Skip to main content
sharethis

พ.อ.สมคิด ศรีสังคม คุณตาอายุ 100 ปีผู้โด่งดังจากคลิปเซิ้งตามเสียงแคนของลูกชาย ผู้เป็น ส.ส.ลูกอีสาน อดีตหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยเสียชีวิตแล้วเช้าวันนี้ บำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ญาติของดพวงหรีด โดยขอรับบริจาคเพื่อการศึกษาเด็กด้อยโอกาสแทน

(ภาพซ้าย) พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เซิ้งตามเสียงแคนที่ลูกชายเป่า ภาพเมื่อปี 2559 (ขวา) พ.อ.สมคิด ศรีสังคมในฐานะประธานมูลนิธิ EDF ร่วมงานครบรอบ 30 ปี สหพันธ์กงสุลโลก (World Federation of Consuls) ที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอต เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยสมาคมกงศุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) ได้มอบเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาจำนวน 15 ทุนให้แก่เด็กนักเรียนยากจนในโครงการทุนการศึกษา EDF (ที่มา: มติชน/EDFThai)

 

รายงานในมติชนออนไลน์ ระบุว่า นายศักดา ศรีสังคม บุตรชายของ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม อดีตหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย อดีตประธานโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เปิดเผยว่า พ.อ.สมคิด ได้เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อเวลา 04.55 น. วันนี้ (3 ต.ค.) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมอายุ 100 ปี

ทั้งนี้มีพิธีรดน้ำศพ พ.อ.สมคิด ที่ศาลา 16 วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ในวันนี้ เวลา 17.00 น. และสวดอภิธรรมตั้งแต่ 18.30 น. กำหนดสวดวันนี้ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2560 โดยญาติขออนุญาตงดพวงหรีด และขอรับบริจาคเข้ากองทุนพันเอกสมคิด ศรีสังคม เพื่อการศึกษาเด็กด้อยโอกาส ผ่านมูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) ซึ่ง พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นประธานมูลนิธิ

ในรายงานของมติชนนายศักดากล่าวว่า คุณพ่อเสียชีวิตด้วยโรคชรา ท่านอายุมากแล้ว ที่ผ่านมาก็นอนอยู่ที่บ้าน เข้าโรงพยาบาลบ้างตามวัยคนชรา จนกระทั่งเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีอาการป่วย โดยเป็นช่วงที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศพอดี พญ.สุดา เย็นบำรุง ลูกสาวอีกคนหนึ่งจึงพาคุณพ่อไปโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งหมอก็บอกว่าน่าจะอยู่ได้อีก 2-3 วัน เขาจึงรีบจัดการธุระและเดินทางกลับมา โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ญาติๆ ก็ได้ไปเยี่ยมคุณพ่อเป็นจำนวนมาก เขาเองก็ได้มีโอกาสเป่าแคนให้คุณพ่อฟัง เหมือนที่เคยทำ หลานๆ ญาติๆ ก็ร่วมกันร้องเพลง ซึ่งคุณพ่อท่านก็กระดิกนิ้ว กระดิกขาตามจังหวะ รับรู้ และจนกระทั่งตี 04.55 น.ของวันนี้ คุณพ่อได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

จากข้อมูลในวิกิพีเดีย พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เกิดเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 ที่ อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ในครอบครัวชาวนา สำเร็จปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต จาก ม.ธรรมศาสตร์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2492 เดินทางไปศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 8 ปี ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับนางฟรานเซสกา ศรีสังคม มีบุตรธิดา 4 คน

สมคิด ศรีสังคม เริ่มทำงานครั้งแรกเป็นครูในปี พ.ศ. 2480 ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ต่อมาหลังจบปริญญาวิชากฎหมายแล้ว เขาสอบได้เป็นข้าราชการกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้ช่วยอัยการ แต่ทำงานได้เพียง 6 เดือน ก็สอบแข่งขันได้เป็นทหารในกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2484 จากนั้นเขาได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ และกลับมารับราชการจนมียศสูงสุดเป็น พันเอก หลังจากนั้นเขาจึงลาออกจากราชการไปทำหน้าที่เป็นนักวิชาการ สังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2506 โดยการชักชวนของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น

พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 ในสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีนายจารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่เขาได้รับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ต่อมาเขาได้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2519 และต่อมาย้ายมาร่วมงานกับนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร หัวหน้าพรรคแรงงานประชาธิปไตย

สำหรับ "พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย" เป็นการรวมตัวกันกับกลุ่มคนที่ต้องการผลักดันให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับความเป็นธรรม สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตย อย่างแท้จริง ได้แก่กลุ่มนักการเมืองแนวสังคมนิยม คือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม และไขแสง สุกใส นักวิชาการก้าวหน้าอย่าง ดร.แสง สงวนเรือง และผู้นำนักศึกษา ได้แก่ ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, จรัล ดิษฐาอภิชัย, ประสาร มฤคพิทักษ์, ปรีดี บุญซื่อ, ธัญญา ชุนชฎาธาร, วิรัติ ศักดิ์จิระพาพงษ์, สมคิด สิงสง, วิสา คัญทัพ และผู้นำระดับท้องถิ่น เช่น วิชัย หินแก้ว, เฉลิมและเลียมละออ กลางสาธร, สุรสีห์ ผาธรรม, อุดม ตะนังสูงเนิน, ศรีศักดิ์ นพรัตน์, กมล กมลตุงวัฒนา และที่มีบทบาทสำคัญคือ ธีรยุทธ บุญมี, ลุงฟัก ณ สงขลา, ลุงแช่ม พนมยงค์ (มุตตาฟา) และบางส่วนจาก “กลุ่มคน 100 คน ที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” และ “13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รวมถึงผู้ที่ลงสมัคร ส.ส. ในนามของพรรค ได้แก่ ประยงค์ มูลสาร, อุดร ทองน้อย, ประเสริฐ เลิศยะโส, ศิริ ผาสุก, สุทัศน์ เงินหมื่น, อินสอน บัวเขียว, อาคม สุวรรณนพ,  ชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์, พิรุณ ฉัตรวานิชกุล, พีรพล ตรียะเกษม และสมาชิกกลุ่ม 6 และกลุ่มแท็กซี่ก้าวหน้า โดยมีที่ทำการพรรคแห่งแรก ณ บ้านเลขที่ 20 ซ.ร่วมมิตร ถนนพระราม 6 กทม.

ทั้งนี้ พ.อ.สมคิด ยังเป็นประธานโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย หรือ ครป. ในปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2529

ในช่วงปี 2552-2553 มีการรื้อฟื้นพรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย โดยอินสอน บัวเขียว, อุดม ขันแก้ว, ประชา อุดมธรรมานุภาพ, สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, ไม้หนึ่ง ก.กุนที รวมทั้งสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ โดยในงานเปิดตัวพรรคเมื่อ 31 มกราคม 2553 ได้เชิญ พ.อ.สมคิด มาปาฐกถาให้กับสมาชิกพรรคด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ในช่วงก่อนสงกรานต์ พ.อ.สมคิด ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์หลังจากมีการเผยแพร่คลิปของลูกชายคือศักดา ได้เป่าแคนให้ พ.อ.สมคิด ซึ่งนอนป่วยได้ยกมือขึ้นฟ้อนรำ ก่อนที่ต่อมาบรรดาอดีต ส.ส.นำโดย ประจวบ ไชยสาส์น, อดิศร เพียงเกษ, โสภณ เพชรสว่าง, อลงกรณ์ พลบุตร รวมทั้งเทอดภูมิ ใจดี และประเสริฐ เลิศยะโส ได้เดินทางไปให้กำลังใจและเป่าแคนให้ พ.อ.สมคิดฟังด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net