โรฮิงญากับสังคมไทย #2: เปิดชีวิตโรฮิงญาในยะไข่ วาทกรรมเกลียดชังมาแรงขายได้

เรื่องราวโรฮิงญาจากการลงพื้นที่ ความเป็นอยู่ สภาวะกดขี่ในยะไข่ เปรียบวิกฤติพม่าเหมือนรวันดา ปัญหาชาติพันธุ์ซับซ้อนต้องมองภาพใหญ่ อยากให้ปัญหาหยุดมากกว่าหาคนผิด-ถูก ทำอย่างไรให้ชีวิตโรฮิงญาดีขึ้น โรฮิงญากับมิติความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์บนกฎหมายและประวัติศาสตร์ วาทกรรมขัดแย้งขายดีกว่าอยู่ร่วมกัน

Image may contain: 5 people, people sitting, screen, table and indoor

ภาพในงานเสวนา

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่อง “โรฮิงญา” กับ “สังคมไทย” เกี่ยวกันไหม? ... ทำไมเกี่ยวกัน โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์กร Fortify Rights ศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ  ศุภชัย ทองศักดิ์ ผู้ผลิตสารคดีและหนังสั้นซึ่งปัจจุบันกำลังทำสารคดีเกี่ยวกับชาวจักมา (Chakma) ชนกลุ่มน้อยชาวพุทธในบังกลาเทศ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและรองประธานมูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี และ สักกรินทร์ นิยมศิลป์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่องราวโรฮิงญาจากการลงพื้นที่ ความเป็นอยู่ สภาวะกดขี่ในยะไข่ เปรียบวิกฤติพม่าเหมือนรวันดา

Image may contain: 1 person, sitting and indoor

พุทธณี กางกั้น

คำถามที่ว่า “ใครถูกใครผิด” ถึงแม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่คำถามที่สำคัญยิ่งกว่า คือ “ทำอย่างไรที่จะหยุดเหตุการณ์และวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้” ปัญหาที่สำคัญของพม่าคือ ประเด็นปัญหาชาติพันธุ์ ซึ่งปัญหาโรฮิงญาไม่ได้เป็นเพียงโจทย์เดียว

พุทธณี กางกั้น

พุทธณีชักชวนให้พยายามทำความเข้าใจปัญหาในพม่าแบบพม่า กล่าวคือ เราไม่สามารถจินตนาการถึงพม่าโดยใช้มุมมองของความเป็นคนไทยไปเปรียบเทียบได้ เราควรต้องมองให้ลึกซึ้งเข้าไปถึงบริบทความซับซ้อนในสังคมของพม่าเอง หากมุ่งความสนใจต่อปัญหาโรฮิงญาอย่างเดียวเราจะไม่เห็นภาพใหญ่ ในพม่าเองยังมีปัญหาเชิงชาติพันธุ์อยู่มากมายซึ่งมีอย่างน้อย 135 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ เช่น ชาวฉิ่น คะฉิ่น กะเหรี่ยง ไทยใหญ่หรือชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แม้แต่ผู้นำศาสนาอื่นอย่างผู้นำศาสนาคริสต์ก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงเช่นกัน รวมถึงการวิเคราะห์ทำความเข้าใจกองทัพ สิ่งที่ทหารพม่ากระทำในพม่านั้นไม่สามารถเปรียบเทียบกับเมืองไทยได้

เธอได้กล่าวถึงประสบการณ์ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่คอกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazar) ในรัฐจิตตะกอง พรมแดนระหว่างบังกลาเทศกับรัฐยะไข่ ขณะที่เธอได้นั่งสามล้อแบบริกชอว์ซึ่งมีเพื่อนชาวโรฮิงญาที่นั่งมาด้วยเล่าให้ฟังและได้พบเห็นตำรวจชาวบังกลาเทศขอติดรถไปด้วยแล้วจ่ายค่าโดยสารหลังจากลงรถ ทำให้คนขับชาวโรฮิงญาผู้นั้นเปรียบเทียบประสบการณ์ของตนในขณะอยู่ที่รัฐยะไข่ซึ่งถ้าหากตำรวจหรือทหารพม่าโดยสารไปด้วย นอกจากที่คนขับผู้นั้นไม่ได้ค่าโดยสารแล้วยังต้องกล่าวขอบคุณทหารหรือตำรวจด้วยที่ขึ้นรถของเขา จากการสัมภาษณ์ พุทธณีพบว่าชาวโรฮิงญาไม่ได้เป็นคนจนอย่างที่สังคมส่วนใหญ่เข้าใจ คนหนึ่งที่เธอได้สัมภาษณ์มีที่ดินกว่า 3 ไร่และทำมาหากินตามปกติโดยไม่มีหนี้สินก่อนเหตุการณ์ความรุนแรง หรือชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้ลี้ภัยในต่างประเทศสมัยนักศึกษา หลายคนเป็นแพทย์และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

พุทธณีได้ให้ความเห็นว่า คำถามสำคัญในตอนนี้ คือ ทำอย่างไรที่จะหยุดเหตุการณ์และวิกฤตการณ์ครั้งนี้ให้ได้ มากกว่าการถามหาว่าใครถูกใครผิด และปัญหาที่สำคัญของพม่า คือ ประเด็นชาติพันธุ์ที่มีปัญหามายาวนานและเรื่องโรฮิงญาไม่ได้เป็นเพียงโจทย์เดียว ปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เรียกร้องก็ไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลเช่นเดียวกัน สำหรับปัญหาโรฮิงญา เธอมองว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลพม่าต้องแก้ปัญหา ซึ่งถ้าหากแก้ไขไม่ได้ก็น่ากังวลว่าจะส่งผลกระทบให้กับประเทศในอาเซียนและรวมถึงประเทศไทยเป็นที่แน่นอน กล่าวคือ เราจะทำอยางไรเพื่อให้ผู้ลี้ภัยในรอบนี้ประมาณ 2- 3 แสนคน และถ้ารวมถึงผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ในคอกซ์บาซาร์แล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 4 แสนคนสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย หรือถ้าหากกลับไปไม่ได้คนเหล่านี้มีทางเลือกอะไรบ้างและสามารถทำอะไรได้บ้าง ภาพที่พบเห็นชาวโรฮิงญาแบกลูก แบกข้าวของเครื่องใช้ทำให้เธอนึกถึงหนังเรื่อง Hotel Rwanda ซึ่งเธอนึกไม่ถึงว่าเหตุการณ์อย่างในรวันดาจะเกิดขึ้นในพม่าที่ใกล้กับเราได้

  

Hotel Rwanda เรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเผ่าทุตซีและฮูตูสายกลางโดยรัฐบาลเสียงข้างมากฮูตู (ที่มาภาพ: imdb)

โรฮิงญากับมิติความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์ วาทกรรมขัดแย้งขายดีกว่าอยู่ร่วมกัน

Image may contain: 2 people, people sitting

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

เราได้สร้างวาทกรรมความเกลียดชังและทำให้เราพร้อมที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่แตกต่างจากเรา วาทกรรมการอยู่ร่วมกันนั้นเชยเหมือนกับใช้เทคโนโลยีแบบซัมซุงฮีโร่ที่ล้าสมัย แต่ในขณะที่วาทกรรมสร้างความเกลียดชังนั้นล้ำสมัยขายดีและติดหู....เราต้องกลับมาดูตัวเราเองว่าเราซื้อวาทกรรมสร้างความเกลียดชังในสังคมมากไปหรือไม่

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

เอกพันธุ์ได้นำเสนอมุมมองเชิงอัตลักษณ์ต่อปัญหาชาวโรฮิงญา ด้วยที่ชาวโรฮิงญาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนเบงกาลีแต่เป็นคนพม่าในบังกลาเทศ ในขณะที่คนพม่าเองก็มองว่าชาวโรฮิงญาเป็นคนเบงกาลี ซึ่งกระบวนการทางสังคมที่มองว่าอีกฝ่ายเป็นพวกเราหรือไม่จะต้องมีกระบวนการทางเจตคติบางอย่าง ชาวโรฮิงญาพยายามมาโดยตลอดที่จะบอกว่าพวกเขาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมานานแล้ว รวมถึงการอ้างกฎหมายพลเมือง (Citizenship Law) ในช่วงทศวรรษ 1940 แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ เหตุการณ์การยึดอำนาจของนายพลเนวิน ในปี ค.ศ. 1962 และต่อมามีการออกกฎหมายพลเมืองใหม่ปี ค.ศ. 1982 ซึ่งทำให้ชาวโรฮิงญามิได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐ 135 ชาติพันธุ์

ในการอธิบายถึงเจตคติที่กีดกันและแบ่งแยกคนที่ต่างจากเราออกไป ผอ. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล อ้างถึงทฤษฎีสงครามซึ่งตั้งแต่สมัยกรีกเวลารบกันนั้นจะต้องมองอีกฝ่ายเป็นอื่นหรือเป็นศัตรู และงานเขียนของอมารตยา เซ็น เรื่องอัตลักษณ์และความรุนแรง ที่ว่าคนเรามักจะเลือกที่จะยึดโยงอัตลักษณ์บางอย่าง ซึ่งในกฎหมายพลเมืองปี ค.ศ. 1982 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ Council of State ตัดสินว่าใครจะถือว่าเป็นคนพม่า โดยมีหลักเกณฑ์ 3 ประการได้แก่ 1) อยู่ใน 135 ชาติพันธุ์ 2) มีคุณลักษณะนิสัยที่ดี (good character) และ 3) เป็นผู้คิดดี (sound mind) เกณฑ์ดังกล่าวทำให้ชาวโรฮิงญาถูกกีดกันออกและถูกทำให้กลายเป็นอื่นไป

เอกพันธุ์เห็นว่า ต้องเชื่อมโยงเรื่องนี้กับเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 2012-13 คือ ขบวนการ 969 ของพม่าที่หยิบยกอัตลักษณ์ความเป็นพุทธขึ้นมานำ ตัวเลข 969 ป็นตัวแทนของพุทธคุณ ธรรมคุณและสังฆคุณซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากคุณยึดมั่นในหลักพุทธศาสนา คนที่ไม่ได้ร่วมในอัตลักษณ์นี้ไม่ได้ถือว่าเป็นชาวพม่า วาทกรรม 969 มองตนเองว่าเป็นเชื้อสายพม่าแท้ โดยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านตัวเลข 786 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพระเจ้าสำหรับชาวมุสลิมในพม่า นอกจากนี้ยังมีวาทกรรมในสื่อออนไลน์ที่ว่าหากรวมตัวเลข 786 จะได้ 21 ซึ่งหมายถึง ศตวรรษที่ 21 ที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาจะมายึดครองรัฐยะไข่ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาในการสร้างความเป็นพวกและวาทกรรมการสร้างความเป็นพวกนี้เองที่ทำให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นศัตรูร่วมผ่านสายสัมพันธ์เชิงเดียว (singular affiliation) ของความเป็นคนพม่า/เมียนมาร์

เอกพันธุ์ได้ชักชวนให้เราหันกลับมามองในไทย จากความเกลียดชังต่าง ๆ ที่มีอยู่ เราได้สร้างวาทกรรมความเกลียดชัง และทำให้เราพร้อมที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่แตกต่างจากเรา วาทกรรมการอยู่ร่วมกัน (co-existence) นั้นเชย ในขณะที่กลุ่มที่สร้างความเกลียดชังนั้นล้ำหน้าไปไกลมากซึ่งเป็นวาทกรรมที่ขายดีและติดหู ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวโรฮิงญา และคนอื่น ๆ ที่แตกต่างกลายเป็นพวกแปลกแยก เอกพันธุ์ทิ้งท้ายให้กลับมาดูตัวเราเองว่าเราซื้อวาทกรรมสร้างความเกลียดชังในสังคมมากไปหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท