'เนติวิทย์' ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินจุฬาฯ ชี้ ใช้คะแนนเลื่อยขาเก้าอี้สภาฯ

ร้องคำสั่งตัดคะแนนความประพฤติขัด พ.ร.บ. ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ จ.ศ. 1235 ยกเลิกหมอบคลาน ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฏหมาย ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ไม่เคารพประโยชน์ที่กฏหมายรับรองและคุ้มครองผู้อุทธรณ์ อำพรางเจตนาต้องการปลดผู้อุทธรณ์ออกจากสมาชิกสภานิสิต ขอเพิกถอน ทุเลาคำสั่ง

26 ก.ย. 2560 ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4928/2560 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ฉบับลงวันที่ 30 ส.ค. 2560 เอกสารที่อ้างถึง (1) ลงโทษตัดคะแนนความประพฤติของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิต สมาชิกสภานิสิตและนิสิตอีกทั้งสิ้น 7 คน รวมเป็น 8 คน และคำสั่งเรื่องให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Netiwit Chotiphatphaisal โพสท์หนังสืออุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทางปกครองในกรณีที่มีการออกคำสั่งสองฉบับ โดยขอให้ทางมหาวิทยาลัยเพิกถอน และทุเลาการบังคับตามคำสั่งทั้งสอง

อ่าน จุฬาฯ ตัดคะแนนเนติวิทย์และพวก ส่งผลพ้นตำแหน่งประธานสภานิสิต

อ่าน จี้ผู้บริหารพิจารณาพฤติกรรมอาจารย์ล็อคคอนิสิตจุฬาฯ กลางพิธีถวายสัตย์

ถึงแม้นว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจักทราบดีว่า การลงโทษตัดคะแนนความประพฤติของผู้อุทธรณ์ด้วยความผิดฐาน “นำไปสู่เหตุการณ์ความไม่เรียบร้อย ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย” (เอกสารที่อ้างถึง (1) หน้า 2 บรรทัดที่ 19 ถึง 20) อันสอดคล้องกับความผิดที่ระบุไว้ในข้อกำหนดตามเอกสารที่ส่งมาด้วย (1) ได้วางบรรทัดฐานการลงโทษตามความผิดฐานก่อกวนความสงบเรียบร้อย คือ ตัดคะแนนความประพฤติตั้งแต่ 5 คะแนน ถึง 20 คะแนน แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลุแก่อำนาจออกคำสั่งตามเอกสารที่อ้างถึง (1) ตัดคะแนนความประพฤติของผู้อุทธรณ์คนละ 25 คะแนนในคราวเดียว ทั้ง ๆ ที่ทราบดีกว่าเป็นการออกคำสั่งลงโทษที่เกิดจากการใช้ดุลพินิจลงโทษทางวินัยที่ไม่เหมาะสมกับความผิดทางวินัย ตามรายละเอียดปรากฏในอุทธรณ์ข้อ 2.2.2 แล้วนั้น การที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝืนใช้อำนาจตามอำเภอใจด้วยการตัดคะแนนความประพฤติ 25 คะแนนเช่นนี้ ก็เพื่อให้ผู้อุทธรณ์ปรากฏรายนามดังกล่าว “เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ยี่สิบคะแนนขึ้นไป” ตามนัยข้อ 35.3 แห่งระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2529...

...ด้วยพฤติการณ์ดังกล่าวประจักษ์ชัดว่า การที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ที่ ๑- ๕ พ้นจากสถานภาพสมาชิกสภานิสิตสามัญ เป็นมูลเหตุจูงใจในทางข้อเท็จจริงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ดุลพินิจลงโทษทางวินัยที่รุนแรงเกินควร ไม่ได้สัดส่วนกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้อุทธรณ์ มาบิดเบือนการใช้อำนาจออกคำสั่งลงโทษทางวินัยตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยนิสิต พ.ศ. ๒๕๒๗ เอกสารที่อ้างถึง (๖) ซึ่งมีวัตถุประสงค์รักษามารยาทอันดีของนิสิต เพื่อปกปิดอำพรางเจตนาที่แท้จริงที่ต้องการใช้อำนาจมาปลดผู้อุทธรณ์จำนวน ๕ รายดังกล่าว มิให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัยอีกต่อไปเพราะขาดคุณสมบัติในการลงรับสมัครตำแหน่งในสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกภาคส่วนตลอดชีวิต เพราะ เป็นผู้ที่ “เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ยี่สิบคะแนนขึ้นไป” เทียบเท่าความผิดฐานลักทรัพย์หรือทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยซึ่งมีลักษณะที่เป็นความผิดวินัยรุนแรงและมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาร่วมอยู่ด้วยตามนัยแห่งข้อกำหนดตามเอกสารที่ส่งมาด้วย (๑) ด้วยกิจกรรมของผู้อุทธรณ์ทั้ง ๕ รายดังกล่าวนี้ เคยจัดกิจกรรมประชาพิจารณ์การแสวงหาประโยชน์ของมหาวิทยาลัยอันก่อให้เกิดความเดือดร้อนเป็นภัยต่อประชาชน ซึ่งก่อให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางรายไม่พอใจในการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้เดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง

ข้อความส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ ระบุถึงเจตนาการตัดคะแนนของทางมหาวิทยาลัย

เนื้อความในเฟซบุ๊กระบุไว้ดังนี้ 

นี่คือ หนังสืออุทธรณ์ที่เรายื่นให้
ประธานกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต ในเมื่อวานนี้ครับ โดยเราขออุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทางปกครอง จำนวน 2 ฉบับ
(ที่ยกมาตรงนี้เป็นบางส่วนบางหน้า อ่านเต็มๆในลิงค์ที่ให้ข้างล่าง)
คร่าวๆคือ พวกเรานิสิตทั้ง 8 คนจึงขออุทธรณ์เหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฏหมายของคำสั่งของมหาวิทยาลัยทั้งสองฉบับ ซึ่งได้แก่
  1.  รูปแบบหรือขั้นตอนในการออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฏหมาย
  2. เนื้อหาของคำสั่งขัดต่อหลักความชอบด้วยกฏหมาย 
  • มหาวิทยาลัยออกคำสั่งลงโทษวินัย โดยอาศัยปฏิบัติประเพณี (Pseudo customary practice) เป็นฐานอำนาจในการล้มล้างผลบังคับของ "กฏหมายลายลักษณ์อักษร" (Statutory law) นั่นก็คือ พระราชบัญญัติประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ จุลศักราช 1235
  • การใช้ดุลพินิจออกคำสั่งของมหาวิทยาลัย เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด
  • มหาวิทยาลัยไม่เคารพต่อประโยชน์ที่กฏหมายรับรองและคุ้มครองให้ผู้อุทธรณ์
  • มหาวิทยาลัยลงโทษทางวินัยโดยมีมูลเหตุจูงใจบิดเบือนการใช้อำนาจตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยนิสิต พ.ศ.2527 เพื่อปกปิดอำพรางเจตนาที่แท้จริงที่ต้องการปลดผู้อุทธรณ์ออกจากสมาชิกสภานิสิต

      3.เหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฏหมายของคำสั่งให้สมาชิกสภานิสิตสามัญ 5 คนพ้นจากตำแหน่ง ฉบับลงวันที่ 30  สิงหาคม พ.ศ.2560

อาศัยเหตุผลที่ได้กล่าวมาทั้งหมด พวกเราจึงขอให้
  1. มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทั้งสองฉบับ
  2. ขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย ไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการฯ จักมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์

เอกสารทั้งหมดและหลักฐานประกอบ

สามารถดาวน์โหลดหรือดูได้จาก

https://drive.google.com/open…

--------------------------------

ขอให้มหาวิทยาลัยให้ความเป็นธรรมกับเราด้วย

เพื่อสร้างสังคมที่เคารพความหลากหลายและอยู่ร่วมกันอย่างสันติเข้าใจกันได้ในที่สุด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท