Skip to main content
sharethis

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนฯ แสดงความยินดีกับคำตัดสินของศาลไทยที่สั่งให้นายจ้างชดเชยเงิน 1.7 ล้านบาทแก่แรงงานข้ามชาติชาวพม่า 14 คนผู้ถูกละเมิดสิทธิ ร้องให้ทางการไทยยุติข้อกล่าวหาทางอาญาทั้งหมดทันที 

19 ก.ย. 2560 จากกรณีเมื่อที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาให้ฟาร์มไก่ธรรมเกษตรใน จ.ลพบุรี ซึ่งเคยทำสัญญาส่งไก่ให้แก่บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยแก่อดีตคนงานพม่า 14 คน จำนวน 1,700,000 บาท โดย คำตัดสินของศาลถือเป็นการตัดสินตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลพบุรี ที่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มธรรมเกษตรชดเชยเงินให้แก่กลุ่มแรงงาน และถือเป็นการยกคำร้องอุทธรณ์ของเจ้าของฟาร์มธรรมเกษตร ที่ต้องการให้ศาลพิจารณายกเลิกไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยโดยอัตโนมัตินั้น

ล่าสุดวานนี้ (18 ก.ย.60) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'UN Human Rights - Asia' เผยแพร่คำแถลงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อกรณีดังกล่าว โดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนฯ แสดงความยินดีกับคำตัดสินของศาลไทยที่สั่งให้นายจ้างชดเชยเงิน 1.7 ล้านบาทแก่แรงงานข้ามชาติชาวพม่า 14 คนผู้ถูกละเมิดสิทธิ และยังเรียกร้องให้ทางการไทยยุติข้อกล่าวหาทางอาญากับแรงงานข้ามชาติทั้งหมดทันที 

คำแถลงดังกล่าวระบุว่า แรงงานข้ามชาติชาวพม่ากล่าวหาว่าพวกเขาต้องทำงานถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน โดยถูกหักค่าจ้างจากเงินเดือนอย่างไม่เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ เอกสารประจำตัวก็ถูกยึดและคนงานยังถูกจำกัดไม่ให้ออกนอกสถานที่ ทั้งนี้ ศาลฎีกาไทยได้ยกฟ้องอุทธรณ์ของฟาร์มไก่ธรรมเกษตร จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นนายจ้างของแรงงานเหล่านี้ และตัดสินให้แรงงานได้รับการชดเชยเงินเดือน แรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คนผู้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับนายจ้าง ยังคงต้องเผชิญกับคดีอาญาที่นายจ้างฟ้องกลับในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติ 2 รายยังถูกตั้งข้อหาว่าขโมยบัตรลงเวลาด้วย 

“สำนักงานของเรา รู้สึกยินดีกับคำตัดสินให้นายจ้างชดเชยค่าแรงให้กับแรงงานข้ามชาติ และเราหวังจะเห็นการถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญา ทำให้เสียชื่อเสียงในคดีนี้ด้วยเช่นกัน” ซินเธีย เวลิโค (Cynthia Veliko) ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

“เป็นเรื่องน่าวิตกอย่างยิ่งที่มีการยื่นฟ้องคดีอาญาหลังคนงานแจ้งเรื่องนี้กับ กสม. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในคดีลักษณะนี้” ซินเธีย กล่าว พร้อมกับ ขอให้กสม. สอบสวนกรณีนี้อย่างเป็นกลาง 

“แรงงานข้ามชาติยังคงถูกละเมิดสิทธิในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เราขอย้ำให้ทุกบริษัทปฏิบัติตามมาตรฐานและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ตกลงไว้”  ซินเธีย กล่าว

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติคดีต่อแอนดี้ ฮอลล์ นักกิจกรรมชาวอังกฤษ ซึ่งฟาร์มไก่ธรรมเกษตรเป็นผู้ฟ้องในคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงด้วย แอนดี้ ฮอลล์ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปีในปี 2016 ในอีกคดีหนึ่งที่เกี่ยวกับแรงงานพม่าในข้อหาเดียวกัน คือหมิ่นประมาททางอาญา ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งนี้ นาย แอนดี้ ฮอลล์เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าตนรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะอยู่ในประเทศไท

ซินเธีย ยังรับทราบและสนับสนุนความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการทำให้ธุรกิจปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยนชนภายใต้กรอบของหลักการชี้นำว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ  สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้ประเทศไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศไทยว่าด้วยสิทธิของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net