สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.ป.ศาล รธน. 'มีชัย' จัดเต็มอาวุธ เครื่องมือ เกราะกันถูกละเมิดศาล

สนช.มติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน กรธ. ระบุให้อาวุธและเครื่องมือสามารถปกป้องตนเองจากการถูกละเมิดศาลได้ พร้อมกลไกให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น

28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่าการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (28 ก.ย.60) พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ

โดยที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ด้วยคะแนน 198 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 22 คน กำหนดกรอบการทำงาน 50 วัน แปรญัตติภายใน 7 วัน

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ 7 ที่เสนอต่อ สนช. ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ดำเนินการตามมาตรา 77 อย่างครบถ้วน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพร้อมนำกลับมาปรับปรุงตามข้อติติงของศาลรัฐธรรมนูญ แม้บางเรื่อง กรธ.จะไม่เห็นด้วยกับบางประเด็น แต่ก็ไม่ขัดข้อง เช่น เรื่องการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อยากให้นำมาใส่ไว้ในกฎหมาย กรธ.จึงได้ตัดหมวดนี้ออกไป แต่ส่วนที่ กรธ.ไม่ได้ปรับตามข้อเสนอของศาลรัฐธรรมนูญ คือ การขอให้เติมข้อความว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจใช้มาตรการชั่วคราวกับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ แต่ กรธ.เห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญจะลงไปวินิจฉัยเองว่าเรื่องต่าง ๆ ถูกต้องหรือไม่ อาจทำให้เป็นปัญหา เกิดวิกฤติและอันตรายในประเทศได้ เพราะในทางปฏิบัติ ศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการเหมือนศาลอาญาและศาลแพ่งไม่ได้

“ยืนยันว่าร่างกฎหมายลูกทุกร่างที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ กรธ.ใช้หลักเดียวกัน คือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป ยกเว้นมีเหตุพิเศษอื่น เช่น กรณีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ให้พ้นจากตำแหน่งทุกคน เนื่องจากต้องเป็นไปตามหลักสากล และ กรธ.ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดว่า เมื่อมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งกรณีครบวาระ จะไม่ให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่จนกว่าจะมี ส.ส. เพราะเห็นว่าน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกทั้งขณะนี้มี สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.อยู่แล้ว แต่หาก สนช.จะปรับเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ในภายหลัง กรธ.ก็ไม่ขัดข้อง” มีชัย กล่าว

ประธาน กรธ.  กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สาระสำคัญยังกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่หลักในการพิจารณาคดีว่าด้วยความชอบของรัฐธรรมนูญในกฎหมายต่าง ๆ การดูแลองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญว่ามีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตลอดจนปัญหาคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหน้าที่ใหม่ของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือให้คำปรึกษาข้อสงสัยขององค์กรที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้ก่อนที่จะเกิดข้อพิพาทระหว่างองค์กร เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจนบานปลายในอดีต ซึ่งกำหนดให้มีตุลาการ 9 คน มีองค์ประกอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 7 คนทำหน้าที่

ขณะที่ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องมีอยู่อย่างเข้มแข็งต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ทำให้บ้านเมืองผ่านวิกฤติไปได้ และเชื่อว่าการพิจารณาร่างดังกล่าว ได้พิจารณาเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองเป็นปัจจุบันอย่างดี

ด้าน มีชัย กล่าวย้ำต่อที่ประชุม สนช.อีกครั้ง ว่า กรธ.ได้ให้อาวุธและเครื่องมือให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญสามารถปกป้องตนเองจากการถูกละเมิดศาลได้ นอกจากนี้ ยังเขียนกลไกให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท