เข้าใจการเมืองปัจจุบันผ่านการอ่าน ‘สมชัย ภัทรธนานันท์’ และรัฐธรรมนูญ 2540

Michael Kelly Connors มองรัฐธรรมนูญ 2540 ใหม่อีกครั้ง ผ่านการอ่านข้อถกเถียงของ ส.ส.ร.20,000 กว่าหน้า ชี้ปัญหารากฐานที่มีจนปัจจุบัน รวมทั้งวิเคราะห์งานวิชาการและวิธีการทำงานของ “สมชัย” ขุนเขาทางวิชาการด้านอีสานศึกษา เอ็นจีโอศึกษา เสื้อแดงศึกษา ฯลฯ ในวาระเกษียณอายุราชการ

เมื่อวันที่ 14-15 ก.ย.ที่ผ่านมา วิทยาลัยการเมืองการปครองและคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดงานมุทิตาวิชาการเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการของ รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงจากงานด้านอีสานศึกษา ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และการสร้างประชาธิปไตย (อ่านผลงานของเขาในล้อมกรอบด้านล่าง)

สมชัยอาจไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปนัก แต่เขาเป็นรู้จักอย่างดีในแวดวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ผ่านผลงานวิชาการภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก ข้อมูลและแนววิเคราะห์ของเขาถูกอ้างอิงในงานต่างๆ มากมาย ขณะเดียวกันเขาก็เป็นบุคลากรอันเป็นที่รักของนักศึกษาและคณาจารย์ การสอนในห้องเรียน (และบนเวทีเสวนา) เขามักใช้ภาษาลาว (อีสาน) โดยตลอด ด้วยความหวังจะฟื้นความมั่นใจในความเท่าเทียมกันกับคนอื่นในหมู่ลูกหลานอีสาน และสู้กับมายาคติที่ยึดเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางโดยเห็นว่าอีสานนั้นเป็นดินแดนด้อยค่าน่าขำ

ในที่นี้จะขอหยิบยกการบรรยายของ Michael Kelly Connors อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Nottingham ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยอีกคนและเป็นมิตรทางวิชาการเก่าแก่กับสมชัยมานำเสนอ เขาเป็นผู้กล่าวสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปาฐกถาของงานนี้ โดยพูดถึง 2 ส่วนหลักที่น่าสนใจ อย่างแรกคือ ทำไมงานวิชาการของสมชัยจึงน่าสนใจอยู่เสมอ วิธีการทำงานของเขาเป็นเช่นไร ทำไมข้อวิเคราะห์ทางการเมืองของเขาจึงโดดเด่นในทางวิชาการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ อย่างที่สองคือ นำเสนอข้อค้นพบของเขาเองจากการหวนกลับไปวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ 2540 อีกครั้งผ่านการอ่านบันทึกการประชุมของผู้ยกร่างทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ ของสังคมอย่างหลากหลายเพื่อแกะรอยวิธีคิดบางอย่างที่เป็นปัญหาพื้นฐานของการเมืองไทยมาจนปัจจุบัน

1.

การมาพูดในวันนี้ทำให้เราคิดถึงเรื่องประชาสังคม (civil society) การเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) การสร้างประชาธิปไตย (democratization) ฯลฯ ซึ่งอ.สมชัยมักเขียนและทำวิจัยในเรื่องเหล่านี้ งานของเขาให้ข้อถกเถียงที่สำคัญจริงจังอย่างที่เราคาดหวังได้ ขณะเดียวกันมันก็ไม่มีน้ำเสียงของการสั่งสอนหรือเป็นศูนย์กลางของการถกเถียงเลย ซึ่งจะว่าไปก็เหมือนกับบุคลิกของอาจารย์เองที่นักศึกษาและคนที่ได้รู้จักรู้ดีว่าเป็นคนถ่อมตนเพียงไหน

ผมไม่ได้จะพูดถึงข้อถกเถียงเฉพาะเจาะจงในงานของ อ.สมชัย แต่มีอยู่ 2-3 สิ่งโดยเฉพาะสิ่งสำคัญเกี่ยวกับบทความเรื่องประชาสังคมและการสร้างประชาธิปไตย คำถามแรกที่ผมถามตัวเองคือ พวกเราอ่านบทความวิชาการมากมายและเรารู้ดีว่างานวิชาการจะไม่สนุกเท่าไรนัก แต่เมื่อคุณอ่านงานอาจารย์และถูกนำพาไปสู่ข้อถกเถียงที่เขาตั้ง ไม่ว่าเขาจะเขียนหรือตีพิมพ์งานชิ้นไหนก็ตาม ทำไมผู้คนต่างตื่นเต้นที่จะได้อ่านมัน ผมคิดว่าคำตอบคือเพราะคุณจะไม่รู้เลยว่าเขากำลังจะพูดอะไร เมื่อคุณเริ่มอ่านบทความของ อ.สมชัย แม้ว่าคุณจะรู้จักอาจารย์และรู้อย่างลึกซึ้งถึงกรอบและมุมมองทางการเมืองของเขา คุณก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่าเขาจะถกเถียงเรื่องนั้นๆ อย่างไร พูดง่ายๆ ว่า อ.สมชัยนั้นคาดเดาไม่ได้ และเหตุผลที่คาดเดาไม่ได้ก็เพราะอาจารย์ดีลกับปัญหารูปธรรมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้น ในแง่นี้เขาเปรียบเหมือนปริศนา (puzzles)  เขาเหมือนคนเขียนนิยายสืบสวนสอบสวน (detective novel) ที่สำคัญเขาไม่บังคับให้โลกอยู่ในกรอบทฤษฎี เขาชอบตั้งคำถามและตอบมัน มันอาจเพียงคำถามง่ายๆ แต่งานของเขากลับน่าสนใจและเป็นงานอันเฉพาะเจาะจงในช่วงเวลาประวัติศาสตร์

เราอาจต้องพูดถึงงานสองสามชิ้นที่สำคัญมากซึ่งอาจารย์เขียนในภาษาอังกฤษและมีอิทธิพลสูงมากในแวดวงวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ อ.เขียนเรื่อง Civil Society and Democratization ชื่อเรื่องบ่งบอกถึงจุดยืนและมุมมองวิพากษ์ต่อการสร้างประชาธิปไตยและประชาสังคม แต่จริงๆ แล้วเราได้อะไรจากงานอาจารย์ที่แตกต่างมากกว่านั้น ขณะที่แกเขียนหนังสือเป็นช่วงที่สำคัญมากของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อวาทกรรมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งหมดกำลังแข็งแกร่งมาก ผู้คนมักมองว่าการเมืองภาคประชาชนเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่พัฒนาการเมืองเสรีนิยมและเปิดพื้นที่กับบทบาทของเอ็นจีโออย่างมาก ทุกคนต่างเห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวหน้าไปมาก แต่อาจารย์กลับเขียนหนังสือเล่มนี้โดยมีเครื่องหมายคำถาม เป็นเหมือนสัญญาณเตือน มันคือสัญญาณเตือนต่อประชาสังคมเกี่ยวกับธรรมาภิบาล การเมืองของเอ็นจีโอนั้นจริงๆ แล้วเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยและการเมืองภาคประชาชนจริงหรือเปล่า หรือเป็นการเมืองของชนชั้นนำที่พยายามผลักดันกรอบคิดบางอย่างให้กับการเมืองภาคประชาชน ในหนังสือนั้น อาจารย์สร้างข้อถกเถียงไว้ราวปี 2548-2549 เมื่อเอ็นจีโอและขบวนการทางสังคมทั้งหลายเริ่มต้นต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และในที่สุดนำไปสู่การเปิดทางให้เกิดรัฐประหารในปี 2549 อาจารย์ทำงานในสนามจริงในชนบทและค้นหาหลักฐานรูปธรรมขององค์กรเคลื่อนไหวในพื้นที่ และเชื่อมโยงระหว่างการเมืองนามธรรมกับประชาสังคมจริงๆ ว่ามันส่งเสริมกันจริงไหม

ประเด็นหลักที่สรุปได้ในหนังสือของอาจารย์คือ Elite Civil Society (ชนชั้นนำประชาสังคม) หนังสือเล่มนี้พิมพ์ในปี 2549 แต่ช่วงเวลาที่อาจารย์เขียนงานนี้คือปี 2542-2545 จึงเป็นข้อสรุปที่มีมาก่อนที่คนอื่นๆ จะเริ่มเห็นและบอกว่าเอาจริงๆ แล้วภาคประชาชนสังคมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาประชาธิปไตยและไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่มันนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2006 งานของอาจารย์ที่ลงทำวิจัยและสร้างข้อวิพากษ์ในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งเพราะทำให้เห็นขบวนการเคลื่อนไหวในภาคอีสานไม่ว่าจะเป็นบทบาทของเอ็นจีโอ บทบาทการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนที่น่าสนใจและทำให้กรอบคิดที่เป็นนามธรรมมากอย่าง “ประชาสังคม” หรือ “ประชาธิปไตย” ออกมาเป็นรูปธรรมผ่านการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในภาคอีสาน งานต่อมาที่ศึกษาเรื่องการเมืองเหลือง-แดงของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศต่างก็อ้างงานของ อ.สมชัย

ถามว่าทำไมงาน อ.สมชัยถึงสามารถคาดเดาปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นทีหลังได้ คำตอบนั้นชัดเจน เพราะใครที่รู้จักเขาย่อมรู้ว่าเขามีเครือข่ายองค์กรรากหญ้า องค์กรภาคประชาสังคมมากมาย เขาสามารถทำวิจัย สัมภาษณ์ เก็บข้อมูลเชิงลึกได้มากมาย แต่ยิ่งไปกว่านั้นเขาสามารถตีความมันเข้ากับการเมืองไทยได้และไปพ้นจากคำอธิบายแบบเดิม อาจารย์เป็นตัวอย่างของนักวิชาการที่ทำงานหนักในการวิจัย ให้หลักฐานข้อมูลต่างๆ เป็นตัวนำแล้วตีความ มากกว่าจะตกอยู่ในทฤษฎีแคบๆ

งานอีกชิ้นที่ควรกล่าวถึงคือ งานใน Journal of Contemporary Asia เป็นวารสารสำคัญในวงวิชาการต่างประเทศ ในปี 2008 ผมและเพื่อนนักวิชาการศึกษาเรื่องรัฐประหารปี 2549 โดยพยายามรวบรวมคำอธิบายต่างๆ ว่าเราจะเข้าใจการรัฐประหารในครั้งนั้นได้อย่างไร เราพบว่างานของ อ.สมชัยพยายามกลับไปพูดถึงความเข้าใจยุคต้นของพรรคไทยรักไทย ซึ่งในตอนนั้นสังคมไทยประสบภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างหนักแม้ในหมู่นักวิชาการเองก็ตาม ถ้าเป็นเสื้อเหลืองก็จะมีคำอธิบายว่าพรรคไทยรักไทยคอร์รัปชันอย่างไรในการเลือกตั้ง ถ้าเป็นเสื้อแดงก็จะอธิบายว่าพรรคประชาธิปัตย์มีปัญหาอย่างไร และทักษิณมีคุณูปการอย่างไร แต่ อ.สมชัยไม่ใช่แบบนั้น ทุกครั้งที่คุยกับอาจารย์จะได้รับคำตอบแบบที่พยายามทำความเข้าใจทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้อาจารย์ยังคงพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการ ลูกศิษย์ นักข่าว ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง

ในปี 2008 อาจารย์เผยแพร่งานวิชาการชิ้นหนึ่งที่ตั้งคำถามอย่างเรียบง่าย และชื่อของบทความนั้นก็ออกจะดูน่าเบื่อ คือ พรรคไทยรักไทยกับกระบวนการชนะการเลือกตั้ง The Thai Rak Thai Party and Election in Northeastern Thailand แต่จริงๆ แล้วมันไม่น่าเบื่อเลย เขาถามคำถามว่า นักการเมืองแบบไหนที่พรรคไทยรักไทยพัฒนาขึ้นมา และแบบไหนที่ชนะ นี่เป็นปริศนารูปธรรมที่เขาพยายามขุดลึกลงไปเพื่อหาคำตอบว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ในวิกฤต มากกว่าจะอธิบายมันในกรอบทฤษฎีใหญ่ๆ ข้อสรุปของเขานั้นค่อนข้างให้ภาพซับซ้อน มันไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายที่ดึงคนเข้าสู่การเมืองหรือเลือกข้างทางการเมือง และไม่ใช่เรื่องอิทธิพลของเงินด้วย เขาแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นว่าคำอธิบายหลักต่างๆ ที่มีอยู่นั้นไม่ซับซ้อนเพียงพอ เขานำเสนอตัวอย่างของนักการเมืองมากกมาย จากหลากหลายพื้นเพ การปรับตัวของพวกเขาในการเมืองท้องถิ่น และนำเสนอภาพความซับซ้อนว่าองค์กรการเมืองอย่างพรรคไทยรักไทยนั้นสร้างความสำเร็จอย่างสวยงามในการเมืองไทยได้อย่างไร

เมื่อเร็วๆ นี้ อาจารย์ก็ได้เผยแพร่บทความใน Journal of Contemporary Asia อีก และน่าสนใจมากที่เขาถูกเชิญให้เขียนในวารสารวิชาการระดับโลกนี้ถึง 2 ครั้ง เพราะโดยปกตินักวิชาการจะต้องส่งไปขอลงเอง และมีไม่มากนักที่นักวิชาการไทยจะได้รับเชิญเช่นนั้น ในบทความนั้นอาจารย์เปิดข้อถกเถียงกับ Andrew Walker เรื่องบทบาทของเอ็นจีโอและนักการเมืองที่มีอิทธิพลต่อคนชนบท โดยดูชีวิตของชาวนาชาวไร่ในชนบทว่ามีความคิดทางการเมืองผ่านการเข้ามาของเอ็นจีโอและนักการเมืองอย่างไร งานอาจารย์มาจากการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่เพื่อนำเสนอว่า ชาวนารู้สึกกับความย้อนแย้งอย่างไร เมื่อด้านหนึ่งก็มีองค์กรภาคประชาชนนำเสนอความคิดแบบหนึ่งและนักการเมืองก็นำเสนออีกแบบหนึ่ง และอาจารย์ได้เข้าไปสู่การถกเถียงเรื่อง Post-Peasant Politics (การเมืองยุคหลังชาวนา) ว่ามันเป็นแบบที่เข้าใจจริงหรือเปล่า

ประเด็นสุดท้าย หากจะขีดเส้นใต้งานของอาจารย์ ดังได้พูดไปแล้วถึงหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่พาเราไปสู่การตีความและการวิเคราะห์แบบใหม่ แต่มากกว่านั้นคือ กรอบการเมืองของอาจารย์ นั่นก็คือ กรอบ Post-Marxism Social Justice Politics (ความยุติธรรมทางการเมืองหลังยุคมาร์กซิสม์) อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ เพราะอาจารย์ไม่ได้ลงสนามโดยไม่มีมุมมองหลักต่อโลกในการตีความ และในมุมทางทฤษฎี อาจารย์พยายามจะเชื่อมต่อกับมุมมองของคนอื่นอยู่เสมอ ที่ต้องพูดเรื่องนี้ก็เพราะสิ่งที่ทำให้งานของอ.เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ ก็คือ การที่เขาเป็นคนที่เปิดกว้างต่อความย้อนแย้งและความซับซ้อนต่างๆ ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนพยายามหลีกเลี่ยง แต่สำหรับเขาแล้วกลับพยายามเข้าร่วมและทำความเข้าใจ

2.

อีกส่วนหนึ่งจะพูดถึงคือ รัฐธรรมนูญ 2540 โดยจะชวนคิดกับมันอีกครั้งว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คืออะไรและส่งผลอย่างไรบ้าง ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับซึ่งก็ล้วนมีอายุไม่ยาวนัก ครั้งแรกที่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ได้วิพากษ์ไว้ว่ามันเป็น Elite Liberal Project (โครงการของชนชั้นนำเสรีนิยม) ผ่านมา 20 ปีประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าจะเปรียบเทียบแต่ละด้านของโปรเจ็กต์ทางการเมืองของชนชั้นนำทั้งสองฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2540 มันเป็น Liberal Conservative Political Project (โครงการทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเสรีนิยม) ที่ต้องการสร้าง active citizens (พลเมืองที่ตื่นตัวทางการเมือง) ผ่านการเลือกตั้งและองค์กรอิสระของรัฐ โดยพยายามจะควบคุมไม่เฉพาะนักการเมืองแต่รัฐด้วย ใจกลางของรัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้างพื้นที่ให้พลเมืองเป็นอิสระในตลาดเสรี โดยเชื่อมโยงกับแนวคิดอนุรักษ์นิยม (conservative ideology) อย่างอัตลักษณ์ของชาติและสถาบันกษัตริย์

20 ปีผ่านไปเรามีรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ การเมืองเปลี่ยนไปมาก ปัจจุบันเป็นยุคของเผด็จการนำการพัฒนา (Authoritarian Developmental State) สิ่งน่าสนใจในรัฐธรรมนูญฉบับบนี้คือ การออกแบบที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ  2540 ที่ประชาชนควบคุมรัฐและนักการเมือง ตอนนี้กลายเป็นรัฐอยู่เหนือประชาชนและเหนือนักการเมือง

จากมุมมองนี้ เราคงต้องถามตัวเองว่าเราสูญเสียอะไรไปเมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร และการหาคำตอบนั้นก็ทำให้ผมต้องนั่งอ่านรายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 ที่ประชุมกัน 100 กว่าครั้ง หนาประมาณ 20,000 กว่าหน้า สิ่งหนึ่งที่ผมได้วิจารณ์ไว้จากมุมมองทางการเมืองของตัวเองคือ เมื่อตอนยกร่างรัฐธรรมนูญนี้มีการเปลี่ยนถ้อยคำในมาตรา 3 ที่ว่า อำนาจอธิปไตย “มาจาก” ประชาชน (ตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน) สุดท้ายกลายเป็น อำนาจอธิปไตย “เป็นของ” ประชาชน น่าสนใจว่าแรงขับดันจากระดับรากหญ้าจากประชาชนมันมีความพยายามจะ radicalized หรือทำให้โปรเจ็กต์ของชนชั้นนำเสรีนิยมนี้ให้กลายเป็นโปรเจ็กต์ของประชาชนจริงๆ แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ได้ออกมาเป็นแบบนั้น เมื่อวิเคราะห์เฟรมเวิร์คของการประชุมที่ต้องการเปลี่ยนถ้อยคำดังกล่าว เราพบว่า กลุ่มข้าราชการและทหารไม่ได้มีความคิดอนุรักษ์นิยมมากนัก แต่เขาก็คิดว่าทหารเป็นตัวแทนของประชาชนได้เหมือนกัน ถ้าทหารมีอำนาจอธิปไตยก็เท่ากับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนด้วยเช่นกัน

อีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ทางการเมืองไทย คือ มาตรา 7 เข้าใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุ (accident) มากกว่าเป็นการสมคบคิด (conspiracy) หรือเป็นเจตนาของ ส.ส.ร. แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วมองว่า มาตรา 7 เป็นผลจากที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมกลัวมาตรา 3 ที่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จึงต้องมีมาตรา 7 ขึ้นมาคานไว้ แต่ถ้าอ่านรายงานประชุมของ ส.ส.ร.จะเห็นว่ามันเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง ผมจะเขียนบทความอธิบายต่อไป สำหรับผมมันน่าสนใจเพราะเป็นสิ่งที่เราต้องคิดอีกมากเกี่ยวกับเจตนาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศไทย

ปริศนาชิ้นสุดท้ายคือ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เราพบว่านักการเมืองจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการถกเถียงอย่างเข้มข้นเรื่องแนวทางที่ต่อต้านการเมืองแบบเลือกตั้ง โดยกำหนดให้รัฐควบคุมนักการเมือง อีกประการก็คือ นักการเมืองบางคนเสนอมาตราที่กำหนดให้ไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับทหารที่ทำรัฐประหารอีกต่อไป เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาก และเป็นปัญหาพื้นฐานเลยของการเมืองไทย เพราะในมุมของพวกเขาแม้คุณจะเชื่อในประชาธิปไตย เชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ใครกันเป็นผู้นิยาม “ประชาชน” ในวิกฤตต่างๆ ที่ระเบียบการเมืองปกติถูกทำให้ใช้การไม่ได้ แม้แต่กรรมการยกร่างที่ดูเหมือนจะโปรประชาธิปไตยก็ยังโต้แย้งว่า ในวิกฤตการณ์เช่นนั้นการแทรกแซงโดยทหารเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อรื้อฟื้นระเบียบและเสถียรภาพทางการเมือง และเมื่อทหารเป็นคนกุมอำนาจอธิปไตยอยู่แล้วแล้วจะนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กุมอำนาจอธิปไตยได้อย่างไร

ในทางกลับกันการถกเถียงเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เราคาดเดาทิศทางการเมือง 20 ปีต่อมาได้ ผ่านมุมมองของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนว่าด้วยคำถามเรื่องอธิปไตย ซึ่งจนถึงปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังไม่สิ้นสุด น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้มีโครงสร้างการมีส่วนร่วมยกร่างโดยประชาชนอีก เพราะหากเป็นอย่างนั้นเชื่อว่า มาตรา 3 มาตรา 7 และเรื่องการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารจะออกมาอีกแบบเลย เพราะขบวนการประชาธิปไตยได้บทเรียนแล้วตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และรู้แล้วว่าใครเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

คำถามที่ถามกับรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นยังสำคัญสำหรับปัจจุบัน แม้เราจะรู้แน่ชัดแล้วว่าตอนนี้พลังประชาธิปไตยถูกทำให้ชะงักงันโดยอำนาจเผด็จการ แต่เพื่อจะเข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้เราจำเป็นต้องกลับไปดูเงื่อนมุมมองพื้นฐานเกี่ยวกับการเมืองไทยในอดีต

 

*รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ จบปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หนังสือ

-Civil Society and Democracy: Social Movements in Northeast Thailand (2006)

-ทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการประท้วงทางการเมือง (2559)

บทความในหนังสือและวารสารวิชาการ

-Civil Society and Democratization in Thailand: A Critique of Elite Democracy  (2002)

-Political Resistance in Isan (2002)

-The Politics of NGO Movement in Northeast Thailand (2002)

-Isan Politics Tradition  (2003)

-The Thai Rak Thai Party and Election in North-eastern Thailand (2008)

-Civil Society Against Democracy (2014)

-Rural Transformations and Democracy in Northeast Thailand (2016)

-การเมืองของสังคมหลังชาวนา: เงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในภาคอีสาน (2555)

-ครอง จันดาวงศ์ กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน  (2557)

-การสร้างรัฐประชาชาติไทยกับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน: กรณีบ้านนาบัวจังหวัดนครพนม (2558)

-การต่อสู้เพื่อกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวนาอีสาน (2558)

-ทฤษฎีการลุกฮือของชาวนากับการวิเคราะห์การต่อสู้ของชาวนาอีสาน (2559)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท