‘ปฏิรูปตำรวจ’ เสียงจากชายแดนใต้ ต้องแยกงานสอบสวนจากมือ สตช.

ฟังเสียงคนสามจังหวัดชายแดนใต้ต่อการปฏิรูปตำรวจ พวกเขายังถูกละเมิดจากอำนาจในมือตำรวจ เสนอให้ตำรวจต้องจบนิติศาสตร์ แยกงานสอบสวนออกจากมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศอยู่ 2 คณะ คือ คณะกรรมการปฏิรูปด้านการศึกษา และคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม หรือการปฏิรูปตำรวจ

ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ‘บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามที่กำหนดในมาตรา 258 และกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ได้บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามที่กำหนด ประกอบกับที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตามมาตรา 258 จ. และมาตรา 261 รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ตามมาตรา 258 ง. และมาตรา 260’ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา

โดยมาตรา 260  ระบุว่า “ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง”

และมาตรา 258 ง. ระบุว่า ‘ให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสมและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ การพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึกถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน’

หากย้อนกลับไป 1 เดือน ก่อนที่สำนักนายกรัฐมนตรีจะมีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม (การปฏิรูปตำรวจ) ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน 

ทั้งนี้หากการปฏิรูปตำรวจสำเร็จจริงตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ย่อมมีผลทั่วประเทศ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเฉกเช่นประชาชนทุกคนคงได้ปรบมือกันดังๆ ร้องตะโกนไชโยอย่างภาคภูมิ รัฐบาลเองได้คะแนนนิยม เพราะสถาบันสีกากีมีปัญหาเรื้อรังมานาน

ผู้สื่อข่าวประชาไทจะพารับฟังมุมมองและข้อเสนอของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นอดีตตำรวจที่รับราชการมาเกือบทั้งชีวิตได้เปิดเผยถึงปัญหาต่างๆ ในองค์กรตำรวจตามประสบการณ์จริงในพื้นที่ ตัวแทนทนายความในพื้นที่ที่เห็นถึงจุดบกพร่องในงานสอบสวนของตำรวจ และอดีตนักการเมืองระดับรัฐมนตรีช่วยที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงมุมมองและข้อเสนอของประชาชน

เสียงจากพื้นที่ “ใครๆ ก็ไม่ชอบตำรวจที่มีพฤติกรรมไม่ดี”

ฮามีดะห์ บือโต ชาวบ้านอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และเป็นผู้ปกครองเหยื่อคดีความมั่นคงในพื้นที่กล่าวถึงประเด็นความไม่เป็นธรรมต่องานสอบสวนของตำรวจว่า วันที่ตำรวจได้จับกุมลูกชายของตนนั้นตำรวจไม่มีหมายศาล ไม่มีหลักฐาน และไม่มีข้อหาแม้แต่ข้อเดียว แต่หลังการจับกุมลูกชายตนกลับถูกตำรวจซ้อมเพื่อให้สารภาพจนต้องติดคุกติดตารางมาจนถึงวันนี้

“ใครๆ ก็ไม่ชอบตำรวจที่มีพฤติกรรมไม่ดี เบ่งอำนาจ กลั่นแกล้งชาวบ้าน คิดจะจับก็จับ ไม่มีหมายศาล ไม่มีพยานหลักฐาน และไม่ได้แจ้งข้อหาใดๆ เคยถามตำรวจที่มาจับลูกว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็บอกว่าไม่รู้ นายสั่งมา แค่จะนำไปสอบสวนสักครู่ แล้วจะส่งกลับมา ผ่านไปสามวัน สิบวัน หนึ่งเดือน ครึ่งปีก็ยังไม่ส่ง แถมลูกกลับโดนซ้อมเพื่อให้สารภาพอีกด้วย หากจะแก้ปัญหานี้ก็ต้องแก้ให้หมดทั้งโรงพัก” ฮามีดะห์ กล่าว

อีกหนึ่งเหยื่อคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าวคาร์บอม ชาวอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ฮานีละห์ ดือราแม ได้เปิดเผยถึงประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมตอนต้นของตำรวจว่า การจับกุม การสอบสวน และการยัดข้อหาโดยไม่มีพยานหลักฐานนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ตนเคยอ่านมาว่าทุกครั้งที่จะมีการสอบสวนจะต้องมีทนายความ หรือคนที่ไว้ใจร่วมงานสอบสวนด้วย

“หากจะทำการสอบสวนจะต้องมีทนายความและคนที่ผู้ถูกกล่าวหาไว้ใจร่วมด้วย แต่กรณีของลูกดิฉันกลับไม่มีแม้แต่ทนายความ จับไปแล้วกลับไปซ้อมเด็กเพื่อให้รับสารภาพอีก เราในฐานะผู้ปกครองยอมรับไม่ได้จริงๆ ตำรวจจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเขายังไม่ใช่ผู้ต้องหา เขาเป็นเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย กระบวนการสอบสวนแบบนี้ต้องปรับต้องแก้โดยด่วน”

ทนายแนะตำรวจต้องเรียนกฎหมาย

อาบีบุสตา ดอเลาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อธิบายถึงต้นต่อของปัญหากระบวนการยุติธรรมที่มีสายงานตำรวจมาเกี่ยวข้องด้วยว่า ตำรวจเป็นสายงานเดียวในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ต้องเรียนสายนิติศาสตร์ จบปริญญาตรีสาขาใดก็สามารถสมัครสอบเข้าไปเป็นตำรวจได้ ซึ่งต่างจากผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ ที่ล้วนต้องเรียนนิติศาสตร์ทั้งสิ้น ทั้งที่ตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น การไม่ได้เรียนนิติศาสตร์มาก็จะไม่ชำนาญในเรื่องของข้อกฎหมายต่างๆ

“จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ตำรวจมีภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาของประชาชน เพราะเมื่อไม่แม่นในหลักกฎหมาย การปฏิบัติงานก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และกลายเป็นตำรวจเสียเองที่ทำผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ตำรวจต้องรู้กฎหมายขั้นสูง ต้องเปิดคณะหรือสาขาเรียนสำหรับใครที่จะเป็นตำรวจในมหาวิทยาลัยเสมือนกับอาชีพครู แพทย์ หรือวิศวะกร เป็นต้น” อาบีบุสตา เผย

“สรุปคือที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมตอนต้นอยู่ในมือของตำรวจ ผู้สอบสวนกับผู้ถูกสอบสวนเป็นตำรวจด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ตำรวจต้องช่วยคนของรัฐก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ชาวบ้านตายไม่เท่ากับเจ้าหน้าที่รัฐตาย” 

แยกงานสอบสวนออกจากมือตำรวจ

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม อดีตรองผู้บัญชาการ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 4 ที่ไม่เคยย้ายออกไปปฏิบัติหน้าที่นอกจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดเผยข้อมูลจากประสบการณ์รับราชการอันยาวนานในพื้นที่แห่งนี้ว่า หากจะทำการปฏิรูปตำรวจที่คาบเกี่ยวกับงานจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงคงหนีไม่พ้นระบบกระบวนการยุติธรรมของตำรวจหรืองานสอบสวน เพราะมันส่งผลกระทบอย่างมากต่อปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น

“งานสอบสวนของตำรวจยังขาดความเป็นกลาง ขาดจิตสำนึก และไม่มีจริยธรรม แต่กลับมีอคติต่อชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ สังเกตเห็นหลายคดีที่ตำรวจกระทำความผิด ศาลกลับไม่อาจลงโทษได้ เพราะผู้กระทำความผิดกับผู้สอบสวนมีสีเดียวกันหรือเป็นพวกเดียวกัน หลายคดีที่เป็นคดีอาชญากรรม แต่เมื่อถึงกระบวนการสอบสวนของตำรวจไปจนถึงการตัดสินของศาลกลับกลายเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่สามารถลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดได้” พล.ต.จำรูญ กล่าว

โดยอดีตรอง ผบก.ตชด.ภาค 4 ได้ยกตัวอย่างคดีตากใบที่มีพยานประจักษ์อย่างชัดแจ้งผ่านการฉายภาพเหตุการณ์ทางวีดีโอและช่องทีวีสาธารณะทั่วโลก แต่ผลการตัดสินของศาลระบุว่าเป็นการตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจ อีกทั้งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของเจ้าหน้าที่

“คดีตากใบเป็นคดีที่คนทั้งโลกเห็นว่าตำรวจเป็นผู้ทำร้ายชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านรวมตัวกันประท้วงอย่างสงบหน้า สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ต่อด้วยการจับกุมโยนขึ้นรถทับซ้อนกันเป็นพันกว่าชีวิตจนมีการตายเกิดขึ้นเป็นจำนวนหลายสิบคน แต่ศาลกลับตัดสินการตายว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและเป็นการตายเนื่องจากการขาดอากาศหายใจ

“สรุปคือที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมตอนต้นอยู่ในมือของตำรวจ ผู้สอบสวนกับผู้ถูกสอบสวนเป็นตำรวจด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ตำรวจต้องช่วยคนของรัฐก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ชาวบ้านตายไม่เท่ากับเจ้าหน้าที่รัฐตาย” พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว

ด้านอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส อดีตรองหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เห็นพ้องว่า หัวใจของการปฏิรูปตำรวจคือการปฏิรูประบบงานสอบสวนโดยการแยกให้เป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเป็นองค์กรที่มีการจัดโครงสร้างและระบบการบังคับบัญชาที่มีชั้นยศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานสอบสวน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“ตำรวจมีหน้าที่จับผู้ร้ายและป้องกันเหตุร้าย แต่การสอบสวนผู้ต้องหาและพยานต้องให้หน่วยงานอื่นหรือมีอัยการร่วมสอบสวนด้วย เพื่อป้องกันการซ้อมทรมานให้ผู้ต้องหารับสารภาพ ดังที่เกิดขึ้นบ่อยโดยเฉพาะคดีอาญาหรือคดีความมั่นคงในพื้นที่” อารีเพ็ญ กล่าว

พล.ต.ต.จำรูญ เสริมว่า “หากจะแก้ปัญหานี้จะต้องยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรม สร้างสำนักงานสอบสวนที่ประกอบด้วยพนักงานสอบสวนทุกฝ่าย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นตำรวจ ไม่จำเป็นต้องมีชั้นยศ แต่ต้องมีความอิสระจึงจะเกิดความเป็นธรรมได้ ถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันและกัน”

อยากได้ใจประชาชน ต้องให้ใจประชาชน

ทนายความคนเดิมจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมสรุปตบท้ายถึงความท้ายทายต่อประเด็นงานปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะงานสอบสวนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า พื้นที่แห่งนี้แตกต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประชาชนที่นี่มีทัศนคติไม่ค่อยดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถืออาวุธ ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดของขบวนการปลดปล่อยรัฐปาตานีที่มองว่าคนที่ถืออาวุธในดินแดนแห่งนี้ถือเป็นผู้รุกราน นอกจากทหารแล้ว ตำรวจจึงเป็นเป้าหมายหลักต่อการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายขบวนการด้วยเช่นกัน

“มวลชนที่ฝักใฝ่เอกราชในพื้นที่นี้มีจำนวนไม่น้อย หากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมิชอบด้วยกฎหมายก็จะยิ่งเพิ่มความยากลำบากต่องานสอบสวนยิ่งขึ้น ประชาชนจะยิ่งถอยห่างและจำเป็นต้องเลือกฝ่ายที่คิดว่าสามารถให้ความธรรมให้กับเขาได้ พวกเขาจะไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ต้น ไม่ยินดีที่จะเป็นพยาน และจะไม่มีใครแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายให้” อาบีบุสตา กล่าว

รุสณีย์ อูมา พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดยะลาแห่งหนึ่งกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน คือการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับตำรวจ พร้อมมีมาตรการขั้นเด็ดขาดไว้จัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดวินัยหรือผิดกฎหมายก็ตาม ถ้าหากเจ้าหน้าที่ทำผิด ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจต้องเอาผิดตามบทลงโทษที่วางไว้อย่างจริงใจ โดยไม่มีการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องหรือการลดหย่อนโทษให้เพียงเพราะเป็นเลือดสีเดียวกัน

“หากอยากได้ใจประชาชน เราต้องให้ใจกับประชาชนก่อน” รุสณีย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท