Skip to main content
sharethis

นิทรรศการศิลปะ "Human ร้าย, Human Wrong" ผลงานของนักศึกษาและเยาวชน 18 คน นำเสนอตั้งแต่ปัญหาสังคม จนถึงเรื่องใกล้ตัวที่ผู้คนมองข้าม จัดแสดงที่หอศิลป์ มช. 23-30 กันยายนนี้

การแสดงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดนิทรรศการศิลปะ "Human ร้าย, Human Wrong"

นักศึกษาและเยาวชนที่ร่วมอบรมเวิร์คชอปศิลปะและนำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการศิลปะ "Human ร้าย, Human Wrong"

ในช่วงสัปดาห์นี้ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ "Human ร้าย, Human Wrong" ผลงานของนักศึกษาและเยาวชน 18 คน ที่ร่วมอบรมเวิร์คชอปศิลปะมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยผลงานของพวกเขานำเสนอตั้งแต่ปัญหาสังคม จนถึงเรื่องใกล้ตัวที่ผู้คนมองข้าม

โดยในวันเปิดนิทรรศการเมื่อ 23 กันยายนที่ผ่านมา มีการแนะนำโครงการโดยนักศึกษาที่ร่วมนำเสนอผลงาน นอกจากนี้ยังมีบุคคลจากหลายหลายวงการร่วมแสดงความยินดีกับศิลปินผู้นำเสนอผลงาน หนึ่งในนั้นคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งได้กล่าวว่า เขารู้สึกแปลกใจอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เวลาที่คนเราออกไปประท้วงอะไรก็แล้วแต่ เช่นในปี 2552 ปี 2553 หรือ 14 ตุลา ฟังดูแล้วเหมือนเราออกไปด้วยเหตุผล จริงๆ ไม่ใช่ จริงๆ เราไปเพราะเรารู้สึกว่าต้องออกไป

"ทีนี้น่าประหลาดใจที่ว่าในการที่ทุกวันนี้เราเผชิญหน้ากับการกดขี่เสรีภาพ เราพยายามสื่อสารกันด้วยเหตุผล ไม่ค่อยมีคนสื่อสารด้วยความรู้สึก และที่ผมมาดูนิทรรศการวันนี้ผมรู้สึกแปลกใจว่าผมถูกสื่อสารทางความรู้สึก และผมคิดว่ามันสะเทือนอารมณ์ยิ่งกว่าฟังเลคเชอร์ที่เป็นเหตุเป็นผล คือถ้าเราไม่มีความรู้สึก เราก็ไม่มีวันขึ้นไปต่อสู้กับทรราชได้"

 

ส่วนหนึ่งของ Human ร้าย, Human Wrong

“กุญแจความดี (Thainess Lock)” ผลงานของ พิสุทธิ์ศักดิ์ วัฒนาชัยกูล ซึ่งตั้งคำถามกับหลักปฏิบัติของความดีงามหรือจริยธรรมแบบไทยๆ ที่ถูกผลิตซ้ำในสังคมอย่างขาดการตั้งคำถาม

“ฉันเท่าเทียม (I – Equal)” ผลงานของ ธัญลักษณ์ มีชำนะ แถวของหน้ากากสีขาวรูปใบหน้ามนุษย์นิ่งเรียบ 43 รูป และใบหน้าซึ่งถูกประทับไว้ด้วยบทกลอนที่นำมาจาก “สุภาษิตสอนหญิง” ของสุนทรภู่ สะท้อนการกดสถานะของผู้หญิง

“Bed Kingdom” ผลงานของศราวุฒิ ดอกจำปา ที่ชี้ว่า แม้ว่าแนวคิดเรื่อง sexual consent หรือการให้ความยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม ทว่าแนวคิดดังกล่าวกลับเป็นแนวคิดที่น้อยคนนักในสังคมจะให้ความสำคัญ ทั้งที่การขาดความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องนี้คือบันไดขั้นแรกที่นำมาสู่วัฒนธรรมการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาสู่การยัดเยียดความผิดให้ผู้ถูกกระทำ

ส่วนหนึ่งของผลงาน "Look at You" โดย กรรษกร พรมคง สะท้อนถึงการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพบนโลกออนไลน์ ทั้งโดยที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว

“นวัตกรรมศักดิ์สิทธิ์พิชิตเป้า (The Victory of Sacred Innovations)” ผลงานของ กอบพงษ์ ขันธพันธ์ สร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน อย่างแท่งคอนกรีตสำหรับตั้งศาลพระภูมิ เชื่อมติดกับปืนของเล่น พร้อมเทคนิคพ่นสีสเปรย์ ตั้งคำถามชวนขบคิดถึงการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ การควบคุมผู้คนด้วยความกลัว ความรุนแรง และความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่มีอำนาจใดสามารถจำกัดเสรีภาพทางความคิดและจินตนาการของผู้คน

 

การแสดงและศิลปะชวนขบคิดเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึง

การแสดงประกอบผลงานศิลปะ “ฉันเท่าเทียม (I – Equal)” ของ ธัญลักษณ์ มีชำนะ

นอกจากนี้ยังมีการแสดงแนว Performance เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดงาน หนึ่งในนั้นคือการแสดงชุด “ฉันเท่าเทียม (I – Equal)” ผลงานของ ธัญลักษณ์ มีชำนะ ซึ่งมีการแสดงประกอบผลงานศิลปะด้วยการขีดสีแดงบนผ้าสีขาว รวมทั้งบนร่างกายของผู้แสดงจนใบหน้าและร่างกายถูกขีดด้วยเส้นสีแดง

สำหรับผลงาน “ฉันเท่าเทียม (I – Equal)” เป็นแถวของหน้ากากสีขาวรูปใบหน้ามนุษย์ 43 รูป ติดอยู่ข้างผนัง แต่บนใบหน้านิ่งเรียบนั้นกลับถูกติดสลากไว้ด้วย "สุภาษิตสอนหญิง" ที่มีนัยกดทับสถานะของผู้หญิง

โดยผลงานศิลปะชุดนี้มุ่งสะท้อนความไม่เท่าเทียมบนความเท่าเทียมของเพศชายและเพศหญิงในสังคมไทยที่ถูกปลูกฝังภายใต้ค่านิยมความเชื่อที่ทำให้ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าและสร้างกรอบที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงที่ไม่ปฏิบัติตามค่านิยมความเชื่อนั้น โดยผลงานชิ้นนี้ต้องการสะท้อนการถูกพันธนาการเรือนร่างของผู้หญิงด้วยคำสอนและสุภาษิตสอนหญิงต่างๆ ที่ฝังแน่นอยู่ในสังคมไทย

การแสดงและผลงานชุด "Cyber Bullying" ของชินดนัย ปวงคำ มุ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเลวร้ายของการกลั่นแกล้งและสร้างความเกลียดชังในโลกอินเทอร์เน็ต

คลิปการแสดงชุด "Cyber Bullying" ของชินดนัย ปวนคำ

การแสดงอีกชุดก็คือ “Cyber Bullying” ผลงานของ ชินดนัย ปวนคำ ซึ่งการแสดงของเขาตรึงความสนใจของผู้เข้าชมนิทรรศการ โดยในขณะที่เขานั่งอยู่ในกระบะที่มีน้ำขัง เหนือขึ้นไปมีก็อกน้ำรูปยกนิ้วโป้งเสมือนการ “กดไลค์” เปิดปล่อยน้ำไหลรดศีรษะ เขากล่าวถ้อยคำซ้ำไปมาว่า “ไอ้สัตว์ ไอ้สัตว์ ไอ้สัตว์ ...” พร้อมตบปากตัวเองทุกครั้งที่ได้กล่าวถ้อยคำ

ด้านหลังของชินดนัย คือดินเผาปั้นคล้ายรูปกะโหลกศีรษะมนุษย์วางเรียงกันนับพันลูก โดยคำอธิบายประกอบผลงานของเขาก็คือ “แก้ไขความรุนแรงด้วยสันดาน… ในโลกออนไลน์ เป็นพื้นที่อิสระในการใช้คำแสดงสันดาน ใช้ตัดสิน ตัดสิทธิ์ เฉกเช่นตัวอักษรออนไลน์ ถึงแม้จะบางเบาไร้ตัวตน แต่กระนั้นก็ยังสามารถปลิดชีวิตคนได้

ผลงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นความเลวร้ายของการกลั่นแกล้งและสร้างความเกลียดชังในโลกอินเทอร์เน็ต และกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักว่าการใช้ถ้อยคำทำร้ายกันเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น”

ไอเฟล และผลงาน "Bed Kingdom" ชวนขบคิดถึงหลักความยินยอมทางเพศและปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ

อีกผลงานหนึ่งซึ่งถูกพูดถึงก็คือ “Bed Kingdom” ผลงานของ ศราวุฒิ ดอกจำปา หรือ "ไอเฟล" นักศึกษาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานศิลปะของเขาสะท้อนพูดถึงเรื่องที่ถูกละเลยอย่างเรื่องความยินยอมทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเตียงขนาดใหญ่ถูกตั้งอยู่กลางสถานที่จัดนิทรรศการ คลุมด้วยผ้าปูเตียงที่เย็บต่อกันจากเสื้อผ้าของผู้หญิง ที่ปักตัวอักษรเป็นประโยคข้อความที่สะท้อนความไม่เข้าใจต่อหลักความยินยอมทางเพศ

"ไอเฟล" กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เธอร่วมเวิร์คชอบศิลปะนี้ว่า มีความชอบงานศิลปะมาก่อน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้ทำ การเข้าร่วมเวิร์คชอปครั้งนี้จึงได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์กับงานศิลปะ ถือว่าได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ นอกจากนี้ระหว่างกระบวนการเวิร์คชอปก็ได้เจอเพื่อนหลากหลายแขนง ทั้งคนที่สนใจด้านศิลปะจัดวาง (Installation) และคนที่ชำนาญเรื่องศิลปะเสียง

สำหรับผลงาน “Bed Kingdom” ต้องการสื่อสารเรื่อง Sexual consent โดยผลงานนี้ทำให้เตียงใหญ่กว่ามาตรฐาน เพราะต้องการทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องการให้คนตระหนักถึงเรื่อง Consent และมีการเย็บเสื้อผ้าต่อๆ กัน และปักข้อความเป็นคำพูด ที่สะท้อนการให้เหตุผลในสังคมแบบมโนไปเองของผู้ชาย เพื่อตั้งคำถามว่าภายใต้การเปิดเสื้อผ้าเหล่านี้ ได้รับการยินยอมจริงๆ ใช่ไหม ใช้การปักมือเป็นคำพูด เพราะอยากวิพากษ์สังคมที่ให้สิทธิผู้ชายในการสั่งสอนผู้หญิง โดยไม่ได้มองตัวเองเลยว่าสาเหตุอาจจะเกิดขึ้นจากทัศนคติของผู้ชายก็ได้

ผลลัพธ์จากการชวนคิดชวนคุยผ่านเวิร์คชอปศิลปะ

รจเรข วัฒนพาณิชย์ เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public และผู้ก่อตั้งโครงการห้องเรียนประชาธิปไตย (Cafe Democracy) ผู้ดูแลหลักสูตรกล่าวถึงการเวิร์คชอปก่อนเริ่มนำเสนอผลงานว่า ในการเวิร์ตชอปแต่ละครั้งไม่ได้อบรมเพียงแค่ "ศิลปะเพื่อศิลปะ" แต่เนื้อหายังมีทั้งประเด็นศิลปะ สังคม และการเมือง มีเรื่องการฝึกคิดเชิงวิพากษ์ การดีเบต มีการฝึกปฏิบัติการทำศิลปะแนวใหม่ ซึ่งทำให้ผู้ร่วมโครงการคิดถึงการสื่อสารในสิ่งที่เห็นอยู่รอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว สังคม การเมือง ที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันในระดับต่างๆ เป้าหมายก็เพื่อทำให้สามารถหาประเด็นโต้แย้งว่าประเด็นที่ศิลปินมองเห็นมีผลกระทบอย่างไร รวมทั้งฝึกอภิปรายถกเถียง เพื่อให้รู้ว่าเราคิดอะไร และคนอื่นคิดต่างไปจากตัวเองอย่างไร

โดยในช่วงเวิร์คชอบยังมีการเชิญบุคคลจากหลายหลายวงการมาเป็นวิทยากร หนึ่งในนั้นคือ ประกิต กอบกิจวัฒนา ซึ่งทำเพจ "อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป็อบ" มานำเสนอความรู้เรื่องป็อบอาร์ตด้วย

"พี่สนใจงานศิลปะ คิดว่าศิลปะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนได้ ในยุคสมัยที่เส้นเสรีภาพของแต่ละคนไม่เท่ากัน เราไม่รู้ว่าทำอะไรได้แค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็นความผิด พี่เลยรู้สึกว่าพื้นที่แสดงออกเหล่านี้ยังคงต้องมี เราไม่อยากให้คนที่เราทำงานด้วย ตัวเราเอง หรือเพื่อนของเราถูกจำกัดให้แคบลง" รจเรขกล่าวถึงแนวคิดที่มาของเวิร์คชอป

"เราอยากสื่อสารสังคม และคนรุ่นใหม่ ว่าเด็กสมัยนี้ ทำอะไรกัน คิดอะไรกัน ไม่สนใจการเมืองและปัญหาสังคมที่อยู่รอบตัวจริงหรือ เราเลยอยากรู้ว่ากลุ่มคนอื่นๆ นอกแวดวงนักกิจกรรมคิดอย่างไร"

เมื่อกล่าวถึงการทำงานศิลปะกับเยาวชน รจเรขกล่าวว่า "เราตั้งต้นกับสิ่งที่เขามีในตัวเอง ผลมันเลยออกมาแบบนี้ เป็นส่วนผสมระหว่างระหว่างความคิดที่มีต่อสังคมและบ้านเมือง และการฝึกปฏิบัติงานศิลปะ"

"เมื่อเขาไม่มีพื้นที่แสดงออก งานศิลปะของเขาน่าจะบอกอะไรได้ การสื่อสารของเขาก็น่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้และสร้างรู้สึก ทำให้คนรู้สึกอะไรได้บ้างจากชิ้นงานของพวกเขา"

จากใจภัณฑารักษ์ เมื่อพูดตรงๆ ไม่ได้ เราพูดผ่านศิลปะ

ด้านนันท์ณิชา ศรีวุฒิ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ กล่าวว่าได้เข้ามาช่วยวางแผนหลักสูตร เริ่มต้นจากการชวนคนเยาวชนที่สนใจสื่อสารประเด็นสิทธิ หรือประเด็นรอบตัวที่เป็นปัญหาของเขา แต่พูดตรงๆ ไม่ได้ เราจะมาพูดผ่านศิลปะแทน 

"สิ่งที่เซอร์ไพรซ์คือเด็กหลายๆ คนไม่ได้มาจากคณะที่เรียนศิลปะ เลยมีคำถามว่าถ้าไม่ได้เรียนจะทำงานศิลปะได้ไหม พอเขาไม่ได้ตั้งใจเป็นศิลปินแต่แรก เขาจะทำงานศิลปะออกมาในรูปแบบไหน เมื่อเริ่มการเวิร์คชอบทำให้พบว่าเวิร์คชอบช่วยดึงความคิด ความรู้สึกของเยาวชนที่อยากพูดกับสังคม สิ่งที่สังคมละเลย บางคนไม่มีโอกาสได้พูด ในเรื่องที่เพื่อนรอบข้างไม่ได้สนใจ หรือไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหา เยาวชนที่ร่วมเวิร์คชอปก็มีโอกาสได้พูด ได้นำเสนอจนออกมาเป็นผลงานศิลปะ"

"ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ประหลาดใจ พอเด็กที่ไม่มีเพดานความคิดศิลปะ หาวัตถุดิบเพื่อนำเสนอที่มีความแปลก แหวกแนว และงานนั้นอยู่ในทักษะที่เขาพอจะทำได้ ผลงานที่ออกมาเลยมีความแปลกใหม่ และยังอยู่ในคอนเซ็ปต์ที่เขาอยากพูดอยากเล่า"

เมื่อกล่าวถึงการประเมินฟีดแบก นันท์ณิชา เห็นว่า Human ร้าย, Human Wrong เป็นพื้นที่สื่อสารหลายทิศทาง ที่มีหลายคนร่วมกันสื่อสาร แต่ละคนอาจจะตีความแตกต่างกัน รับเนื้อสารที่ต่างกัน แต่ผลที่สุดเกิดการนำคำถามที่แต่ละคนผลิตไปคิด ไปพูดต่อ ซึ่งสำหรับตัวเธอแล้ว สิ่งนี่นับเป็นความสำเร็จ

000

“Human ร้าย, Human Wrong” เป็นโครงการฝึกปฏิบัติการทำงานศิลปะแนวใหม่ ที่ใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการสร้างสรรค์แสดงออกและสื่อสารเรื่องใกล้ตัวที่ถูกทำให้ไกลเราจนยากที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา ผ่านกิจกรรมฝึกปฏิบัติระยะยาวว่าด้วยศิลปะและการพูดคุยเชิงวิพากษ์สนุกๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงศักยภาพทางศิลปะ บ่มเพาะแรงบันดาลใจ จุดประกายให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้และตั้งคำถามกับเรื่อง “สิทธิ์” ที่เราพึงมีในชีวิตประจำวัน แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะในรูปแบบที่เสรีเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ

“Human ร้าย, Human Wrong” จะจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินทร์ จนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook แฟนเพจ Human ร้าย, Human Wrong”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net