเหมาะสมเหล่านั้นจะต้องไปด้วยกันกับความรับผิดชอบของบุคคลและส่วนรวม

7) ประชาธิปไตยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นปราการหลักของกฎหมายและการใช้สิทธิมนุษยชน ในรัฐประชาธิปไตย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และทุกคนมีความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย

8) สันติภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นเงื่อนไขสำหรับและผลของประชาธิปไตย การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างความสงบสุข การพัฒนา การเคารพต่อและปฏิบัติตามหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน

ในอีก 10 ปี ต่อมา สหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์การกลางของรัฐบาลทั่วโลกและส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตลอดมานั้น คือในปี 2007 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาติ (United Nations General Assembly) ได้มีมติให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปีเป็นวันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy) ในคำอารัมภบทของมติที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาติในปี 2007 นั้น กล่าวไว้ว่า:

“ในขณะที่ประชาธิปไตยมีคุณลักษณะร่วม โดยความเป็นประชาธิปไตยมิได้มีรูปแบบเดียว และประชาธิปไตยก็มิได้เป็นเจ้าของเพียงโดยประเทศหรือภูมิภาคใดๆ

.....ประชาธิปไตยเป็นค่านิยมสากล (universal value) ที่ตั้งอยู่บนการแสดงออกได้อย่างเสรีถึงเจตจำนงของประชาชน เพื่อกำหนดชะตากรรมของระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของตัวเอง และต่อการมีส่วนร่วมของพวกเขาอย่างเต็มที่ในทุกด้านของชีวิต”

หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังมีการกล่าวถึงโดยรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา (ผู้เขียนขอแปล) ไว้ดังต่อไปนี้ (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 4)

1) ประชาธิปไตย คือ การปกครองที่อำนาจและความรับผิดชอบของพลเมืองถูกใช้โดยประชาชนทุกคน ในทางตรงหรือผ่านทางผู้แทนราษฎรของตนที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างเสรี

2) ประชาธิปไตยคือชุดของหลักการ และวิธีปฏิบัติที่ปกป้องเสรีภาพของมนุษย์; ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นสถาบันของเสรีภาพ

3) ประชาธิปไตยวางอยู่บนหลักการของการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ควบคู่กับการยอมรับสิทธิส่วนบุคคลและเสียงส่วนน้อย  ระบอบประชาธิปไตยทั้งปวงนั้น ในขณะที่เคารพเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ แต่ก็ปกป้องอย่างแข็งขันต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลและกลุ่มคนเสียงข้างน้อย

4) รัฐประชาธิปไตยโต้ตอบต่ออำนาจทั้งหมดและล้นเหลือของรัฐบาลกลาง และทำให้มีการกระจายอำนาจของรัฐบาลไปในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ด้วยการตระหนักรู้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะต้องเป็นรัฐบาลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและตอบสนองต่อประชาชนเท่าที่เป็นไปได้

5) ประชาธิปไตยตระหนักรู้ว่า หนึ่งในหน้าที่หลักของประชาธิปไตยคือการปกป้องต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการพูด และการนับถือศาสนา; สิทธิที่ประชาชนจะได้รับในการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน; และโอกาสที่จะรวมตัว และเข้าร่วมอย่างเต็มที่ในชีวิตทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประชาชนในสังคม

6) รัฐประชาธิปไตยย่อมจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมที่เปิดกว้างทั่วถึงแก่ประชาชนทุกคนอย่างสม่ำเสมอ การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเป็นไปได้ภายใต้การครอบงำของเผด็จการหรือพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง แต่มีผู้ที่แข่งขันกันอย่างเป็นจริงเพื่อขอรับการสนับสนุนของประชาชน

7) ประชาธิปไตยกำหนดให้รัฐบาลบริหารโดยใช้กฎหมายและให้หลักประกันว่าพลเมืองทั้งมวลจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และสิทธิของพลเมืองจะได้รับการคุ้มครองจากระบบกฎหมาย

8) ประชาธิปไตยย่อมมีความหลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะ แต่การปกครองแบบประชาธิปไตยก็ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานต่างๆของมัน แต่ไม่ใช่การปฏิบัติที่เป็นแบบเดียวกัน

9) ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไม่เพียงแต่มีสิทธิ พวกเขาย่อมมีความรับผิดชอบที่จะเข้าร่วมในระบบการเมืองที่ในทางกลับกันปกป้องสิทธิและเสรีภาพของพวกเขา

10) สังคมประชาธิปไตยมีความผูกพันต่อค่านิยมของความใจกว้าง (การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง) ความร่วมมือ และการประนีประนอมกัน ประชาธิปไตยยอมรับว่าการได้มาซึ่งฉันทามติต้องอาศัยการประนีประนอมกัน และมันอาจจะไม่สำเร็จผลเสมอไป (ดังในคำพูดของมหาตมะคานธีที่ว่า "ความใจคอคับแคบเป็นความรุนแรงในตัวเอง และเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่แท้จริง)” – (ใส่วงเล็บโดยข้าพเจ้า ผู้เขียน)

นอกจากนี้ สมาคมเพื่อความเป็นหุ้นส่วนแห่งยุโรป (Association for European Parnership) ได้เสนอ “หลักการพื้นฐานแห่งประชาธิปไตยที่แข็งขัน” (Basic Principles of Active Democracy) สำหรับสมาชิกสหภาพยุโรป ถือได้ว่าเป็นหลักการสากลชุดหนึ่ง ไว้ในหัวข้อต่อไปนี้

1. การมีส่วนร่วมของประชาชน (Citizen Participation)

2. ความเสมอภาค (Equality)

3. ความอดทนอดกลั้นทางการเมือง (Political Tolerance)

4. ความพร้อมต่อการรับผิด (Accountability)

5. ความโปร่งใส (Transparency)

6. การเลือกตั้งอย่างเป็นประจำ เสรี และ ยุติธรรม (Regular, Free and Fair Elections)

7. เสรีภาพในทางเศรษฐกิจ (Economic Freedom)

8. การควบคุมการใช้อำนาจในทางมิชอบ (Control of the Abuse of Power)      

9. การยอมรับผลของการเลือกตั้ง (Accepting the Results of Elections)

10. หลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights)

11. การมีพรรคการเมืองหลายพรรค (Multi-Party Systems)

12. นิติธรรม (The Rule of Law)                                          

13. การมีกฎหมายรับรองสิทธิมนุษยชน (Bill of Rights)

จากหลักการประชาธิปไตยสากลข้างต้น แม้ว่ามันจะมีการสรุปไว้ตามหมวดหมู่ และมีหลักย่อยๆเฉพาะประเด็นรองรับหลักใหญ่อีกมากมาย ซึ่งพัฒนามาจากทฤษฎีของนักปรัชญาและนักคิดทั้งหลาย และการปรับปรุงทฤษฎีจากผลการปฏิบัติ หรือการผ่านประสบการณ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ มาแล้วนั่นเองนั้น แต่ในเมืองไทย กลับสนใจเน้นกันหรือนิยมอ้างถึงกันห้าประการต่อไปนี้ (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 5)

1) หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty)

2) หลักเสรีภาพ (liberty)

3) หลักความเสมอภาค (equality)

4) หลักกฎหมาย (rule of law)

5) หลักเสียงข้างมาก (majority rule) ที่เคารพและคุ้มครองเสียงข้างน้อย (minority right)

ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการสรุปรวบรัดหลักการประชาธิปไตยเหลือเพียงห้าประการดังกล่าวนี้ เนื่องจากไม่ครบถ้วนถึงแก่นแกนของหลักการประชาธิปไตยสากลนิยมในทางที่เป็นจริง เพราะยังขาดสาระสากลที่สำคัญอื่นๆ ดังที่เสนอให้เห็นแล้วนั้น ซึ่งนอกเหนือหลักการสากลที่รวบรัดห้าประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่ายังมีหลักการสำคัญอีกจำนวนหนึ่งที่ประกาศไว้แล้วในทางสากล และที่มีการยึดถือร่วมกันอย่างชัดแจ้ง เพื่อการจัดระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยให้ยั่งยืน อย่างน้อยดังต่อไปนี้คือ

(1) รัฐบาลมาจากการแข่งขันในการเลือกตั้งและบริหารประเทศตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้

(2) การถ่วงดุลกันและส่งเสริมกันในภารกิจเพื่อส่วนรวมของอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

(3) ประชาชนมีความเป็นภารดรภาพกัน และได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมจากรัฐ รวมทั้งการรับบริการจากรัฐ (สิทธิที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะ) โดยไม่เลือกปฏิบัติ (โดยเสมอภาค ไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ)

(4) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และ

(5) การร่วมมือกันระหว่างประเทศในระดับสากลในการจรรโลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 6)

ข้อความของหลักการประชาธิปไตยสากลที่ประมวลมา อาจมีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่บ้าง และบางเรื่องที่ควรอยู่ด้วยกันก็อาจมีการแยกเขียนออกมาเป็นหลักใหม่ เพื่อให้ความสำคัญเป็นพิเศษจากมุมมองของแหล่งที่นำเสนอ แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจาณาตามหลักใหญ่ใจความและเอาสาระสำคัญเหนือตัวอักษรแล้ว เราอาจจัดกลุ่มหลักการประชาธิปไตยสากลเหล่านี้ออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนที่เป็นเป้าหมาย ส่วนที่เป็นวิธีการ และส่วนที่เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ (โดยกระบวนการอยู่ในวิธีการ) ข้าพเจ้าจึงขอจัดให้ท่านผู้อ่านเห็นเป็นสามส่วนของหลักการสำคัญๆ ดังนี้

หลักการในส่วนที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน, ความเสมอภาคและเสรีภาพของประชาชน, ประชาชนมีความเป็นภารดรภาพกัน, สิทธิมนุษยชน (ในด้านต่างๆ) ของประชาชน 

หลักการส่วนที่เป็นวิธีการ ได้แก่ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน (ในทางตรงหรือผ่านทางผู้แทนราษฎรของตน), การเลือกตั้งอย่างเป็นประจำ เสรี และ ยุติธรรม, รัฐบาลมาจากการแข่งขันในการเลือกตั้งระหว่างพรรคการเมือง และบริหารประเทศของรัฐบาลตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้, หลักนิติรัฐและนิติธรรม (การปกครองโดยกฎหมายของรัฐ ความชอบธรรมในการตรากฎหมาย และทุกคนเสมอกันภายใต้กฎหมาย)

หลักการในส่วนที่เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ (บางท่านอาจยังถือว่าหลักการเหล่านี้ เป็นส่วนของวิธีการก็ได้) ได้แก่ การยึดหลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก แต่ก็ไม่ละเลยอย่างสิ้นเชิงต่อความเห็นเสียงของข้างน้อย, การแบ่งแยกอำนาจ แต่ถ่วงดุลกันและส่งเสริมกันในภารกิจเพื่อส่วนรวมของอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ, ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมจากรัฐ รวมทั้งการรับบริการ (สิทธิที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะ) จากรัฐ โดยไม่เลือกปฏิบัติ (โดยเสมอภาค), ความเป็นหุ้นส่วน และช่วยเหลือกันและกันระหว่างชายและหญิงในการทำกิจกรรมในสังคม, ความพร้อมต่อการรับผิด, ความโปร่งใส  และการร่วมมือกันระหว่างประเทศในระดับสากลในการจรรโลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ


สรุปและข้อยืนยัน

เราจึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักการประชาธิปไตยสากล อย่างน้อยทั้งสามส่วนข้างต้น เป็นฐานรองรับและเครื่องจรรโลงความมั่นคงและยั่งยืนทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ที่มีสหประชาชาติ องค์การสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ และประเทศตะวันตกที่มีระดับประชาธิปไตยก้าวหน้าและมีเสถียรภาพ รวมถึงนักวิชาการจำนวนมาก ช่วยกันดูแลในระดับสากลในปัจจุบันนี้ (ดูหมายเหตุประกอบบทความ 7)

สากลนิยมของประชาธิปไตยและหลักการประชาธิปไตยสากล จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการเป็นเข็มทิศและหลักเกณฑ์การสรรค์สร้างมาตรฐานคุณภาพประชาธิปไตย และเพื่อการรักษาประชาธิปไตยของประเทศและระหว่างประเทศ ไม่ต่างกับกติกาสากลของการเล่นกีฬาประเภทหรือชนิดต่างๆ ที่ประเทศทั่วโลกสามารถใช้กติกาสากลเดียวกัน ทั้งแข่งขันกันในประเทศของตนและแข่งขันกันระหว่างประเทศ ไม่ว่าประเทศทั้งหลายเหล่านั้น จะมีประเพณี วัฒนธรรม และค่านิยมหรือแบบอย่างการปกครองในสังคมแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม

กระนั้นก็ตาม ในฐานะที่สังคมต่างๆ มีลักษณะเฉพาะ เราก็จำเป็นต้องช่วยกันคัดสรรค์เอาประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม และแบบอย่างการปกครองในสังคม ที่เป็นบวกกับหลักการประชาธิปไตยสากลมาใช้ประโยชน์ร่วมกันไปให้ได้ อย่ายอมแพ้ต่อประเพณี วัฒนธรรม และค่านิยมหรือแบบอย่างการปกครองในสังคมที่เป็นลบหรืออุปสรรคต่อประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะหลักการสากลจะช่วยให้ความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยทำหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพ และประสบความสำเร็จในการพัฒนาอารยธรรมของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะที่ในเชิงเปรียบเทียบ วิทยาศาสตร์การกีฬาก็ช่วยทำให้นักกีฬามีคุณภาพและประสบความสำเร็จในการแข่งขันกันเช่นกัน เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยของเราก็เช่นกัน ขอยืนยันว่า เราจำเป็นต้องร่วมกระแสสากลนิยมประชาธิปไตย และอาศัยหลักการประชาธิปไตยสากลมาสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในประเทศไทยให้สำเร็จ เพราะเหตุว่า หลักการประชาธิปไตยสากลต่างๆ พัฒนามาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คือ เป็นข้อกำหนดในทางทฤษฎีที่นักคิดสร้างขึ้น และถูกนำไปทดสอบและปฏิบัติในประเทศประชาธิปไตยต่างๆ โดยส่วนใหญ่ของโลก แล้วผลของความสำเร็จหรือประโยชน์จากการปฏิบัติตามหลักการเหล่านั้น ถูกนำกลับมากลั่นกรองและยืนยันเป็นหลักการเพื่อการยึดถืออย่างเป็นสากลโดยองค์การกลางของสังคมโลก อันจะช่วยแก้ไขปัญหาและขจัดจุดอ่อนของประชาธิปไตยไทยที่สะสมมาอย่างยาวนาน ดังที่มักจะทราบกันดี

นอกจากนี้ ในฐานะที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีทั้งรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยทางอ้อม รูปแบบประชาธิปไตยทางอ้อม คือ การใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยหรือผ่านตัวแทนของตนในนามสภาผู้แทนราษฎรเพื่อออกกฎหมาย และเพื่อบริหารประเทศในนามรัฐบาล แต่ก็มิใช่ทั้งหมดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ประชาชนยังสามารถใช้รูปแบบประชาธิปไตยทางตรงได้อีก อันเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองเสริมรูปแบบทางตรง เนื่องจากการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎร อาจมิได้ครบถ้วนสมบูรณ์พอตามที่ประชาชนคาดหวัง

ในระยะหลังๆ ประเทศต่างๆจึงสนใจการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนมากขึ้น แต่ประเทศใดก็ตามที่ทำให้การเมืองทางอ้อมคือภาคผู้แทนราษฎร และการเมืองทางตรงคือภาคประชาชนแสดงออกโดยตรง เกื้อกูลต่อกันอย่างลงตัวแล้ว ประเทศนั้นก็จะเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศที่การเมืองสองภาคเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน – ดังประการหลัง อนิจจาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา!?

 

(ข้อมูลส่วนใหญ่ในบทความ เรียบเรียงจาก โชคชัย สุทธาเวศ (2560) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย: แนวพินิจเชิงทฤษฎีและหลักการประชาธิปไตยสากล. จัดพิมพ์โดยสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: เดอะ วิสดอม เพรส.)

 

หมายเหตุประกอบบทความ

1. ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักการสิทธิมนุษยชนในทางการเมืองของการปฏิวัติทั้งในอเมริกา และฝรั่งเศส คือ โทมัส เพน (Thomas Paine) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอังกฤษ-อมเริกัน ผู้ร่วมวางรากฐานการเมืองอเมริกันสมัย ค.ศ. 1776 (สมัยเริ่มรัตนโกสินทร์ของไทย ซึ่งตรงกับแผ่นดินอเมริกันสมัยนั้น ชาวอเมริกันแสวงหาสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากยุโรปต้นกำเนิด แต่แผ่นดินไทยสร้างใหม่หลังกู้อิสรภาพจากพม่าภายใต้การหวนกลับไปถวิลหาอยุธยาเป็นต้นแบบ) และต่อมาได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยมุมองทางสิทธิมนุษยชน การเคลื่อนไหวของเขาเกื้อกูลต่อการจัดทำคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ของฝ่ายปฏิวัติฝรั่งเศส และสองปีต่อมาเขานำเอาหลักการด้านสิทธิของประชาชนมาเขียนเป็นหนังสือเรื่อง “Rights of Man” (1791) ซึ่งน่าจะแปลว่า “ความถูกต้องชอบธรรมของความเป็นมนุษย์” แต่เราก็มักจะแปลกันว่า  “สิทธิมนุษยชน” (มากกว่า “สิทธิของมนุษย์”) ซึ่งต่อมาใช้กันในภาษาอังกฤษว่า “Human Rights”.

2. ข้าพเจ้าได้รับความรู้ในปัญหาของสันนิบาติชาติจากผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ในคราวไปเยือนสวิสเซอร์แลนด์ วันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2559 ว่าความล้มเหลวของสันนิบาติชาติก็คือการให้สิทธิรัฐบาลผู้ก่อตั้งสันนิบาตชาติเท่ากันในการลงคะแนนเสียง โดยไม่มีอำนาจวีโต้มติที่ไม่เห็นด้วย ทำให้สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นเพราะไม่ฟังกัน ฉะนั้นสหประชาชาติที่ตั้งใหม่จึงแก้ปัญหานี้ โดยให้ประเทศผู้ก่อตั้งสหประชาชาติห้าประเทศมีสิทธิวีโต้มติที่ประชุมได้ หากรัฐบาลของตนไม่เห็นพ้องด้วย และนั่นจึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้สหประชาชาติยังทำงานอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

3. ประเทศไทยได้รับการอนุมัติเข้าเป็นสมาชิก IPU เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 โดยมีข้อมูลส่วนหนึ่งในเรื่องนี้ของรัฐสภาไทยบันทึกไว้ว่า “รัฐสภาได้มีการประชุมเป็นการภายในเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2492 โดยที่ประชุมเห็นว่าสหภาพรัฐสภาเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีนโยบายในการที่จะหาลู่ทางเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางรัฐสภา ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุน ทุกวิถีทาง ที่ประชุมรัฐสภาจึงได้ตกลงในหลักการให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภา โดยถือเอารัฐสภาไทยเป็นหน่วยประจำชาติ และสมาชิกแห่งรัฐสภา-ไทยเป็นสมาชิกของหน่วยโดยตำแหน่ง.....

ในการประชุมภายในของรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างข้อบังคับของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา และพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการบริหารของหน่วยฯ ขึ้นมาตามข้อบังคับ หลังจากที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารหน่วยฯ เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการบริหารได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 เป็นต้นไป และในคราวประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพรัฐสภา ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับหน่วยประจำชาติไทยเข้าเป็นภาคีของสหภาพรัฐสภา”

4. หลักการพื้นฐานดังกล่าวนี้ นำเสนอโดยรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบคลุมเป็นอย่างน้อยถึงหลักการและการปฏิบัติสำคัญๆในทางประชาธิปไตยต่อไปนี้ คือ 1) Overview: What Is Democracy? 2) Majority Rule, Minority Rights 3) Civil-Military Relations 4) Political Parties 5) Citizen Responsibilities 6) A Free Press 7) Federalism 8) Rule of Law 9) Human Rights 10) Executive Power 11) Legislative Power 12) An Independent Judiciary

5. หลักการห้าประการนี้ สรุปไว้โดย กระมล ทองธรรมชาติ (2535) มักกล่าวถึงในกันเวทีประชุมและในที่สัมมนาต่างๆ อาทิ อ้างใน วิศาล ศรีมหาวโร “การเมืองไทยระบบหรือคน : การพัฒนาวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน” วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2554 เล่มที่ 3

6. หลักการข้อนี้ ข้าพเจ้าสรุปขึ้นเองจาการพิจารณาการดำเนินงานของสหประชาชาติเกี่ยวกับประชาธิปไตย  สหภาพรัฐสภาระหว่างปะเทศ และความพยามของประเทศต่างๆในการจรรโลงประชาธิปไตย และความพยายามช่วยแก้ปัญหาประชาธิปไตยให้กับประเทศอื่นๆ จากประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็งหรือมีความก้าวหน้าและมีเสถียรภาพ

7. นอกเหนือสหประชาชาติ และ องค์การรัฐสภาระหว่างประเทศที่ให้คุณค่าต่อประชาธิปไตยสากลแล้ว ความคิดเรื่องการทำให้ประชาธิปไตยต้องผ่านการจัดการในระดับสากลยังมีในงานของนักวิชาการอื่นๆ เช่น David Held (1995) เสนอให้ภายใต้โลกาภิวัตน์สมควรมีการขยายความเป็นประชาธิปไตยของโลกธรรมาภิบาล (democratization of  global governance) ซึ่งต้องมีกฎหมายกลางระดับโลก (cosmopolitan law) ให้องค์การระหว่างประเทศต่างๆ บริหารงานแบบประชาธิปไตย และในอนาคตสมควรมีรัฐสภาโลก (global parliament) รวมถึงสถาบันระหว่างประเทศและภูมิภาค (transnational and regional institutions) เพื่อส่งเสริมการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ, Nadia Urbinati (2003) เสนอให้มีองค์การคล้ายรัฐบาลกลางของประเทสต่างๆ แบบ state-like sovereign  เพื่อดูแลประชาธิปไตยที่ครอบคลุมทั่วโลก (Cosmopolitan democracy), McGrew (1997) ที่เสนอให้มีการสนับสนุนสถาบันประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ โดยองค์การกลางประชาธิปไตยระหว่างประเทศ (อ้างถึงใน Kate Nash (2010), pp. 202 – 230.) รวมทั้ง Laurence Whitehead (2001) ผู้นำเสนอเรื่อง มิติในทางสากลของการขยายความเป็นประชาธิปไตย (The international dimensions of democratization) โดยอาจใช้ทางเลือกสามประการ คือ 1) การฟื้นฟูประชาธิปไตยภายในประเทศหลังจากมีแรงกดดันจากพลังนอกประเทศ (internal restoration after external conquest) 2) การปฏิรูปประชาธิปไตยภายในประเทศ (internal reformation) และ 3) การดำเนินการติดตามผลการปฏิรูปประชาธิปไตยจากพลังภายนอก (externally monitored installation), pp. 262-266 (อ้างจากโชคชัย สุทธาเวศ (2560, หน้า 61-62) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย: แนวพินิจเชิงทฤษฎีและหลักการประชาธิปไตยสากล. กรุงเทพมหานคร: เดอะ วิสดอม เพรส.)  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net