Skip to main content
sharethis

เปิดตัวเว็บไซต์ 'บันทึก 6 ตุลา' www.doct6.com ในฐานะแหล่งข้อมูลออนไลน์ 'พวงทอง' หวังไม่ถูกหลงลืมสูญหายและเป็นจุดเริ่มต้นของการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ พร้อมบทนำ 6 ตุลา โดย 'อาจารย์ยิ้ม'

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่อาคารอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ร่วมกับ โครงการบันทึก 6 ตุลา จัดกิจกรรม เปิดตัวเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” www.doct6.com ในฐานะแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้าเกี่ยวกับ 6 ตุลาให้ไปอีกไกลในอนาคต

เว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” www.doct6.com

 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงที่มาของเว็บไซต์นี้ว่า เกิดจากงานสัมมนาเมื่อปีที่แล้วในหัวข้อ  “ความรู้และควาความไม่รู้ว่าด้วย 6 ตุลา 2519” ซึ่งค้นพบข้อจำกัดเกี่ยวกับตัวตนผู้เสียชีวิตและบุคคลสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นใคร

"เรายังไม่รู้อะไรอีกมากในเหตุการณ์ 6 ตุลา และมีอีกหลายเรื่องที่เรายังต้องทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงพื้นฐานจำนวนมากมันมีความสำคัญอยู่ แล้วยังมีลักษณะที่ผิดๆ ถูกๆ หรือแหว่งวิ่นอยู่ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลรูปถ่ายหรือว่าคลิปวิดีโอที่กระจัดกระจายตามแหล่งต่างๆ คนจำนวนมากเวลาพูดเรื่อง 6 ตุลา ก็ยังใช้ตัวเลขที่สับสน ใช้ภาพกับชื่อไม่ตรงกัน" พวงทอง กล่าว

พวงทอง กล่าวด้วยว่า การกล่าวถึง 6 ตุลา ในสังคมไทยยังมีเพดาลอยู่เยอะ เรารู้ว่ายังเป็นเรื่องที่ยังละเอียดอ่อนอยู่โดยเฉพาะในกลุ่มอำนาจของสังคมไทย แต่ผู้จัดทำโครงการนี้ยังมองว่ามันมีเรื่องอื่นเกี่ยวกับ 6 ตุลา อีกมากที่เรายังสามารถพูดถึงได้ หากให้ความสนใจกับข้อมูล ค้นคว้า วิจัย ที่ไปไกลกว่างานที่มีอยู่แล้ว เพราะงานที่ศึกษา 6 ตุลา อย่างลึกซึ้งนั้นมีอยู่อย่างจำกัดมากๆ 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

"เรามักจะพูดกันว่าสังคมไทยเราควรเรียนรู้บทเรียนจาก 6 ตุลา เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก เรามองว่าเราคงเรียนรู้กันได้ไม่ได้มาก เพราะจนถึงวันนี้ข้อมูลพื้นฐานก็ยังสับสนอยู่มาก ฉะนั้นเราควรมีความรู้เกี่ยวกับ 6 ตุลา มากขึ้น นอกจากบอกว่า 6 ตุลา เป็นความรุนแรงของรัฐ" พวงทอง กล่าว พร้อมระบุว่า ประเทศอื่นๆ ที่เคยผ่านความรุนแรงมาแล้ว หรือประเทศที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงและสิทธิมนุษยชน พบว่ามีการจัดตั้งแหล่งข้อมูล หลายประเทศให้ความสำคัญและพัฒนาแหล่งข้อมูลขึ้นมาเพื่อต่อสู้ความพยายามของรัฐที่จะกลบเกลื่อนโศกนาฏกรรมที่รัฐก่อขึ้น และมีความพยายามที่จะทำให้แหล่งรวบรวมข้อมูลเป็นจุดเริ่มต้นของการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ จึงมีการสร้างแหล่งข้อมูลที่เป็นในเชิงสถานที่ จนถึงออนไลน์

พวงทอง กล่าวว่า โครงการนี้ ต้องการที่จะเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่จะทำให้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนคุณสามารถที่จะเข้ามาดูข้อมูลของเราได้ และส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ข้อมูพื้นฐาน หรือข้อมูลที่ยากต่อการเข้าถึง เพื่อทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดให้เป็นระบบมากขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น และไม่ถูกหลงลืมสูญหาย นอกจากนั้นก็เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้า รวมทั้งความเข้าใจใน 6 ตุลา ให้ไปไลมากยิ่งขึ้นในอนาคต รวมถึงต่อสู้กับความพยายามของรัฐที่จะทำให้สังคมไทยลืม 6 ตุลา 

บทนำ 6 ตุลา โดย อาจารย์ยิ้ม

สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้น สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ “อาจารย์ยิ้ม” รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เสียชีวิตวานนี้ (27 ก.ย. 60) ในฐานะผู้มีประสบการณ์ร่วมในเหตุการณ์และนักประวัติศาสตร์ ได้เขียนอธิบายไว้ในบทนำของเว็บไซต์นี้ก่อนเสียชีวิตดังนี้

วันที่ 6 ต.ค. 2519 นั้นเป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ได้เกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใจกลางพระนคร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน การก่อการสังหารครั้งนี้ได้กลายเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ การก่อกรณีนองเลือดครั้งนี้ ไม่มีการจับกุมฆาตกรผู้ก่อการสังหารเลยแม้แต่คนเดียว ในทางตรงข้ามนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คน กลับถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้นเอง และถึงแม้ว่าในระยะต่อมา ผู้ถูกจับกุมจะได้รับการประกันตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ยังมีเหลืออีก 27 คน ถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี เป็นชาย 23 คน และหญิง 4 คน จนท้ายที่สุด จะเหลือ 19 คน ซึ่งตกเป็นจำเลย ถูกคุมขังและดำเนินคดีอยู่เกือบ 2 ปีจึงจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนผู้ก่อการสังหารซึ่งควรจะเป็นจำเลยตัวจริงนั้นไม่มีรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจครั้งไหนกล่าวถึงอีกเลย แม้กระทั่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยที่ปล่อยผู้ต้องหา 6 ตุลาฯ ทั้ง 19 คนนี้ก็ได้กล่าวว่า แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ เหมือนกับว่าจะให้ลืมกรณีฆาตกรรมดังกล่าวเสีย มิให้กล่าวถึงคนร้ายในกรณีนี้อีก

จริงอยู่ประเทศด้อยพัฒนาเช่นประเทศไทย มีคดีอิทธิพลจำนวนมากที่ทางการไม่กล้าแตะต้อง และจับคนร้ายไม่ได้ แต่คดีอิทธิพลเหล่านั้นแตกต่างจากคดี 6 ตุลาฯ เพราะการก่ออาชญากรรมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์กลางเมืองที่เปิดเผยจนได้รับรู้กันทั่วโลก รวมทั้งผู้ต้องหาที่เปิดเผยโจ่งแจ้งก็มีอยู่มาก แต่คนเหล่านี้นอกจากจะไม่ถูกจับกุมตามกฎหมายแล้ว ยังได้ความดีความชอบในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อีกด้วย ปัญหาในกรณีนี้ก็คือ อิทธิพลอะไรที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มฆาตกรซึ่งผลักดันให้ผู้ก่ออาชญากรรมลอยนวลอยู่ได้เช่นนี้? และนักศึกษาผู้ตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมได้ก่อความผิดร้ายแรงเพียงใดหรือ จึงต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงเช่นนี้?

เงื่อนงำของการสังหารโหดนี้ได้รับการคลี่คลายในตัวเองขั้นหนึ่งในเย็นวันนั้นเอง เมื่อคณะทหารกลุ่มหนึ่งในนามของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจล้มเลิกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางรัฐสภาและฟื้นระบอบเผด็จการขวาจัดขึ้นมาปกครองประเทศแทน ถ้าหากว่าการสังหารหมู่เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม คือการก่ออาชญากรรมต่อนักศึกษาผู้รักความเป็นธรรมแล้ว การรัฐประหารเมื่อเย็นวันที่ 6 ตุลาคม คือ การก่ออาชญากรรมต่อประเทศชาติ เพราะเป็นการทำลายสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนทั้งชาติ ที่ได้มาจากการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชน 14 ตุลาคม 2516 เมื่อโยงการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ครั้งนี้เข้ากับการสังหารโหดที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน จะทำให้มองเห็นภาพการเคลื่อนไหวของพลังปฏิกิริยาที่ร่วมมือกันก่ออาชญากรรมได้ชัดเจนขึ้น 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net