ชาญณรงค์ บุญหนุน: ข้อพิจารณาว่าด้วยการต่อต้านการรุกรานทางศาสนาของชาวพุทธ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อนักข่าวถามว่าการลุกขึ้นต่อต้านศาสนาหรือการรุกรานของศาสนาอื่น ๆ ด้วยการถืออาวุธขึ้นสู้นั้นมีในพุทธศาสนาหรือไม่ ? คำถามนี้ไม่ได้เป็นประเด็นหลักในการนำเสนอในสื่อที่สัมภาษณ์สักเท่าใดเพราะมีประเด็นอื่นให้พูดคุยในพื้นที่เนื้อข่าวอันจำกัด หรือไม่ก็เนื่องจากผมเองก็ให้คำตอบได้ไม่ค่อยดีนักเนื่องจากไม่ได้เจาะจงไปที่ประเด็นที่เป็นคำถามข้างต้นให้มากกว่าที่ให้สัมภาษณ์ไป กระนั้นก็มีฟีดแบคกลับมาในลักษณะเดิมจากชาวพุทธจำนวนหนึ่งคือปัดปัญหาไปให้ฝ่ายตรงข้าม หรือไม่ก็ยังพอใจที่จะตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันกันต่อไป ด้วยวิธีคิดทำนองนี้เอง ผมจึงไม่ค่อยแปลกใจนักที่ชาวพุทธจำนวนมากจะยกอดีตพระมหาอภิชาติขึ้นเป็นวีรบุรุษผู้ปกป้องพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ ผมเลยคิดว่าด้วยคำถามเดียวกันนี้ และประเด็นเดียวกันนี้ จึงมีเรื่องต้องคิดวิเคราะห์และนำมาถกเถียงสนทนาอีกพอสมควร ข้อเขียนนี้ผมจงใจที่จะถกสนทนากับชาวพุทธเป็นการเฉพาะ

อะไรคือปัญหาของชาวมุสลิมในสายตาของชาวพุทธ ?

ผมคิดว่ามี 2 ลักษณะด้วยกัน

(1) ปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ว่ามีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งในพื้นที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต มีชาวพุทธจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการกีดกันชาวพุทธออกจากพื้นที่ที่ตนเคยอาศัยอยู่ ข้อเท็จจริงที่ว่าพระสงฆ์และชาวพุทธถูกทำร้ายนั้นมีอยู่จริง แต่ก็ลืมตระหนักไปว่าชาวมุสลิมในพื้นที่ก็พบกับความเลวร้ายนี้ไม่แตกต่างกันนัก

(2) ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังอันเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 ที่อนุญาตให้ศาสนาต่าง ๆ ที่รัฐรับรองมีเสรีภาพมากในการดำเนินงานอันเกี่ยวเนื่องกับชุมชนศาสนาของตนมากขึ้น กฎหมายที่ออกมาเอื้อให้ชาวมุสลิมรวมตัวกันเรียกร้องผลประโยชน์จากรัฐตามตัวบทกฎหมายที่มีอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่ารัฐจะมีท่าทีสนับสนุนชาวมุสลิมอยู่เสมอ เช่น การผ่านกฎหมายหรือพระราชบัญญัติการก่อตั้งธนาคารอิสลาม การเดินทางไปทำพิธีฮัจจ์ รวมทั้งการอนุญาตให้ก่อสร้างมัสยิดในชุมชนอิสลามในพื้นที่ต่าง ๆ ได้โดยสะดวก ในขณะที่กฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเกี่ยวเนื่องกับการก่อตั้งธนาคารพุทธศาสนาและการเดินทางไปสักการะปูชนียสถานในอินเดียไม่เคยผ่านรัฐสภาเสียที มิหนำซ้ำยังมีข่าวไล่พระออกจากพื้นที่วัดในเขตป่าสงวนแห่งชาติอีกหลายที่

ในสายตาของชาวพุทธ เมื่อทั้งสองปัญหานี้ถูกผูกโยงเข้าด้วยกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงถูกมองว่ามีกระบวนการระดับชาติวางแผนมาเป็นอย่างดีเพื่อยึดครองแผ่นดินไทย วิธีที่ชาวมุสลิมทำอยู่ขณะปัจจุบันมีเป้าหมายสำคัญคือล้มพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศให้จงได้ ในมโนทัศน์ของชาวพุทธจำนวนมาก ความเป็นมุสลิมมาพร้อมกับความรุนแรงและการรุกรานพื้นที่ทั้งทางกายภาพและทางวัฒนธรรม การลุกขึ้นต่อต้านชาวมุสลิมของอดีตพระมหาอภิชาติเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นชีวิตของชาวพุทธในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะการที่พระภิกษุซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นผู้ที่ไม่ควรจะถูกเบียดเบียนเป็นที่สุดถูกสังหารนั้นสร้างความกังวลใจอย่างยิ่งสำหรับพระสงฆ์ทั่วประเทศ ชาวพุทธคิดหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมพระจึงต้องถูกฆ่าด้วยทั้งที่พระไม่มีอาวุธ มุ่งหมายปฏิบัติและใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนใครตามอุดมคติทางศาสนา

ปัจจุบัน การต่อต้านมุสลิมเกิดขึ้นทั่วประเทศโดยชาวพุทธทั้งที่เป็นพระและฆราวาส แต่อดีตพระมหาอภิชาติเป็นพระรูปเดียวหรือชาวพุทธไทยคนเดียวก็ว่าได้ที่กล่าวอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะว่าชาวพุทธต้องต่อต้านกลับด้วยความรุนแรง “หนึ่งศพ หนึ่งมัสยิด” เป็นการเรียกร้องให้มีการต่อต้านปัญหาความรุนแรงที่ชาวพุทธได้รับจากกรณีสามจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะ จุดมุ่งหมายหรือเจตนาสำคัญที่อดีตพระมหาอภิชาติออกมาป่าวประกาศเช่นนี้ ได้รับการเปิดเผยจากท่านเองในวงสานเสวนาระหว่างศาสนาเรื่องชนกลุ่มน้อยและชนกลุ่มใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งหนึ่ง ท่านบอกว่าที่กล่าวรุนแรงเช่นนั้นก็เพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปกป้องชาวพุทธและพระสงฆ์ในสามจังหวัดภาคใต้ให้มากกว่านี้ แต่เมื่อรัฐไม่สามารถปกป้องคุ้มครองชาวพุทธได้ ชาวพุทธย่อมมีสิทธิในการปกป้องตัวเอง สิ่งที่ท่านทำไม่ได้มุ่งหมายว่าชาวพุทธจะต้องลุกขึ้นเผามัสยิดจริง ๆ แต่ต้องการให้รัฐตระหนักรู้ถึงความเดือดร้อนของชาวพุทธและจัดการกับผู้ก่อการร้ายให้เด็ดขาดและนำความสงบคืนมาแก่ชาวพุทธในท้องถิ่น

กลับไปที่คำถามเดิมของนักข่าวของวอยซ์ทีวี คำตอบที่ผมให้ไปดูจะไม่ค่อยได้คิดถึงประเด็นการต่อต้านความรุนแรงในแบบชาวพุทธโดยตรง หากแต่เรื่องบางเรื่องที่ยกขึ้นมานั้นเป็นหลักการในการปกป้องพุทธศาสนาจากฝ่ายตรงข้ามที่โจมตีพุทธศาสนาด้วยวาทะคำพูดเป็นหลัก คือหากมีผู้กล่าวโจมตีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ สิ่งที่พระสงฆ์สาวกพึงทำคือ พิจารณาว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่เพียงใด หากมีข้อบกพร่องจริงก็ต้องปรับปรุงตนเอง หากไม่มีข้อบกพร่องดังที่กล่าวหาก็ให้แสดงเหตุผลออกไปเพื่อทำความเข้าใจและทำดีต่อไป นี่เป็นหลักการหนึ่งที่กล่าวไว้ในหลักคำสอนคือพระไตรปิฎก อีกหลักคำสอนหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพระสงฆ์ถูกทำร้ายแต่พระพุทธเจ้าตรัสประกาศไว้แต่แรกในโอวาทปาติโมกข์ซึ่งคำสอนในท่อนแรกถูกถือว่าเป็นหัวใจทั้งหมดของพุทธศาสนา (คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้สมบูรณ์ และการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์) พุทธโอวาทท่อนนี้เป็นที่ประทับในหัวของชาวพุทธและถูกย้ำเตือนเสมอเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาคือ วันมาฆบูชา

แต่พุทธโอวาทท่อนต่อไปซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยุคสมัยที่มีการเผชิญหน้ากับการทำร้ายกันดังในบริบทของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมักจะถูกมองข้ามหรือมองแค่ผ่านๆ ไป นั่นคือบทที่ว่า

“ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นธรรมอันยอดเยี่ยม ผู้กำจัดสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย ผู้ทำให้สัตว์อื่นลำบากไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย การสำรวจในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง  ธรรม 6 ประการนี้เป็นคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

เนื้อหาส่วนหนึ่งของโอวาทปาติโมกข์ข้างบนนี้มุ่งไปที่ขันติธรรมและการที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าจะโดยทางวาจาหรือทางกาย นอกนั้นเป็นการเสนอให้พระสงฆ์พยายามฝึกฝนตนเองตามครรลองของสมณะที่คาดหวัง เมื่อเราทาบคำสอนบทนี้ลงในบริบทของชาวพุทธ-มุสลิมในปัจจุบัน เราย่อมตระหนักได้ว่า การกล่าวร้าย การมุ่งทำร้ายผู้อื่น ไม่ใช่จุดมุ่งหมายในการดำรงชีวิตของสมณะตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธในสถานการณ์อันยุ่งยากลำบากในไทยและพม่าดูจะละเลยคำสั่งสอนเรื่องนี้ไปสิ้น ผู้ที่กล่าวเตือนด้วยโอวาทดังกล่าวนี้ก็มักจะถูกกล่าวหาว่าโลกสวยหรือไม่ก็หงอชาวมุสลิมจนเกินเหตุ การนิ่งสงบถือว่าเป็นการยอมอ่อนข้อให้กับความชั่วร้ายที่เข้ามาเบียดเบียนสังคมตนเองและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของตนเอง วิถีพุทธในการสู้กลับด้วยความรุนแรงทางกายภาพนั้นเกิดขึ้นในโลกพุทธศาสนาในลังกามาแล้ว เมื่อพุทธศาสนาถูกผูกโยงเข้ากับชาติพันธุ์และการเมืองของกษัตริย์เจ้านคร “คนชั่วเป็นมนุษย์แค่เพียงครึ่งเดียว การสังหารคนเหล่านั้นไม่ได้มีบาปมากมาย ยิ่งกระทำในนามของศาสนาก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ” นี่เป็นคำตอบที่ระบุว่าเป็นของพระอรหันต์ในศรีลังกาเมื่อนานมาแล้ว

วิธีจัดการกับความชั่วร้ายและความรุนแรงมีไหมในคำสอนดั้งเดิม ?

มีเรื่องราวที่แสดงถึงการตอบโต้ความชั่วร้าย (การทำร้าย การเข่นฆ่า สังหารเอาชีวิต) ตามแบบแผนคำสอนของพุทธศาสนาในปุณโณวาทสูตร มัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสก์ (พระไตรปิฎกเล่มที่ 15/756-763) เรื่องราวมีอยู่ว่า พระปุณณะต้องการจะเดินทางไปอาศัยที่สุนาปรันตปะชนบท ซึ่งผู้คนในท้องถิ่นดังกล่าวมีชื่อร่ำลือในเรื่องความโหดร้ายและการอาศัยอยู่ที่นั่นอาจเป็นภัยถึงชีวิต ต่อไปนี้คือบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระปุณณะ

ดูกรปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้ายหยาบช้านัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยฝ่ามือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์มีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยฝ่ามือ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยฝ่ามือ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยก้อนดิน เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยก้อนดิน ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีหนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยท่อนไม้ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาตรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้น อย่างนี้ ฯ

ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยศาตรา เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยศาตรา ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาตราอันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาตราอันคม เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพข้าพระองค์ด้วยศาสตราอันคม ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหาศาตราสังหารชีพอยู่แล เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาตราสังหารชีพแล้วข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะดังนี้แล้วจักอาจเพื่อจะอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้แล ดูกรปุณณะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด ฯ

เราคงยากจะเห็นชาวพุทธไทยจำนวนมากยึดถือแบบแผนการเผชิญหน้าความเลวร้ายอันจะเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันในลักษณะนี้ ท่าทีแบบพระปุณณะตามเรื่องเล่านี้ในปัจจุบันอาจจะถูกมองว่าเป็นท่าทีแห่งการยอมจำนน ยอมศิโรราบต่อคนชั่วและความชั่วร้าย ผลที่ตามมาก็คือการสูญสิ้นพุทธศาสนาไปจากแดนไทย อีกประการหนึ่ง พระปุณณะอาจสามารถมีท่าทีเช่นนี้ได้เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องสถาบันพุทธศาสนาโดยรวมอย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ของไทยปัจจุบัน หากชาวพุทธจะให้เหตุผลเพื่อการปกป้องพุทธศาสนาและชาวพุทธโดยรวมด้วยวิธีตาต่อตาฟันต่อฟันซึ่งหลุดไปจากคำสอนเรื่องนี้ ชาวพุทธจำเป็นต้องไตร่ตรองตนเองอีกครั้งถึงคุณธรรมอย่างน้อย 2 ประการคือเรื่องการยึดมั่นถือมั่น (ในตัวกู ของกู) และการมีขันติธรรมต่อแรงกดดันบีบคั้น เรื่องในอรรถกถาต่อไปนี้ดูจะทำให้เห็นว่าการปกป้องชีวิตของตนเองโดยการทำร้ายชีวิตหรือเป็นสาเหตุให้ผู้อื่นเดือดร้อนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ตรงตามอุดมการณ์หลักของพุทธศาสนา

พระติสสเถระสนิทสนมกับครอบครัวนายช่างแก้วมณี ผู้มีชื่อเสียง เขาเลี้ยงนกแก้วตัวหนึ่งไว้ในบ้าน ด้วยความคุ้นเคยพระติสสะจึงมักเข้าไปฉันภัตตาหารที่บ้านนายช่างแก้วอยู่เสมอๆ คนที่จัดแจงถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่านก็คือนายช่างแก้วและภรรยานั่นเอง วันหนึ่ง ขณะที่น่าช่างแก้วลงมือทำเนื้อสดเพื่อปรุงเป็นอาหารถวายพระติสสเถระ ผู้รับใช้พระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็นำแก้วมณีมายื่นให้เพื่อทำการเจียระไน เขารับแก้วมณีนั้นมาด้วยมือเปื้อนเลือดและวางไว้บนพื้นไม่ห่างจากตัวเองนัก แล้วทำอาหารต่อไป นกแก้วได้กลิ่นคาวเลือดจึงเดินไปจิกแก้วมณีกลืนลงคอไปต่อหน้าพระติสสะ นายช่างแก้วมองหาแก้วมณีไม่พบ จึงสอบถามพระเถระ พระติสสะรู้ว่าตนไม่อาจโกหกว่าไม่รู้ แต่ถ้าตนเองเอ่ยปากนกก็จะถูกฆ่าตาย ท่านจึงเลือกที่เงียบเสีย นายช่างแก้วคิดว่าพระเป็นคนขโมยจึงลงมือทรมานด้วยการเอาเชือกมามัดรอบร่างกายของท่านแล้วขันชะเนาะให้เชือกแน่นขึ้นเรื่อย ๆ พระติสสะได้รับความทุกข์ทรมานอย่างหนักก็ไม่ปริปากพูด นายช่างขันเชือกแน่นขึ้นเรื่อย ๆ จนพระติสสะเลือดไหลออกทางปากทางจมูกและไหลลงบนพื้นบ้าน นกแก้วได้กลิ่นคาวเลือดจึงเดินเข้ามาใกล้ ๆ เพื่อดื่มกินเลือด นายช่างโกรธมากจึงถีบนกแก้วอย่างแรงจนตายคาที่ พระติสสะขอให้นายช่างแก้วช่วยดูว่านกแก้วยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เมื่อทราบว่านกแก้วตายแล้ว พระติสสะจึงบอกนายช่างแก้วให้รู้ว่าแก้วมณีอยู่ในท้องของนกนั้น

พระติสสะเสียชีวิตเพราะอาการบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการถูกทรมานแสนสาหัส เรื่องนี้ถูกโจทย์ขานไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสสรรเสริญการกระทำของพระติสสะที่มีความอดกลั้นอย่างสูงพร้อมกับตรัสเล่า“ขันติวาทีชาดก” แก่พระภิกษุทั้งหลายซึ่งในทางพุทธศาสนา เรื่องขันติวาทีชาดกนี้ได้ถูกยกย่องในฐานะขันติบารมีขั้นสุดยอดของพระโพธสัตว์ (ปรมัตถบารมี) เมื่อภัยคุกคามถึงชีวิต พระติสสะยอมสละชีวิตตนเองเพียงเพื่อปกป้องสัตว์ตัวน้อยที่ดูเหมือนว่าไม่มีความสำคัญใด ๆ เมื่อเทียบกับชีวิตของตน ขณะเดียวกันก็ปกป้องศีลของตนเองด้วย แต่นี่คือแบบอย่างในอุดมคติของชาวพุทธมิใช่หรือ ?

คำถามคือ เรื่องของพระติสสะให้บทเรียนอะไรแก่ชาวพุทธหรือไม่ พระสงฆ์จำนวนมากที่ผ่านการศึกษาบาลีมาพอสมควรย่อมจะได้ศึกษาเรื่องนี้มาบ้างเพราะเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในตำราเรียนภาษาบาลีระดับต้นของคณะสงฆ์ ชาวพุทธที่ผ่านการศึกษาบาลีจากวงการสงฆ์ก็ย่อมจะผ่านเรื่องนี้ไม่มากก็น้อยเพราะต้องเรียนแปลภาษาบาลี (มคธ) เป็นไทยและแปลภาษาไทยเป็นมคธ

คำถามคือ ในสถานการณ์ที่รู้สึกถึงภัยคุกคาม ทำไมชาวพุทธผู้ผ่านการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยมาจึงไม่ตระหนักในเรื่องราวดังกล่าวนี้และยึดถือเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติ คำตอบของชาวพุทธที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีแบบนี้ก็อาจจะมีเหตุผลสำคัญคือ ในเมื่อเราต้องการปกป้องรักษาชีวิตชาวพุทธเอาไว้เราย่อมต้องหาวิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องตนเอง วิธีแห่งความรุนแรงได้รับการเสนอเป็นทางเลือกอย่างน้อยก็โดยการยอมให้รับจัดการด้วยความรุนแรงเด็ดขาด

แต่ไม่ว่าจะค้นคว้าจากแหล่งไหน ก็ยากจะเห็นคำสอนของพระพุทธเจ้า (เน้นคำว่า พระพุทธเจ้า) ปรากฏในลักษณะที่ยกย่องสรรเสริญการปกป้องชีวิตและพวกพ้องของตนด้วยการยกอาวุธขึ้นต่อสู้ ถ้าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ อดีตพระมหาอภิชาติอาจไม่ได้รับยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษเหมือนดังที่กลุ่มชาวพุทธปัจจุบันจำนวนหนึ่งยกย่องกัน นี่คือความคิดของผม

ที่มาภาพ: pixabay.com/th

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท