Skip to main content
sharethis

เสวนา ซีไรต์รวมเรื่องสั้นปีนี้ ร่วมพูดคุยกับ 8 นักเขียนผู้ผ่านเข้ารอบ พบเรื่องราวหลากหลายแนว ตั้งแต่ปัจเจกชน จนถึงงานสะท้อนการเป็นผู้หญิงมุสลิม งานเรื่องเล่าของคนอีสาน งานสมัยเก่าเล่าเรื่องรัก สู่งานมุมมองต่อสังคมปัจจุบันที่ถูกปิดตา

14 ก.ย. ที่ผ่านมา แพรวสำนักพิมพ์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์มติชน ร่วมด้วย Warehouse30 และ สำนักพิมพ์ ArtyHouse จัดงาน “อ่านก่อนซีไรต์” 17 รวมเรื่องสั้นสัญชาติไทย ทำไมต้องรอแค่เล่มเดียว เสวนาชวนอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ผ่านเข้ารอบ Long List S.E.A Write Award ประจำปี 2560 พูดคุยกับนักเขียน 8 คน จาก 17 คนที่ผ่านเข้ารอบ ถึงแรงบันดาลใจ วิธีการสร้างสรรค์ผลงาน ธีมและมุมมองหลักของหนังสือ

แถวหน้าจากซ้ายไปขวา นทธี ศศิวิมล, เงาจันทร์, อุมมีสาลาม อุมาร

แถวหลังจากซ้ายไปขวา ภู กระดาษ, ปองวุฒิ รุจิระชาคร, รัชศักดิ์ จิรวัฒน์,

สาคร พูลสุข, วิกรานต์ ปอแก้ว

วิกรานต์ ปอแก้ว: ‘ความโดดเดี่ยวของนักวิ่งระยะไกล’ และความตายในหนังสือ

วิกรานต์ ปอแก้ว

วิกรานต์เล่าว่า ช่วงทำต้นฉบับไปวิ่งระยะไกล มันจะเกิดภาวะหนึ่งเหมือนนั่งสมาธิ เหมือนเราได้อยู่กับตัวเองได้คิดนู้นคิดนี่ มีพล็อตเรื่องอะไรอยู่ในใจเราก็จะคิดช่วงที่เราวิ่ง วิ่งมินิมาราธอนใช้เวลาเฉลี่ยเกือบชั่วโมง เราอยู่กับตัวเองชั่วโมงหนึ่งโดยไม่คุยกับใครเราจะค่อนข้างเข้าใกล้คำว่าสมาธิ เหมือนความโดดเดี่ยวทางด้านสมาธิ แต่พอทำต้นฉบับเสร็จ บก. กับ บก.บห. ก็รู้สึกว่าชื่อ ความโดดเดี่ยวของนักวิ่งระยะไกล มันเข้ากับตัวเรื่องในเล่มนี้ และมันมาจากเพลง the loneliness of the long distance runner ของ iron maiden

เกี่ยวกับความตายที่เป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งในหนังสือ

วิกรานต์เล่าว่า ช่วงทำต้นฉบับอาม่าเสีย ก่อนหน้านี้ผมมองว่าความตายมันเป็นเรื่องสวยงามเป็นศิลปะ การฆ่าตัวตาย หรือการตายที่ทิ้งอะไรไว้เบื้องหลังเป็นเรื่องน่าค้นหา น่าสนใจ ไม่เคยรู้สึกว่าเป็นเรื่องเศร้า จนกระทั่งอาม่าตายเรารู้สึกว่าความตายมันใกล้เราแค่นี้เอง เรารู้สึกว่าเวลาเล่าเรื่องเกี่ยวกับความตายมันเหมือนการสิ้นสุดบางอย่างแล้วไปสู่อะไรอีกบางอย่าง คนที่ตายก็จบไปแต่คนที่ยังอยู่หลังจากคนตายมันมีอารมณ์บางอย่างที่เรารู้สึกน่าค้นหา เราเลยหยิบสิ่งนี้มาเขียนสร้างปมให้ตัวละคร

เรื่องนี้ยังมีส่วนผสมของมิตรภาพ ความสัมพันธ์ เพศ และการเมืองด้วย เป็นมุมมองที่เรามองต่อสังคมในช่วงเวลานั้นๆ แต่ทั้งนี้ต้นฉบับกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เขียนตอนที่เราวิ่งระยะไกล ไกลสุดคือ 42.95 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงตรงนั้นดำดิ่ง จมลงไปในตัวเอง และพบเจอภาวะบางอย่างที่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

อุมมีสาลาม อุมาร: ‘กลางฝูงแพะหลังหัก’ การเป็นผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้

อุมมีสาลาม อุมาร

อุมมีสาลามกล่าวว่า ตอนแรกไม่ได้จะเน้นเรื่องผู้หญิง แต่ด้วยความที่ตัวเราเป็นผู้หญิงและมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างสนิทมากกับแม่ เวลามองแม่แม่ไม่ค่อยเล่าเรื่องอะไร แต่รู้สึกว่าในตัวแม่มีเรื่องเล่าอะไรอยู่ตลอดเวลา ผู้หญิงมุสลิมไม่ได้ถูกกดอยู่ในบ้านอย่างเดียว แม่สัมผัสกับคนภายนอกเยอะมาก แล้วนำเรื่องเล่าเหล่านี้กลับมา การพูดคุยในบ้านทำให้เราได้ยิน ได้เห็นอะไรมากมายขึ้น ทำเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงติดอยู่กับตัวเราด้วย

แพะหลังหักคืออะไรในเรื่องนี้

อุมมีสาลามอธิบายว่า มันคือความบาดเจ็บของสิ่งมีชีวิต

ในหมู่บ้านแพะจะอยู่ผิดที่ผิดทางมาก มันไม่ได้มีที่ของมัน มันอยู่ตามท้องถนน บางทีก็เข้ามาในบ้านของคน มันถูกทำร้ายตลอดเวลาจากผู้คน บางทีก็ไม่รู้ว่ามันตายเพราะอะไร เกิดจากการที่มันอยู่ไม่ถูกที่และตัวมันเองก็ไม่สามารถต่อสู้กับคนได้ ซึ่งเหมือนคนในพื้นที่หลายๆคน ที่ถูกแบ่งกลุ่มให้อยู่ผิดที่ผิดทาง เลยถูกอำนาจบางอย่างที่มองไม่เห็นมาทำร้ายตัวเขา

ภู กระดาษ: ‘ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ’ เรื่องเล่าและภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของคนอีสาน

ภู กระดาษ

ภู กระดาษ อธิบายถึงความหมายของชื่อเรื่องและคอนเซปต์ของหนังสือว่า โดยลักษณะการเล่าเรื่องจะคล้ายๆ ร่างกายที่ไม่มีอวัยวะ เหมือนไม่สมบูรณ์ จะไหลไปเรื่อยๆ เพื่อจะเป็นบางอย่าง เหมือนเป็นอนิจลักษณ์ มากกว่าอัตลักษณ์ มันจะเป็นไปได้เมื่อมีอย่างที่ 1 2 3 ต่อกันไป แสดงถึงการ “กลายเป็น” ไปเรื่อยๆ อย่างเช่นภาษาก็มีความไหลลื่นพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อให้ยังคงอยู่

สาคร พูลสุข: ‘นักแสดงสด’ กับความสนใจทางนาฏกรรม

สาคร พูลสุข

สาครกล่าวว่า หนังสือมีทั้งหมด 9 เรื่อง 8 เรื่องไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน ที่ผ่านมารวมเรื่องสั้นนักเขียนจะเอาเรื่องที่ตีพิมพ์แล้วมาพิมพ์ใหม่ ผมเลยลองเอาเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยอ่าน

สาครเล่าว่า แรงบันดาลใจเกิดขึ้นจากความรู้สึกขณะที่เพื่อนชวนไปเที่ยว เพื่อนทิ้งผมไว้คนเดียวแล้วเขาก็ไปสนุกสนาน ผมเดินกลับที่พักคนเดียวตามชายหาด ผ่านสุนัขที่ไม่ยอมนอนเกือบสิบตัว เดินตามหลังผมมาตลอด เห่าบ้าง ขู่บ้าง ผมคิดว่าขณะที่เราอยู่คนเดียวตีสองตามชายหาด มีสุนัขทั้งเห่าทั้งไล่ เราเดินตัวแข็ง นี่ก็คือการแสดงสด มันอาจรุมกัดผมก็ได้ แต่ผมก็คิดว่าอย่างน้อยก็น่าจะไว้ใจมันหน่อย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางหนีทีไล่ เช่นเดียวกับคน เราไว้ใจเขาแต่ขณะก็ต้องหาทางหนีทีไล่เผื่อไว้ด้วย ผมคิดแบบนี้แล้วก็นำชีวิตบุคคลที่เคยเจอมาผูกเป็นเรื่องราว มี 4 เรื่องที่ใช้ตัวละครชุดเดียวกัน เพื่อความต่อเนื่องของความคิด เหตุการณ์ และการประสบในชีวิต อีก 4 เรื่องก็จะฉีกแนวออกไป

ความสนใจทางนาฏกรรมทั้งสมัยใหม่-เก่า และความอีโรติกในงาน

สาครกล่าวว่า พื้นฐานจริงๆ ผมเป็นคนใต้ สัมผัสศิลปะพื้นบ้านอย่างหนังตะลุง มโนราห์ จึงนำเอาความเชื่อเดิม พิธีกรรมเดิมที่เราเห็นว่าน่าสนใจมาผสมผสานกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ส่วนความอีโรติกในงาน เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ใช่ทำให้เราติดอยู่แต่กามารมณ์ เป็นเรื่องที่เราควรสนใจ ใส่ใจ แต่อย่าถลำลึกมากเพราะเราไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น

เงาจันทร์: ‘เสน่หานุสรณ์’ กับเรื่องรักกรีดอารมณ์

เงาจันทร์

เงาจันทร์กล่าวว่า

เรื่องที่เขียนไม่ว่าจะเป็นรักโศกอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เรื่องรักกันฉาบฉวย อกหักแล้วก็ลืมกันในสามวัน แต่เป็นเรื่องที่ทำให้จิตวิญญาณแตกสลาย ถึงขั้นนั้นทีเดียว และจริงๆ แล้วคนอ่านก็จะพบตัวเองอยู่ในเรื่องพวกนี้ เป็นเรื่องจริงของมนุษย์ที่ต้องพบเจอ ไม่ใช่เรื่องเกินจริง

เรื่องที่ชอบมากๆ ในชุดนี้คือเรื่อง ‘หมื่นแสนราตรี’ เป็นเกี่ยวกับเรื่องละครชาตรีเมืองเพชร แรงบันดาลใจมาจากตอนที่สอบบรรจุครูได้ แม่บนให้มีละครชาตรีที่บ้าน เราเห็นตัวแสดงถ้าเอาชฎาใส่หัวคุณก็จะเป็นตัวละครตัวนั้น แต่พอถอดหัวโขนก็เป็นคนธรรมดา ชีวิตก็เป็นแบบนี้ใส่หัวโขนแล้วก็ถอดหัวโขนไปกลายเป็นคนธรรมดา แล้วบังเอิญในงานไปเห็นผู้หญิงในคณะละครเอาตะโพนวางบนตัก ด้วยความเป็นผู้หญิงทำให้เส้นร่างจากท้ายทอยลงไปถึงบั้นเอวเป็นเส้นร่างที่สวยมาก พอเขาตีตะโพนหน้าอกเขาก็จะกระเพื่อม เราเป็นผู้หญิงเห็นแล้วยังรู้สึกสวย แล้วถ้าเป็นผู้ชายเห็นล่ะ เราจึงเอาตัวละครนี้มาเป็นตัวเอกของเรื่อง แล้วให้นอนกับเด็กผู้ชายอายุ 15 ปี ซึ่งมันเป็นการก้าวล่วงข้ามเส้นของตัวเอง ในชีวิตจริงก็รู้ว่าจบไม่สวยแน่แต่ก็ยังทำ จึงเป็นเรื่องที่เศร้ามาก ตอนเขียนก็รู้สึกแย่มาก

รัชศักดิ์ จิรวัฒน์: ‘กลับสู่โลกสมมติ’ การต่อสู้กับเหตุการณ์ท้าทายศีลธรรมในใจ

รัชศักดิ์ จิรวัฒน์

รัชศักดิ์กล่าวว่า เล่มนี้เป็นการรวบรวมเรื่องสั้นที่ทยอยเขียน พอเขียนได้จำนวนหนึ่งก็เสนอสำนักพิมพ์ กลั่นกรองโดยบรรณาธิการจนได้มา 10 เรื่อง ชื่อเรื่องเป็นหนึ่งในชื่อเรื่องสั้น เพราะนักเขียนเป็นผู้สร้างโลกอีกโลกขึ้นมา เป็นโลกที่นักเขียนสมมติหรืออุปโลกน์ขึ้นมา ขณะเดียวกันมันก็บอกความจริงบางอย่างแก่สังคม บางอย่างพูดไม่ได้ตรงๆ พูดตรงๆไม่น่าสนใจ เราจึงใช้ตัวละครสมมติมาเล่าเรื่องราวนั้น ที่ผ่านมามีความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงต่างๆในสังคม เห็นความจริงบางด้านที่คนอาจจะมองข้ามไป แต่ก็เป็นความจริงแค่มุมหนึ่ง เพราะทุกคนมีความจริงไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

ในเรื่องมีหลายเรื่องพูดถึงด้านมืดของมนุษย์ หลายเรื่องตัวละครจะถูกท้าทายด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่ต้องต่อสู้กับศีลธรรมในใจ การเรียงร้อยแต่ละเรื่องต้องยกความดีความชอบให้บก. ที่ค่อยๆ ไต่ระดับความเข้มข้นของอารมณ์และเนื้อหาขึ้นไปเรื่อยๆ

นทธี ศศิวิมล: ‘อันเป็นที่รัก’ ที่ใส่ความรักลงในงานเขียน

นทธี ศศิวิมล

เมื่อถามว่างานก่อนหน้านี้งานของนทธีอาจจะดูน่ากลัว เกี่ยวกับเรื่องผี ความตาย แต่สำหรับงานชิ้นนี้ ภาพปกหวานและดูเกาหลีมาก นทธีกล่าวว่า ภาพปกมาจากหลายเรื่องในเล่มรวมกัน งานวัด ชิงช้าสวรรค์ ดอกไม้ไฟ ขนมสายไหม แรงบันดาลใจอาจมาจากคำพูดของลูก ลูกกินไข่ทุกเช้าเมนูซ้ำเดิม เราลองปรับสูตรเป็นไข่กวน ลูกก็ชอบมาก ถามว่าแม่ใส่อะไรลงไป เราก็อำว่า แม่ใส่ความรักลงไป ลูกบอก งั้นใส่ทุกวันเลยจะได้อร่อย เราก็เลยคิดว่าถ้าในงานเขียนเราเอาความรักใส่ลงไปมันจะอร่อยขึ้นไหม มันจะสนุกที่ไม่ใช่แค่หัวเราะ แต่ร้องไห้เพื่อความบันเทิง มีความน่าติดตาม มีแง่มุมที่ให้คนอ่านติดตามจนจบ เลยอาจเป็นที่มาของชื่อเรื่องนี้

ปองวุฒิ รุจิระชาคร: ลืมตาตื่นอีกครั้ง...ในเวลาอันสมควรท้ายสุดอำนาจจะพ่ายแพ้กาลเวลา

ปองวุฒิ รุจิระชาคร

ปองวุฒิเล่าว่า เป็นเรื่องสั้นที่เขียนในช่วง 3-5 ปีล่าสุด เขียนโดยแรงบันดาลใจจากสังคม จากโลกตอนนี้ เป็นยุคที่เรามีความขัดแย้ง มีความอึมครึมในเรื่องต่างๆ มีรัฐบาลที่ใช้อำนาจ มีความเปลี่ยนแปลงในโลกตามมุมต่างๆ งานจึงเน้นพูดเรื่องอำนาจกับสิ่งที่สนใจในช่วงหลังๆ คือกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง พอเราโตมาเราจะพบว่าไม่มีอะไรยิ่งใหญ่มีพลังกว่าการเวลา ต่อให้คุณมีอำนาจแค่ไหน ดีไม่ได้ยังไง สุดท้ายคุณก็ต้องต่อสู้และพ่ายแพ้ต่อกาลเวลา "ลืมตาตื่นอีกครั้ง...ในเวลาอันสมควร" เป็นชื่อที่บก. เสนอ ซึ่งเข้ากับธีมดี เป็นเชิงให้ความหวัง

บางทีเราอาจะรู้สึกอยู่ในยุคที่เราโดนปิดตาหรือเราจำเป็นต้องหลับตา แต่เชื่อเถอะว่าพอถึงเวลาอันเหมาะสมหรือกาลเวลามันเปลี่ยน ทุกคนก็ต้องลืมตาขึ้น ไม่มีอะไรจะคงอยู่ตลอดกาลและกดคุณให้หลับตาตลอดไปได้

นอกจากนี้ปองวุฒิยังเห็นว่า เรื่องแนวใหม่ที่เป็นแนวปัจเจกชนกำลังได้รับการยอมรับมากขึ้น อาจไม่ใช่วีรกรรมยิ่งใหญ่ แต่เป็นแนวขัดแย้งกับตัวเอง ดิ้นรนของชนชั้นกลาง ที่ขุดลึกไปถึงจิตใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net