ข้อกังขา iPhone X ปลดล็อกแบบแสกนใบหน้า-กับการคุ้มครองข้อมูลตาม รธน.สหรัฐฯ

หลังจากมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ของแอปเปิลหลายรุ่น สร้างความคึกคักให้กับผู้สนใจเทคโนโลยีมือถือ อย่างไรก็ตามมีเรื่องชวนให้กังขาอย่างหนึ่งกับฟีเจอร์ใหม่ของสมาร์ทโฟนรุ่น iPhone X ที่สื่อในสหรัฐฯ พากันตั้งคำถามคือเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าและใช้ใบหน้าเพื่อปลดล็อก-เปิดโทรศัพท์นั้นไปกันได้กับการคุ้มครองประชาชนตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หรือไม่

ที่มาของภาพประกอบ Apple.com

สหรัฐฯ มีบทบัญญัติเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิประชาชนในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ว่าด้วยการที่พลเมืองสหรัฐฯ สิทธิที่จะไม่พูดหรือให้การ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลใดๆ ที่จะถูกอ้างเอาผิดตัวเอง นั่นรวมถึงสิทธิในการที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลรหัสผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย แต่ทว่าฟีเจอร์ที่เป็นที่พูดถึงกันมากอย่างการปลดล็อกด้วยใบหน้าผู้ใช้จะได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วยหรือไม่

เว็บไซต์ข่าววิทยาศาสตร์ป็อบปูลาร์ไซเอนซ์ (Popsci) ระบุว่าวิธีการจดจำใบหน้าของผู้ใช้ไม่ได้มีอยู่แค่ใน iPhone X เท่านั้น ในระบบวินโดว์เฮลโลซึ่งหลักๆ แล้วใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แล็บท็อปและแทบเล็ต กับซัมซุงกาแล็กซี S8 ก็มีระบบล็อกอินด้วยการจดจำใบหน้าเช่นกัน แม้ว่า S8 จะเป็นระบบสแกนเรตินาของดวงตามากกว่าตรวจรูปแบบใบหน้าทั้งหมด

จากที่ก่อนหน้านี้แอปเปิลนำเสนอระบบความปลอดภัยของตนเป็นจุดขาย แต่ระบบการจดจำใบหน้าเช่นนี้ก็ทำให้มีการตั้งคำถามว่าจะทำให้ความปลอดภัยของผู้ใช้ลดลงหรือไม่ในทางกฎหมาย เนื่องจากว่าการคุ้มครองของมาตรา 5 ของสหรัฐฯ ระบุการคุ้มครองผู้ใช้งานต้องไม่ให้ตำรวจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้แม้ว่าจะมีหมายค้นก็ตาม แต่ทว่ารูปแบบของการคุ้มครองนั้นเป็นการคุ้มครองเมื่อมีการใส่รหัสผ่านรูปแบบตัวอักษรหรือตัวเลขเท่านั้น แต่ไม่ได้คุ้มครองการใส่ระบบป้องกันด้วยชีวมิติ (biometric) อย่างรอยนิ้วมือหรือการจดจำใบหน้า popsci ระบุว่ามันเป็นเรื่องการตีความของกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในหัวของคุณอย่างรหัสผ่านกับสิ่งที่เป็นร่างกายคุณ

เนธ คาร์โดโซ เจ้าหน้าที่ทนายความอาวุโสขององค์กรส่งเสริมเสรีภาพสื่อดิจิทัลอิเล็กโทรนิคฟรีดอมฟาวด์เดชัน (EFF) บอกว่าขณะที่ระบบป้องกันด้วยรหัสผ่านกฎหมายอเมริกันจะวางเอาไว้แล้วว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถสั่งให้เปิดได้ แต่ระบบคุ้มกันด้วยใบหน้าทางกฎหมายยังไม่คุ้มครองชัดเจนเนื่องด้วยกฎหมายสหรัฐฯ ระบุคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่สามารถใข้ "เนื้อหาจากความคิดอ่าน" ของตัวบุคคลได้แม้จะมีหมายจับหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ทางกฎหมายสหรัฐฯ อนุญาตให้สำรวจจากร่างกายเช่นการขอตรวจเลือดหรือพิมพ์ลายนิ้วมือได้

อย่างไรก็ตามในสหรัฐฯ เคยมีคดีเมื่อปี 2557 ที่ศาลสูงตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำการจับกุมไม่สามารถสั่งให้ใช้ใบหน้าหรือลายนิ้วมือเปิดโทรศัพท์มือถือของผู้ถูกจับกุมได้โดยทันที แต่จะต้องผ่านกระบวนการให้ศาลพิจารณาออกคำสั่งก่อนว่ามีเหตุเหมาะสมให้กระทำการได้หรือไม่

นอกจาก EFF แล้ว องค์กรอย่างสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ก็แสดงความกังวลเช่นกันว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะอ้างใช้การปลดล็อคโทรศัพท์ด้วยวิธีการใช้ใบหน้าหรือการแตะลายนิ้วมือหรือไม่ ยังไม่นับว่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งนอร์ทแคโรไลนายังเคยใช้วิธีการอื่นๆ ในการปลดล็อคโทรศัพท์ที่ติดตั้งระบบปลดล็อคด้วยใบหน้าได้ด้วย

ทั้งนี้ทางแอปเปิลเองได้วางระบบรักษาความปลอดภัยโทรศัพท์ไว้เพิ่มเติม 2 ชั้นในระบบปฏิบัติการ iOS 11 เพื่อป้องกันไม่ให้โจรหรือเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลได้ ระบบความปลอดภัยแรกเรียกว่า "SOS mode" ที่ให้ผู้ใช้ยกเลิกการปลดล็อคโทรศัพท์ด้วยการจดจำใบหน้าหรือการสัมผัสได้โดยการกดปุ่มเปิดปิด 5 ครั้ง ระบบความปลอดภัยที่สองคือการให้ผู้ใช้งานต้องใส่รหัสกับการเชื่อมต่อที่เชื่อถือได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ ทำให้สามารถปลดล็อคเข้าถึงข้อมูลได้ยากขึ้น

เรียบเรียงจาก

The iPhone X's face unlock and the fifth amendment don't mix, Popular Science, 16-09-2017

With FaceID, Apple’s iPhone X wades into Fifth Amendment gray area, PBS, 15-09-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท